การเลี้ยงไก่เนื้อ
ท่ามกลางความกังวลของเกษตรกรบางกลุ่มต่อการเลี้ยงไก่เนื้อแบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง กับบริษัทรายใหญ่นั้น เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถทำตามข้อตกลง หรือกฎเกณฑ์ที่ทางบริษัทตั้งไว้ หรือกลัวถูกเอารัดเอาเปรียบ
แต่สำหรับ คุณจรัญ โหมดชัง เจ้าของจรัญฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ 51 ม.5 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร มั่นใจในการเลี้ยงไก่เนื้อในรูปแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง และมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานของ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด เป็นอย่างดี ถึงแม้บางช่วงจะย้ายไปเลี้ยงกับบริษัทอื่นบ้าง ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเลี้ยงให้กับสหฟาร์มดังเดิม
จุดเริ่มต้นเลี้ยงไก่เนื้อระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง
คุณจรัญเล่าให้ทีมงานนิตยสารสัตว์บกฟังว่า เมื่อตนเรียนจบได้ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยการเปิดร้าน ซัก อบ รีด อยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนั้นถือว่ารายได้ดีพอสมควร พอแต่งงานมีครอบครัวจึงตัดสินใจกลับมาอยู่จังหวัดพิจิตร และคิดว่าควรทำอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับตนเอง จึงตัดสินใจเลี้ยงไก่เนื้อ
โดยศึกษาข้อมูลต่างๆ จากหลายๆ ฟาร์ม จากนั้นกลับมาสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ขึ้นจำนวน 1 หลัง ด้วยเงินทุนของตนเองสามารถเลี้ยงไก่ได้ประมาณ 6,000 ตัว ในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง แบบประกันราคาจากหลายบริษัท และเลี้ยงเรื่อยมาจนกลายเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ปัจจุบันกว่า 20 ปีแล้ว
“การเลี้ยงไก่เนื้อในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ทำประมาณ 5 ปี จากประสบการณ์ที่ผ่านมามองว่าความเสถียรภาพของระบบดีขึ้นจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอาหาร สายพันธุ์ไก่ ที่มีการพัฒนาดีขึ้น และฝ่ายส่งเสริมมีการดูแลให้คำปรึกษากับเกษตรกรดีมาก”
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ
จรัญฟาร์มมีอยู่ 2 แห่ง คือ จรัญฟาร์ม 1 และจรัญฟาร์ม 2 อยู่ห่างกันประมาณ 5-6 กม. โดยจรัญฟาร์ม 1 จะอยู่ติดกับบ้านพักอาศัย มี 3 โรงเรือน ขนาดแตกต่างกัน ตามพื้นที่ ตามความเหมาะสม สามารถเลี้ยงไก่ได้ 53,000 ตัว โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมแซมส่วนใหญ่เป็นของเดลต้า เวตฯ
ส่วนจรัญฟาร์ม 2 สามารถเลี้ยงไก่เนื้อทั้งหมด 43,000 ตัว จะมี 2 โรงเรือน ขนาดใกล้เคียงกัน ในช่วงแรกทำฟาร์มในลักษณะเช่าเลี้ยง ต่อมาธุรกิจไปได้ถึงจุดหนึ่ง จึงทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1.5 ล้านบาท เพื่อซื้อฟาร์มเป็นของตัวเอง
จากนั้นได้ทำการปรับปรุงฟาร์มเป็นระบบ ทั้งการให้อาหาร และน้ำ อัตโนมัติ โดยใช้อุปกรณ์หลักๆ ของการุณ บราเธอร์ส จึงยื่นกู้เพิ่มอีก 3.5 ล้านบาท รวมทั้งหมด 5 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คุณจรัญได้มีการชำระไปแล้ว 2 ล้านกว่าบาท
สำหรับการชำระเงินให้แก่ทางธนาคารต้องมีการชำระทุกเดือน ถึงแม้ว่าการเลี้ยงไก่ได้ผลผลิตคร่อมเดือนก็ตาม ทางฟาร์มต้องเก็บเงินสำรองไว้บางส่วนเพื่อชำระกับธนาคารในเดือนถัดไป ส่วนค่าไฟสามารถยืดการชำระออกไปได้ประมาณ 1 เดือน แต่ส่วนมากจะจ่ายตามกำหนด มีบ้างบางเดือนที่ไม่สามารถหมุนเงิน หรือการเลี้ยงมีอัตราสูญเสียมาก ก็จะจ่ายในเดือนถัดไป
การให้อาหารและน้ำไก่เนื้อ
“เหตุผลที่มีการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เพราะสามารถลดการสูญเสียของอาหารได้ เดิมจะใช้แรงงานคนในการเดินเทอาหาร ซึ่งอาหารจะหกหล่นตามพื้น และโอกาสที่พนักงานจะเหยียบไก่พิการมีสูง ประกอบกับเกษตรกรรายเก่าที่ทำฟาร์มมาตั้งแต่ดั้งเดิมมีอายุมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญของการนำเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้อัตราการแลกเนื้อจะดีกว่าระบบเดิม เพราะเมื่อระบบการให้อาหารทำงานจะมีเสียงอาหารไหลไปตามไลน์ จะเป็นการกระตุ้นให้ไก่อยากกินอาหาร เมื่อไก่ได้ยินเสียงก็จะลุกมากินอาหาร ส่วนค่าไฟแน่นอนว่าต้องเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่หากเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าการเลี้ยงในระบบอัตโนมัติคุ้มกว่า”
เมื่อการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เพื่อทุ่นแรง พนักงานสามารถทำงานง่ายขึ้น และเหนื่อยน้อยลง ปัญหาด้านแรงงานก็ลดลงด้วย ปัจจุบันทางฟาร์มมีพนักงานทั้งหมด 9 คน เฉลี่ยไก่ 10,000 ตัว/พนักงาน 1 คน
ปัจจุบันเลี้ยงคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ในรูปแบบประกันราคา โดยบริษัทจะลงลูกไก่ให้ รวมถึงอาหาร เวชภัณฑ์ยา และวัคซีน ก่อน จะหักเงินเมื่อจับไก่ออกไป โดยราคาประกันจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 37 กว่าบาท เมื่อหักต้นทุนค่าอาหาร เวชภัณฑ์ยา วัคซีน ค่าแรงพนักงาน และค่าไฟแล้ว จะเลือกประมาณ 9 บาท/ตัว ซึ่งราคานี้ทางฟาร์มพออยู่ได้
“เดิมเคยได้ 6 บาท/ตัว ถ้าเป็นกรณีที่เกิดการสูญเสียเกินกว่าที่บริษัทกำหนด เกษตรกรจะไม่สามารถอยู่ได้ ดังนั้นต้องทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด และถ้าเกษตรกรสามารถอยู่ได้ เมื่อหักต้นทุนแล้วควรมีกำไรอยู่ที่ 9-10 บาท/ตัว ถ้าหากต่ำกว่านี้แล้ว สำหรับเกษตรกรที่กู้เงินจากธนาคารจะมีปัญหาการชำระเงินกับธนาคาร”
ระยะเวลาในการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 42 วัน หรือน้ำหนักเฉลี่ย 2.4-2.8 กก. หากฟาร์มไหนที่ไก่มีอัตราเฉลี่ยน้ำหนักต่ำกว่า 2.4 กก. จะต้องมีการชี้แจงกับทางบริษัทฯ เพราะมีการคำนวณอาหารที่ใช้ต่อจำนวนไก่ที่เลี้ยงเรียบร้อยแล้ว หากไม่เป็นไปตามนั้นจะต้องมีเหตุผลหรือหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน“ใครที่บอกว่าเลี้ยงไก่แล้วรวย ผมกล้าท้าให้ลอง เพราะยิ่งเป็นฟาร์มรายใหญ่ที่เลี้ยงในปริมาณมาก บางฟาร์มอาจได้กำไรน้อยกว่าฟาร์มขนาดเล็ก เพราะการจัดการไม่สามารถทำได้ทั่วถึง”
วิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ
ตลอดระยะเวลาในการเลี้ยงไก่ ช่วงที่เกิดการสูญเสียมากที่สุด คือ ช่วงสัปดาห์แรก แต่เปอร์เซ็นต์สูญเสียก็ไม่เกิน 2% ในระยะนี้เกษตรกรต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะลูกไก่ยังไม่แข็งแรง ควรกกอย่างน้อย 7-10 วัน และอุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34-35 องศาเซลเซียส
ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่จะอยู่ที่ 11 ตัว/ตารางเมตร สำหรับการชดเชยอัตราการสูญเสียบริษัทจะชดเชยให้ 2% โดยที่จะไม่แถมเป็นตัวไก่มาให้ แต่ลดจำนวนเงินลง 2%
อาหารที่ให้ไก่จะมีทั้งหมด 3 เบอร์ คือ อาหารเบอร์ 2 จะให้ไก่แรกเกิดจนถึง 19 วัน เมื่อไก่มีอายุครบ 20 วัน จะเปลี่ยนเป็นอาหารเบอร์ 4 จนมีอายุครบสัปดาห์ที่ 5 หรืออายุ 35 วัน จะเปลี่ยนเป็นอาหารเบอร์ 9 จนถึงจับ ส่วนน้ำที่ใช้เลี้ยงไก่และทำกิจวัตรภายในฟาร์มจะเป็นน้ำบาดาล มีการพักไว้ในบ่อขนาดใหญ่จำนวน 4 บ่อ และฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน
การบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อ
การจัดการในโรงเรือน ทางฟาร์มจะกั้นไก่เป็นล็อค ในล็อคแรกที่ติดกับคูลลิ่งแพดจะมีไก่มากกว่าล็อคท้ายๆ เนื่องจากสวิทช์ควบคุมการทำงานของการให้อาหารจะอยู่ด้านหน้า เมื่ออาหารหมดสวิทช์จะทำงานโดยอัตโนมัติ ไก่จะสามารถกินอาหารได้ตลอด
แต่ทางฟาร์มจะมีช่วงดับไฟเพื่อให้ไก่ได้นอนพักอยู่ 2 ช่วง คือ เวลา 11.00-13.00 น. และ 18.00-21.00 น. โดยจะเน้นให้ไก่กินอาหารในช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีสภาพอากาศเย็น ไก่จะกินอาหารได้มาก และสภาพอากาศจะมีผลต่อการเลี้ยงไก่เป็นอย่างมาก อุณหภูมิในโรงเรือนควรไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส ไก่ถึงจะอยู่ได้อย่างสบาย สำหรับช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ทางฟาร์มจะติด “สปริงเกลอร์”ไว้บนหลังคาเพื่อคลายความร้อน
การจับไก่เนื้อ
ส่วนการจับไก่จะเป็นแบบ all in all out เมื่อถึงเวลาทางบริษัทจะมีทีมงานมาจับ จากนั้นทางฟาร์มจะให้พนักงานทำการเก็บมูลผสมแกลบออกให้หมดโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดวงจรของแมลงวัน เนื่องจากทางฟาร์มไม่มีการพ่นยาหรือโรยโซดาไฟในมูลผสมแกลบ เพราะต้องการนำไปจำหน่ายให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในจังหวัดพิษณุโลกในราคากระสอบละ 16 บาท เมื่อจับไก่ไปแล้วบริษัทจะจ่ายเงินให้หลังจากจับไก่ประมาณ 14-18 วัน
สำหรับการเตรียมโรงเรือนเพื่อเลี้ยงไก่ในรุ่นต่อไป หลังจากจับไก่หมดแล้ว จะทำความสะอาดโรงเรือนและล้างอุปกรณ์ให้สะอาด จากนั้นพักโรงเรือนประมาณ 30 วัน ในระหว่างนี้จะทำการตรวจเช็คอุปกรณ์ ซ่อมแซม พร้อมกับพ่นฉีดยาฆ่าเชื้อตามบริษัทฯ กำหนด และตัดหญ้ารอบๆ โรงเรือน จากนั้นจะปูแกลบเตรียมลงไก่รุ่นต่อไป แกลบที่ใช้เฉลี่ย 7 ตัน/ไก่ 10,000 ตัว ส่วนราคาอยู่ที่ 2,100 บาท/ตัน
แนวโน้มในอนาคต
อนาคตคาดว่าจะรื้อปรับปรุงใหม่ สำหรับโรงเรือนที่ใช้งานมานาน และจะไม่มีการขยายหรือสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่ ทั้ง 2 ฟาร์ม แต่จะปรับปรุงโรงเรือนหรือระบบให้ดีขึ้นหรือให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น ถ้าหากการเลี้ยงไก่เนื้อในอนาคตมีแนวโน้มดีขึ้น และถ้าหากบริษัทมีโครงการเพิ่มจำนวนอัตราการเลี้ยงไก่ ทางฟาร์มคิดว่าจะหาพื้นที่สร้างฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ จรัญฟาร์ม 3 อีกแห่ง วิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ วิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ วิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ
“การเลี้ยงในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เราจะรู้สึกสบายใจมาก เนื่องจากไม่ต้องหาตลาดเอง และมีราคาประกันที่มั่นคง ในการเป็นลูกเล้า เมื่อเรามาทำธุรกิจร่วมกับทางบริษัทแล้ว เราต้องเป็นลูกเล้าที่ดี ปฏิบัติตามข้อกำหนดของบริษัท และพร้อมพัฒนาตามข้อเสนอของบริษัท ส่วนหนึ่งเพื่อความก้าวหน้าและยกมาตรฐานฟาร์มของเราด้วย
ซึ่งการปฏิบัติตัวเป็นลูกเล้าที่ดี คือ จะต้องดูแลไก่ที่เลี้ยงให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ให้ได้น้ำหนักมากที่สุด และอยู่ในกฎเกณฑ์หรือข้อตกลงของบริษัท สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความซื่อตรงต่อกัน สำหรับบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ผมถือว่าโอเค” คุณจรัญแสดงความรู้สึกสำหรับการเลี้ยงไก่ในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับสหฟาร์ม
สอบถามเพิ่มเติม คุณจรัญ โหมดชัง เลขที่ 51 ม.5 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร 66000 โทร.085-602-3132 วิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ วิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ วิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ