ปัจจุบันมีผู้คนมากมายกำลังมองหาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง ทั้งประกอบเป็นอาชีพหลัก หรือเสริม งานประจำที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก ใช้พื้นที่น้อย มีตลาดรองรับสินค้า และที่สำคัญมีเวลาให้กับตนเองและครอบครัว แต่จะมีกี่คนที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนั้นๆ
คุณชลดา รอดปรีชา (คุณนุ่น) คนรุ่นใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร สาขาการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ผันชีวิตจากพนักงานประจำกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาเลี้ยงจิ้งหรีดสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยใช้ชื่อฟาร์มว่า “นนท์ปวิธ ฟาร์ม จิ้งหรีด” ตั้งอยู่เลขที่ 246/2 หมู่ 2 ต.หนองดินแดง อ.เมือง จ.นครปฐม
จุดเริ่มต้นเลี้ยงจิ้งหรีด
คุณนุ่นเล่าให้ทีมงาน นิตยสารสัตว์บกฟังว่า เลี้ยงจิ้งหรีดได้ 3 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ตนทำงานเป็นพนักงานที่กระทรวงสาธารณสุขได้ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงได้ลาคลอดบุตรอยู่บ้าน ร.ต.ต. ธงชัย รอดปรีชา (คุณพ่อ) รองสว.(ป) สภ.โพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ได้นำไข่จิ้งหรีดจากช่างรับเหมาก่อสร้างประมาณ 20 ขัน มาเลี้ยงในบ่อที่ทำขึ้นจากแผ่นยิปซั่มขนาด 1.2×2.4 เมตร จำนวน 1 บ่อ และได้รับคำแนะนำวิธีการเลี้ยงด้วย ซึ่งครั้งแรกใช้เงินในการลงทุนเพียง 1,200 บาท
ช่วงแรกจะเลี้ยงแบบง่ายๆโดยการนำพืชผักที่สามารถหาได้ในพื้นที่มาเลี้ยง และขายให้กับคนงานก่อสร้าง ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี จึงขยายบ่อเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยใช้บริเวณด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังบ้าน ต่อเติมหลังคาทำเป็นโรงเรือน เน้นให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และหาตลาดรองรับสินค้าที่มีมากขึ้นด้วย ปัจจุบันมีบ่อสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีด 45 บ่อ ขนาดแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นบ่อปูนขนาดกว้าง 1.3-2xยาว 4 เมตร และกล่องสมาร์ทบอร์ด
หลังจากเริ่มเลี้ยงได้ 1 ปี แฟนคุณนุ่นที่เรียนจบด้านวิทย์สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข เห็นคุณนุ่นสนใจมาก จึงศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลดต้นทุน จึงเป็นที่มาของการใช้กากงาดำเข้ามาทดลองเลี้ยง ระยะแรกก็มีปัญหาอยู่ ซึ่งระหว่างคุณนุ่นกับแฟนจะมีหลักการเลี้ยงที่แตกต่างกัน นั่นคือ สิ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่าวิธีไหนได้ผลผลิตมากกว่า
คุณนุ่นเริ่มเลี้ยงจากการวางแผงไข่เต้าชนเต้า (แบบห่าง) ส่วนแฟนคุณนุ่นจะเรียงแผงไข่ซ้อนแนวเดียวแบบถี่ๆ ทำให้ทราบว่าแผงไข่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีดมีผลต่อการตาย ซึ่งการเรียงแผงไข่แบบถี่อัตราการรอดสูง ต่อมาจึงได้ปรึกษากันในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้น้ำ และอาหาร ปรับเปลี่ยนแก้ไขวิธีต่างๆ จนลงตัว
สายพันธุ์จิ้งหรีด
สำหรับ “แมลง” ที่คุณนุ่นเลี้ยงมีอยู่ 3 ชนิด คือ จิ้งหรีดทองแดง-ทองดำ จิ้งหรีดขาว (แมงสะดิ้ง) และจิ้งโกร่ง หรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “จิโปม” สัดส่วนในการเลี้ยงจิ้งหรีดทองแดง-ทองดำประมาณ 60% แมงสะดิ้ง 30% และจิ้งโกร่ง 10% เพื่อความหลากหลายทางด้านตลาด แต่จิ้งหรีดทองแดง-ทองดำจะได้รับความนิยมในการบริโภคมากกว่าแมลงชนิดอื่น
ด้านการเลี้ยง การจัดการในแต่ละวัน ลักษณะการเลี้ยงของแต่ละชนิดจะเหมือนกัน แตกต่างกันที่อายุช่วงฟักไข่ อย่างจิ้งหรีดจะฟักไข่ประมาณ 5-7 วัน แมงสะดิ้งจะใช้เวลา 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ส่วนจิ้งโกร่งจะใช้ระยะเวลาในการฟักไข่ประมาณ 15 วัน
ระยะเวลาในการเลี้ยง จากตัวอ่อนจนถึงโตเต็มวัย จิ้งหรีดทองแดง-ทองดำจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 34-37 วัน จิ้งหรีดขาว (แมงสะดิ้ง) ใช้เวลาประมาณ 42 วัน ส่วนจิ้งโกร่งยังอยู่ในช่วงทดลองเลี้ยง เนื่องจากเล็งเห็นว่าราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด
การให้อาหารจิ้งหรีด
ส่วนขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ยุ่งยาก อาหารที่ใช้ คือ อาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงไก่เนื้อแรกเกิดของ บริษัท เบทาโกร จำกัด ซึ่งมีโปรตีน 20-21% โดยแบ่งการให้อาหารเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 20 วัน จะให้อาหารที่มีโปรตีน 21% เพื่อแยกเพศแมลง
- หลังจากจิ้งหรีดมีอายุ 20 วันขึ้นไป จะให้อาหารที่มีโปรตีน 20% ผสมกับกากงาดำประมาณ 30% เพื่อลดต้นทุน
ซึ่งได้ผลดีมาก และเสริมด้วยอาหารจำพวกพืชผักใบอ่อน เช่น ใบมันสำปะหลัง ผักบุ้ง ใบตำลึง และฟักทอง เป็นต้น
ส่วนสาเหตุที่ใช้กากงาดำนั้น เนื่องจากกากงาดำจะทำให้มูลจิ้งหรีดแห้ง เพราะถ้าให้พืชผักมากเกินไปมักจะเกิดแก๊สก้นบ่อได้ ซึ่งเป็นที่มาของการตาย และในกากงาดำมีสารอาหารพวกโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ที่มีประโยชน์ต่อการเลี้ยงจิ้งหรีด
เนื่องจากได้ศึกษางานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างละเอียด สามารถนำมาให้จิ้งหรีดกินได้ ส่วนคุณภาพตัวจิ้งหรีดค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับการเลี้ยงด้วยพืชผัก หรืออาหารสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว สังเกตได้จากเมื่อล้างจิ้งหรีดด้วยน้ำจะมีคราบมัน นั่นหมายความว่าตัวจิ้งหรีดจะมีความมัน รสชาติอร่อย และมีกลิ่นของงาดำ แต่ทางฟาร์มจะชะลอการให้อาหารลักษณะนี้ก่อนจับขาย 7 วัน จากนั้นจะใช้ฟักทองหั่นเป็นชิ้นพอประมาณให้จิ้งหรีดกิน เพื่อเป็นการล้างท้อง มีกลิ่นหอมเวลาทอด และได้น้ำหนักที่ดี
วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด การบริหารจัดการฟาร์มจิ้งหรีด
การเริ่มต้นทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด การจดบันทึกและเก็บข้อมูลต่างๆ มีความสำคัญมาก และอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ในการจับรอบ โดยใช้วิธียืดเวลาในการลงไข่ อย่างเช่น ทางฟาร์มเริ่มต้นเลี้ยงจิ้งหรีดที่ 4 บ่อ/รุ่น ในการลงไข่จิ้งหรีดจะต้องเว้นระยะเวลา 4 วัน เพื่อยืดเวลาจับออกไปอีก
ดังนั้นในการทำรุ่นของจิ้งหรีดจะใช้วิธียืดเวลาในการลงไข่จิ้งหรีด เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ และตรงรอบ จากนั้นช่วงเวลา 7 วัน ที่รอไข่จิ้งหรีดฟักออกมาเป็นตัว เก็บมูลจิ้งหรีดออกจากบ่อ โดยนำมูลจิ้งหรีดที่ได้จำหน่ายให้กับร้านขายต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และชาวนาบริเวณใกล้เคียง นำไปใส่แปลงนาข้าว ล้างทำความสะอาดบ่อ และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถาดน้ำ ถาดอาหาร และนำแผงไข่ไปตากแดด พอครบกำหนดจึงนำแผงไข่มาเรียงตามความเหมาะสม เตรียมอาหารและน้ำให้พร้อม
การฟักไข่จิ้งหรีด
ส่วนการฟักไข่ ช่วงแรกทางฟาร์มจะใช้ขันพลาสติก (อาจเป็นถาดที่มีความสูงไม่มากนักตามสะดวก) ลงไข่โดยใช้ขุยมะพร้าว แล้วนำมาปิดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ และห่อด้วยถุงพลาสติก 1 ชั้น เป็นการรักษาอุณหภูมิ บ่มไข่ให้ฟักตัว แต่วิธีนี้อัตราการตายจะสูง เพราะจิ้งหรีดปีนออกจากขันไม่ได้เท่าที่ควร
จึงเปลี่ยนวิธีฟักไข่โดยการนำไข่จิ้งหรีดประมาณ 15 ขัน ใส่กระสอบ แล้วผสมขุยมะพร้าว เพื่อไม่ให้ไข่จิ้งหรีดเกาะตัวกันเป็นก้อน จากนั้นปิดปากถุงเพื่อรักษาอุณหภูมิ แล้วนำไปวางไว้ในบ่อยาง (สระน้ำของเด็กเล่น) รอให้ครบกำหนดจึงนำไปใส่บ่อเลี้ยงจิ้งหรีดที่ได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว
ปัญหาและแนวทางแก้ไขการเลี้ยงจิ้งหรีด
“ตั้งแต่เริ่มทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ปัญหาสำคัญที่ทางฟาร์มพบในช่วงแรกๆ คือ จิ้งหรีดตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัจจุบันสามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือมีลมพัดกรรโชกแรง ทางฟาร์มไม่สามารถควบคุมปัญหาดังกล่าวได้ เพียงแค่ป้องกันเบื้องต้นเท่านั้น และปัญหาขนาดตัวจิ้งหรีดไม่สม่ำเสมอ
ซึ่งทางฟาร์มได้หาสาเหตุ และได้ข้อสรุปว่าเกิดจากชั่วโมงในการรองไข่ที่มากจนเกินไป เนื่องจากในช่วงแรกต้องการปริมาณจิ้งหรีดเป็นจำนวนมาก ทำให้จิ้งหรีดเจริญเติบโตไม่เท่ากัน จึงมีการคัดออกเป็นจำนวนมาก จากปัญหาดังกล่าว จึงแก้ไขโดยการรองไข่จิ้งหรีดเพียง 16 ชั่วโมง ซึ่งตัวจิ้งหรีดที่ได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ ส่วนตัวที่ไม่ได้มาตรฐาน เวลาล้างน้ำจิ้งหรีดจะจมอยู่ด้านล่าง จากนั้นจะนำตัวจิ้งหรีดที่ไม่สมบูรณ์ไปอบแห้งขายให้กับกลุ่มเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ชน และชูการ์ไรเดอร์ สนนราคากระปุกละ 30 บาท” คุณนุ่นกล่าวถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายจิ้งหรีด
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าแมลงทอดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยแบ่งออกเป็นลูกค้าปลีกและส่ง ซึ่งราคาจำหน่ายก็จะแตกต่างกัน ราคาขายปลีกสำหรับจิ้งหรีดต้ม 1-5 กก. อยู่ที่ กก.ละ 150 บาท และ 6-10 กก. อยู่ที่ กก.ละ 130 บาท ส่วนราคาขายส่งตั้งแต่ 50 กก.ขึ้นไป อยู่ที่ กก.ละ 95-110 บาท
นอกจากนี้นนท์ปวิธ ฟาร์ม จิ้งหรีด ยังจัดจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงจิ้งหรีดครบวงจร บ่อเลี้ยง พันธุ์จิ้งหรีด ไข่จิ้งหรีด/ไข่สะดิ้ง แผงไข่ อาหาร กากงาดำ และจำหน่ายจิ้งหรีด/สะดิ้ง ตามออเดอร์
ปัจจุบันตลาด “จิ้งหรีด” ถือว่าดีมาก ตลาดมีความต้องการสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี หากเปรียบเทียบกับการเป็นพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนไม่สูงนัก จะเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเรื่องของรายได้ อิสระ มีเวลาให้กับครอบครัว และที่สำคัญมีความสุขมากยิ่งขึ้น
ส่วนตลาดแปรรูปสินค้า เกิดจากลูกค้าบางรายชะลอการสั่งออเดอร์ ทำให้ทางฟาร์มมีปริมาณจิ้งหรีดมาก จึงมองหาช่องทางตลาดเพื่อระบายสินค้า จึงทดลองทำจิ้งหรีดทอดสูตรสมุนไพร และสูตรอื่นๆ ใส่กระปุก ติดสติ๊กเกอร์ ภายใต้แบรนด์ “นนท์ปวิธ ฟาร์มจิ้งหรีด” ขนาด 40 กรัม ขายในราคา 25 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้ากลุ่มสื่อออนไลน์
แนวโน้มในอนาคต
อนาคตทางฟาร์มกำลังเจรจากับกลุ่มตลาดที่เป็นโรงงานแปรรูปเพื่อการส่งออก ถือว่าการเจรจาอยู่ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันการขยายฟาร์มและการพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้นยังคงทำอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขยายฟาร์มที่มีศักยภาพในการผลิตเพิ่มอีกประมาณ 60 บ่อ ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งจะทำให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด และสอดคล้องกับแนวทางการตลาดรูปแบบใหม่ด้วย วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด
“ทุกอาชีพมีคุณค่าและมีเกียรติ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เหมาะกับเรา และถ้าหากทำได้ นั่นคือความสำเร็จ และทุกอาชีพถ้าขยันรับรองไม่อดตาย ส่วนผู้ที่สนใจในอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดควรศึกษาและไตร่ตรองจากหลายๆ แหล่งให้ดี เพราะสามารถทำเป็นอาชีพหลัก หรือเสริม ได้แน่นอน” คุณนุ่นฝากแง่คิดทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นนท์ปวิธ ฟาร์มจิ้งหรีด 246/2 หมู่ 2 ต.หนองดินแดง อ.เมือง จ.นครปฐม 73000 โทร.080-225-0777 วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด