ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีโรคระบาดมากมาย ไม่ว่าจะ คน หรือ สัตว์ ก็ต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย โดยในภาคปศุสัตว์ที่หลายฟาร์มต้องปรับตัว ปรับวิธีการเลี้ยง เพื่อรับมือกับปัญหาโรคระบาด ไม่ว่า รายเล็ก รายใหญ่ หรือ แม้แต่รายย่อย ทีมงานสัตว์บกจะพาไปรู้จักกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย สมจิตร นิลม่วง เจ้าของ “ สมจิตรฟาร์ม ” แม้จะเป็นฟาร์มรายย่อย แต่ก็ให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรค โดยเข้าร่วมโครงการ “GFM” คุณสมจิตรจะมาเผยถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ และการดูแลจัดการฟาร์มอย่างไรให้ปลอดโรค
โครงการ “GFM” (Good Farming Management) หรือ “ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม” ของ กรมปศุสัตว์ ซึ่งจะเป็นแนวทางไปสู่การเป็นฟาร์มมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) หรือ มาตรฐานการปฏิบัติการทางเกษตรที่ดีสำหรับปศุสัตว์
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงหมู
จุดเริ่มต้นการทำฟาร์มของคุณสมจิตรเริ่มจากการเลี้ยงสุกร 3 ตัว ที่มาจากความบังเอิญ เพราะเดิมตนทำสวนยาง ประมาณ 30 ไร่ แต่เนื่องจากลูกสาวจะแต่งงาน จึงต้องการเลี้ยงสุกรเพื่อนำมาใช้ในงาน จากจุดนี้เองที่ทำให้ตนเองหันมาเลี้ยงหมูเป็นอาชีพจนถึงวันนี้
“จริงๆ ก็มีญาติๆ เลี้ยงหมูอยู่แล้ว และสามีก็เคยเลี้ยงหมูมาก่อน แต่เราทำสวนยางอยู่แล้ว เลยไม่สนใจจะทำฟาร์มหมู ต่อมาลูกสาวจะแต่งงาน เลยเริ่มคิดที่จะเลี้ยง เพื่อเอามาใช้ในงาน แต่ได้ไปเอาหมูของญาติมา 3 ตัว ภายหลังจากที่เลี้ยงและคลุกคลีอยู่กับมัน ก็รู้สึกชอบ จึงตัดสินใจเลี้ยงต่อ โดยใช้หมูที่เหลือจากงานแต่ง ที่เหลือ 1 ตัว นำมาต่อยอดการเลี้ยง” คุณสมจิตรกล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของฟาร์ม
จากสุกรที่เหลือ 1 ตัว ได้มีการต่อยอดโดยการนำเข้ามาเพิ่มใหม่อีก และขยายเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนวันนี้มีแม่พันธุ์กว่า 10 ตัว สายพันธุ์ที่เลี้ยงจะเป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป คือ ดูร็อค, แลนด์เรซ และ ปากช่อง นอกจากนี้ก็จะมี เปียแตรง หรือ เพียเทรน
คุณสมจิตรได้ให้เหตุผลที่เลือกเลี้ยงสายพันธุ์เหล่านี้ว่า “ที่เลี้ยงสายพันธุ์พวกนี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่โตไว ทนทาน แข็งแรง ลูกดก คุณภาพซากดี จึงเลือกใช้เป็นสายพันธุ์หลัก ในอนาคตก็จะหยุดการนำเข้าแม่พันธุ์ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มหยุดแล้ว จะเอาเข้ามาเท่าที่จำเป็น เพราะฟาร์มทำการคัดเลือกแม่พันธุ์จากฟาร์มขึ้นมาใช้เอง”
นอกจากฟาร์มแม่พันธุ์ ทางฟาร์มได้ต่อยอดสู่การทำฟาร์มหมูขุนอีกด้วย เนื่องจากในการขายลูกหมูในบางรอบจะเหลือลูกหมู จึงเลือกที่จะเลี้ยงขุนต่อ บวกกับมีตลาดหมูขุนรองรับ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทาง ปัจจุบันทางฟาร์มมีหมูขุนหมุนเวียนขายในฟาร์มประมาณ 30 กว่าตัว รวมกับหมูแม่พันธุ์ ก็จะมีหมูที่หมุนเวียนใช้ในฟาร์มประมาณ 50 ตัว
การบริหารจัดการฟาร์มหมู ฉบับสมจิตรฟาร์ม
เรื่องสภาพอากาศไม่ค่อยส่งผลต่อการเลี้ยง เพราะฟาร์มตั้งอยู่ในสวนยางที่มีอากาศถ่ายเทดี หมูอยู่สบาย ไม่เครียด ตัวโรงเรือนมีการออกแบบง่ายๆ แต่มีมาตรฐาน ซึ่งจะมีด้วยกัน 2 แห่ง คือ ที่บ้าน และที่สวนยาง ที่บ้านจะเป็นส่วนของพ่อแม่พันธุ์อย่างเดียว ส่วนหมูขุนจะอยู่ที่สวนยางทั้งหมด แต่ในอนาคตจะย้ายอยู่ที่เดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการ
สำหรับลูกหมูจะหย่านมที่ประมาณ 28 วัน แล้วย้ายเข้ามาในคอกที่เตรียมไว้ และเลี้ยงจนกระทั่งจับขาย ส่วนการขายพันธุ์ที่ฟาร์มจะใช้วิธีการผสมเทียม ซึ่งสามีเป็นคนผสมเอง เนื่องจากมีประสบการณ์มาก่อน ส่วนน้ำเชื้อจะซื้อมาจากข้างนอก แต่อนาคตจะรีดจากพ่อพันธุ์ที่กำลังเลี้ยงอยู่มาผสมแทน สำหรับอายุการใช้งานแม่พันธุ์จะอยู่ที่ 6-7 ท้อง ก็จะปลด นอกจากนี้ภายในโรงเรือนยังมีโรงเก็บอาหาร ตู้ยา และ ห้องเก็บอุปกรณ์อย่างเป็นสัดส่วน ตามระบบ GFM
การให้อาหาร ในแม่พันธุ์ จะให้กินวันละ 2 มื้อ มื้อละ 8 ขีดต่อตัว โดยเป็นอาหารสำหรับแม่พันธุ์โดยเฉพาะ แต่จะผสมกับรำอ่อนหรือรำละเอียดอีกนิดหน่อย ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนลง เพราะที่บ้านมีอยู่แล้ว ที่สำคัญการผสมรำเข้าไปจะช่วยทำให้หมูไม่มีอาการท้องเสียเกิดขึ้น หมูมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
ส่วนในหมูขุน จะให้กินเต็มที่ เป็นอาหารสำหรับหมูขุน เริ่มกินตั้งแต่สูตร 1 ไปจนถึงสูตร 4-5 ซึ่งจะได้หมูที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 108 กิโลกรัม ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3.5-4 เดือน กินอาหารเฉลี่ยตัวละ 5- 6 กระสอบ
“อาหารที่ฟาร์มจะใช้อาหารเม็ดของบริษัทในการเลี้ยง ใช้มาตั้งแต่แรกเริ่มที่เลี้ยง เนื่องจากไม่สะดวกในการผสมอาหารใช้เอง แต่อนาคตคิดว่าจะผสมเอง เพื่อช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้ หากมีการขยายการเลี้ยงมากขึ้น ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในสูตรอาหาร สามารถหาซื้อได้ในราคาที่ถูก โดยเฉพาะพวกรำข้าว รำละเอียด ไม่ต้องหาซื้อที่ไหนเข้ามา เพราะที่บ้านมีอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีความพร้อม จึงใช้อาหารเม็ดของบริษัทไปก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะลงมือทำทันที” คุณสมจิตรให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องอาหาร
การเข้าร่วมโครงการในระบบ GFM
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ปกติ หรือมีโรคระบาด คุณสมจิตรได้ให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันโรคมาเป็นอันดับหนึ่ง การป้องกันดีกว่าการมาแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเสียหายให้กับฟาร์มถึงขั้นที่อาจจะหมดตัว ดังนั้นจึงให้ความสำคัญในการจัดการในเรื่องนี้
ทางฟาร์มจึงเข้าร่วมโครงการในระบบ GFM ซึ่งเป็นระบบที่เน้นการเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดภัยจากโรคตามหลักวิชาการ การจัดการที่สำคัญในระบบนี้แทบไม่แตกต่างจากฟาร์มรายใหญ่ หรือตามมาตรฐานการป้องกันขั้นสูง มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่การเลี้ยงระหว่างตัวโรงเรือนกับพื้นที่บริเวณฟาร์ม มีรั้วรอบขอบชิดเพื่อป้องกันคนภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม
สำหรับหน้าโรงเรือนจะมีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อจุ่มเท้าก่อนเข้าตัวโรงเรือน ภายในโรงเรือนจะมีทางเข้าออกเป็นระบบ ไม่สามารถเข้าทางไหนก็ได้ สำหรับคนจับหมู เมื่อถึงเวลามาจับหมู จะจอดรถไว้หน้าฟาร์มชั้นนอก และรถคันนั้นจะมีการฉัดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่เข้ามาจับหมู
อีกปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ คือ ของเสีย นี่เป็นอีกส่วนที่อาจนำไปสู่ในเรื่องของโรค เพราะโรคมักจะมากับของเสีย ดังนั้นของเสียในฟาร์มจะมีการจัดการเป็นอย่างดี เช่น ขี้หมู และ น้ำขี้หมู ก็มีการเก็บรวบรวมไว้ แล้วนำไปใส่สวนยาง หรือหากเหลือจะมีคนมารับซื้อ
เป้าหมายในอนาคต
เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต คุณสมจิตรเผยว่า “ตั้งใจที่จะขยายการเลี้ยงให้ได้ 100 แม่ เพราะยังพอมีพื้นที่เหลืออยู่ ตอนนี้ทำคอกรอไว้แล้ว บวกกับตลาดที่ยังพอรองรับได้ อีกทั้งราคาที่มองว่าน่าจะดีอยู่อีกหลายปี จากปัจจัยหลายๆ อย่าง ดังนั้นจึงมีความคิดที่จะเลี้ยงเพิ่มตามกำลังความสามารถที่มีอยู่”
หากพูดถึงโรคระบาด เป็นเรื่องที่ไม่ว่าจะ ฟาร์มเล็ก ฟาร์มใหญ่ หรือ รายย่อย ก็ล้วนมีโอกาสเกิดโรคขึ้นในฟาร์มด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากมีการป้องกันที่ไม่ดี แต่เนื่องจากฟาร์มรายย่อย การติดต่อกับโลกภายนอกอยู่ในวงที่จำกัด การซื้อขายก็อยู่แค่ในพื้นที่ใกล้ๆ ทำให้มีโอกาสที่จะนำโรคเข้ามาน้อยมาก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท อย่างที่ฟาร์มแห่งนี้จะให้ความใส่ใจทุกส่วน ไม่ประมาท เพราะฉะนั้นไม่ว่าฟาร์ม รายเล็ก รายใหญ่ หรือ รายย่อย หากช่วยกันดูแลฟาร์มของตัวเอง เชื่อว่าไทยจะปลอดภัยจากโรคได้แน่นอน
“ไม่ว่า ฟาร์มเล็ก ฟาร์มใหญ่ หรือ ฟาร์มรายย่อย ล้วนมีโอกาสเกิดโรคขึ้นในฟาร์มด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากมีการป้องกันที่ไม่ดี แต่ฟาร์มรายย่อยมีข้อได้เปรียบตรงที่ดูแลได้ทั่วถึงกว่า หมูตัวไหนป่วย หมูตัวไหนไม่สบาย จะรู้หมด และเมื่อรู้แล้วก็จะทำการแก้ไขได้เร็ว แก้ปัญหาได้ไว” คุณสมจิตรให้ความสำคัญถึงการป้องกันโรค
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก สมจิตร นิลม่วง