ขณะที่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะลุยจัดประชุมสัญจร แก้ปัญหาโรค ASF และการสร้างฟาร์ม GPA โดยมีผู้สนับสนุนด้านการเงินหลายบริษัท จนเกิดภาพลักษณ์เชิงบวกของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสมาคม มีพลังพอต่อการดึงองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จน กรมปศุสัตว์ ศรัทธา ให้ความร่วมมือเต็มที่
ท่ามกลางกระแสหยุด ASF ก็มีกระแสการขาย “หมูเป็น” ไปสู่เอเชีย นำโดย หมอน๊อต หรือ คุณพศพงศ์ พิศคำ นายกสมาคมส่งเสริมปศุสัตว์เพื่อส่งออกและนำเข้าแห่งชาติ ผู้คร่ำหวอดในวงการค้าปศุสัตว์มาหลายทศวรรษ มาเป็นแม่ทัพทางธุรกิจ
ทำไมจึงตั้งสมาคมขึ้นมารองรับการค้าสุกรไปเอเชีย??
เรื่องนี้หมอน๊อตเปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษว่า การจัดตั้งสมาคมก็เพื่อให้ผู้ผลิตหมูขุนมั่นใจว่าการขายหมูเป็นให้ 5 คน ในสมาคม เพื่อเข้าสู่ตลาดในประเทศเอเชีย อย่าง จีน ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ได้รับความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจให้ผู้นำเข้าในประเทศดังกล่าว ในคุณภาพของสุกรมีชีวิต
“พวกเราเน้นการส่งออก เราจะไม่ค้าภายใน หลักๆ เราคุยกัน สมาคมเราจะไปยังไง ทำอะไร ประมาณไหน 10 กว่าปี ก็ได้จดทะเบียนจัดตั้ง” ปิดการครหาของฟาร์มทั้งหลายว่า สมาคมตั้งขึ้นเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือเปล่า นอกจากสมาคมจะเปิดตลาดสุกรให้ฟาร์มใหญ่มีเอกสารราชการครบถ้วนแล้ว ฟาร์มเล็ก และกลาง หากพร้อม ทางสมาคมก็จะช่วยเรื่องเอกสาร และการตลาด
แม้วันนี้ผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ทั้งหมดมอบความไว้วางใจให้สมาคมทำตลาดเอเชีย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของหมอน๊อตกับเจ้าของฟาร์มทั้งหลายนั้นแน่นปึ๊ก เพราะหมอ คือ “หมอหมู” และ หมอยา ที่เจ้าของศรัทธา ไว้วางใจ ดังนั้นพอมาเป็น นักธุรกิจ ค้าสุกร จึงมั่นใจ และยิ่งมี สมาคม ก็ทำให้ภาพลักษณ์น่าเชื่อถือมากขึ้น
“ก่อนที่ผมจะออกมา ผมเป็นเซลล์ขายเวชภัณฑ์ ทำงานที่สมาคมอยู่บ้าง คนเห็นเกือบทั้งหมด รายใหญ่ที่เคยช่วยเขาจับหมู เขายินดี ถ้าหมอน๊อตเป็นตัวนำ ถือธงนำ เขายินดีให้การสนับสนุน เป็นที่ปรึกษา หรือเป็นแม่ทัพให้ หมอน๊อตลุยได้เต็มที่เลย” หมอน๊อต ตอบคำถามเรื่องความผูกพันกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรหลายสมาคม
ปัญหาและอุปสรรคการขนส่งหมู
การเปิด “ตลาดหมูเป็น” ในเอเชียไม่ง่าย มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ที่ทีม หมอน๊อต ในสมาคมทำได้ เพราะลงไปเรียนรู้กับผู้ซื้อ และผู้บริโภค ในประเทศนั้นๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง หมอน๊อตเปิดเผยว่า “เรารู้ทุกจุด พวกผมทำงานกัน เมื่อเปิดตลาดได้จะลุยกันเลย จึงรู้ว่าติดตรงไหน จะแก้ไขอะไรได้บ้าง อย่าง โรงเชือดของเวียดนาม ผมรู้หมด พอหลับตามโนภาพออกมาเลย”
เวลานี้ฟันธงได้ว่า เรื่อง “หมูเป็น” ตลาดลาว และเวียดนาม ต้องรออีก 3-4 ปี โดยเฉพาะเวียดนามเพิ่งเปิดตลาดรับหมูไทย จากที่เมื่อก่อนเป็นตลาดที่มาแรงมากๆ
โจทย์ใหญ่ในการเปิดตลาดเวียดนามเวลานี้ คือ ทำอย่างไรให้เขาศรัทธาว่า หมูไทยมาตรฐาน และปลอดภัย ไร้โรคต่างๆ
แน่นอนหมูที่ผลิตโดยฟาร์มใหญ่ๆ ได้มาตรฐาน คุณภาพโอเค แต่การเคลื่อนย้ายหมูออกจากฟาร์มผ่านการสว็อปว่าปลอดโรค แต่พอขึ้นรถบรรทุกมาถึงชายแดนเพื่อเปลี่ยนถ่ายรถบรรทุก จะมั่นใจอย่างไรว่าหมูปลอดเชื้อ นี่คือ “จุดเสี่ยง” ที่ต้องแก้ไข
ปรากฏว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้คุยกับบริษัทลาวว่าจะต้องมีลานมาตรฐานส่งออก จนเห็นพ้องต้องกันทำลานได้สำเร็จที่มุกดาหาร และเปิดเป็นทางการ 2 กรกฎาคม 2556 สามารถรองรับหมูได้วันละ 4,000 ตัว ซึ่งลานมาตรฐานจะทำให้ลาวมั่นใจว่าหมูขุนปลอดเชื้อ แล้วรับซื้อเข้าโรงฆ่า
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายหมู
สำหรับ ตลาดหมูเป็น ในจีน หมอน๊อตให้ความสำคัญมาก เนื่องจากจีนยังมีอำนาจซื้อพอสมควร
ก่อน ASF ตลาดหมูเป็น กัมพูชา คือ ตลาดหลักของอาเซียน แต่เมื่อเจอ ASF ตลาดเปลี่ยน ดังนั้นสมาคมจึงต้องบุกตลาดจีน แต่ก็มีปัญหาด้านการขนส่งทางเรือสู่รถบรรทุกในเมียนมา และลาว แม้ระยะทางที่มีปัญหาประมาณ 30 กม. ต้องใช้รถบรรทุกขน เกิดการล่าช้า ต้องหันมาใช้รถบรรทุกขนาดเล็ก วิ่งหลายเที่ยว ก็ดีกว่ารถใหญ่ แต่ยังไงการขนส่งหมูเป็นจากไทยไปจีนก็ต้องเสียเวลา 3 วัน “ตรงนี้เป็นเหตุให้เราต้องคัดหมูจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน คุณภาพหมูจริงๆ ถ้าไม่ใช่มันจะเสียหายปลายทาง” หมอน๊อต เปิดเผย
เป็นหมูปลอดสารเร่งเนื้อแดง เพราะถ้าหมูกินสาร ตรวจเจอถูกทำลายทั้งหมด ไม่มีใครกล้าเสี่ยง อีกอย่างหมูเป็น หมูอ้วน ไซซ์ใหญ่ ที่คนไทยไม่นิยม แต่หมูไซซ์ใหญ่ น้ำหนัก 140-150 กก. เป็นหมูติดมัน สามารถขายปนกับหมูไซซ์เล็กได้
เนื่องจากหมอน๊อตไปอยู่จีนครึ่งดือน เพื่อศึกษาสภาพต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ทุกปัญหาเกิดจากอะไร “เราต้องรู้ทันเขาด้วย เราจริงใจ แต่เราไม่ได้โง่ การค้าขายกับจีนต้องทันจีน อย่าไปโง่กับเขา” หมอน๊อต ยืนยันถึงความสำคัญในการรู้ทันจีน
แม้การส่งหมูเป็นเข้าจีนเดือนละไม่มาก แต่ก็ต้องรักษาตลาดไว้ แต่ ปัญหา ที่เจอ ก็คือ ผู้ซื้อ ทั้งจีน ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ไม่เชื่อว่าจะไม่ถูกสับเปลี่ยนหมู หรือปศุสัตว์ ที่มีคุณภาพของไทย ระหว่างการขนส่ง
มันเป็น งานท้าทาย สำหรับนักธุรกิจ และรัฐบาลไทย เป็นอย่างยิ่ง
แนวทางแก้ปัญหาการขนส่งหมู
สำหรับ สมาคมส่งเสริมปศุสัตว์ฯ ที่มีหมอน๊อต เป็นนายก และกรรมการ อีก 4 คน 4 บริษัท ซึ่งเป็นทีมงานมืออาชีพในการค้า หมูเป็น ถูกท้าทายในด้านการขนส่งไปสู่ปลายทาง จึงเป็นภารกิจที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ และคู่ค้า ประเทศปลายทาง ซึ่งสมาคมต้องการยกระดับมาตรฐานการส่งออก โดยจะต้องมีจุดเปลี่ยนถ่ายสัตว์ที่ได้มาตรฐาน (ลานทอย) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมโรคระบาดสัตว์
หลังวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ทางสมาคมต้องประชุมเพื่อปรับ “บทบาท” ของกรรมการ และสมาคม ตามภารกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้น “จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างนิดหนึ่ง จะแต่งตั้งรองนายกเพื่อดูแล ด้านสุกร ด้านไก่ ด้านวัว เอาผู้เชี่ยวชาญการตลาดมาช่วยดึงนักวิชาการมาเป็นที่ปรึกษา ตอนนี้เราประสานงานกับหลายสมาคม เช่น สมาคมสัตวแพทย์ ควบคุมฟาร์ม เป็นต้น” นายกสมาคม เปิดเผยถึงการปรับองค์กรตามภารกิจ
การรวมกันเป็นสมาคม นอกจากขับเคลื่อนภารกิจที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังเป็นการทำงานเป็นทีม ต่างเคารพจรรยาบรรณ ไม่ขายตัดราคากันเองในตลาด ให้ทุกฝ่ายเสียผลประโยชน์
แม้จะเป็นเพียงเริ่มต้น แต่เมื่อกระดุมเม็ดแรกกลัดถูก กระดุมเม็ดอื่น ทั้งรัฐ และเอกชน จะถูกด้วย
ดังนั้นเจ้าสัวสุกร เจ้าสัวอาหารสัตว์ ทั้งหลาย หากสมาคมนี้มีผลงานในเอเชียมากขึ้น หมูไทยจะกลายเป็นขวัญใจผู้บริโภค และทำชื่อเสียงให้ประเทศ ในฐานะผู้ผลิตหมูคุณภาพ ภายใต้ราคาที่เป็นธรรม
สมาคมส่งเสริมปศุสัตว์เพื่อส่งออกและนำเข้าแห่งชาติ 777 หมู่ที่ 1 ต.คำอาฮวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร 49000 โทร.081-921-2619