หากพูดถึงการเลี้ยงโคขุนในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเห็นการเลี้ยงแบบผูกยืนโรง ปล่อยไล่ทุ่ง หรือปล่อยในคอกทั่วๆ ไป แต่ไม่ใช่กับที่นี่ “สุระสิงห์ฟาร์ม” ฟาร์มโคขุน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่มีการเลี้ยงโคขุนในโรงเรือนระบบอีแว๊ป แห่งแรกของประเทศไทย สายพันธุ์ลูกผสมวากิว
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงวัว
นิตยสารสัตว์บก มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “อาจารย์วิบูลย์ ไวยสุระสิงห์” เจ้าของสุระสิงห์ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมานานกว่า 20 ปี และในปัจจุบันได้มีการเลี้ยงขุนในระบบอีแว๊ปมานาน 5 ปีสายพันธุ์ที่เลี้ยงนั้นจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม วากิว บราห์มัน และชาร์โรเล่ส์
เดิมทีอาจารย์วิบูลย์จบจากคณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม ก่อนที่จะมาเริ่มทำฟาร์มวัวนั้นเป็นอาจารย์มาก่อน ช่วงที่เป็นอาจารย์มีอาชีพเสริมรับวางระบบคอมพิวเตอร์ และรับจ้างเขียนโปรแกรม แล้วมีโอกาสได้ไปวางระบบที่ฟาร์มวัว จึงเกิดความสนใจในการเลี้ยงวัว หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงวัวเพิ่มเติม และตระเวนดูวัวไปทั่วประเทศ
“ตอนแรกเริ่มต้นจากการเลี้ยงแม่วัว 2 ตัว แต่ก็มาโดนคนขายหลอกว่าวัวที่ซื้อไปจะคลอดลูกไม่เกิน 3 วัน ช่วงนั้นผมมาดูทุกวันเลยว่าจะคลอดเมื่อไหร่ สรุปผมเลี้ยงมาสองปีก็ยังไม่คลอดเลย ผมเลยอยากแนะนำว่าก่อนจะเลี้ยงอะไรเราต้องศึกษาดูดีๆ นะ คนเลี้ยงวัวโดนหลอกมาก็เยอะ มีหลอกขายวัวโก๊ะตี๋ คือ วัวที่แก่แล้วแต่ตัวเล็ก จะนำไปเลี้ยงขุนก็มีแต่ขาดทุน ถ้าเจอลูกวัวขายถูกๆ อันดับแรกต้องเปิดปากดูฟันก่อนเลย จะได้ไม่โดนหลอกขายวัวโก๊ะตี๋” อาจารย์วิบูลย์เผยเคล็ดลับในการเลือกลูกโคมาเลี้ยง
ที่ฟาร์มจะเป็นฟาร์มกลางน้ำ ต้นน้ำจะเป็นเกษตรกรทำให้ โดยจะรับซื้อวัวจากเกษตรกรทางภาคอีสาน และจังหวัดสระแก้ว ระยอง แล้วนำมาขุนต่อ ซึ่งในแถบอีสานอาหารจะไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ แต่มีข้อดี คือ แม่วัวตัวเล็ก เมื่อผสมเทียมจะให้ลูกวัวตัวใหญ่ วัวในฟาร์มที่นำมาขุนก็จะเป็นวัวที่เกิดจากในฟาร์มครึ่งหนึ่ง และซื้อจากเกษตรกรครึ่งหนึ่ง
ทางฟาร์มได้เข้าร่วมโครงการที่ทำร่วมกับทางธนาคาร ธกส. ที่ได้ปล่อยกู้ให้เกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงวัว มีเกษตรกรที่เชื่อมโยงกับทางฟาร์มเฉพาะในจังหวัดระยองประมาณ 2 พันตัว ที่สระแก้วประมาณ 3 หมื่นตัว และที่ภาคอีสานประมาณหมื่นกว่าตัว
เคล็ดลับการขุนวัวในโรงเรือนอีแว๊ป
ในส่วนของโรงเรือนอีแว๊ปมีทั้งหมด 2 โรงเรือน หลังแรกมาจากโรงเรือนเก่าที่เคยใช้เลี้ยงไก่มาก่อน ด้วยความที่ไม่อยากทิ้งโรงเรือนไว้เปล่าๆ จึงนำมาใช้ทดลองเลี้ยงโคขุนครั้งละ 80 ตัว และทำการเก็บข้อมูล แล้วนำมาคำนวณต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการที่นำวัวมาขุนในโรงเรือนอีแว๊ปจะเสียค่าไฟเพิ่ม 50 บาทต่อตัวต่อเดือน
ส่วนอีกโรงเรือนเป็นโรงเรือนใหม่มีขนาดใหญ่ สามารถนำวัวเข้าขุนได้ 336 ตัว ค่าไฟต่อตัวๆ ละ 30 บาทต่อเดือน ถือว่าผลผลิตที่ได้คุ้มค่าต่อการลงทุน ด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมทำให้วัวไม่เครียด กินได้ตามปริมาณที่คำนวณไว้ และการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีส่งผลให้คุณภาพของเนื้อแดง และไขมันแทรกออกมาดี และมีคุณภาพ
อาจารย์วิบูลย์กล่าวว่า วัวที่ซื้อจากเกษตรมาขุนต่อจะมีอายุประมาณปีกว่าๆ ช่วงแรกที่นำมาขุนจะเลี้ยงแบบปล่อย พอตัวเริ่มใหญ่จะนำมาเลี้ยงแบบผูกยืนโรง เพราะจะกำหนดให้กินตามสูตรอาหารที่คำนวณไว้ แล้วจะคัดตัวดีๆ นำไปเลี้ยงต่อในโรงเรือนอีแว๊ป เพื่อเลี้ยงต่ออีก 3-4 เดือน ในอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่เหมาะสม เพราะข้างนอกอุณหภูมิสูง วัวจะกินได้น้อย น้ำหนักที่จะสามารถส่งโรงเชือดจะอยู่ที่ประมาณ 650กิโลกรัมขึ้นไป
โดยจะรับซื้อมาตอนน้ำหนัก 200 กิโลกรัม ถ้าวัวลูกผสมพื้นเมืองทั่วไปที่ฟาร์มจะขุนประมาณ 12 เดือน แต่ถ้าเป็นลูกผสมวากิวจะใช้เวลา 24 เดือน แต่ไม่ใช่ลูกผสมวากิวทุกตัวที่จะสามารถขุนได้ 24 เดือน จะเป็นบางตัวเท่านั้น เนื้อที่ได้จึงมีการแบ่งเป็นเกรดต่างๆ
“สำหรับผมการขุนวัวก็เหมือนการฝึกนักมวย เราจะนำคนแก่มาทำเป็นนักกล้ามไม่มีทาง ต้องมีการฝึกกันตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ก็เหมือนวัวต้องเลือกให้ดี ตั้งแต่น้ำเชื้อที่จะนำมาผสม และต้องขุน ต้องดูแลดีๆ ตั้งแต่ยังเล็ก”อาจารย์วิบูลย์เผยเคล็ดลับในการเริ่มขุนวัว
วัวขุนทั้งหมดที่ฟาร์มจะนำส่งสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อจำกัดที่เดียว ส่งเดือนละประมาณ 60 ตัว ซึ่งสหกรณ์นี้เกิดจากการรวมเงินกันของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อมารวมหุ้นกัน ร่วมกันทำมาได้ประมาณ 10 ปีแล้ว
เนื้อของโคขุนลูกผสมวากิว
เนื้อของโคขุนลูกผสมวากิว ไขมันแทรกที่ได้จะเป็นไขมันดี เหมือนไขมันในปลาดิบ เป็นไขมันตัวหนึ่งที่สะสมอยู่ในกระแสเลือด ที่เรียกว่า “คอเลสเตอรอล” โดยคอเลสเตอรอลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ HDL จัดว่าเป็นไขมันดี กับ LDL เป็นไขมันเลว ไขมันที่อยู่ในเนื้อเมื่อทานเข้าไปจะช่วยเพิ่มระดับไขมันดี HDL ภายในเลือด จึงช่วยลดปริมาณไขมันเลว LDL ให้น้อยลงได้ และป้องกันความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้ดี
การให้อาหารวัว
อาหารที่ใช้ในฟาร์มจะผสมเอง อาหารวัวที่ดี ก็คือ เลือกเอาอาหาร 10 อย่าง ที่คนไม่กิน อย่างเช่น เปลือกสับปะรด เปลือกทุเรียน เปลือกขนุน ต้นกล้วย และอื่นๆ แล้วนำมาหมักรวมกัน เหตุผลที่ต้องเลือกใส่ 10 อย่าง เพราะวัตถุดิบจะมีให้เลือกใช้ตลอดทั้งปี บางครั้งจะเหลือ 8 อย่าง 7 อย่าง ก็ไม่เป็นไร และในกระบวนการหมักจะมีจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งจะเก็บรักษาไว้ในสภาพความชื้นสูงในที่ไม่มีอากาศ การเก็บถนอมในลักษณะนี้อาหารจะสามารถอยู่ได้เป็นเวลานาน
ซึ่งอาหารหมัก อาจารย์วิบูลย์กล่าวว่า “การหมักแบบนี้เป็นการเลียนแบบหลักการหมักในกระเพาะวัว ในกระเพาะวัวหลักๆ จะมี 4 กระเพาะ อาหารที่กินเข้าไปจะถูกย่อยไปอยู่ในกระเพาะสุดท้าย อาหารที่เราให้เหมือนเป็นการย่อยให้แล้ว ทำให้วัวลดการสูญเสียพลังงานที่ใช้ในการย่อย เปรียบเสมือนกับคนกินข้าวต้ม ส่วนวัตถุดิบอาหารหยาบที่ใช้ในฟาร์มจะเป็นหญ้าพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 ที่ปลูกเองในฟาร์ม”
ทางฟาร์มจะคำนวณสูตรอาหารข้นเอง เพราะได้มีการศึกษาหาความรู้มาแล้ว จึงทราบว่าวัวในแต่ละระยะต้องการพลังงาน โปรตีน เท่าไหร่ และวัตถุดิบแต่ละอย่างในอาหารข้นมีค่าพลังงาน โปรตีน เท่าไหร่ ก็จะนำมาคำนวณ และที่สำคัญการผสมเองมันจะได้ตรงตามที่คำนวณ
บางทีไปซื้ออาหารสำเร็จ ก็ไม่รู้ว่าเขาใส่มาตรงตามสูตรหรือเปล่า ที่ฟาร์มจะผสมอาหารทุกวันเพื่อความสดใหม่ ป้องกันการเหม็นหืนในอาหาร และที่ฟาร์มจะมีเหง้าสับปะรด และตัวสับปะรด บดผสมกันใส่กระสอบขาย จะห่อถุง 2 ชั้น เป็นการหมักเพื่อถนอมอาหาร เกษตรกรที่ซื้อจะนำไปผสมกับหญ้าสับ ต้นข้าวโพดสับ แล้วนำไปเป็นอาหารวัว
การบริหารจัดการฟาร์มวัว
ด้านแรงงานที่ฟาร์มจะมีคนงานทั้งหมดเกือบ 100 คน จะแบ่งเป็นส่วนต่างๆ จัดการเรื่องเลี้ยงส่วนหนึ่ง จัดการเรื่องอาหาร เรื่องหญ้า มาให้วัวกินส่วนหนึ่ง และจัดการเรื่องการมูลวัวในฟาร์ม ทำความสะอาดคอกอีกส่วนหนึ่ง
ด้านของเสียภายในฟาร์มนั้นมีการจัดการที่ดีมาก ของเสียทุกอย่างในฟาร์มจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หมด เช่น มีโรงตากมูลวัวที่มีการออกแบบเอง นำไปตากประมาณ 3 วัน ก็จะได้ปุ๋ยมูลวัว ขายกระสอบละ 30 บาท ขายได้ปีละ 2 ล้านบาท ส่วนน้ำเสียในฟาร์มจะนำไปใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์ เป็นการนำของที่เหลือมาทำให้มีค่ามากขึ้น ไม่ต้องการทิ้งไปให้เสียเปล่า
การพัฒนา สายพันธุ์ลูกผสมวากิว
เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ที่ฟาร์มจะใช้การผสมเทียมทั้งหมด จะโทรเรียกหมอมาผสมเทียมให้ วัวที่ฟาร์มจะเป็นสายพันธุ์ที่ฮิตที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นลูกผสมที่มีเชื้อวากิวอยู่ 50% ส่วนวัวตัวเมียที่ฟาร์มจะเลี้ยงจนได้ลูก 1-2 ตัว ก่อนจะนำมาขุน ลูกวัวที่เพิ่งคลอดจะนำมาเลี้ยงรวมกับตัวแม่วัวก่อน ให้กินอาหารสูตรพิเศษ เพื่อให้หย่านมได้เร็ว ซึ่งเป็นเทคนิคของทางฟาร์ม ซึ่งลูกวัวที่ฟาร์มจะอย่านมที่อายุ 4 เดือน
ส่วนเรื่องโรคเราจะมีการทำวัคซีนป้องกันไว้ก่อน และวัวที่ฟาร์มจะมีเลี้ยงแบบผูกยืนโรง จะง่ายต่อการจัดเวลาให้อาหาร จะรู้ว่าตัวไหนไม่กิน ก็จะรู้แล้วว่าวัวตัวไหนไม่สบาย ก็จะหาสาเหตุว่าป่วยเป็นอะไร ทำให้สามารถรักษาได้ทัน
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงวัว
สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากจะหันมาเลี้ยงวัวเนื้อลูกผสมวากิวนั้น อาจารย์วิบูลย์ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้ามีเกษตรกรที่สนใจจริงๆ อยากเลี้ยงลูกผสมวากิว อยากแนะนำให้ศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่เราจะเลี้ยงก่อน และยังไม่ต้องเลี้ยงเยอะ แต่ต้องเลี้ยงให้ดี เน้นคุณภาพ ยังไม่ต้องเน้นปริมาณ ดูแลจัดการให้ดีก่อน แปรงขน อาบน้ำให้ ดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี และอยู่ในโรงเรือนที่ดี ถ้าเรามีความรู้ มีการจัดการที่ดี เราก็จะสามารถเลี้ยงวัวให้มีคุณภาพที่ดีได้”
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก อาจารย์วิบูลย์ ไวยสุระสิงห์ เจ้าของสุระสิงห์ฟาร์ม ที่อยู่ 16/1 ม.3 ต.ซากบก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 327