จากบัณฑิตหนุ่มวิศวกรรมไฟฟ้า ทำงานหาประสบการณ์ในกรุงเทพมา 22 ปี ทั้งทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยหลังจากที่ได้ศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ทำให้เขาได้เปลี่ยนแนวคิดกลับไปสานต่ออาชีพเกษตรกรรมที่บ้านเกิดบนที่ดิน 47 ไร่ และปัจจุบันได้เปิดฟาร์มเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ประเภทผสมผสาน และได้รับรางวัลเกษตรกรแห่งชาติ ประจำปี 2563 ภายใต้ชื่อ “พรประคองฟาร์ม” หรือ “PK FARM” สายพันธุ์แพะ
การทำเกษตรผสมผสาน
คุณศักรินทร์ สมัยสงได้เล่าประวัติความเป็นมาให้ นิตยสารสัตว์บก ฟังว่า มีช่วงหนึ่งทางบริษัทให้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงาน หลังจากศึกษาหลักปรัชญาของในหลวง ร.9 จึงเกิดความสนใจ ประจวบกับมีโอกาสได้ไปทำงานเป็น process engineer ที่ประเทศเบลเยียม
“มีฝรั่งถามว่าที่บ้านทำอาชีพอะไร เราตอบไปว่าทำสวน เขาก็บอกว่าทำไมถึงมารับจ้าง เป็นชาวสวนน่าจะรวยนะ เมื่อได้ฟังประโยคนั้น จึงตัดสินใจกลับมาทำสวน และศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง และศึกษาดูงานตามโครงการของพระองค์ท่านอยู่เสมอ ทั้งด้านประมง ด้านพืช และด้านปศุสัตว์”
จุดเริ่มต้นเลี้ยงวัว
โดยเริ่มจากให้คุณแม่และน้องชายเริ่มทำฟาร์มที่บ้าน ส่วนตัวเองศึกษาดูงานที่กรุงเทพฯ ก่อนลาออกได้ศึกษาต่อเพิ่มเติมด้านการส่งเสริมการเกษตร และการจัดการเกษตร เอกธุรกิจเกษตร “เพราะอยากกลับมาช่วยส่งเสริมแนะนำเกษตรกรที่บ้านเกิดด้วย ในสังคมเกษตรบ้านเรา เกษตรกรเก่งเรื่องการผลิต แต่ยังอ่อนเรื่องการตลาด เราจึงอยากมาช่วยในส่วนนี้” คุณศักรินทร์ให้ความเห็น
ที่บ้านทำสวนปาล์มน้ำมันมาก่อน จึงเริ่มต้นจากการเลี้ยงวัว เพราะต้องการมูลมาทำปุ๋ย แต่ภาคใต้ฝนตกบ่อย และดินที่ได้เป็นดินเหนียว เมื่อเลี้ยงวัวก็ไปทับทำให้ดินแน่นขึ้นไป จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงแพะ เพื่อให้แพะกินหญ้าในสวนปาล์ม และนำมูลแพะมาใส่สวนปาล์ม ซึ่งปาล์มเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยมาก ต้นทุนของสวนปาล์มหลักๆ ก็คือ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมีหนักมาก เฉลี่ยแล้วต้นหนึ่งให้ 4.5-5.5 กิโลกรัม/ต้น/ปี โดยใส่ปุ๋ยปีละ 2ครั้ง
การทำเกษตรต้องอาศัยดิน สิ่งแรกที่ไม่ใช้ คือ สารเคมี สารปราบศัตรูพืช เพราะหญ้าต้องให้แพะ ให้วัว กิน และถ้าใช้ยาฆ่าหญ้ามันจะซึมแล้วลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งที่ฟาร์มมีบ่อปลาด้วย เป็นปลาหลายสายพันธุ์รวมๆ กัน เช่น ปลาสวาย ปลาบึก ปลานิล และปลาตะเพียน เลี้ยงเพื่อบริโภค
ที่ฟาร์มจะมีปุ๋ยมูลแพะกับมูลวัวใช้เองในฟาร์ม ไม่มีจำหน่าย แต่จะมีปุ๋ยหมักโดยจะนำเศษหญ้า เศษอาหาร ที่เหลือ มาหมักกับมูลแพะ จัดจำหน่ายกระสอบละ 10 กิโลกรัม ขายกระสอบละ 35 บาท 3 กระสอบ 100 บาท ส่วนมากจะส่งขายร้านต้นไม้
การพัฒนา สายพันธุ์แพะ
เริ่มจากการเลี้ยงแพะลูกผสมของบ้านเรา 12 ตัว ผลที่ได้ออกมาดี จึงเริ่มขยายจำนวนแพะ แต่ถ้าเลี้ยงพันธุ์พื้นเมืองเยอะ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมันต่ำ และใช้เวลาขุนนาน เวลา 1 ปี จะได้น้ำหนักประมาณ 20-22 กิโลกรัม แต่พอมาปรับเปลี่ยน สายพันธุ์แพะ เนื้อโดยตรง 6 เดือน จะได้ 25-30 กิโลกรัม ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกันเยอะ
หลังจากนำเข้าแพะมาจะเก็บลูกตัวเมียไว้ตลอด ซึ่งโชคดีที่ตอนนั้นได้เข้าร่วมโครงการการผสมเทียมในแพะของไทยนิยมเข้มแข็ง เป็นโครงการที่ให้อาสาปศุสัตว์ไปอบรม แล้วก็จะมีน้ำเชื้อแพะพ่อพันธุ์แท้ของกรมปศุสัตว์ให้มาผสม ทำให้ที่ฟาร์มไม่ต้องซื้อพ่อพันธุ์มา และสามารถแยกสายพันธุ์ได้หลายสายเพื่อที่จะส่งต่อเกษตรกร และแพะพ่อพันธุ์ตัวไหนมีลักษณะดี ประกวดแล้วได้แชมป์จะนำมารีดน้ำเชื้อแล้วเก็บไว้ที่กรมปศุสัตว์ ทำให้ปัจจุบันไม่มีการนำเข้าแพะจากที่อื่น เป็นการลดต้นทุน
“จริงๆ แล้วแค่ใช้สายพันธุ์พื้นเมืองในภาคใต้ แล้วเพิ่ม สายพันธุ์แพะ เนื้อโดยตรงเข้าไปแค่นั้นเอง สายพันธุ์ที่ใช้มาปรับปรุงตอนนั้นใช้แพะพันธุ์บอร์ และพันธุ์คาราฮารีเรด จากแอฟริกา นำเลือดร้อยเข้ามาทำลูกผสม และเก็บแพะลูกผสมในท้องถิ่นเข้ามา แล้วใช้แพะที่นำเข้ามาคุมฝูง แล้วควบคู่กับการหาตลาดให้กับฟาร์มเครือข่าย ทำผลผลิตแพะให้เพียงพอ ทำมาประมาณ 6 ปี จนเกษตรกรเห็นด้วย ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายทั้ง 36 วิสาหกิจชุมชน ในนครฯ” คุณศักรินทร์เปิดเผย
แต่เนื่องจากคนนครฯ บริโภคเนื้อแพะแค่ประมาณ 10% อีก 90% ต้องทำการส่งออกข้างนอก จึงมีโอกาสได้ไปประเทศมาเลเซียเพื่อสำรวจตลาด และร่วมทำ MOU เพื่อเป็นตัวการันตีว่า มีการผลิตเท่าไหร่ มีส่งออกเท่าไหร่ ซึ่งทางมาเลเซียต้องการแพะจากเครือข่ายนครฯ เดือนละ 1,000 ตัว แต่ทางเราสามารถผลิตแล้วส่งออกได้เดือนหนึ่งไม่เกิน 200 ตัว จึงต้องใช้เครือข่ายที่อยู่จังหวัดสุราษฎร์ฯ พัทลุง กระบี่ เข้ามาช่วย เพื่อที่จะเป็นตลาดของเกษตรกรทุกคน โดยมีคติพจน์ว่า “ร่วมกันคิด แยกกันผลิต รวมกันทำ”
การบริหารดูแลจัดการฟาร์มแพะ
ส่วนมากที่ฟาร์มจะเป็นแรงงานคนในครอบครัวเป็นหลัก เช้ามาจะตัดหญ้า ผสมอาหารให้แพะสำหรับมื้อเช้า จะให้ช่วง 7-9 โมงเช้า มื้อเย็นจะให้ช่วง 4-6โมงเย็น แต่ว่าหญ้าจะตัดล่วงหน้า 1 วัน เพื่อให้ความชื้นลดลง ก่อนจะทำการสับ
อาหารจะผสมเอง จะใช้อาหารข้นในท้องถิ่น จะมีพวกกากปาล์ม ฟักทอง มันเทศ มาผสมกับหญ้าเนเปียร์ หญ้าแพงโกล่า แล้วเติมวิตามิน แร่ธาตุ เรียกว่าอาหาร TMR โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์อาหาร TMR ในการคำนวณสัดส่วน โดยทั่วไปแพะต้องการโปรตีน 14% แพะหลังหย่านม หรืออุ้มท้อง 16-18% การผสมอาหารใช้เองสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้
การใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นแพะเลือดสูงๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องมีใช้บ้าง แต่ถ้าเป็นแพะบ้านเราค่อนข้างทนโรค สามารถใช้สมุนไพรแทนได้ ถ้าช่วยเรื่องการขุนให้แพะอยากอาหารจะใช้บอระเพ็ดสับปนกับหญ้า หรือยัดใส่กล้วยน้ำว้าก็ได้ แก้หวัดจะเป็นกะเพรา ฟ้าทะลายโจรสับปนกับหญ้า จริงๆ แล้วแพะถ้าเป็นโรคจะตายเร็วมาก การเลี้ยงแพะที่ดี คือ การป้องกันมากกว่ารักษา การป้องกันที่ดีก็ให้กินพวกวิตามิน แร่ธาตุ สมุนไพร
แร่ธาตุจะใช้ของร้านอาหารสัตว์ทั่วไป ส่วนมากจะใช้แค่แคลเซียมผงที่ผสมในอาหาร และพรีมิกซ์สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งในพรีมิกซ์สัตว์เคี้ยวเอื้องมีพวกวิตามินเอ ดี อี กำมะถัน ทองแดง แต่แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ พวกแร่ธาตุ พรีมิกซ์ ส่วนมากจะเป็นของวัว ดังนั้นเวลาใช้ต้องใช้น้อยกว่านั้น
จริงๆ แล้วแพะสามารถเลี้ยงตรงไหนก็ได้ แต่ต้องค่อยๆ ปรับตัว เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ปรับตัวง่าย แต่ต้องใช้เวลา เมื่อก่อนที่เลี้ยงแรกๆ ตอน 10โมง ช่วงที่แดดจ้า แพะจะหอบ ต้องใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวให้ทุกตัว ต้องดูแลเอาใจใส่ ไม่งั้นแพะอาจตาย แต่พอมารุ่นลูก รุ่นหลาน ค่อนข้างจะแข็งแรงแล้ว จึงไม่ค่อยมีปัญหา
ปัจจุบันในฟาร์มมีแพะแม่พันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์บอร์ คาราฮารีเรด และแองโกลนูเบียน รวมกันทั้งหมดประมาณ 275 ตัว นอกจากแพะพ่อแม่พันธุ์ แพะขุนขายเนื้อแล้ว ยังมีแพะนมอยู่ประมาณ 8 ตัว เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาทำสบู่ก้อน สบู่เหลว โลชั่นน้ำนมแพะ และมีโคเนื้อ 12 ตัว ม้าไว้ขี่ต้อนแพะ ต้อนวัว 2 ตัว เมื่อก่อนมีแกะ แต่ได้ย้ายไปอีกที่ประมาณ 100 ตัว
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ
ปัญหาของการเลี้ยงแพะหลักๆ เลย ก็คือ ตลาด เนื่องจากคนเลี้ยงแพะในประเทศไทย 90% เป็นชาวพุทธ ซึ่งไม่นิยมบริโภคเนื้อแพะ ถ้ายังจัดการเรื่องตลาดไม่ได้ อนาคตข้างหน้าเศรษฐกิจจะมีปัญหา พอเห็นปัญหาตรงนี้จึงพยายามที่จะทำให้มีการขายล่วงหน้า เช่น การทำ MOU กับต่างประเทศ
เรื่องที่สอง คือ เรื่องพืชอาหารหยาบ เนื่องจากช่วงนี้มีพี่น้องเกษตรกรหันมาเลี้ยงแพะจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีการจัดการเรื่องแปลงพืช อาจจะทำให้มีพืชอาหารหยาบไม่เพียงพอ ถ้าซื้อจากข้างนอกอย่างเดียวอาจทำให้มีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น เพราะอาหารหยาบแพะต้องกินเป็นตัวหลักประมาณ 70-80 %
ส่วนปัญหาจากโควิด-19 ในส่วนของแพะพันธุ์พอมีบ้าง แต่ที่กระทบเต็มๆ เลย แพะขุนขายเนื้อ เนื่องจากตลาดที่ต้องพึ่งพา พังงา กระบี่ ภูเก็ต ช่วงนี้ปิดจังหวัด ทำให้ส่งแพะขายไม่ได้ มาเลเซียก็ปิดประเทศ ส่งขายไม่ได้เช่นกัน แต่ก็มีการหารือกับคู่ค้าอยู่ว่าถ้ามีการเปิดประเทศก็สามารถส่งขายได้ทันที แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แพะที่ไม่ได้ส่งขายก็เริ่มโตกันหมดแล้ว คอกกักที่มีอยู่ก็ต้องรับเข้ามา แพะขายไม่ได้ก็จริง แต่ได้รับผลกระทบน้อย เพราะเรามีศูนย์กลางในการจัดการรับผลผลิตจากเกษตรกรเครือข่าย
เป้าหมายในอนาคต
ในส่วนของแพะพันธุ์ อยากเห็นประเทศไทยสามารถที่จะขายแพะพันธุ์ออกไปต่างประเทศได้ ไม่ใช่ซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างเดียว แต่สิ่งแรกเมื่อจะทำแพะพันธุ์ คือ เรื่องของประวัติ พันธุกรรม ต้องมีการบันทึกประวัติ มีการรับรองพันธุกรรม
ส่วนที่สองเรื่องของแพะเชิงพาณิชย์ อยากให้ฝ่ายวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางมหาวิทยาลัย เครือข่าย และเกษตรกรผู้เลี้ยง ให้กลับมามองว่าในเมื่อพื้นที่ของเราเป็นพื้นที่แบบนี้ เป้าหมายของเรา คือ ต้องการแพะเนื้อที่โตเร็ว น้ำหนักดี ระยะเวลาขุนสั้น จะต้องเป็นแพะพันธุ์ไหนที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น เป็นการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรใช้
ส่วนที่สามในเรื่องการทำเชิงธุรกิจ ในเมื่อเรามีเครือข่ายอยู่มากมาย เวลาได้ผลผลิตมาควรจะมีการวางแผนธุรกิจ อยากให้แต่ละเครือข่ายมีการบูรณาการกันมากกว่านี้
ส่วนสุดท้าย คือ เรื่องระบบมาตรฐานฟาร์ม เกษตรกรค่อนข้างที่จะทำยาก เพราะใช้มาตรฐานเดียวกันกับฟาร์มใหญ่ๆ ซึ่งมันอาจเกินตัวเกษตรกรที่สามารถทำได้ อยากให้มีการปรับปรุงให้เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็กด้วย
คุณศักรินทร์ฝากถึงพี่น้องเกษตรกรว่า “อยากให้พี่น้องเกษตรกรมองเป้าหมายเป็นหลัก ถ้าเราคิดจะเลี้ยงแพะ หรือสัตว์ชนิดอื่น ตัวหลักๆ ในการบริหารจัดการ คือ สายพันธุ์ อาหาร และการจัดการ อยากให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก ให้สมเหตุสมผลว่าเราควรเลี้ยงกี่ตัว พื้นฐานเราพอไหม ถ้าเรามีต้นทุนน้อยไม่จำเป็นที่ต้องกู้ยืมเพื่อจะซื้อพันธุ์ดีๆ ค่อยๆ ปรับปรุงพันธุ์ ค่อยๆ พัฒนาไป ผมอยากให้เกษตรกรที่เพิ่งเริ่มใหม่ ค่อยๆ เรียนรู้ เลี้ยงน้อยๆ พอเรียนรู้เข้าใจแล้วค่อยเริ่มขยาย และอยากให้ดูแลเอาใจใส่ให้มากๆ”
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณศักรินทร์ สมัยสง เจ้าของฟาร์ม “พรประคองฟาร์ม” หรือ PK FARM
ผู้อ่านท่านใดสนใจแวะเข้าเยี่ยมชม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บ้านเลขที่ 19/1 หมู่ที่ 2 ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร.098-075-8462