สุปรีกฤษ ฟาร์ม แพะ สุพรรณบุรี จากผู้บริหารอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สู่ผู้บริหารฟาร์มแพะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หากกล่าวถึงเนื้อ แพะ ชาวพุทธส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นชินกับการบริโภคเนื้อแพะ ซึ่งจริงๆ แล้ว เนื้อแพะเป็นอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดี อุดมด้วยสารอาหารโปรตีนมากถึงร้อยละ 21 เป็นแหล่งกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกาย มีความสำคัญในการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย

เนื้อแพะเหมาะสำหรับคนที่รักษาสุขภาพ และต้องการควบคุมปริมาณไขมันจากอาหาร เนื่องจากเนื้อแพะมีไขมันเพียง 2 กรัม ไขมันชนิดอิ่มตัว 0.7 กรัม คอเลสเตอรอล 57 มิลลิกรัม และให้พลังงานในเกณฑ์ต่ำเพียง 109 กิโลแคลอรี่ ต่อเนื้อแพะ 100 กรัม

1.คุณปรีชา นันทเลิศ หรือ คุณปรี
1.คุณปรีชา นันทเลิศ หรือ คุณปรี

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงแพะ

หากทางภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการส่งเสริมและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อแพะมากขึ้น อาจทำให้ตลาดแพะเนื้อสามารถเติบโต และเป็นที่นิยมมากขึ้น นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ คุณปรีชา นันทเลิศ หรือ คุณปรี และ คุณกฤษณะ แซ่มเล็ก หรือ คุณหนุ่ม แห่ง สุปรีกฤษ ฟาร์มแพะ สุพรรณบุรี หนุ่มนักบริหารที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้เติบโตต่อไปในอนาคต

เดิมคุณหนุ่มดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ส่วนคุณปรีเป็นผู้จัดการทั่วไปด้านการตลาดที่บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่เองมีเบื้องหลังการทำงานเกี่ยวกับด้านการบริหารเป็นหลัก จึงได้นำประสบการณ์ที่มีนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารธุรกิจด้านปศุสัตว์

“เดิมฟาร์มแพะเป็นของพี่วิทย์ที่เลี้ยงมาเกือบ 10 ปีแล้ว เมื่อปี 62 พวกผมและก็เพื่อนอีก 2 คน ทำงานที่กรุงเทพ เป็นผู้บริหารในโรงงาน แล้วอยากหาอาชีพเสริม พอดีช่วงนั้นมาเที่ยวที่ฟาร์มแพะพี่วิทย์ แล้วเกิดสนใจ ก็ได้ไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม จากอินเทอร์เน็ต ยูทูป เฟสบุ๊คตามเพจต่างๆ และเห็นว่าแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ก็เลยลงทุนร่วมกันกับเพื่อนๆ และได้ขยายฟาร์มเพิ่มเติมจากของพี่วิทย์ โดยใช้ชื่อว่า สุปรีกฤษฟาร์ม มาจากชื่อ สุวิทย์ สุรชัย ปรีชา และ กฤษณะ” คุณปรีเผยถึงที่มาของสุปรีกฤษฟาร์ม

2.โรงเรือนแพะ
2.โรงเรือนแพะ

การบริหารจัดการฟาร์มแพะ

พอเริ่มเข้ามาดูแลได้เต็มตัว ก็ได้พัฒนาฟาร์มจากที่เลี้ยงแค่แพะสายพันธุ์ลูกผสม ได้มีการเลี้ยงแพะบอร์สายพันธุ์แท้เพิ่ม เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ในฟาร์ม และจำหน่ายแพะบอร์พันธุ์แท้แก่เกษตรกรในราคาที่เกษตรกรสามารถจับต้องได้ เพื่อที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดที่ฟาร์ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อถามถึงความแตกต่างในการดูแลจัดการระหว่างแพะลูกผสมกับแพะเลือดร้อย คุณปรีได้ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกัน เพราะลูกแพะเลือดร้อยที่เลี้ยงในประเทศไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากพ่อแม่เลือดร้อยที่โตในไทยมีการปรับตัวได้แล้ว ลูกที่เกิดที่ไทยจึงสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้ค่อนข้างดี

แม้ว่าเรื่องการปรับตัวอาจไม่แตกต่างกัน แต่การเจริญเติบโตจะต่างกัน ในช่วงแรกเกิดถึง 1-3 เดือน อาจจะต่างกันไม่เยอะ แต่พอหลังจากหย่านมแพะเลือดร้อยจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่า ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะนำแพะเลือดร้อยไปทับกับแม่พันธุ์ลูกผสม เพื่อให้ลูกที่ออกมามีการเจริญเติบโตที่เร็ว ลดระยะเวลาการเลี้ยงขุน

“ที่ผ่านมาแพะเลือดร้อยเป็นแพะนำเข้าซะส่วนใหญ่ ทำให้มีปัญหาในการปรับตัวเรื่องสภาพอากาศของเมืองไทย และการให้อาหารที่แตกต่างกัน ทำให้การเจริญเติบโต และความแข็งแรง อาจจะสู้แพะลูกผสมไม่ได้ แต่ในปัจจุบันสำหรับลูกแพะเลือดร้อยส่วนใหญ่เกิดในเมืองไทย จึงสามารถปรับตัวได้ดีกว่าแต่ก่อน” คุณปรีให้ความเห็นเพิ่มเติม

สำหรับแพะลูกผสมที่เกิดมาถ้าเป็นตัวเมียก็จะเก็บไว้เพื่อเป็นแม่พันธุ์ ส่วนตัวผู้จะนำไปเป็นแพะขุนชั่งกิโลขาย โดยจะขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม เป็นส่วนใหญ่ แล้วพ่อค้าจะนำไปขุนต่อให้ได้น้ำหนักประมาณ 35-40 กิโลกรัม ก่อนจะส่งเข้าโรงเชือด และยังมีจำหน่ายแพะวัยต่างๆ ตามความต้องการของเกษตรกร

“สำหรับเกษตรกรรายใหม่ ส่วนมากจะแนะนำให้เขาซื้อแพะแม่พันธุ์ที่กำลังตั้งท้องไปเลี้ยง เพื่อลดระยะเวลาในการเลี้ยง เพราะหากเกษตรรายใหม่ซื้อแพะสาวไป ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะได้ผลผลิต กว่าจะได้คืนทุน ซึ่งบางทีมันก็เป็นเรื่องของกำลังใจในการทำ แต่ถ้าเกษตรกรซื้อแม่พันธุ์ที่ท้องแล้ว ราคาอาจจะสูงกว่า แต่ไม่นานก็ได้ผลตอบแทนเร็วและคืนทุนเร็วกว่า” คุณปรีกล่าวเพิ่มเติม

3.การให้อาหารแพะ
3.การให้อาหารแพะ

การให้อาหารแพะ

ส่วนเรื่องอาหารนั้นทางฟาร์มจะมีวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อให้แพะปรับตัวฝึกกินอาหาร ก่อนที่เกษตรกรจะนำไปเลี้ยง เพราะในบางพื้นที่อาจไม่มีต้นข้าวโพด ทางฟาร์มก็จะหัดให้กินกระถิน หรือพืชอาหารชนิดอื่น เพื่อที่เวลาเกษตรกรซื้อไปเลี้ยงจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการปรับเปลี่ยนอาหาร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยคุณปรีได้ให้ความเห็นว่า “แพะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างอ่อนไหวง่าย หากเปลี่ยนอาหารทันทีแพะจะไม่ค่อยกิน ทำให้มีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโต เราจึงต้องให้แพะปรับตัวเรื่องการกินตั้งแต่ที่ฟาร์ม โดยจะถามลูกค้าที่ซื้อไปว่าแหล่งอาหารที่มีในพื้นที่เป็นอะไร เราก็จะฝึกให้แพะกินแบบนั้นก่อนที่จะรับไปเลี้ยงต่อ เพื่อที่เกษตรกรจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการกินอาหารของแพะหลังจากซื้อไป”

4.คุณกฤษณะ แซ่มเล็ก หรือคุณหนุ่ม
4.คุณกฤษณะ แซ่มเล็ก หรือคุณหนุ่ม

การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงแพะบ้านหนองกระดี่

นอกจากนี้ทางฟาร์มพยายามที่จะไม่เดินไปเพียงลำพัง โดยการสร้างเครือข่ายขึ้นมาร่วมกับเกษตรกรคนเลี้ยงแพะ โดยใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงแพะบ้านหนองกระดี่ วิสาหกิจนี้มีแนวคิดที่จะพัฒนา มีแนวคิดบริหาร และมองว่าถ้ารวมกลุ่มกันจะสามารถสร้างความเข้มแข็งได้ในการทำธุรกิจ มีอำนาจในการต่อรอง

และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เรื่องให้คำปรึกษา แนะนำ จากคุณหมอโอ๋จากปศุสัตว์อำเภอสองพี่น้อง เป็นประธานที่ปรึกษาของกลุ่มสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน และสำนักงานพัฒนาพันธุ์สัตว์สุพรรณบุรี

“ปัจจุบันนี้เรามีทั้งหมด 13 ฟาร์ม ประมาณ 200 แม่ เราตั้งใจจะพัฒนาให้มีแม่แพะ 600 ตัว ภายในสิ้นปี เราได้ยื่นโครงการให้กับสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจ  โดยเราทำแผนธุรกิจให้  และเราก็พยายามหาเครือข่าย จนได้วิสาหกิจที่อำเภออู่ทองอีกที่” คุณหนุ่มกล่าวเพิ่มเติม

ในระยะเวลา 2 ปี ทางสุปรีกฤษฟาร์มได้สร้างฟาร์มเครือข่ายทั้งหมด 5 ฟาร์ม ที่สุพรรณบุรี 2 ฟาร์ม พระนครศรีอยุธยา 1 ฟาร์ม นครปฐม 1 ฟาร์ม และที่พังงา 1 ฟาร์ม จากทั้งหมดที่รวมกลุ่มกันมา ทั้งกลุ่มวิสาหกิจและฟาร์มเครือข่าย ตั้งเป้าว่าจะมีทั้งหมด 2,000 แม่ เพื่อให้มีผลผลิตมากพอ เพื่อการเพิ่มศักยภาพของกลุ่มในการจำหน่ายแพะได้ในปริมาณที่น่าสนใจในการซื้อของลูกค้า ส่วนในอนาคตถ้าทางฟาร์มมีความสามารถในการผลิตที่จะส่งออกได้เองโดยตรงก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่ง

เราจะเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านปศุสัตว์ และเป็นองค์กรในการเผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

 นี่คือวิสัยทัศน์ของเรา โดยพันธกิจของเรา คือ เราเป็นตัวแทนหลักในการดำเนินธุรกิจด้านปศุสัตว์ของกลุ่ม เป็นองค์กรที่แสวงหาความรู้และความร่วมมือเกี่ยวกับธุรกิจด้านปศุสัตว์ เราไม่เคยมองคนที่เลี้ยงแพะเป็นคู่แข่ง เรามองว่าทำยังไงให้เราเป็นคู่ค้ากันได้ เป็นองค์กรที่สร้างผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมในกลุ่ม เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการตลาด ให้การตลาดนำการผลิตคุณหนุ่มเผยถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจของกลุ่ม

5.ลูกแพะแข็งแรง โตเร็ว
5.ลูกแพะแข็งแรง โตเร็ว

แนวโน้มในอนาคต

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจได้มีวางแผนโครงการไว้ 10 ปี มีทั้งหมด 3 ระยะ ในส่วนของโครงการระยะสั้น (1-3 ปี) จะมี โครงการพัฒนาสายพันธุ์โครงการอาหารแพะในกลุ่มโครงการตู้ยาแพะ โครงการหยุดพยาธิขั้นเด็ดขาด โครงการฟาร์มปลอดโรค โครงการหมอแพะประจำกลุ่ม และ โครงการศูนย์รวมจำหน่ายแพะประจำกลุ่ม

สำหรับโครงการระยะกลาง (4-6 ปี) จะมี โครงการโอทอปแพะ ตําบลบ่อสุพรรณ โครงการโอทอป อาหารแพะปลอดสารพิษ โครงการแหล่งเรียนรู้แบบครบวงจร และ โครงการปุ๋ยมูลแพะเพื่อเกษตรอินทรีย์ และโครงการระยะยาว (7-10 ปี) จะมี โครงการโรงเชือดประจำอำเภอ โครงการส่งออกแพะมีชีวิต และ โครงการส่งออกเนื้อแพะแปรรูป

จุดแข็ง และ จุดอ่อน คนเลี้ยงแพะ

จุดแข็งของคนเลี้ยงแพะ เกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี แหล่งอาหารหาได้ง่าย เป็นอาหารตามธรรมชาติในชุมชน มีการสนับสนุนจากภาครัฐ เริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างเป็นระบบ ด้านการตลาดมีผู้ซื้อผลผลิตมายาวนาน การบริหารของกลุ่มเข้มแข็งและครบวงจร ผลผลิตจากแพะสามารถจำหน่ายได้ทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น แม่แพะท้อง แพะสาว ลูกแพะ หรือแม้แต่มูลแพะ

และโอกาสที่จะเติบโตได้อีกเยอะ เพราะในปัจจุบันแพะมีความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย มีการเพิ่มตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เวียดนาม จีน หรือประเทศโซนกลุ่มตะวันออก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนจุดอ่อนนั้นยังมีความอ่อนแอต่องบประมาณการลงทุน บางที่ยังขาดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านราคา ขาดการรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาสายพันธุ์อย่างเป็นระบบ ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดเพื่อการส่งออกโดยตรง

6.โครงสร้างใหญ่ แข็งแรง น้ำหนักดี
6.โครงสร้างใหญ่ แข็งแรง น้ำหนักดี

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ

สำหรับการตลาดที่วางรูปแบบไว้นั้นมีทั้ง 5 ตลาด ตลาดสายพันธุ์ ตลาดแพะขุน ตลาดแปรรูปอาหาร อีกหนึ่งตลาดที่ยังไม่มีใครทำ คือ ตลาดทางวัฒนธรรม คือ แพะที่ไว้สำหรับทำบุญในศาสนาอิสลาม และสุดท้ายตลาดเพื่อส่งออก

“การที่จะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ เราต้องมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์แรกของเรา คือ การสร้างเครือข่าย รวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง การสร้างตลาดที่มั่นคง โดยไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง และสุดท้าย คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า” คุณหนุ่มเผยถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

7.พื้นที่ให้แพะได้เดินเล่น
7.พื้นที่ให้แพะได้เดินเล่น

ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มแพะ

เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจนี้ คุณหนุ่มได้ให้ความเห็นว่า “การที่จะเจอปัญหาหรืออุปสรรคแน่นอนว่าในการทำธุรกิจทุกตัวต้องเจอแน่ๆ แต่จะเจอมาก เจอน้อย ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มทำ เพราะฉะนั้นก่อนที่ผมจะเริ่มทำผมศึกษาข้อมูลมาเป็นปี ถ้าเราเตรียมตัวได้ดี ศึกษามาดี เราก็จะเจออุปสรรคน้อยที่สุด แต่เมื่อเจอปัญหาสิ่งสำคัญของการบริหารเราต้องเร่งแก้ไขปัญหานั้นให้ได้ก่อน เมื่อแก้ไขเสร็จก็มาวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง เมื่อหาสาเหตุได้เราต้องมาหาแนวทางเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำให้ได้ และขยายผลไปยังจุดอื่นๆ นี่คือหลักบริหาร”

และสิ่งสำคัญที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักลืม คือ การบันทึกข้อมูล นอกจาก รายรับ รายจ่าย ทั่วไปแล้ว ควรบันทึกรายจ่ายเรื่องค่ายารักษา เพราะหากมีการบันทึกเราจะทราบว่าในแต่ละช่วงแพะป่วยเป็นอะไร เพราะพฤติกรรมการใช้ยาจะบอกถึงสภาวะโรคที่เกิดในช่วงนั้นได้ ยิ่งมีข้อมูลมากจะทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหา และวางแผนการดำเนินงานได้ นี่คือตัวอย่างของประโยชน์ในการเก็บข้อมูล

8.สายพันธุ์แพะ
8.สายพันธุ์แพะ

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงแพะ

สำหรับผู้เลี้ยงรายใหม่ที่สนใจอยากหันมาเลี้ยงแพะ ทางสุปรีกฤษฟาร์มยินดีที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ เปิดรับทุกท่านที่สนใจอยากเข้ามาเรียนรู้ ศึกษาข้อมูล เราอาจจะไม่ได้เก่งที่สุด หรือดีที่สุด แต่เรามีใจที่เต็มร้อยจะมอบให้เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ และทางเราพร้อมเปิดกว้างรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เช่นกัน เรายินดีรับอะไรใหม่ๆ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟสบุ๊ค “สุปรีกฤษ ฟาร์มแพะ สุพรรณบุรี” หรือโทร.090-265-1965

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก  สุปรีกฤษฟาร์ม คุณปรีชา นันทเลิศ หรือ คุณปรี และ คุณกฤษณะ แซ่มเล็ก หรือ คุณหนุ่ม 294 ม.8 ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 339