สุรชัยฟาร์ม เลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์รอสกว่าล้านตัว/รุ่น ใช้แอร์โร่ฟอยล์ลดต้นทุนหลายอย่าง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สุรชัยฟาร์ม เลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์รอสกว่าล้านตัว/รุ่น ใช้แอร์โร่ฟอยล์ลดต้นทุนหลายอย่าง

จากเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ที่ไม่มีความรู้ด้านเลี้ยงไก่ เมื่อเกิดความสนใจในธุรกิจไก่เนื้อ จึงได้เริ่มต้นศึกษาเรียนรู้หาประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนปัจจุบันกลายเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่รายใหญ่แห่ง จ.ลพบุรี ที่เริ่มจากการเลี้ยงไก่ 1 โรงเรือน จำนวน 1.5 หมื่นตัว เมื่อธุรกิจนี้ไปได้ด้วยดีจึงขยับขยายมาเรื่อยๆ ในระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด 80 โรงเรือน และไก่เนื้อกว่าล้านตัว

1.คุณสุรชัย โรจน์เจริญชัย เจ้าของฟาร์ม สุรชัยฟาร์ม
1.คุณสุรชัย โรจน์เจริญชัย เจ้าของฟาร์ม สุรชัยฟาร์ม

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่เนื้อ

นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้ ได้มีโอกาสมาสัมภาษณ์ คุณสุรชัย โรจน์เจริญชัย เจ้าของฟาร์ม สุรชัยฟาร์มเพื่อค้นหาเทคนิคการดูแลจัดการฟาร์มอย่างไรให้สามารถขยับขยายฟาร์มมาได้ไกลขนาดนี้ และเทคนิคการลดต้นทุนต่างๆ ที่ทำให้ฟาร์มสามารถอยู่ได้ถึงปัจจุบัน

เดิมทีคุณสุรชัยเป็นคนเมืองกาญฯ ที่บ้านทำไร่อ้อย พออายุ 20 ปี ได้แยกตัวออกมาอยู่ อ.ด่านช้าง สุพรรณบุรี ในปี 2525 ช่วงนั้นทำธุรกิจปลูกข้าวโพด พอโรงงานน้ำตาลมาเปิดก็ได้ปลูกอ้อยเพิ่ม ส่วนเรื่องเลี้ยงไก่นั้นคุณสุรชัยบอกว่าไม่มีความคิดที่จะเลี้ยงเลย แต่ในที่สุดก็ต้องเลี้ยง

มีช่วงหนึ่งเพื่อนชวนไปดูเล้าไก่ ตอนนั้นผมยังไม่สนใจเพราะมันเป็นโรงเรือนเปิด แบบธรรมดา ถังน้ำก็ต้องหิ้วมาวาง อาหารก็ต้องเทเติม ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเลี้ยงไม่ได้หรอก ต่อมา บริษัท ซันฟู๊ด ชวนมาดูระบบการเลี้ยงแบบต่างประเทศ เห็นแล้วเลยสนใจ เพราะมันเป็นระบบออโต้ทั้งหมด ง่ายต่อการจัดการ

2.โรงเรือนไก่เนื้อ
2.โรงเรือนไก่เนื้อ

สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ

ต่อมาจึงลงทุนสร้างโรงเรือนหลังแรกในปี 2543 ขนาด 14×100 เมตร บรรจุไก่ได้ 1.5 หมื่นตัว เลี้ยงในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท ซันฟู๊ดฯ ในโรงเรือนระบบปิด ตอนนั้นทางฟาร์มเลี้ยงเฉพาะตัวผู้ จับขายที่น้ำหนัก 3.7-3.8 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 47 วัน สมัยนั้นเลี้ยงได้ตัวละ 17-18 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้ว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หลังจากนั้นก็ได้ขยายฟาร์มมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมี 9 เฟส มีทั้งหมด 80 โรงเรือน มีโรงเรือนที่สามารถบรรจุไก่ได้ถึง 1.2 แสนตัว เป็นโรงเรือนแบบ 2 ชั้น ซึ่งคุณสุรชัยได้เผยถึงที่มาของการขยายฟาร์มว่า พอผมทำธุรกิจไก่เนื้อมา 10 ปี ผมมองว่าธุรกิจนี้มันดีมาก จึงเริ่มยุบธุรกิจที่เกี่ยวกับพืชไร่ลงไป แล้วหันมาขยายเรื่องไก่ จึงเริ่มขยายมาเรื่อยๆ จาก 1 ไป 2 จาก 2 ไป 4 ผมใช้เวลาศึกษาและก็เลี้ยงตรงนั้นมา 10 ปี

เหตุผลที่ขยับจาก อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มาอยู่ที่ จ.ลพบุรี เพราะมองว่าการที่จะขยายธุรกิจให้โตขึ้น จะทำอย่างไรให้ต้นทุนลดลง  จึงตัดสินใจลงทุนซื้อที่นี่  เพราะอยู่ใกล้บริเวณโรงฟัก โรงเชือด และโรงอาหาร ช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าขนส่งได้ ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ตัวละ 2 บาท

3.การให้อาหารไก่เนื้อ
3.การให้อาหารไก่เนื้อ

การบำรุงดูแลไก่เนื้อ

การดูแลในแต่ละวันจะมีคนงานคอยดูแลจัดการ  ถ้าโรงเรือนขนาด 2.5 หมื่นตัว จะใช้คนงาน 1 คน  ถ้าโรงเรือนขนาด 4 หมื่นตัว จะใช้ 2 คน ส่วนเรื่องอาหารทางบริษัทจะจัดหามาให้ ส่วนการให้วัคซีนทางบริษัทจะให้ทางไข่ก่อนนำมาส่ง พอมาถึงที่ฟาร์มจึงไม่มีการให้วัคซีน

ตอนหลังบริษัทกลับมองว่าพอไม่ได้วัคซีนแล้วสุขภาพไก่ก็ยังดี กินอาหารได้ น้ำหนักได้ ต่อมาทางบริษัทได้ทำการปลดวัคซีน พูดได้เลยว่าเลี้ยงกับบริษัท ซันฟู๊ดฯ คือ ปลอดวัคซีน 100%

ในช่วงที่ลูกไก่มาวันแรกจะทำการกกลูกไก่ก่อนประมาณ 5-7 วัน  แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ  เพื่อสร้างภูมิให้กับลูกไก่ ระยะที่สำคัญที่สุดในไก่เนื้อ คือ ช่วง 3 วันแรก การกินอาหารในระยะแรกต้องกินให้ได้ และการระบายอากาศคือเรื่องที่สำคัญ ถ้าการระบายอากาศดี ไก่ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพภายใน ถ้าดูแลในช่วงแรกๆ ให้ดี ในตอนท้ายไก่ก็จะให้ผลผลิตดี

ซึ่งคุณสุรชัยกล่าวว่า เราทำอาชีพเลี้ยงไก่ ไก่ก็เลี้ยงเราด้วย เพราะรายได้เราก็มาจากไก่ เราต้องดูแลให้ดีที่สุด ต้องเรียนรู้จริงๆ ว่าไก่ต้องการอะไร ถ้าแรงลมไม่ได้เราก็ต้องเพิ่มพัดลมให้ เลี้ยงให้ไก่อยู่สบายที่สุด แล้วเขาจะให้ผลตอบแทนเราดีเอง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนสายพันธุ์ที่เลี้ยงจะเป็นไก่เนื้อ สายพันธุ์รอส แต่ก่อนเคยเลี้ยงพันธุ์คอบบ์ แต่มักเจอปัญหาเรื่องขาเจ็บ และกระเพาะโต ปัจจุบันใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 44 วัน ตัวผู้น้ำหนักจับอยู่ที่ 3.2 กิโลกรัม ตัวเมีย 2.8 กิโลกรัม ราคาจับ ณ วันนี้ 35.75 บาท (17 กรกฎาคม 2563) ต้นทุนในการเลี้ยงต่อตัว 6-7 บาท

4.อุปกรณ์ที่ใช้ภายในฟาร์ม
4.อุปกรณ์ที่ใช้ภายในฟาร์ม

การบริหารจัดการภายในฟาร์มไก่เนื้อ

ส่วนแหล่งน้ำทางฟาร์มที่ลพบุรีจะใช้น้ำประปาทั้งหมด  เพราะที่ตรงนี้ไม่มีน้ำ  เจาะบาดาลไปก็ได้น้ำนิดเดียว  แต่ตัวคุณสุรชัยเองไม่ได้มองแค่แหล่งน้ำบาดาล แต่มองไปที่เขื่อนป่าสัก อยู่ใกล้เขื่อนยังไงน้ำไม่มีขาด แต่จะหาวิธียังไงที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ได้ จึงได้ทำการขุดบ่อเก็บน้ำขนาด 60,000 คิว และได้ทำกาลักน้ำจากเขื่อนป่าสักลงมายังบ่อเก็บน้ำ และติดตั้งเครื่องผลิตน้ำประปาโดยตรง

ส่วนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ฟาร์ม  ในส่วนของมูลไก่จะประมูลขาย  โดยจะมีเจ้าประจำมารับที่ฟาร์ม และที่ฟาร์มมีการติดตั้ง แผงโซล่าร์เซลล์ ที่เฟสแรก และในอนาคตมีแผนที่จะขยายต่อให้ครบทุกเฟส การใช้โซล่าร์เซลล์สามารถช่วยประหยัดไฟไปได้ 1.6 บาท/ตัว

ผมมองว่าทุกบริษัทมีการแข่งขันที่สูง เงื่อนไขเริ่มมากขึ้น เราเองก็ต้องปรับตัวเราให้เลี้ยงไก่ให้ได้ดีที่สุด ตรงไหนที่ประหยัดได้เราก็ต้องประหยัด อย่าง การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟไว้ได้ คุณสุรชัยย้ำถึงการลดต้นทุนพลังงาน

5.ถังไซโลอาหาร
5.ถังไซโลอาหาร

ปัญหาและอุปสรรคภายในฟาร์มไก่

เมื่อถามถึงปัญหาในการเลี้ยงไก่ คุณสุรชัยให้ความเห็นว่าเกษตรกรส่วนมากยังไม่ยอมรับว่าตัวเราเองต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องปรับตัวให้มากขึ้น วิธีการเลี้ยงแบบเดิมบางทีก็ใช้ไม่ได้แล้ว อย่างเช่น การลงแกลบ ซึ่งแต่ก่อนเขาจะนิยมลงแกลบหนา

ปัจจุบันที่ฟาร์มจะลงแกลบบางๆ ประมาณ 1.7-1.8 กิโลกรัม/ตารางเมตร  แต่ในช่วงไก่เล็กจะยังไม่ลง จะทยอยลงในช่วงที่เริ่มมีความชื้น หรือบริเวณที่มีความชื้นสูง แถวรางน้ำ หรือตรงที่มีมูลไก่เยอะๆ ก็จะนำแกลบไปเสริม และเสริมไปเรื่อยๆ จนถึงวันจับไก่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณสุรชัยได้ให้เหตุผลที่ลงแกลบบางว่า เป็นเพราะแกลบมีราคาสูง แล้วเราก็มาคิดว่าจะทำยังไงดี เพราะเดิมทีเคยใส่หนาถึง 7 เซนติเมตร พอใส่หนาก็ต้องมาคอยกลับแกลบ แอมโมเนียก็อยู่ในแกลบเยอะ ทำให้ไก่ป่วย แต่ช่วงที่ลองเปลี่ยนมาให้แกลบแบบบาง คนงานก็บอกว่าไม่ได้ๆ เราก็คิดว่าทำไมจะไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ลองทำ

แล้วเราก็ได้ทดลองใส่แกลบน้อยลง พอใช้ไปแล้วแอมโมเนียไม่มี เพราะแกลบบางมันเลยแห้งตลอด แต่จะใช้วิธีเสริมโดยการโรยแกลบ ค่อยๆ ทยอยลงแทนการใส่ทีเดียว นอกจากลดแอมโมเนียได้ ยังช่วยลดต้นทุนค่าแกลบด้วย แต่ก็ต้องมีการระบายอากาศ และวัสดุรองพื้นที่ดีด้วย

เนื่องจากปัจจุบันแกลบมีราคาค่อนข้างสูง ทางฟาร์มได้มีการนำ ขี้เลื่อยยางพารา มาใช้ทดแทน โดยใส่ 2 กิโลกรัม จะบางกว่าใส่แกลบ 1.8 กิโลกรัม ผลที่ออกมาก็ค่อนข้างดี และราคาก็ถูกกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วทางเมืองนอกใช้ขี้เลื่อยมานานแล้ว เพราะไม่มีแกลบ ส่วนขี้เลื่อยที่ใช้แล้วจะขายคืนให้บ่อไบโอแก๊ส ซึ่งการนำขี้เลื่อยมาเป็นสารตั้งต้นจะดีกว่าการใช้แกลบ เพราะแกลบไม่ค่อยย่อยสลาย

6.แอร์โร่ฟอยล์ ลดความร้อนภายในโรงเรือนไก่เนื้อ
6.แอร์โร่ฟอยล์ ลดความร้อนภายในโรงเรือนไก่เนื้อ

คุณสมบัติของแอร์โร่ฟอยล์

หัวใจสำคัญอีกตัวที่มีผลต่อต่อการเลี้ยงไก่ คือ อุปกรณ์ในโรงเรือน ตั้งแต่สมัยที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ โรงเรือนเลี้ยงไก่หลังแรก คุณสุรชัยได้เพิ่มเติมอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีจำนวนเหมาะสม และเพิ่มพัดลมเพื่อให้อุณหภูมิในโรงเรือนเหมาะสม

ต่อมาในการสร้างโรงเรือนใหม่อุปกรณ์ต้องมีเพียงพอสำหรับตัวไก่ ทั้งคูลลิ่งแพด พัดลม รางน้ำ และรางอาหาร ต้องเพียงพอต่อจำนวนไก่ที่เลี้ยง ต่อมาได้มีการปรับปรุงโรงเรือน แต่เดิมใช้ผ้าพีวีซี พอใช้ไประยะหนึ่งผ้าจะหดตัว ผ้ามีรอยรั่ว ทำให้มีลมร้อนจากภายนอกเข้าสู่โรงเรือน ต้องมีการซ่อมแซมอยู่ตลอด ทั้งเย็บ ทั้งทากาว เสียทั้งเวลา และแรงงาน ต่อมามีคนนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ แอร์โร่ฟอยล์ มาให้ดู

คุณสุรชัยเห็นว่าตัวผลิตภัณฑ์มีความเหนียว  ติดตั้งได้ง่าย  จึงเกิดความสนใจ  เพราะคิดว่าน่าจะแข็งแรงและทนกว่าผ้าพีวีซีที่ใช้อยู่ จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้แอร์โร่ฟอยล์จนถึงวันนี้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณสุรชัยได้ตัดสินใจเปลี่ยนใหม่หมดทั้งเฟส ใน 3 เดือนที่ผ่านมา เปลี่ยนไปได้ 3 เฟส จะเปลี่ยนในระยะเวลาที่พักเล้า เพื่อไม่ให้เป็นการยืดเวลาลงไก่ ทางฟาร์มจะพักเล้า 27 วัน ภายในระยะเวลานี้ต้องเปลี่ยนใหม่หมดทั้งโรงเรือน

เมื่อเปลี่ยนมาใช้แอร์โร่ฟอยล์แล้วสามารถช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือนได้ประมาณ 2-3 องศาเซลเซียส ถือว่าช่วยได้เยอะ เพราะที่ลพบุรีอากาศค่อนข้างร้อนมาก และหัวใจสำคัญของแอร์โร่ฟอยล์ คือ ไม่รั่ว ทำให้ไม่มีลมร้อนเข้าโรงเรือน

ถ้าพูดถึงอายุการใช้งานอยู่ได้นานกว่าผ้าพีวีซีแน่นอน เพราะมีความเหนียว ความคงทนกว่า ปัญหาเรื่องการติดกาวไม่มีแน่นอน เพราะใช้การเย็บ ส่วนตรงที่ติดกับเหล็กอาจจะทากาวเหมือนกัน แต่มีแถบรัดช่วยให้แน่นมากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบดูแล้วการใช้แอร์โร่ฟอยล์มีความคุ้มค่ากว่าให้ผ้าพีวีซีและเมทัลชีท เพราะมีความคงทนกว่า และติดตั้งได้ง่ายกว่าแผ่นเมทัลชีท เพราะการติดตั้งเมทัลชีทต้องรื้อรางน้ำ รางอาหาร ลงมาทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง คุณสุรชัยได้คำนวณออกมาแล้วว่าการติดแอร์โร่ฟอยล์เฉลี่ยแล้วจะตกตารางเมตรละ 64 บาท ซึ่งราคานี้รวมค่าช่างติดตั้งแล้ว

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของแอร์โร่ฟอยล์ ที่ผลิตจากแผ่นสะท้อนความร้อน (Heat reflective sheet) ชนิดอลูมิเนียมฟอยล์บริสุทธิ์ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งสามารถสะท้อนความร้อนได้สูงถึง 95% ไม่อมความร้อน ไม่ลามไฟและกันความชื้นได้ดี เหมาะกับงานฟาร์ม ทนทาน ไม่ขาดง่าย อายุการใช้งานยาวนาน ไม่หดตัว 100% และรับประกันการใช้งานนานกว่า 5 ปี

7.แข็งแรง โตไว ได้น้ำหนัก
7.แข็งแรง โตไว ได้น้ำหนัก

ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจแอร์โร่ฟอยล์

สุดท้ายคุณสุรชัยฝากทิ้งท้ายถึงเกษตรกรที่สนใจอยากหันมาใช้แอร์โร่ฟอยล์ ผมมองว่าผลิตภัณฑ์แอร์โร่ฟอยล์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ค่อนข้างตอบโจทย์สำหรับฟาร์มที่ต้องการปรับปรุง หรือสร้างใหม่ก็แล้วแต่ ผมมองดูแล้วว่าคุณสมบัติหนึ่งเลยที่ตอบโจทย์ คือ ลดความร้อนในโรงเรือน ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการเลี้ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

และที่สำคัญวัสดุมีความคงทน แข็งแรง  ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ติดตั้งได้ง่าย  ส่วนต้นทุนการติดตั้งก็ไม่สูงเท่าการติดตั้งเมทัลชีท ผมมองว่าอายุการใช้งานถึง 6-7 ปี ก็คุ้มแล้ว แต่จากที่ลองใช้แล้วผมว่าน่าจะใช้ได้นานกว่านั้น เพราะดูแล้วก็ไม่มีปัจจัยอะไรมาทำให้มันเสื่อมสภาพ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณสุรชัย โรจน์เจริญชัย 42979 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 329

ใบสมัครสมาชิก