จังหวัดอุทัยธานีถือเป็นแหล่งผลิตควายพันธุ์ดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นการขนานนามของคนในวงการผู้เลี้ยงควายเป็นอาชีพ อีกทั้งยังเป็นนโยบายส่งเสริมเกษตรกรของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานีให้มีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น มีลักษณะสูงใหญ่เหมือนแต่ก่อน และเพื่อเพิ่มปริมาณประชากรควายในประเทศให้สูงขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
“การเลี้ยงควายเปลี่ยนไป แบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ มีการพัฒนาการเลี้ยงให้เป็นระบบมากขึ้น จากเมื่อก่อนเห็นการต้อนควายลงทุ่งนาจนเป็นภาพชินตา วันนี้ไม่ใช่รูปแบบนั้นอีกต่อไป” จากคำกล่าวข้างต้น คุณสะอาด ชาญกิจกรรณ์ หรือหมออาด ปศุสัตว์อำเภอเมืองอุทัยธานี และเจ้าของหมออาด ฟาร์มควายไทย ที่สวมบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐ และเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย สร้างฟาร์มต้นแบบและศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงควายให้กับเกษตรกรที่สนใจนำไปประกอบเป็นอาชีพ
การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกระบือ
หมออาดเล่าถึงที่มาว่า ตนทำหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร จึงเล็งเห็นว่าอาชีพเลี้ยง “ควาย” เป็นอาชีพที่สามารถพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นคง
โดยเริ่มจากเลี้ยงควายแม่พันธุ์จำนวน 2 ตัว ใช้เวลาภายใน 5 ปี เกษตรกรจะมีอาชีพที่ยั่งยืนกว่าการปลูกพืชไร่นาที่มีปัญหาด้านราคา ต้นทุนการผลิต และตลาดที่ผันผวนตลอด ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจึงแนะนำแนวคิดให้กับเกษตรกรเกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองต่ออาชีพเลี้ยงควายให้มีทัศนคติที่ดีขึ้น
โดยเปรียบเทียบให้เกษตรกรเห็นว่าการเลี้ยงควายในปัจจุบันที่มีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงแตกต่างจากการเลี้ยงแบบเดิมไม่ยากอย่างที่คิดและรายได้ที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงแรกอาจประสบปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากชาวบ้านมองไม่เห็นภาพ ตนจึงสร้างฟาร์มภายใต้ชื่อ “หมออาด ฟาร์มควายไทย” เลขที่ 318 หมู่ 1 ต.ทัพทัน อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี บนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับควายไทยพันธุ์ดีแก่เกษตรกรที่สนใจตามนโยบายของกรมปศุสัตว์
จากนโยบายรัฐบาลสู่การส่งเสริมการเลี้ยงควาย โดยให้เกษตรกรจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยง และสนับสนุนงบประมาณให้เกษตรกรกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ
ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีได้รับสิทธิ์จำนวน 40 กลุ่ม และได้แม่พันธุ์จำนวน 800 แม่ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกษตรกรให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก “หากเปรียบเทียบกับการทำนาที่ขายได้ตันละไม่กี่บาท การเลี้ยงควายถือว่าเป็นการออมเงินที่ดีมาก” หมออาดกล่าวเสริม
การบริหารจัดการฟาร์มควาย
“เลี้ยงควายปีหน้า ต้องปลูกหญ้าปีนี้” คำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแนวทางปฏิบัติของกรมปศุสัตว์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงควายต้องจัดสรรพื้นที่เพาะปลูก โดยเกษตรกรจังหวัดอุทัยธานีแบ่งพื้นที่ไร่นาบางส่วนใช้เป็นพื้นที่ปลูกหญ้าชนิดต่างๆ เช่น หญ้าแพงโกล่า หรือหญ้าเนเปียร์ เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้สัตว์กิน รวมถึง “ฟางข้าว” ที่ช่วยในเรื่องระบบการย่อยก็จะมีให้กินควบคู่กับหญ้าที่เตรียมไว้ตลอดทั้งปี
“ผมมองว่าควายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย พูดรู้เรื่อง แล้วอาหารที่กินก็เป็นแค่หญ้า นอกนั้นก็เป็นการบริหารจัดการของแต่ละฟาร์ม เตรียมน้ำ ทำวัคซีนตามโปรแกรม ถ่ายพยาธิทุก 6 เดือน แค่นี้ผลผลิตที่มีก็ได้ผลตอบแทนสูงแล้ว” หมออาดกล่าวถึงการเลี้ยงควายแบบหมออาด ฟาร์มควายไทย
ส่วนอาหารข้นจำพวกรำข้าว กากถั่วเหลือง และแคลเซียม จะเสริมเพื่อปรับปรุงโครงสร้างบางตัวที่มีลักษณะผอม หรือไม่แข็งแรงเท่านั้น
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายควาย
ด้านตลาดและราคา ปัจจุบันมีพ่อค้ามารับซื้อที่ฟาร์มโดยตรง ไม่ต้องเกรงว่าเลี้ยงแล้วไม่มีตลาดรองรับ เพราะความต้องการของตลาดมีค่อนข้างสูง ที่สำคัญสามารถกำหนดราคาได้ หรือสามารถตกลงราคาจนเป็นที่น่าพอใจ โดยไม่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักหากจำแนกเป็นควายสวยงาม หรือพ่อแม่พันธุ์ ราคาอาจสูงถึงหลักล้านบาท หรือหลายแสนบาท บางครั้งอาจต้องจองลูกควายตั้งแต่ตั้งท้องเลยก็ว่าได้
ส่วนทางฟาร์มจะจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ให้กับเกษตรกรในราคาที่เกษตรกรจับต้องได้ แต่การจำหน่ายลักษณะนี้จะมีราคาสูงกว่าควายเนื้อ และที่ฟาร์มจะเลี้ยงควายเพศผู้ไม่เกิน 2 ปี ก็จะจำหน่าย เพราะถ้าหากมีอายุมากกว่านี้จะส่งผลให้เกิดการทับควายในฝูง หรือก่อกวนควายเพศเมีย หรือหากมีลักษณะที่ดีก็จะเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์ เพื่อใช้รีดน้ำเชื้อจำหน่ายให้กับเกษตรกรต่อไป
นอกจากนี้“ขี้ควาย” ยังสามารถทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับอาชีพได้ ที่สำคัญเป็นการรักษาระบบนิเวศและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นดิน ผลพลอยได้จากการ เลี้ยงกระบือ และหมออาดยังเผยถึงแผนอนาคตว่า “อยากให้เกษตรกรเห็นความสำคัญกับอาชีพเลี้ยงควายมากขึ้น เพื่อที่จะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องไปขายแรงงาน
ทำภายใน 5 ปี เกษตรกรจะเป็นนายตัวเอง และมีอาชีพที่มั่นคง หรือใครที่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าว หรือทำไร่ข้าวโพดอยู่ หากได้ผลผลิตไม่ดีลองหันมา เลี้ยงกระบือ ดูบ้าง และเปรียบเทียบระหว่างทำพืชไร่กับการ เลี้ยงกระบือ อย่างไหนดีกว่ากัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางรอดของเกษตรกรในช่วงวิกฤติภัยแล้งที่ผมอยากจะแนะนำ”
การพัฒนาสายพันธุ์ควาย
หมออาดกล่าวต่อว่า “ด้านฟาร์มจะพัฒนารูปแบบการ เลี้ยงกระบือ ให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น โดยการแบ่งคอกให้เป็นสัดส่วน เหมาะสำหรับการบริหารจัดการในแต่ละรุ่น จากนั้นก็จะพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น
โดยเริ่มพัฒนาจากเล็กไปหาใหญ่ หรือค่อยๆ พัฒนารากฐานให้มั่นคง โดยทำควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรกรด้วย และในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้รัฐบาลเล็งเห็นคุณค่าในการสร้างอาชีพ หรือสนับสนุนงบประมาณให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่ทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และมีอาชีพที่ยั่งยืน”
“อาชีพ เลี้ยงกระบือ หากเป็นเมื่อก่อนอาจมองดูแล้วต้อยต่ำ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรูปแบบการเลี้ยงมีการพัฒนามากขึ้น ขายตัวหนึ่งหลายหมื่นบาท หรืออาจมากกว่านั้น เป็นแสน เป็นล้านบาท ก็มี อดทนเลี้ยงในวันนี้ อีก 5 ปี ท่านจะสบายไม่เป็นหนี้” หมออาดกล่าวทิ้งท้ายอย่างภาคภูมิใจ ขอขอบคุณ คุณสะอาด ชาญกิจกรรณ์ ปศุสัตว์อำเภอเมืองอุทัยธานี โทร.081-973-0263