กินไข่ทุกวัน สุขสรรค์แข็งแรง กลอน 6 สั้นๆ แต่ได้ผลในทางปลุกคนไทยที่กลัวไขมันอุดตันให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้ด้านโภชนาการว่าด้วยไข่ไก่ ในที่สุด คนกินไข่มากขึ้น ในช่วง 1 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยพอหายใจได้บ้าง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่รวมตัวเป็น “สหกรณ์” มีพลังต่อรองมากขึ้น ประกอบกับรัฐได้ตั้ง “เอ็กซ์บอร์ด” หรือ คณะกรรมการ ไก่ไข่ ขึ้นมา ผลิตนโยบายมิให้ไข่ล้นตลาด จนเกิดดั๊มราคาโดยผู้ผลิตรายใหญ่
การเลี้ยงไก่ไข่
ดังนั้นคนในวงการไก่ไข่หลายคนเริ่มมีกำลังใจต่อสู้ในธุรกิจ ด้วยการขยายฟาร์มเลี้ยง หรือเพิ่มช่องทางการค้าไข่ให้มากขึ้น
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ การทุ่มเท กำลังกาย กำลังทรัพย์ และ กำลังสติปัญญา พัฒนาพันธุกรรมไก่ไข่ โดยใช้สายพันธุ์ของกรมปศุสัตว์ ยุค ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร มาเป็นพันธุกรรมหลักของ คุณมานิจ วิบูลย์พันธุ์ มานิจฟาร์ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จนวันนี้ประสบความสำเร็จ ได้ลูกตัวเมีย 90% ต่อครอก และให้ไข่กว่า 300 ฟอง หรือตัวเมีย 270 ตัว โดยเลี้ยงเพียง 14 สัปดาห์ ก็ให้ไข่แล้ว
เมื่อสายพันธุ์นิ่ง มั่นใจในพันธุกรรม คุณมานิจจึงได้ทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อขึ้นทะเบียนพันธุ์ ปรากฏว่า เลขาฯ คณะกรรมการไก่ไข่ ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์เขต รวมทั้ง ผอ.สำนักปรับปรุงพันธุ์ มาเยี่ยมฟาร์ม ซักถามถึงประวัติการพัฒนาสายพันธุ์
ในกระบวนการเพาะเลี้ยงไก่ไข่ของมานิจฟาร์ม พิสูจน์แล้ว ปรากฏว่า “ต้นทุน” ต่ำ แต่ผลผลิตสูง จึงมั่นใจพันธุ์ไก่ไข่ของคุณมานิจจะทดแทนการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่จากต่างประเทศได้
เป็นการผลิตโดยฝีมือคนไทยที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ จนประสบความสำเร็จ
ถือว่าเป็นการพัฒนานวัตกรรมไก่ไข่ด้านพันธุกรรมโดยตรง
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ไข่
เรื่องที่ 2 ที่โชว์มันสมองและฝีมือคนไทย ก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเล้าไก่ และซอฟท์แวร์ การเลี้ยงไก่ด้วยไอที (IOT) ของ “พรรัตภูมิฟาร์ม” จังหวัดสงขลา
นั่นคือ ชาวสวนยาง นาม แผ้ว ฆังคะมะโน ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ ได้หันมาเริ่มต้นเลี้ยง ไก่ไข่ ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ 300 ตัว เมื่อ 47 ปีที่แล้ว เพื่อให้ชุมชนมีไข่บริโภค
ปรากฏว่ากิจการไปได้ดี ในบางปีจึงได้เพิ่มจำนวนแม่ไก่เพื่อให้ไข่เพียงพอ แต่บางปีไข่ราคาตก เพราะไข่ภาคกลางลงไปตีตลาดภาคใต้ ก็ต้องขาดทุน แต่เพื่อประคองธุรกิจให้รอด ต้องนำรายได้จากยางพารามาอุ้มไก่ไข่
ในที่สุดฟางเส้นสุดท้ายก็ขาด เพราะทนต่อการขาดทุนไม่ไหว จำเป็นต้องให้ลูกๆ ที่จบวิศวะ ลาออกจากงานมาช่วยฟื้นฟู
ด้วยจิตสำนึกของลูก ได้ทำงานดีๆ เงินเดือนนับแสน เพราะรายได้จากไข่ไก่ทั้งหมด ตัดสินใจลาออกจากงานมาช่วยครอบครัว
หอบเอาวิชาวิศวคอมฯ และประสบการณ์ อินเตอร์เน็ต ออฟ ทิ้ง (IOT) มาประยุกต์ใช้ในฟาร์ม โดยเฉพาะ คุณพิสุทธิ์ ฆังคะมะโน นั้น มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ตอบโจทย์เรื่อง “ต้นทุน” ในมิติการบริหารฟาร์มไก่ไข่โรงเรือนปิดด้วยสมาร์ทโฟน ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพไข่ สัตวแพทย์ทำงานสบาย จัดการให้ไก่อยู่สบาย กินอาหารเก่ง แข็งแรง ให้ไข่ดก
การบริหารฟาร์มไก่ไข่ระบบปิด ด้วยสมาร์ทโฟน
วันนี้ พรรัตภูมิฟาร์ม กลายเป็นฟาร์มไก่ไข่อัจฉริยะโด่งดังระดับชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ของภาครัฐและเอกชน
ที่สำคัญ คือ “องค์ความรู้” ดังกล่าว กลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ต่อยอดไปสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ นั่นคือ การออกแบบโรงเรือนระบบปิด โดยให้ไก่มีที่ออกกำลังกาย ควบคุมโดยระบบ IOT โดยนำอุปกรณ์โรงเรือน และกรงบางตัว จากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้คุณพิสุทธิ์เปิดเผยว่า หลังจดทะเบียน บริษัท อัพสแควร์ เทคโนโลยี จำกัด ด้วยทุน 10 กว่าล้านบาท เรียบร้อย จะขอเงินกู้ 200 ล้านบาท จากธนาคารของรัฐ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ไข่ไก่ และไก่ไข่
รายได้จากการขายไข่ และแม่ไก่ปลดระวาง 30 ล้านบาท ปี 63 คือ ผลงานส่วนหนึ่ง พร้อมหลักทรัพย์ ไม่น่าจะมีปัญหา
พรรัตภูมิฟาร์ม รุ่น 2 ยังเดินตามคุณพ่อ คือ การตลาดนำการผลิต ดังนั้นจึงมีระบบการขาย ทั้งออฟไลน์ / ออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ “แบรนด์” เราเป็นจุดขายสไตล์สากล คือ การสร้างหลักทรัพย์ถาวร
รายละเอียด 2 นวัตกรรมไก่ไข่ จะนำเสนอรายละเอียดทาง นิตยสารสัตว์บก และ เว็บไซต์พลังเกษตร ในโอกาสต่อไป