“การทำตลาดให้เป็นที่สนใจและแตกต่างจากคนอื่น ย่อมเป็นวิธีที่จะทำให้ลูกค้าจดจำเราได้มากที่สุด” จากคำกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จมักคิดในสิ่งที่แตกต่างและนำหน้าผู้อื่นหนึ่งก้าวเสมอ แต่ระบบกงสีหรือเครือญาติต่างก็ทำหน้าที่ของแต่ละคนแตกต่างกันไป เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำให้ธุรกิจของครอบครัวอยู่ได้อย่างมั่นคง
คุณธวัชชัย เลาะสุริยา อดีตอาจารย์สอนเด็กช่างฯชื่อดังย่านจังหวัดปทุมธานี อันเป็นที่รักและเคารพของลูกศิษย์ตลอด 12 ปี จนกระทั่งเล็งเห็นว่าควรทำในสิ่งที่ตนเองรักและชื่นชอบคืออาชีพด้านปศุสัตว์ จึงกลับมาคิดว่าทำไมต้องมองไปไกลๆทั้งที่จริงควรมองสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เพราะที่บ้านทำฟาร์มเลี้ยงนกกระทา
ที่มาของ “ออดีฟาร์ม”
“คนเริ่มก่อตั้งฟาร์มจริงๆแล้วคือพี่ชายกับน้าสาว ก่อนปี พ.ศ. 2538 สร้างฟาร์มขึ้น 2 ที่คือ อยุธยาและปทุมธานี เลี้ยงอยู่ระยะหนึ่งเกิดน้ำท่วมฟาร์มที่จังหวัดอยุธยาหลังปีพ.ศ.2538 เสียหายพอสมควรแต่ก็ประคองได้และทำเรื่อยมา หลังจากนั้นเจอวิกฤตไข้หวัดนกระบาด ซึ่งทางฟาร์มได้รับผลกระทบเช่นกัน ต้องทำลายนกกระทาทิ้งทั้งหมดแต่ก็เริ่มเลี้ยงใหม่ในเวลาถัดมา จากนั้นก่อนน้ำท่วมปีพ.ศ.2554 ราคาไข่นกกระทาเริ่มไม่ดี เนื่องจากตัวและไข่นกกระทาล้นตลาด ประกอบกับเจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ขาดทุนแต่ไม่มากนัก ทางรัฐฯได้เข้ามาช่วยเหลือในระดับหนึ่ง แต่พอหลังจากน้ำท่วมทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น จึงคิดปรับปรุงระบบการเลี้ยงและการตลาดใหม่”
คิดที่จะเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำให้ดีกว่าเดิม !!!
หลายคนคงทราบดีว่าแหล่งเพาะเลี้ยงนกกระทาใหญ่ที่สุดส่วนมากอยู่ในจังหวัดอ่างทอง เพราะเลี้ยงจำนวนมาก คุณธวัชชัยจึงศึกษาหาข้อมูลต่างๆจากฟาร์มเหล่านั้น เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะลงทุนควรทราบถึงความต้องการของตลาดก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะสามารถบริหารระบบการเลี้ยงนกกระทาได้เช่นทางฟาร์มสามารถเลี้ยงนกกระทาได้นับแสนตัว แต่เลือกที่จะเลี้ยงจำนวน 60,000 ตัว เพราะส่วนที่เหลือสามารถซื้อได้จากฟาร์มที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อลดปัญหาไข่นกกระทาล้นตลาดและความเสี่ยงต่างๆ
สำหรับแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไข่นกกระทาล้นตลาด เพื่อให้ทางฟาร์มมีผลกระทบน้อยที่สุดคือ พยายามควบคุมมาตรฐานและเข้าใจลูกค้าเช่นร้านขายไข่นกกระทาที่รับไข่จากทางฟาร์มไปให้คิดว่านั่นคือ “ร้านเรา” ดังนั้นทางฟาร์มต้องควบคุมการผลิตไข่นกกระทาให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตลอดจนช่วยทำให้เขาขายสินค้าได้หรือการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงการชดเชยความเสียหายและหาลูกค้าให้ดังสโลแกน “ลูกค้าของลูกค้าเราก็คือลูกค้าเรา” ซึ่งทั้งหมดล้วนทำให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ
ส่วนคุณภาพของไข่นกกระทาทางฟาร์มจะทำการตรวจสอบไข่แบบ 100% เพื่อสร้างความมั่นใจและทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจเช่นไข่นกกระทา 1 ลังจะมีไข่จำนวน 800 ฟอง หากเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งทางฟาร์มจะชดเชยให้ 100-200 ฟอง เพื่อทำให้ลูกค้าขายได้จำนวน 800 ฟองเต็ม ซึ่งปัญหาดัง
กล่าวพบน้อยมาก
มาตรการควบคุมการเลี้ยงเพื่อให้ได้คุณภาพ
การเลี้ยงนกกระทาให้มีคุณภาพนั้นอาจมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสายพันธุ์การจัดการและอาหาร ต้องสอดคล้องกัน
1. สายพันธุ์ต้องแข็งแรง และมีความสมบูรณ์พันธุ์
2. การจัดการจะต้องเป็นระบบ รวมถึงความสะอาดภายในโรงเรือนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
3. อาหารจะต้องเป็นอาหารที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และให้ในปริมาณที่พอเหมาะ ดังนั้นการเลี้ยงนกกระทา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจะต้องมีทั้ง 3 ปัจจัย
การจัดการด้านมูลนกกระทา ทางฟาร์มใช้วิธีการเก็บมูลออกจากโรงเรือนทุกวันแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นบรรจุใส่กระสอบขนาด 30 กิโลกรัม เก็บไว้ในที่ที่จัดเตรียมไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนและผู้ที่เลี้ยงปลาในจังหวัดจันทบุรีและระยอง สำหรับรายได้ส่วนนี้จะเป็นโบนัสหรือรายได้พิเศษให้กับพนักงาน
บริหารฟาร์มแบบกงสีคุณธวัชชัยจะดูแลภาพรวมทั้งหมด ทั้งการวางแผน เอกสารต่างๆและระบบโครงสร้างการทำงาน ส่วนเรื่องการตลาดน้องชายคุณธวัชชัยเป็นผู้ดูแล
ทำเลและตลาด
เป็นความโชคดีของทางฟาร์มที่ตั้งอยู่ด้านหลังของตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จึงทำให้ภาคการขนส่งและการซื้อขายค่อนข้างได้เปรียบกว่าที่อื่น และลักษณะตลาดส่วนใหญ่จะมีหน้าร้านไว้ขายสินค้าและรัศมีโดยรอบตลาดไทจะมีโกดังเล็กๆเพื่อเก็บสินค้าและกระจายสินค้า ซึ่งทางฟาร์มก็เป็นลักษณะเช่นนั้น
ส่วนหลักการที่ใช้ในการกำหนดราคาคือคำนึงถึงต้นทุน และราคาโดยรวมของตลาด จากนั้นจึงกำหนดราคาให้เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้า
ด้านการตลาด
ตลาดโมเดิร์นเทรด เป็นตลาดที่ทางฟาร์มรับข้อเสนอและเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการพัฒนาปรับปรุงฟาร์ม ความสะอาดและมาตรฐาน GMP ที่ใช้ควบคุมการผลิตและความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งทางฟาร์มให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยกล้าการันตีว่าไข่นกกระทาทุกฟองจากฟาร์มจะมีขนาดใกล้เคียงกัน มีน้ำหนักและสีสันเป็นธรรมชาติ
ส่วนตลาดทั่วไป (ตลาดไท) เนื่องจากไข่นกกระทาไม่ใช่สินค้าหลักเหมือนไข่ไก่ แต่ร้านค้าทั่วไปจำเป็นต้องมีเพื่อเพิ่มความหลากหลายและเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทำฟาร์มได้ยึดปฏิบัติโดยมีสัดส่วนตลาดแบ่งออกอย่างชัดเจนเช่นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา 40% เทศกาลงานรื่นเริงเช่นปีใหม่และสงกรานต์ 35%และ25% เป็นกลุ่มคนทั่วไป
สำหรับวงการนกกระทาช่วงที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม เพราะจะทำให้ตลาดไข่นกกระทาซบเซาและล้นตลาด ดังนั้นต้องมีการวางแผนระบบการเลี้ยงให้ตรงกับสภาวการณ์
เปรียบเทียบระหว่างตลาดโมเดิร์นเทรดกับตลาดทั่วไป (ตลาดไท)
ตลาดทั่วไปมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าตลาดโมเดิร์นเทรด เนื่องจากกำลังการซื้อและผู้บริโภคมีปริมาณความหลากหลายมากกว่า ทั้งกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคอื่นๆทั่วประเทศ
ส่วนการรับซื้อไข่นกกระทา ทางฟาร์มจะมีมาตรฐานกำหนดเพื่อควบคุมคุณภาพ หากไข่นกกระทาไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้ตามสเปค อาจใช้วิธีบอกกล่าวตักเตือน เพราะทางฟาร์มจะจดบันทึกการเข้า-ออกของไข่นกกระทาอย่างละเอียด เพื่อทราบถึงแหล่งที่มาของไข่นกกระทาว่ามาจากฟาร์มไหน โดยจะมี 2 ฟาร์มหลักที่ทางฟาร์มรับซื้อ
ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับการทำฟาร์มคือไข่นกกระทาไม่ได้ขนาดและไข่แตก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถแก้ไขได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขนส่งและการแข่งขันด้านราคา ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากมีการวางแผนที่ดีก็จะสามารถป้องกันปัญหาดังกล่าวได้
สำหรับแนวโน้มในการขยายฟาร์มและด้านการตลาด ในส่วนของการขยายฟาร์มอาจยังไม่มีการขยายเพิ่มเติม เนื่องจากสัดส่วนการบริหารยังเหมาะสมอยู่ จึงมุ่งเน้นที่จะขยายช่องทางตลาดเพิ่มขึ้นโดยการสร้าง package หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยการหาซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า
ทีมงานนิตยสารสัตว์บกถามถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่ใกล้เปิดอย่างเป็นทางการ คุณธวัชชัยเปิดเผยว่า “ในการเปิด AEC นั้นสิ่งที่เราสู้เขาไม่ได้คือเรื่องของต้นทุน ค่าแรง และอื่นๆ แต่สิ่งที่เราเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านคือ คุณภาพและมาตรฐาน ดังนั้นเราควรพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานให้ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและบราซิล เพื่อสร้างความแตกต่างของสินค้า แต่ถ้าประเทศเพื่อนบ้านสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะต้นทุนการผลิตถูกกว่าเรามาก”
ดังนั้นการเลี้ยงนกกระทาให้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงในจำนวนมากหรือมีฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับตลาดและการจัดการระบบ เพราะคุณธวัชชัยใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต”
“หากนึกถึงไข่นกกระทาที่มีคุณภาพมาตรฐาน สะอาดปลอดภัยและดูแลลูกค้าดุจญาติ ต้องไข่นกกระทาจาก ออดีฟาร์ม”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ออดีฟาร์มคุณธวัชชัย เลาะสุริยา21/1 หมู่ 13 ต.คลองสอง อ.คลองสอง จ.ปทุมธานี 12120 โทร. 081-889-9058
[wpdevart_like_box profile_id=”1414452475453135″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]