แพะเศรษฐกิจ คราวนี้ ล่องใต้กันอีกครั้ง ตามไปดูการเลี้ยงแพะพันธุ์บอร์ ของ คุณนพดล พรหมนุช หรือ คุณอันดา เจ้าของ ” อันดามันฟาร์มแพะ ” ที่ 140 ม.1 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ดินแดนที่ได้ชื่อว่า “ฝนแปดแดดสี่” นั่นคือ มีฝนตก 8 เดือน ฝนแล้งอีก 4 เดือน เพราะอยู่ติดกับทะเลอันดามัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขา ประกอบกับได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ที่นี่มีฝนตกมากที่สุดของประเทศไทย
ด้วยเหตุที่มีปริมาณฝนตกเกือบทั้งปี การเลี้ยงแพะในแถบนี้มีความท้าทายผู้เลี้ยงไม่น้อยเลยทีเดียว พูดง่ายๆ ว่า ไม่เก่งจริง ไม่รู้จริง ไม่มีใจรักจริง เลี้ยงแล้วไปไม่รอดสักราย น่าจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความเป็นจริง เพราะฝนที่ตกยาวนานต่อเนื่อง มีผลเสียด้านการจัดการฟาร์มหลายด้าน หากไม่เลี้ยงในรูปแบบฟาร์มปิด ทั้งเรื่องของ อาหาร โรค และ แมลงที่รบกวน และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยง ให้ได้แพะที่มีคุณภาพ ตามความต้องการของตลาด
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงแพะ
แต่สำหรับ อันดามันฟาร์มแพะ แห่งนี้ ต้องบอกว่าเป็นฟาร์มแพะระบบฟาร์มปิดที่มีชื่อเสียง ในฐานะผลิต พ่อแม่พันธุ์แพะคุณภาพ สายพันธุ์บอร์ ส่งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงมากว่า 15 ปี ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่าทศวรรษ ทำให้เข้าใจวงจรชีวิตของแพะได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยเจริญพันธุ์
พูดง่ายๆ ว่า เจ้าของฟาร์มแห่งนี้เป็น บรีดเดอร์ มืออาชีพคนหนึ่งของจังหวัดระนองเลยทีเดียว เพราะแต่ละปีสามารถผลิตพ่อแม่พันธุ์คุณภาพส่งต่อให้เกษตรกรนำไปพัฒนาต่อหลายร้อยตัว นอกจากจะเน้นจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ ที่นี่ยังรับซื้อแพะพันธุ์บอร์จากลูกฟาร์ม ที่นำแพะของทางฟาร์มไปเลี้ยงต่อ ซึ่งปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มเป็นชมรมผู้เลี้ยงแพะ โดยมีคุณนพดลเป็นแกนนำคนสำคัญ
คุณนพดล เจ้าของ ‘อันดามันฟาร์มแพะ’ เล่าถึงสาเหตุและแรงจูงใจที่มาเลี้ยงแพะ คุณนพดลบอกว่าด้วยความที่เป็นคนรักสัตว์เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่เด็ก จนเข้ามหาวิทยาลัย คลุกคลีอยู่กับสัตว์เลี้ยงอยู่ตลอด ส่วนเรื่องของแรงจูงใจนั้นน่าจะเป็นช่วงตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่จังหวัดภูเก็ต ตอนนั้นกำลังมองหาอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มมองอาชีพใกล้ๆ ตัวที่พบเห็นตั้งแต่เด็ก ผู้คนละแวกแถวๆ บ้าน และในจังหวัด เลี้ยงแพะกันแทบทุกหมู่บ้าน เพราะตลาดมีความต้องการสูง
ประกอบกับช่วงนั้นได้มีโอกาสทานเนื้อแพะ พอเห็นราคาถึงกับตกใจ ทำไมถึงราคาแพง …? พยายามหาคำตอบ ทั้งสอบถาม พ่อค้า แม่ขาย เปิดดูข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้ง กูเกิล ยูทูป พอได้คำตอบว่าทำไมเนื้อแพะถึงมีราคาแพง เกิดแรงบันดาลใจอยากเปิดฟาร์มแพะเป็นของตนเองที่ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี ซึ่งนี่คือที่มา และแรงจูงใจ จนเป็นที่มาของอันดามันฟาร์มแพะ ดังที่เห็นในปัจจุบัน
การเพาะพันธุ์แพะ
คุณนพดลอธิบายให้ฟังว่า ‘บอร์’ เป็นแพะสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีการนำเอาพันธุกรรมเด่นมาปรับปรุงให้ได้แพะคุณภาพ ให้ได้โครงสร้าง เนื้อ และ ความต้านทานโรค มากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งสายพันธุ์นี้ได้แพร่กระจายไปในหลายๆ ประเทศ มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน Boer หรือ Boerbok เป็นแพะเนื้อพันธุ์แอฟริกาใต้
จากข้อมูลหลายๆ แขนง บอกว่ามันถูกปรับปรุงและคัดสรรอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1920 ในอีสเทิร์นเคป (เป็นหนึ่งในจังหวัดแอฟริกาใต้) เป็นแพะที่สามารถอยู่รอดในเขตพื้นที่ทุรกันดาร สามารถเล็มหญ้าบนหนาม ให้คุณภาพเนื้อได้ดี แข็งแรง ต้านทานโรค และเป็นสายพันธุ์แพะที่ถูกส่งออกไปยังหลายประเทศ ถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพเนื้อของหลายสายพันธุ์ ดังที่กล่าวตอนต้น
อย่างกรณีประเทศไทย นักบรีดเดอร์มืออาชีพในวงการปศุสัตว์ไทย และเกษตรกรหัวก้าวหน้า ได้นำแพะพันธุ์บอร์เข้ามาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่แพะพันธุ์บอร์เป็นแพะเนื้อที่มีความสวยงาม โดดเด่น มีโครงสร้างที่ล่ำสัน บึกบึน ลำตัวยาวหนา สีสันจะมีสีแดงเข้มอมน้ำตาล และที่สำคัญให้เนื้อเยอะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงในเชิงธุรกิจ ในรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ มีพบเห็นมากมายทั่วประเทศ ทั้งเขต ภาคกลาง ภาคอีสาน และ ภาคใต้
โดยได้มีการนำเข้าสายพันธุ์มาจากหลายประเทศ เข้ามาเลี้ยงในประเทศ มีทั้งประเทศเขตแอฟริกา ประเทศออสเตรเลีย อินเดีย และที่นิยมกันอย่างแพร่หลายนำเข้ามามากที่สุด คือ สายพันธุ์บอร์ จากสหรัฐอเมริกา แพะพันธุ์บอร์เลือด 100% ให้สังเกตุที่เขากลม งอโค้งลงล่าง ลำตัวจะมีลักษณะยาว มีสีขาวล้วนจนถึงคอ หน้าผากมีสีขาว หน้าผากโหนกนูน จมูกโด่ง หัวจะมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนขาจะสั้น อ้วน ทั้งเพศเมีย และเพศผู้ จะมีลักษณะเด่นคล้ายกัน เรียกว่าแพะเลือด 100% สายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ
ส่วนพันธุ์ แองโกล ที่ยังนิยมเลี้ยงกันอยู่ในบางกลุ่มจะแตกต่างกันที่รูปร่าง และเขาจะชี้ขึ้นบน ราคาที่ซื้อขายกันทั่วไป ราคาตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ถ้าเป็นพ่อแม่พันธุ์ ราคาเริ่มต้นที่ 20,000-100,000 บาทขึ้นไป
สำหรับที่อันดามันฟาร์มแพะ คุณนพดลบอกว่าแพะสายพันธุ์บอร์ของที่นี่นำเข้ามาจากแอฟริกาทั้งหมด ปัจจุบันมีพ่อแม่พันธุ์กว่า 40 ตัว หากรวมลูกแพะตั้งแต่หย่านมไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์ มีไม่ต่ำกว่า 120 ตัว ซึ่งอยู่ในฟาร์มเลี้ยงระบบปิดทั้งหมด ซึ่งที่นี่จะเน้นขายพ่อแม่พันธุ์เป็นหลัก ส่วนตัวที่ผสมออกมาแล้วไม่ได้มาตรฐานตามที่ฟาร์มกำหนด จะถูกขุนขายเป็นแพะกิโล ส่งตลาดเนื้อต่อไป
พ่อแม่พันธุ์ 40 ตัว แต่ละปีสามารถผลิตลูกแพะสายพันธุ์บอร์เลือดแอฟริกาได้ไม่ต่ำกว่า 100 ตัว และเพื่อป้องกันสายเลือดชิด ทางฟาร์มจะสับเปลี่ยนพ่อพันธุ์ทุกๆ 2 ปี ทำให้เกษตรกรผู้ที่นำแพะของฟาร์มไปเลี้ยงสามารถมั่นใจได้ 100%
“อันดามันฟาร์มแพะ ผมจะเน้นจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปทำพ่อแม่พันธุ์ต่อ เพื่อนำไปปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีอยู่ พัฒนาต่อให้ได้แพะเนื้อที่มีคุณภาพ” คุณนพดลให้ความเห็นถึงการส่งเสริมผลิตพ่อแม่พันธุ์คุณภาพ
การบริหารจัดการฟาร์มแพะ
แพะพันธุ์บอร์ ต้องบอกว่าเป็นแพะที่เลี้ยงง่าย อัตราการแลกเนื้อสูงกว่าแพะสายพันธุ์ที่เลี้ยงกันอยู่หลายเท่า ด้วยประสบการณ์ที่มีมากว่า 15 ปี คุณนพดลมั่นใจในตัวแพะสายพันธุ์นี้ จึงลงทุนเลี้ยงในระบบฟาร์มปิด เพราะมองว่าสามารถจัดการเรื่องของการดูแลรักษา ตลอดจนถึงโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี
ที่นี่จึงเป็นฟาร์มปิด และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ สภาพภูมิอากาศของที่นี่ มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี หากเลี้ยงระบบปิดจะสามารถควบคุมจัดการฟาร์มได้ดีกว่าระบบเปิด ที่เลี้ยงปล่อยทุ่ง ที่มักจะเจอโรคพยาธิ และโรคปากและเท้าเปื่อย โรงเรือนที่นี่ยกพื้นสูง เน้นความโล่ง อากาศถ่ายเทได้เป็นอย่างดี แบ่งโซนชัดเจน คอกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ คอกดูแลแพะท้อง คอกดูแลแพะวัยรุ่น แบ่งสัดส่วนไว้ชัดเจน
“การเลี้ยงแพะในความคิดผมนะ มองว่าช่วงแรกๆ เราเลี้ยงแพะ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่ง แพะจะเลี้ยงเรานะ” คุณนพดลกล่าวย้ำด้วยความมั่นใจ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการเลี้ยงแพะหลายแสนบาทต่อปี เนื่องจากการเลี้ยงแพะเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียว มีโรงเรือน มีแปลงหญ้าแปลงใหญ่ ก็เพียงพอต่อการเลี้ยงแพะ จริงๆ แล้ว แพะเป็นสัตว์ที่กินง่าย โตเร็ว หากเรามีการจัดการที่ดี ดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ การเลี้ยงให้ได้แพะคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถอย่างแน่นอน
การให้อาหารแพะ
สำหรับอาหารที่ให้ ทางฟาร์มจะเน้นให้ “หญ้าเนเปียร์” เป็นหลัก และ เปลือกถั่วเหลือง กากปาล์ม รำข้าว ผสมกับโปรตีน วิตามินต่างๆ รวมถึงบางช่วงจะเน้นให้อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะในแพะที่ตั้งท้อง จะเน้นให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นหลัก เพื่อให้ลูกแพะเจริญเติบโตได้ดี ผลิตน้ำนมออกมามีคุณภาพ ส่วนแพะพ่อแม่พันธุ์ และ แพะรุ่น จะให้อาหารเม็ดเสริมอีกทางหนึ่งเช่นกัน และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ “เกลือ” ผสมลงไปกับอาหารที่แพะกิน เพราะในแต่ละวันแพะต้องการอาหาร 3 เท่าของน้ำหนักตัว
นอกจากอาหารที่กล่าวถึงแล้ว ทางฟาร์มจะรับซื้อเศษพืชตามฤดูกาล เช่น ต้นข้าวโพด เปลือก และ ต้นถั่วลิสง นำมาเป็นอาหารเสริมอีกทางหนึ่ง “แพะพันธุ์บอร์ถึงจะเป็นแพะสายพันธุ์ต่างประเทศ แต่เรานำมาผสมในบ้านเราก็กลายเป็นแพะบ้านเรา จะคุ้นชินกับสภาพอากาศเป็นอย่างดี ไม่ต้องกลัวว่าจะเลือกกิน มันกินได้ทุกอย่างอยู่แล้วนะ เป็นสัตว์เท้ากีบที่ แข็งแรง และ อดทน อย่างที่บอกตอนต้นการเลี้ยงไม่ใช่เรื่องยากเลย หากเราเข้าใจวงจรชีวิตของแพะแล้ว การเลี้ยงก็จะง่ายมาก”
เมื่อถามถึงมีวิธีการจัดการกลิ่นทำยังไง คุณนพดลบอกว่าที่นี่จะผสมอีเอ็มลงไปในน้ำที่แพะกิน จะสามารถลดกลิ่นได้เป็นอย่างดี และอีกวิธีหนึ่งที่สามารถลดกลิ่นเหม็นได้เป็นอย่างดี คือ ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ ในโรงเรือน จะช่วยลดกลิ่นได้ไม่ต่ำกว่า 80% อันดามันฟาร์ม ที่นี่เน้นขายพ่อแม่พันธุ์ และรับซื้อจากกลุ่ม ชมรม ในเครือข่ายของอันดามันฟาร์มเป็นหลัก
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ
ดังที่กล่าวตอนต้น ที่นี่จะเน้นผลิตพ่อแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ได้นำเข้าจากแอฟริกาใต้ โดยจะสับเปลี่ยนเป็นระยะๆ ป้องกันสายเลือดชิด ราคาที่จำหน่าย แพะอายุ 4-6 เดือน ราคาเริ่มต้นที่ 8,000-10,000 บาท แพะพ่อแม่พันธุ์ ราคาเริ่มต้นที่ 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นราคาที่จับต้องได้ ในส่วนของแพะกิโล คือ แพะที่ไม่ได้มาตรฐานพ่อแม่พันธุ์ ทางฟาร์มจะขุนเลี้ยงเป็นแพะเนื้อ ราคาขายในปัจจุบัน 150 บาท/กิโลกรัม ราคาที่รับซื้อจากกลุ่มและชมรมก็เป็นราคาเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามราคาจะปรับเปลี่ยนไม่เพิ่มหรือลดมากไปกว่านี้
นอกจากฟาร์มจะมีรายได้จากการขายแพะแล้ว มูลแพะยังสามารถจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง มูลแพะซึ่งเป็นส่วนผสมหนึ่งของดินปลูกพืช นำไปปลูกแล้วพืชสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี มูลแพะทางฟาร์มจะจำหน่ายกระสอบละ 50 บาท โดยทาง “สวนนงนุช” จังหวัดชุมพร เป็นผู้รับซื้อทั้งหมด นับว่าเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
ตลาดหลักๆ ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วงก่อนโควิด ทางฟาร์มจะส่งแพะขายไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย จะเป็นตลาดหลักของทางฟาร์ม ส่วนตลาดภายในประเทศจะมีลูกค้ากระจายในหลายจังหวัดใกล้เคียง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ชุมพร และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของทางฟาร์ม
เมื่อถามถึงช่องทางและโอกาสทางการตลาดของแพะ ทั้งผลิตขายพ่อแม่พันธุ์ และ ผลิตแพะเนื้อ ยังเป็นตัวเลือกที่น่าลงทุนสำหรับเกษตรกร ทั้งมือ เก่า ใหม่ มากน้อยแค่ไหน? คุณนพดลบอกว่าแพะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล เพราะแพะเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีต้นทุนต่ำ จำนวนแพะที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพียงพอต่อประชากร ที่เพิ่มขึ้น
และอีกปัจจัยหนึ่งจะเห็นว่าในอดีตตลาดแพะจะถูกยึดโยงกับจารีตประเพณีของศาสนาอิสลาม พูดง่ายๆ ว่าตลาดแพะ 80% อยู่ในมือของกลุ่มคนนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก แต่กลับกัน ปัจจุบันตลาดแพะได้ขยายตัวกว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มคนนับถือศาสนาอิสลามอีกต่อไป กลุ่มคนพุทธ หรือ คนจีน ที่นิยมเนื้อแพะอยู่ก่อนแล้ว ก็หันมาบริโภคเนื้อแพะเพิ่มมากขึ้น เมนูอาหารแพะเริ่มเป็นที่คุ้นชินต่อคนหลายๆ กลุ่มเพิ่มมากขึ้น
“ในมุมมองผมนะ ตลาดแพะไม่มีวันตันอย่างแน่นอน ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เลี้ยงแพะ ทั้ง ผลิต และ รับซื้อ แพะ จากกลุ่มเครือข่ายของอันดามันฟาร์มเอง ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นโอกาส และช่องทางการตลาดของแพะยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกมาก” คุณนพดล กล่าวยืนยัน
การเพาะพันธุ์ไก่ไข่
แพะบอร์เป็นสัตว์เลี้ยงหลักของทางฟาร์ม ปัจจุบันทางคุณนพดลได้นำไก่ไข่สวยงามจากหลายๆ ประเทศ เช่น จากประเทศ ออสเตรเลีย จีน ฮอลแลนด์ เบลเยียม โดยได้นำไข่เชื้อมาเพาะฟักเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ ขยายพันธุ์ ส่งต่อให้เกษตรกรและผู้สนใจนำไปต่อยอด โดยจำหน่ายไข่เชื้อ ราคาในประเทศตกฟองละ 12 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้สนใจสามารถจับต้องได้
เมื่อถามถึงการเลี้ยง คุณนพดลบอกว่าการเลี้ยงไก่ไข่สวยงามก็เหมือนกับการเลี้ยงไก่ไข่ทั่วไป ไม่ต้องกังวลว่าเป็นไก่ต่างประเทศจะเลี้ยงยาก เพราะพ่อแม่พันธุ์ทุกตัวของทางฟาร์มเกิดในประเทศ สามารถปรับตัวได้ดีต่อ ภูมิอากาศบ้านเรา พูดง่ายๆ ว่าเจริญเติบโต ให้ไข่ดก เหมือนพันธุ์ดั้งเดิมทุกประการ ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้นก็ กินเหมือนกับไก่ทั่วไป ทางฟาร์มให้กินอาหารสำเร็จรูป เสริมด้วย หยวกกล้วยสับ บด ผสมรำ แหนแดง และ เศษพืชผักทั่วๆไป
รายได้จากการเลี้ยงไก่ไข่
การเลี้ยงไก่ไข่สวยงามจึงเป็นช่องทางทำเงินของฟาร์มอีกทางหนึ่ง ที่นอกจากทำรายได้จากแพะ “ปัจจุบันถ้าเกษตรกรทำและยึดอาชีพใดอาชีพหนึ่ง วันนี้ต้องบอกว่าอยู่ยาก ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ทุกอย่างแพง ทุกคนต้องปรับตัว หาอาชีพที่สร้างรายได้รองจากอาชีพหลัก จับหลายๆ อย่าง ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ ก็จะอยู่รอดในยุคนี้” คุณนพดล กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราว และสาระดีๆ ของ อันดามันฟาร์มแพะ ที่กระบุรี จังหวัดระนอง พอจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดตาม คอลัมน์แพะเศรษฐกิจ ในนิตยสารสัตว์บกฉบับนี้ และหาก เกษตรกร ผู้ที่สนใจ ข้อมูลการเลี้ยงแพะเพิ่มเติม หรือจะสอบถามเรื่องไก่ไข่สวยงาม ซึ่งเป็นอาชีพเสริมของทางฟาร์ม คุณนพดล พรหมนุช หรือ คุณอันดา ยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ หรือสนใจเยี่ยมชมฟาร์ม สามารถติดต่อได้ที่ อันดามันฟาร์ม เลขที่ 140 หมู่ 1 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง โทร.080 -889 -0363
ข่าว-ภาพ โดย สมบัติ ทัพไทย 093-028-6750