อาจารย์อ๊อด เลี้ยงแพะ นมซาแนน อยู่รอดเพราะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
แพะนมพันธุ์ซาแนน (SAANEN) เป็นสายพันธุ์ที่ให้น้ำนมในปริมาณมาก จนได้รับขนานนามว่า “ราชินีแห่งนม” มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ลักษณะประจำพันธุ์ คือ มีสีขาว มองแล้วสะอาดตา บางตัวอาจเป็นสีครีม ใบหน้ามีลักษณะแบน ใบหูสั้น ตั้งตรงชี้ไปข้างหน้า
และด้วยคุณประโยชน์ของนมแพะที่เทียบเท่านมแม่ ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร โดยมีปริมาณโปรตีนสูงสุด เมื่อเทียบกับนมชนิดอื่น ๆ นมแพะ 1 แก้ว ให้โปรตีน 9 กรัม ไขมันอิ่มตัว 7 กรัม แคลเซียมประมาณร้อยละ 35 ของปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน รวมพลังงานทั้งหมด 170 แคลอรี่
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงแพะ
นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณธมณสรวง ศีลสุทธิ์ หรือ อาจารย์อ๊อด ผู้อำนวยการพยาบาล และผู้จัดการทั่วไป เวลเนสซิตี้ เมืองสุขภาวะดี ถึงการริเริ่มทำฟาร์มแพะนมอินทรีย์เพื่อคนรักสุขภาพ
“ก็เป็นความบังเอิญ ตอนแรกพี่ก็ไม่ได้ตั้งใจเลี้ยง พอดีน้องชายเป็นคนริเริ่มการ เลี้ยงแพะนม เพราะนมแพะเองน้ำนมของมันมีประโยชน์ แต่ตอนนั้นเองพี่ก็ยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ น้องชายก็แนะนำว่าการ เลี้ยงแพะ ไม่ได้ยาก พี่ก็คิดว่าถ้าเราเลี้ยงไว้ในอนาคตข้างหน้าถ้าเราเกษียณจะได้มีอะไรทำ และนมแพะเองก็เหมาะกับคนรักสุขภาพด้วย นั่นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นการ เลี้ยงแพะ ของพี่” อาจารย์อ๊อดกล่าวถึงที่มาของการทำฟาร์ม
สำหรับฟาร์มแพะอาจารย์อ๊อดทำมาได้ 10 ปีแล้วโดยทำเป็นอาชีพเสริม เริ่มเลี้ยงครั้งแรก 33 ตัว ปัจจุบันมีประมาณ 90-100 ตัว แบ่งเป็นแม่แพะรีดนม 60 ตัว ที่เหลือจะเป็นแพะพ่อพันธุ์ แพะสาว และลูกแพะ
สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ
เมื่อถามถึงความต่างของแพะนมกับแพะนมอินทรีย์ อาจารย์อ๊อดได้ให้เหตุผลว่า “อยู่ที่การจัดการ จริงๆ แล้วในเรื่องของการจัดการฟาร์มก็มีหลายรูปแบบ อาจจะทำเป็นโรงเรือนติดกับพื้นดิน หรือยกโรงเรือนให้สูงขึ้นระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องของฟาร์มอินทรีย์นั้นต้องเน้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของแพะ สภาพแวดล้อมรอบโรงเรือนต่างๆ อาหารการกิน สิ่งปฏิกูล การดูแลจัดการป้องกันโรค”
ในส่วนของโรงเรือนนั้น ทางฟาร์มจะออกแบบมาให้โรงเรือนยกสูงจากพื้นถึง 2.20 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด อากาศโปร่ง ลดปัญหาเรื่องกลิ่นที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำนม
เรื่องสุขภาพนั้น ถ้าแพะไม่ป่วยก็จะไม่มีการใช้ยา และแพะที่ฟาร์มจะไม่มีการทำวัคซีนหรือใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ ดังนั้นทางฟาร์มจึงต้องมีการดูแลจัดการอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ให้ สภาพแวดล้อม การป้องกันโรค
ซึ่งอาหารที่ให้ทางฟาร์มจะผสมเอง วัตถุดิบที่ใช้ก็จะมีหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกเอง โดยไม่ใช้สารเคมี จะนำมาสับผสมกับผิวถั่วเหลือง และให้กระถินบ้างในบางช่วง มีการปรับสูตรส่วนผสมให้เหมาะสมกับแพะในแต่ละช่วงวัย
การบริหารจัดการภายในฟาร์มแพะ
นอกจากการจัดการที่ดีแล้ว ทางฟาร์มยังเน้นเรื่องความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรือน มีการกวาดล้างทำความสะอาดทุกวัน เริ่มตั้งแต่การเก็บมูลแพะ และมีการออกแบบพื้นใต้โรงเรือนมีแอ่งน้ำเพื่อเวลาล้างคอกน้ำเสียทั้งหมดจะไปรวมที่แอ่งแล้วไหลไปรวมที่บ่อพัก แล้วดูดเพื่อนำไปรดแปลงหญ้าเนเปียร์ ส่วนมูลที่แห้งจะนำไปตากแล้วนำไปจำหน่ายเป็นปุ๋ย
นอกจากนี้แพะที่ฟาร์มมีการอาบน้ำอาทิตย์ละวัน หรือตามความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศ จะทยอยอาบ ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เพราะแพะค่อนข้างเยอะ
การรีดนมนั้น ทางฟาร์มจะรีด 1 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้า ใช้วิธีการรีดมือทั้งหมด ก่อนรีดจะมีการล้างทำความสะอาดเต้านม และตรวจหาเต้านมอักเสบด้วยน้ำยา CMT ก่อนรีดทุกครั้ง น้ำนมดิบที่ได้อยู่ที่ 20-30 กิโลกรัม/วัน จะนำมาแปรรูปเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ และไอศกรีม5-10% นมที่เหลือจะส่งศูนย์รับน้ำนมดิบ
โดยต้องนำนมมาแช่แข็งเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เนื่องจากปริมาณการให้นมของแพะแต่ละครั้งได้น้อย เมื่อต้องส่งนมแพะดิบอาจไม่คุ้มกับต้นทุนค่าน้ำมันในการขนส่ง จึงต้องแก้ปัญหาโดยการแช่แข็งนมแพะจนได้ปริมาณที่มากพอจึงส่งนม ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
สายพันธุ์แพะ
ส่วนเรื่องสายพันธุ์นั้นเป็นแพะนมพันธุ์ซาแนนทั้งหมด ซึ่งแพะจะเริ่มให้น้ำนมได้ต้องผ่านการให้ลูกมาก่อน แพะจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ทางฟาร์มจะให้แพะเริ่มผสมเมื่อแพะอายุ 1 ปี เมื่อผสมติดแพะจะท้อง 5 เดือน เมื่อคลอดลูกออกมาจะให้แม่แพะเลี้ยงลูกก่อน 2 เดือน หลังจากนั้นจึงจะแยกแม่แพะออกมารีดนม ส่วนลูกแพะก็นำดูแลต่อโดยก่อนป้อนนมจนกว่าจะหย่านม
ระยะเวลาการให้น้ำนมของแพะนั้น จะรีดไปจนกว่าน้ำนมจะแห้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลจัดการ ถ้ามีการดูแลที่ดี ให้อาหารที่ดี ถ้ามีการดูแลดีแพะสามารถให้ผลผลิตได้ถึง 5 เดือน/รอบ แล้วจึงหยุดรีดนม เมื่อหยุดรีดนม ก็รอระยะที่แพะเป็นสัดเพื่อทำการผสมรอบใหม่
ทางฟาร์มจะใช้วิธีการผสมจริงทั้งหมด และต้องมีการจัดการเรื่องเลือดชิดเพื่อไม่ให้เกิดลักษณะด้อยออกมาก เพราะฉะนั้นแพะทุกตัวที่ฟาร์มจะมีพันธุประวัติ เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่จะนำมาผสม และสามารถป้องกันการเกิดเลือดชิดได้
เมื่อพ่อพันธุ์ในฟาร์มเริ่มมีอายุเยอะ ทางฟาร์มจะคัดเลือกลูกแพะนมเพศผู้ที่มีลักษณะดีมาเป็นพ่อพันธุ์ในอนาคต สำหรับพ่อพันธุ์จะเริ่มปลดเมื่อเริ่มให้ผลผลิตไม่ดี อัตราการผสมติดต่ำ ให้ลูกแพะเพศผู้มากเกินไป
ปัญหาและอุปสรรคของการเลี้ยงแพะ
สุดท้ายอาจารย์อ๊อดกล่าวถึงการ เลี้ยงแพะ นมอินทรีย์ว่า “ถ้าให้พูดปัญหาในการเลี้ยงมันก็มีบ้างในช่วงแรกที่เพิ่งเลี้ยง เพราะตอนนั้นพี่ก็ยังไม่มีความรู้ และประสบการณ์ในด้านนี้ ก็เจอปัญหาเรื่องเต้านมอักเสบ โรคติดต่อ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเราก็สามารถแก้ไขได้
และในปัจจุบันก็ไม่เจอปัญหาเหล่านี้ เพราะเรามีการดูแลจัดการที่ดี ซึ่งการทำฟาร์มแพะนมอินทรีย์ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลจัดการในแต่ละวัน เรื่องความสะอาด การป้องกันโรค อาหารที่ให้แพะกิน ถ้าเราดูแลดีแพะเราก็จะแข็งแรง ปลอดโรค ให้ผลผลิตดี”
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณธมณสรวง ศีลสุทธิ์ หรือ อาจารย์อ๊อด โทร.081-3751916