คุณ สอาด เมี้ยนแม้น เกษตรกรดีเด่นในปี 2563 ของกรมปศุสัตว์เขต 1 เคยได้รับรางวัลพระราชทานจากการประกวดแพะที่บางไทร ปัจจุบันเป็นเกษตรกรต้นแบบให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากเรียนรู้ให้ได้เป็นแบบอย่างที่ดี ผู้พลิกผันจากการเป็นชาวนา ทำไร่มาอย่างยาวนาน ก่อนจะเริ่มขยับย้ายมาเป็นการเริ่มเลี้ยงสัตว์ เช่น สัตว์ปีก เพื่อต่อยอดทางเดินใหม่ๆ ให้กับชีวิตและครอบครัวของตน ก่อนจะพบจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลายเป็นเจ้าของฟาร์มแพะจนถึงปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงแพะ
สมัยก่อนเป็นเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ปลูกพืชบนพื้นที่ของตนเอง รวมไปถึงการเลี้ยงปลา เพื่อสร้างอาชีพให้กับตัวเอง ในตอนนั้นตนเองก็ยังเป็นอาสาสมัคร ในการให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่บุคคลภายนอกที่ต้องการเรียนรู้ด้านเกษตร เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ในตอนนั้นคุณสอาดเริ่มจากการทำนาสวนผสมเพื่อสร้างรากฐานให้กับตนเอง ก่อนจะได้เรียนรู้ถึงการปศุสัตว พร้อมกับการทำเกษตรแบบผสมผสาน
เนื่องจากตนคิดอยู่เสมอว่าอาจเกิดเรื่องราวที่ไม่คาดฝันขึ้น เช่น ภัยแล้ง หรือ อุทกภัย ที่อาจทำให้ไร่นาเสียหาย อาจทำให้ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ ยิ่งในขณะนั้นลูกยังเล็ก รายได้มีทางเดียวอาจไม่เพียงพอ ทำให้ตนพยายามวางรากฐานที่ดี เพื่อให้ลูกได้มีการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นกำไรของชีวิตอีกด้วย จึงนำเอาความรู้จาก กรมปศุสัตว์ กรมประมง และ ภาคการเกษตร มาประยุกต์ใช้กับสวนของตนเองเพื่อพัฒนาให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น
ในสมัยก่อนการเริ่มต้นจริงๆ นั้น เริ่มจากการเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น ไก่ มาก่อน ประสบความสำเร็จมาถึง 2 ปี มีรายได้เข้ามาช่วยจุนเจือครอบครัว จนเกิดวิกฤตน้ำท่วมในปี 2538 สูญเสียสัตว์ปีกไปกับน้ำ ซึ่งเป็นรายได้หลักของฟาร์ม ทำให้คุณสอาดเริ่มกลับมาคิดว่าควรจะหาแนวทางใหม่ๆ เพราะการเลี้ยงสัตว์ปีก หากเกิดเหตุการณ์แบบเดิมอีก การเคลื่อนย้ายหรือนำออกค่อนข้างเป็นไปด้วยความลำบาก จนได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องของแพะ และในที่สุดก็ตัดสินใจรับเอาแพะจากกรมปศุสัตว์มาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าหากมีวิกฤตอะไรต่างๆ ยังเคลื่อนย้ายแพะได้ง่าย ความสูญเสียที่จะได้รับอาจไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยประสบ
การพัฒนาสายพันธุ์แพะ
ตอนที่รับจากกรมปศุสัตว์ ในตอนแรกทางกรมได้เสนอให้เราลองนำเอาแพะพื้นเมืองมาเลี้ยง เนื่องจากทนโรค ไม่ป่วยง่าย แต่คุณสอาดกลับคิดกลับกันว่าหากนำสายพันธุ์พื้นเมืองเข้ามา ความแตกต่างที่ได้รับแทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์เสียด้วยซ้ำ ตนจึงขอซื้อแพะสายพันธุ์นอกจากประเทศออสเตรเลียมา ในตอนนั้นการรับเอาสัตว์มาเลี้ยงไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องทำเอกสารเพื่อตรวจสอบให้ได้มาตรฐานที่กรมปศุสัตว์นั้นตั้งเอาไว้อย่างเคร่งครัด ในความเป็นจริงแล้วตนขอสายพันธุ์แพะถึง 20 ตัว เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ประจำจังหวัดนนทบุรี เพื่อให้คนภายนอกได้เข้ามาศึกษาสภาพชีวิตของสัตว์ปศุสัตว์ แต่ทางกรมให้ได้เพียง 12 ตัวเองเท่านั้น
ปัจจุบันตนเองก็ไม่ได้ซื้อแพะมาเพิ่ม แต่ได้ขยายสายพันธุ์ในฟาร์มของตัวเอง ให้แม่แพะได้ออกลูก เพื่อเพิ่มจำนวนแพะในฟาร์ม โดยได้นำพันธุ์พื้นเมืองเข้ามาผสมเพื่อเพิ่มความคงทนต่อสภาพอากาศ และโรคประจำถิ่น เนื่องจากแพะจากต่างประเทศนั้นไม่มีภูมิในด้านสภาพอากาศ หรือ พยาธิ ซึ่งแตกต่างกับแพะพื้นเมืองที่ร่างกายชินแล้ว ซึ่งเป็นการทดลองที่ตัวเองริเริ่มขึ้นมาและประสบความสำเร็จ ตนเองไม่ต้องไปซื้อแพะจากข้างนอกมาเลี้ยงร่วมอีกแล้ว
โดยการพัฒนาสายพันธุ์ที่คิดค้นขึ้นมานั้นสามารถระบุได้ว่าอยากได้แพะในรูปแบบใด จะเป็น แพะเนื้อ หรือ แพะนม ก็ได้ เพียงใช้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มียีนเด่นในด้านนั้นๆ มาผสม เพื่อให้ลูกแพะที่เกิดมาได้ตามเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้ โดยที่ฟาร์มจะมีจำนวน แพะเนื้อ และ แพะนม ในปริมาณที่เท่าๆ กัน อย่าง น้ำนม นั้น เรียกได้ว่าได้มาตรฐานสากล คือ มีการผลิตน้ำนมได้ถึง 2 กิโลกรัม ซึ่งทางฟาร์มได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ที่เท่ากัน คือ นำไปขายในท้องตลาด และเก็บเพื่อให้แม่แพะได้มีน้ำนมมาเลี้ยงลูกที่เกิดใหม่ได้เพียงพอต่อความต้องการ
การบริหารจัดการฟาร์มแพะ
ปัจจัยทางธรรมชาติ อย่าง สภาพอากาศที่แปรปรวน เป็นคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากสภาพอากาศนั้นไม่สามารถควบคุมได้ดั่งใจ รวมไปถึงเรื่องอุทกภัย คุณสอาดกล่าวว่า ตั้งแต่ทำฟาร์มมาเกือบ 30 ปี ตนเคยเจอกับเหตุการณ์อย่างน้ำท่วมถึง 5 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งเกิดความสูญเสียกับสัตว์ในฟาร์มเป็นอย่างมาก แม้จะพยายามป้องกัน เช่น ในปี 2554 ที่สูญเสียแพะ เหลือเพียงหลักสิบเท่านั้น
ในช่วง 2 ปีแรก ที่หันมาจับวิถีการเลี้ยงแพะ ตนเลือกใช้วิธีการเลี้ยงแบบปิด ซึ่งเกิดปัญหาค่อนข้างมาก ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังส่งผลต่อแพะที่ให้เกิดความเครียดและป่วยบ่อยกว่าปกติ ปัจจุบันที่ฟาร์มจึงใช้วิธีการเลี้ยงแบบปล่อย จะเลี้ยงแบบปิดต่อเมื่ออยู่ในช่วงฤดูฝนที่จะไม่ปล่อยแพะออกมา ปัจจุบันคุณสอาดมีพื้นที่ให้แพะได้ใช้ชีวิตถึง 10 ไร่
ปัจจุบันอายุของแพะในฟาร์มเฉลี่ย 8 ปี หลังจากเข้าช่วงปีที่ 8 แล้ว ถ้าเทียบกับคนแล้วเรียกได้ว่าเข้าช่วงชราแล้ว แพะทุกตัวจะไม่ได้ถูกนำส่งโรงเชือด แต่จะเลี้ยงเอาไว้ภายในฟาร์ม เนื่องจากแพะบางตัวอยู่ในช่วงตกลูก ทำให้การเลี้ยงในวิธีของคุณสอาดส่งผลให้แพะมีอายุที่ยั่งยืน
คุณสอาดเล่าติดตลกว่า ในช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยงตนเลี้ยงแบบไม่มีความรู้ ให้อาหารที่มีโปรตีนเยอะ เพราะคิดว่าจะทำให้แพะแข็งแรง จนกระทั่งแพะอ้วน ซึ่งเกิดผลเสีย ทำให้ในช่วงติดสัด และ การติดลูก เพื่อเพิ่มปริมาณของแพะนั้นเป็นไปได้น้อยลง หรือเกิดเหตุการณ์ที่แพะอยู่ดีๆ ก็เดินไม่ได้ จากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง กระทั่งตนได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้จากผู้ช่วยปศุสัตว์ ทำให้การเลี้ยงดูถูกเปลี่ยนจนเห็นได้ชัด คุณภาพชีวิตของแพะในฟาร์มดีขึ้น ผลผลิตที่ได้ทั้ง น้ำนม และ ลูกแพะ ก็มีมากขึ้น
การเลี้ยงปัจจุบันจะเน้น เปลือกข้าวโพด หรือหญ้า แต่ทีเด็ดอาหารของแพะในฟาร์ม ก็คือ กากเต้าหู้ ที่ถูกต้มหลังจากการทำน้ำเต้าหู้ คุณสอาดกล่าวว่า กากเต้าหู้ที่ได้มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อแพะ และสามารถนำมาทดแทนถั่ว ซึ่งช่วยลดต้นทุน ให้ใช้ประโยชน์ต่อสิ่งรอบตัวได้อย่างดี
แนวโน้มในอนาคต
คุณสอาดคาดหวังให้ฟาร์มของตนมีเทคโนโลยีที่เทียบเท่ากับต่างชาติ ซึ่งจะทำให้คุณภาพของแพะดีขึ้นมากกว่าเดิม เทคโนโลยีหลายตัวเปรียบเสมือนผู้ช่วย ที่จะช่วยให้ตนรู้ว่าแพะในฟาร์มควรเสริมอาหารไปในด้านใด คุณภาพของแพะที่ดีควรจะต้องกินอาหารและบำรุงอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องดีๆ ที่ตนอยากให้แพร่หลายเป็นอย่างมาก
แม้ความฝันที่มีจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตนเองอาจไม่สามารถก้าวมายังจุดนี้ได้อย่างมั่นคง คุณสอาดคาดหวังว่า ในอนาคตการปศุสัตว์ในประเทศไทยนั้นจะต้องถูกกระตุ้นและดูแลให้มีความเท่าเทียมกับต่างชาติ สร้างเม็ดเงินและอาชีพให้กับชาวไทยได้อย่างมั่นคง
หากใครที่อยากได้คำแนะนำสามารถติดต่อไปยัง ฟาร์มแพะบ้านคลองลำลี หมู่ 2 ต.ละหาร อ.ละหาร จ.นนทบุรี โทรศัพท์ 083-199-7093 เพื่อขอความรู้ในด้านการเลี้ยงได้ตลอด คุณสอาดพร้อมให้คำแนะนำด้วยความยินดี