เพราะความที่ “ตลาดนมพร้อมดื่ม” ตั้งแต่ปี 2561-64 เติบโตมาตลอด จาก 55,190 ตัน 58,531 ตัน 60,808 ตัน และ 63,043 ตัน ตามลำดับ ทั้งๆ ที่ “นมผง” จากต่างประเทศ มาแชร์ตลาดในไทยมากขึ้น
แต่จุดอ่อนของนมพร้อมดื่ม คือ ร่างกายของคนไทยกว่า 98% ไม่ย่อยน้ำตาล “แลคโตส” และหลายคนแพ้โปรตีนในน้ำนมวัว
การผลิตนม
นักธุรกิจนมพร้อมดื่มหลายคนใจถึง หันมาพัฒนานมพร้อมดื่ม ด้วยการไร้น้ำตาลแลคโตส ได้แก่ ซีพีเมจิ และ “ไทย-เดนมาร์ค” เป็นต้น เพื่อมิให้ผู้ดื่มนมเกิดอาการ ท้องอืด และท้องเสีย เป็นต้น
คนที่อยู่เบื้องหลังจุดกระแส “นมแลคโตสฟรี” ให้ดัง ได้แก่ บริษัท แมรี่ แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ผู้รับจ้างผลิตนมให้หลายแบรนด์ และบริษัทนี้ก็ผลิต “นมโรงเรียน” ภายใต้โรงงาน 5 จังหวัด 1 ในขาใหญ่ของประเทศ และเมื่อเห็นตลาดโตขึ้น ก็ลงทุนผลิต MMILK หลายสูตร เข้าไปแชร์ตลาด เพราะทางบริษัทมีฟาร์มวัวนมไฮเทค บนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ วัวนมกว่า 2,600 ตัว ในจังหวัดกาญจนบุรี
เจ้าของ บริษัท แมรี่ฯ ตัวจริง คือ คุณสุรพงษ์ ปิยะโชติ หรือที่คนในวงการรู้จัก คือ “หมอหนุ่ย” ศิษย์เก่าแม่โจ้ชื่อดัง ที่ยอมรับทั้งคณาจารย์ และลูกศิษย์ ทั้งหลาย และเคยเป็นลูกหม้อซีพีมาก่อน จึงมีประสบการณ์สูงทางด้านนี้
ผลิตภัณฑ์นม MMILK ของบริษัท เปิดตัวด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ลึกซึ้ง จึงเจาะตลาดได้รวดเร็ว กลายเป็นนมพร้อมดื่มพรีเมียมระดับประเทศ แชร์ตลาดในไทย 80% หรือ 160 ล้านบาท/ปี และตลาด CLMV ถึง 20% ที่ลึกซึ้งก็คือ กระบวนการและขบวนการผลิต ล้วนใช้ศาสตร์และศิลป์ ภายใต้ปรัชญา “ลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิต” ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นการนำ “นวัตกรรม” มาใช้ในทางธุรกิจอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน แห่งเดียวในไทย
การบริหารจัดการฟาร์มวัว
เรื่องแรก คือ “ฟาร์ม” และ อาหารวัวนม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นที่ตั้งพื้นที่ทั้งหมดหลายพันไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูก หญ้ารูซี่ ข้าวโพด 1,000 ไร่ และ เนเปียร์ อีกหลายไร่ นอกนั้นเป็นฟาร์มวัว สำนักงาน และ โรงงานเครื่องจักร แม้กาญจนบุรีอุณหภูมิกลางวัน 32-33 องศาฯ และกลางคืน 25 องศาฯ ทำให้วัวนมลูกผสมเลือด 80-85% ต้องปรับตัว ก็ไม่เป็นไร ทางฟาร์มใช้ “พัดลมตัวใหญ่” ระบายอากาศให้วัวในกลางวัน
เหตุที่ต้องใช้พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ปลูกหญ้า และข้าวโพด ก็เพราะหมอหนุ่ยต้องการนำไปผลิตเป็น “อาหาร TMR” เป็นหลัก ซึ่งอาหาร TMR นั้น ตอบโจทย์ในเรื่องการให้ “น้ำนม” โดยตรง และจังหวัดกาญจนบุรีใกล้แหล่งวัตถุดิบ เช่น เมื่อข้าวโพดไม่พอก็สั่งเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนจากโรงงานริเวอร์แควเดือนละหลายตัน ส่วนมันเส้นก็จัดหาได้จากลานมันในจังหวัด
ซึ่งอาหาร TMR (TOTAL MIXED RATION) ก็คือ อาหารผสมสำเร็จรูป ระหว่าง อาหารหยาบ กับ อาหารข้น ในอัตราที่เหมาะสม เมื่อสัตว์กินแล้วจะทำให้ pH ในกระเพาะรูเมน มีความคงที่นั่นเอง ซึ่งแมรี่ฟาร์มมีอาจารย์วิโรจน์ คณะเกษตรฯ ม.ขอนแก่น ดีไซน์สูตรให้ 5 สูตร “พวกวัวรีดนมจะแบ่งเป็นกรุ๊ป ไม่ใช้สูตรอาหารสูตรเดียวทั้งราง แต่ละสูตรให้ต่างกัน วัวนมมากให้คุณภาพดี วัวนมน้อยก็ให้คุณภาพรองลงมา ส่วนลูกวัวรุ่นที่เราต้องการให้เจริญเติบโตก็จะให้อีกแบบหนึ่ง” ดร.มธุรส อรังศรี ผจก.ฟาร์ม เปิดเผย
ดังนั้นการบริหารวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหาร TMR จึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่การผลิตอาหาร TMR ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ต้องใช้ “จุลินทรีย์” ที่มีคุณภาพ ทางฟาร์มต้องซื้อจาก บริษัทในอเมริกา ด้วยเงินหลักล้าน แต่คุ้มค่า เพราะเมื่อแม่วัวกินแล้วจะให้น้ำนมเพิ่มอีก 10% อาหาร TMR ที่มีคุณภาพ จึงจำเป็น “เราให้อาหารข้น pH ในกระเพาะจะดรอป แต่พอเราให้อาหารหยาบจะเป็นด่าง ทำให้จุลินทรีย์ในกระเพาะต้องปรับตัวตลอดเวลา แต่เมื่อเราให้อาหาร TMR จุลินทรีย์จะสเตเบิล ยิ่งให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยเท่าไหร่ วัวก็จะกินได้มากขึ้น ผลผลิตจะเพิ่มตาม” ดร.มธุรส ยืนยัน
แต่มีข้อแม้ว่าชิ้นอาหารจะต้องมีขนาด 1-2 ซม. วัวจะกินพอดี ไม่ต้องเคี้ยวเอื้องนาน กินได้เยอะ ย่อยได้ไว สำหรับปุ๋ยที่จะต้องใส่ในแปลงข้าวโพด และแปลงหญ้า ไม่ต้องใช้ เพราะทางฟาร์มได้กากขี้วัวและน้ำที่ใช้ในกิจกรรมมาใส่แทน ดังนั้นการใช้พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ปลูกพืชอาหารสัตว์เพื่อผลิตอาหารหมัก TMR จึงคุ้มค่าในระยะยาว
เรื่องที่ 2 เครื่องจักร และอุปกรณ์ฟาร์ม คุณหมอหนุ่ยได้ลงทุนซื้อรถแทรกเตอร์ยี่ห้อ จอห์น เดียร์ เครื่องอัดก้อน 700-800 ตัว/ก้อน เป็นต้น เครื่องตัด/สับหญ้า รวมทั้งเครื่องผสมอาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งเครื่องจักรกลเหล่านี้มีไว้เพื่อใช้งานตลอดเวลา บางเรื่องก็มีบริษัท เจ้าของเครื่อง/อุปกรณ์ บริการ แต่บางเรื่องทางฟาร์มจัดซื้อเองโดยตรง และใช้ช่างของบริษัทจัดการ
สายพันธุ์วัว
เรื่องที่ 3 สายพันธุ์วัวนม ก็เป็นเรื่องใหญ่ ทางฟาร์มได้ทดลองเลี้ยงวัวนมลูกผสมเลือด 80-85% ปรากฏว่าผลผลิตดี จึงขยายฐานแม่วัวรีดนมถึง 2,300 แม่ และปี 2566 วางแผนให้ถึง 1,000 แม่ เพราะขณะนี้มี “วัวสาว” เยอะ ที่จะเข้ามาทดแทน ซึ่งการพัฒนาพันธุกรรมวัวนม ทางฟาร์มร่วมกับคณะเกษตร ม.ขอนแก่น ทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน “ตอนนี้อาหารวัวแพง เกษตรกรเลิกเลี้ยงกันมาก ต้องการขยายฟาร์ม ทางบริษัทจึงต้องเลี้ยงเอง” ดร.มธุรส เปิดเผยถึงสาเหตุต้องผลิตแม่วัวให้ถึง 1,000 แม่ ส่วนแม่ที่ปลดระวาง หรือให้น้ำนมไม่คุ้ม ก็ต้องขายในราคา กก.ละ 75 บาท
สำหรับพันธุ์วัวนมของฟาร์ม เป็นสายพันธุ์ที่ให้น้ำนม ปลอดโปรตีน ก่ออาการแพ้ ดูดซึมได้ไว มีน้ำตาลแลคโตส 0% เหมาะกับเด็ก ผู้สูงวัย และผู้รักสุขภาพ แม้ต้นทุนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มจะเพิ่มขึ้นกว่านมทั่วไป 30% และต้นทุนผลิตน้ำนมดิบสูงกว่าปกติ 20% ก็ต้องขยายงาน เพราะมั่นใจอนาคตคนจะบริโภคนมพรีเมียม MMILK มากขึ้น
โดยเฉพาะพันธุ์วัวนมนั้น ทางฟาร์มได้ให้ ม.ขอนแก่น ทำวัวเพศเมีย A2 ซึ่งมี DNA ที่มีน้ำนมไร้โปรตีน ที่คนกินแล้วแพ้ ซึ่งเทคนิคการคัดวัวเพศเมียเพื่อหา A2 เป็นงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น ที่มี อ.มนต์ชัย ดวงจินดา เป็นผู้เชี่ยวชาญของคณะเกษตรศาสตร์
“เมื่อเราซื้อวัวเข้ามา ต้องเจาะเลือดวัว A2 จากนั้นเราก็นำน้ำเชื้อพ่อ A2 จากอเมริกามาผสม ลูกที่เกิดมาเป็น A2 ทั้งหมด โดยน้ำเชื้อเป็นของ บริษัท อัลตร้า เจเนติกฯ” ดร.มธุรส เปิดเผย แม้ราคาน้ำเชื้อโด้สละ 900-1,000 บาท ก็ต้องยอม เพราะการันตีว่าผสมแล้วได้ผลผลิตประมาณ 83% แต่ของทางฟาร์มได้ถึง 86%
การบำรุงดูแลวัว
เรื่องที่ 4 ใช้เทคโนโลยีขยายฐานการผลิตวัว ซึ่งการจะผลิตแม่พันธุ์ให้ถึง 1,000 แม่ เพื่อให้ได้น้ำนมดิบตามที่ต้องการนั้น ทางบริษัทได้ลงทุนด้านไอทีโปรแกรมของ ดีลาวาล ติดไว้ที่หู และที่คอ ของแม่วัวทุกตัวที่จะผสมพันธุ์ สามารถตรวจเช็ค “การเป็นสัด” “การตกไข่” และ “การให้นม” ทางคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์ ซึ่งวัวทุกตัวถูกลงทะเบียน เช่น วัว หมายเลข 351 เป็นต้น
จึงรู้ได้ว่า 351 ผสมหรือยัง ตรวจท้องหรือยัง และถ้าเป็นโรคมีโปรแกรมการรักษาด้วย ซึ่งบริษัทใช้เงินหลักล้าน แต่เกินคุ้ม เพราะทุกตัวที่ลงทะเบียนจะถูกบริหารจัดการ หลังจากวัวเป็นสัดจนกระทั่งให้นม ทำให้การลงทุนตั้งแต่เลี้ยงวัวกระทั่งให้น้ำนม ได้ผลผลิตเฉลี่ย 20 กก./ตัว คุ้มค่าแก่การลงทุน
การบริหารบุคลากร
ในการบริหารจัดการฟาร์มทั้งหมด ใช้คนงาน ทั้งฟาร์มและไร่ 40 คน แต่ละคนมาจาก “ม.แม่โจ้” เป็นหลัก เพราะคนที่จบแล้วทำงานในฟาร์มได้ทันที ไม่ต้องเทรนด์มากมาย “เมื่อเรารับแม่โจ้มาจะใช้งานได้เลย จับวัวได้ แต่จากที่อื่นเข้ามาแล้วต้องเทรนด์ก่อน มันไม่ใช่ง่าย วัวมันยาก นมส่งขายได้ ไม่ได้ ต้องตรวจคุณภาพน้ำนมทุกอย่าง ถึงจะส่งขายได้ นมที่รีดทุกหยดไม่สามารถขายได้ทุกหยด ยกเว้นหน้าหนาว” ดร.มธุรส ให้ความเห็นถึงการคัดเลือกบุคลากรประจำฟาร์ม ซึ่งประสิทธิภาพของคน เป็นงานสำคัญสำหรับฟาร์มวัวนม
การจัดตั้งศูนย์น้ำนมดิบ
เรื่องที่ 5 สร้างภาคีเครือข่ายธุรกิจ และบริษัทในเครือ
จากการเป็นลูกหม้อซีพีของหมอหนุ่ย ทำให้เข้าถึงรูปแบบธุรกิจ ที่มีการแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญของบุคลากร ด้วยการจัดตั้งบริษัทในเครือ ที่ซุก ห่วงโซ่ธุรกิจโคนม ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ มาทำเฉพาะเรื่องให้มีกำไร ซึ่งวันนี้มีหลายบริษัท ขณะเดียวกันก็จับมือกับภาคีธุรกิจวัวนม โดยบริษัทจัดตั้ง ศูนย์น้ำนมดิบ แล้วรวบรวมมาแปรรูปเป็นนมพร้อมดื่มหลายแบรนด์ เจาะตลาดพรีเมียมหลายช่อง ได้ปิดจุดอ่อน เช่น อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนตัวสำคัญ ก็ผลิตเอง เร่งขยายจุดแข็ง เช่น การผลิตแม่วัวให้ถึง 1,000 แม่ A2 ด้วยการใช้ไอทีผ่านมือถือ ให้เกิดการผสมพันธุ์ทุกตัว เป็นต้น
จนกลายเป็น “สมาร์ทฟาร์ม” ตัวอย่างสำคัญของชาววัวนม พิสูจน์ได้จาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ และ นายซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ยะลา และ สส.พรรคอีกหลายคน นำกลุ่มสตาร์ทอัพด้านวัวนมยะลา มาชมฟาร์มเมื่อ 26 ก.พ. 65 ซึ่งงานนี้ คุณสุรพงษ์ ปิยะโชติ (หมอหนุ่ย) นายก อบจ.กาญจนบุรี มาต้อนรับด้วยตนเอง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเจ้าของก็ตาม
ท่ามกลางการค้าเสรี ประเทศผู้ผลิต “นมผง” หลายประเทศ ส่งนมเข้ามาตีตลาดในไทย ทำให้กระเทือนทั้งระบบ ธุรกิจวัวนมแม้จะทำครบวงจร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พ่ายแพ้ ดังนั้น บริษัท แมรี่ฯ จึงต้องลงทุนผลิตนมพร้อมดื่ม MMILK ร่วมกับ ม.ขอนแก่น แม้จะต้องใช้งบวิจัย-พัฒนามากขึ้นก็ยอม เพราะ MMILK เป็นนมเพื่อสุขภาพ นมพรีเมียม ที่ล้ำหน้ากว่านมผง ซึ่งผู้บริโภคสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง