การเลี้ยงควาย
“ควาย” เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน โดยในสมัยก่อนนั้นจะนิยมเลี้ยงไว้ใช้แรงงาน เช่น ไถนาหรือลากจูง เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้นำเครื่องจักรมาใช้ในภาคเกษตรมากขึ้น ทำให้การเลี้ยงควายถูกปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยและมีจำนวนลดลง ดังนั้นการอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์ควายไทยจึงเป็นแนวทางในการเพิ่มจำนวนประชากรควายให้มากขึ้น
ลุงสมชาย และป้าลั่นทม มุ่งหมาย สองสามีภรรยา เจ้าของ“ฟาร์มควาย องครักษ์” เลขที่ 27 หมู่ 1 ต.บางลูกเสือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เกษตรกรที่ยังคง เลี้ยงควายแบบปล่อยทุ่งหญ้า คงวิถีชีวิตดั้งเดิมของไทยที่นับวันยิ่งหายากไปทุกที
ลุงสมชายเล่าว่า “เมื่อปีพ.ศ.2524 ลุงกับป้าได้แต่งงานกัน จากนั้นพ่อให้ควายตัวเมียไว้ทำทุนและเป็นของขวัญสำหรับการแต่งงานมาหนึ่งตัว ด้วยความที่คุ้นเคยและคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้การเลี้ยงควายทำได้ไม่ยาก เลี้ยงเรื่อยมาจนขยายพันธุ์และมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ จึงเป็นที่มาของฟาร์มควาย องครักษ์ จนถึงปัจจุบัน”
สภาพพื้นที่ เลี้ยงควายแบบปล่อยทุ่งหญ้า
สำหรับการเลี้ยงในช่วงแรกนั้นยังไม่มีรูปแบบชัดเจนนัก เลี้ยงแบบบ้านๆ ที่ปล่อย และไม่มีการควบคุมดูแล จึงทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร บ้างก็มีลักษณะตัวเล็ก แคระแกรน ประกอบกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านก็เปลี่ยนไป “สมัยก่อนแถวนี้จะเป็นทุ่งหญ้าที่เต็มไปด้วยควายหลาย 100 ตัว เลี้ยงรวมกัน และควายในสมัยนั้นจะมีรูปร่างใหญ่ สวยงาม ราคาไม่แพงเหมือนปัจจุบัน แต่พอมีรถไถนาเข้ามา ทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้ขายควาย แล้วไปทำงานในกรุงเทพ เหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังเลี้ยงอยู่” ลุงสมชายเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่
ปัจจุบันยังคงเลี้ยงแบบดั้งเดิม คือ ปล่อยให้ควายเดินกินหญ้า บนพื้นที่ 100 กว่าไร่ ของบริษัทเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 34 ตัว แบ่งเป็นตัวผู้ 7 ตัว ที่เหลือเป็นตัวเมีย โดยในตอนเช้าประมาณ 7.00 น.จะต้อนควายออกจากโรงเรือน จากนั้นจะปล่อยให้ป้าลั่นทมดูแล และลุงสมชายจะกลับเข้ามาทำความสะอาดโรงเรือน เก็บขี้ควายออกตากแดด เพื่อบรรจุกระสอบนำไปเป็นปุ๋ยจำหน่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนหรือชาวไร่ต่อไป
การบำรุงดูแลรักษาควาย
ส่วนควายที่เป็นพ่อพันธุ์จำนวน 2 ตัว จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่สามารถนำไปเลี้ยงกับฝูงควายทั้งหมดได้ อีกทั้งไม่เคยชินกับสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงรถที่วิ่งผ่านตามท้องถนน เป็นต้น เพราะเคยนำควายออกไปเลี้ยง แล้วเกิดอาการตกใจ ทำความเสียหายให้กับรถยนต์ จึงเลี้ยงไว้ที่โรงเรือนด้วยหญ้าแพงโกล่าอัดก้อนและเสริมด้วยฟางข้าว
การปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ควายนั้น จะเน้นการผสมจริงตามธรรมชาติ เนื่องจากการผสมเทียมจะพบปัญหาในช่วงหน้าร้อน ซึ่งหากไม่ได้จังหวะที่เหมาะสมการผสมพันธุ์อาจไม่ได้ผลหรือไม่ติด ทำให้ต้องเสียเวลารอการเป็นสัดอีก 21 วัน ส่วนการผสมจริงจะมีเปอร์เซ็นต์การติดลูกมากกว่า และลูกควายที่ได้ก็จะมีลักษณะที่ดีขึ้นด้วย
ในการผสมพันธุ์จะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันเลือดชิด ซึ่งจะส่งผลให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการไขว้สายพันธุ์จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ
“เลี้ยงควายไม่ต้องลงทุนมาก แต่สามารถต่อยอดได้ตลอดทั้งปี ไม่มีขาดทุน เพียงแค่ดูแลเอาใจใส่ในการเลี้ยงเท่านั้น” จากคำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือมูลราคาสินค้า ด้วยเหตุที่มีความต้องการสูง และปริมาณการเลี้ยงควายในปัจจุบันมีอัตราลดลง จึงส่งผลให้ราคาซื้อขายสูงขึ้นตามลำดับ
“ตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปี ที่คลุกคลีกับวงการควาย จะเห็นการพัฒนาของควายไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่เปลี่ยนไป หรือความสวยงามของรูปร่าง ตลอดจนราคาที่ซื้อขายกันหลักแสน หลักล้านบาท”
ด้านตลาดและการจำหน่ายควาย
สำหรับการจำหน่ายทางฟาร์มจะเน้นการปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะเด่น สวยงาม โดยจะจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาเนื้อ ส่วนตัวที่ไม่สวยจะจำหน่ายในตลาดเนื้อ ส่วนด้านราคาจะดูลักษณะควายเป็นหลัก ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าด้วย โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000-50,000 บาท หรือมากกว่านั้น อาจมีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สายพันธุ์ เป็นต้น กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเข้ามาที่ฟาร์ม หรือโทรเข้ามาสอบถามก่อนตัดสินใจซื้อ
เป้าหมายในอนาคต
ส่วนเป้าหมายในอนาคตของทางฟาร์มจะพัฒนาควายให้มีเลือดที่สูงขึ้น หรือมีสายพันธุ์ที่ดีขึ้น โดยจะเก็บควายตัวเมียที่มีลักษณะที่ดีไว้ทำเป็นแม่พันธุ์เพื่อขยายจำนวนให้มากขึ้น และจะจำหน่ายควายตัวผู้ออกไป เพื่อให้ฟาร์มมีควายอยู่ที่ไม่เกิน 40 ตัว เนื่องจากลุงสมชายสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และต้องการควบคุมคุณภาพ
“ในฐานะที่เป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่เลี้ยงควาย อยากบอกว่าอาชีพเลี้ยงควายเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำแล้วไม่มีขาดทุน ดีกว่าเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ ปัจจุบันถ้าเลี้ยงควาย 3 แม่ ปีหนึ่งขายลูกได้ 3 ตัว รายได้ก็หลักแสนแล้ว หรือมีที่ดินประมาณ 20 ไร่ ผมจะไม่ปลูกพืชเด็ดขาด แต่จะปลูกหญ้าเพื่อใช้เลี้ยงควายแทน ที่สำคัญสามารถกำหนดราคาเองได้ และอาชีพเลี้ยงควายไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ แต่ให้กลัวที่จะไม่มีขายมากกว่า” ลุงสมชายกล่าวทิ้งท้าย
และเสริมอย่างภาคภูมิใจว่า “จากที่มีควายแค่ตัวเดียว อยู่ได้ทุกวันนี้ ผมก็พอใจมากแล้ว” ขอขอบคุณ คุณลุงสมชาย และคุณป้าลั่นทม มุ่งหมาย เลขที่ 27 ม.1 ต.บางลูกเสือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก โทร.083-693-0473 (ป้าลั่นทม) เลี้ยงควายแบบปล่อยทุ่งหญ้า เลี้ยงควายแบบปล่อยทุ่งหญ้า