การเพาะเลี้ยงจระเข้
“จระเข้” สัตว์ดึกดำบรรพ์ ครึ่งบกครึ่งน้ำ และเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นที่ยำเกรงของมนุษย์ ทว่าในด้านปศุสัตว์ จระเข้นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีอนาคต ช่วยกำจัดซากหมู ซากไก่ ช่วยดูแลระบบนิเวศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งยังมีมูลค่าในการเลี้ยงเพื่อแปรรูปป้อนสู่อุตสาหกรรมเครื่องหนัง และตลาดผู้บริโภคเนื้อจระเข้ ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
โดยหากผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงกระบวนการเพาะเลี้ยงให้มากขึ้น จะรู้ว่าจระเข้แม้จะเป็นสัตว์ที่น่ากลัวสำหรับสายตาคนทั่วไป ทว่าปัจจุบันจระเข้ เป็นสัตว์ที่สร้างมูลค่าให้กับวงการปศุสัตว์ไทยไม่แพ้สัตว์เศรษฐกิจประเภทอื่นๆ เลยทีเดียว
นิตยสารสัตว์บก พาผู้อ่านทุกท่านบุกมาทำความรู้จักถึงฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ “สหมิตรฟาร์มจระเข้” ในพื้นที่ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โดยเป็นฟาร์มรายใหญ่ที่ประกอบกิจการปศุสัตว์เพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จระเข้ “สายพันธุ์ไทยแท้” มากว่า 30 ปี บริหารฟาร์มโดย คุณจินตนา และคุณวรชัย กีระกิตติวาทย์ เจ้าของ “สหมิตรฟาร์มจระเข้”
ที่ยินดีจะมาบอกเล่าประสบการณ์การเพาะพันธุ์จระเข้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบว่าแท้จริงแล้วการเพาะ เลี้ยงจระเข้ เป็นอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์อื่นๆ อีกทั้งจระเข้มีการจัดการดูแลที่ไม่ยุ่งยาก จระเข้มีความทนทานต่อโรค ต้นทุนการเลี้ยงไม่สูง และหากมีตลาดที่ชัดเจน สามารถสร้างรายได้หลักให้กับผู้เลี้ยงได้อย่างยอดเยี่ยม
จุดเริ่มต้นการเพาะ เลี้ยงจระเข้
คุณจินตนาเล่าย้อนจุดเริ่มต้นอาณาจักร “สหมิตรฟาร์มจระเข้” ให้ฟังว่า ฟาร์มจระเข้เป็นธุรกิจของครอบครัวแฟน ซึ่งเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่รุ่นอากง (คุณพ่อแฟน) เลี้ยงมากว่า 30 ปีแล้ว ทั้งนี้เพราะสมัยก่อนได้ทำฟาร์มไก่ไข่ และฟาร์มสุกรด้วย จึงเริ่มต้นซื้อจระเข้จากผู้เพาะเลี้ยงรายใหญ่จำนวนไม่มาก เพื่อให้มากำจัดซากหมู ซากไก่ กระทั่งเริ่มมีประสบการณ์ จึงเริ่มพัฒนาสู่การเพาะพันธุ์ส่งขายอย่างจริงจัง จนกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของครอบครัวไปโดยปริยาย
“จุดเริ่มต้นในการทำฟาร์มจระเข้ ต้องย้อนไปสมัยรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ แฟน โดยสมัยก่อนลูกจระเข้จะมีราคาดีมาก ราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท/ตัว เพราะสมัยก่อนคนเลี้ยงยังน้อย โดยค่อยๆ พัฒนา ขยับขยายฟาร์มมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ฟาร์มของเรามุ่งเน้นการเพาะพันธุ์จระเข้ขายให้กับผู้รับซื้อเป็นหลัก ไม่ได้เลี้ยงขุนแต่อย่างใด
การบริหารจัดการในฟาร์ม
โดยในฟาร์มฯ มีการจัดสร้างบ่อเพื่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จระเข้จำนวน 3 บ่อ อัตราการเลี้ยงโดยแบ่งเป็น พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 5 ตัว ซึ่งจะทำให้เกิดการผสมพันธุ์ และได้เชื้อที่ดี มีคุณภาพ ในส่วนสายพันธุ์จระเข้ที่เลี้ยงเป็นสายพันธุ์ไทยแท้ทั้งหมด เหตุผลไม่มีอะไรมาก เพราะจระเข้ไทยมีความแข็งแรง คุ้นชินกับสภาพอากาศของเมืองไทย และเราเป็นคนไทย จึงมีความต้องการเพาะเลี้ยงสายพันธุ์ของไทย เพื่อต้องการส่งเสริมแวดวงการ เลี้ยงจระเข้ ในประเทศไทยให้เติบโตมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น”
ด้านการจัดการภายในสหมิตรฟาร์มจระเข้ คุณจินตนาเผยว่าเลี้ยงเพาะพันธุ์จระเข้ในบ่อดินที่จัดสร้างและควบคุมดูแลเองทุกอย่าง กับคนงานอีกเกือบ 10 ชีวิต โดยออกแบบขุดบ่อและใช้น้ำบาดาลในการเลี้ยง ส่วนขนาดของบ่อใช้พื้นที่กว้างโดยประมาณทั้ง 3 บ่อ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 25 ไร่ (ทั้งนี้รวมพื้นที่ของฟาร์มเลี้ยงหมูด้วย)
ซึ่งยิ่งมีพื้นที่บ่อกว้างขวาง และร่มรื่น โปร่ง สบาย เท่าไหร่ จะส่งผลให้จระเข้อารมณ์ดี เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรงดี ส่วนพื้นล่างของบ่อเทด้วยปูนคอนกรีตอย่างหนา เพื่อป้องกันจระเข้ขุดบ่อหนีออก รวมทั้งมีการจัดทำรัง (ลักษณะเหมือนหลุม) เพื่อเอาไว้ให้จระเข้ฟักไข่อีกด้วย
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์จระเข้
ในส่วนการเฟ้นหาคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์จระเข้นั้น คุณจินตนาเผยว่านำเข้ามาจากฟาร์มรายใหญ่ ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะ เลี้ยงจระเข้ รายใหญ่ในจังหวัดชัยนาท และระดับประเทศ
“จระเข้แม่พันธุ์สายพันธุ์ไทยแท้จะเริ่มให้ไข่จริงๆ ก็อายุประมาณ 7-8 ปีขึ้นไป ส่วนลูกจระเข้ที่ฟักออกมา หากเป็นตัวเมียเราก็เก็บไว้เพาะพันธุ์ต่อไป ส่วนพ่อพันธุ์นั้นเราคัดสรรนำเข้ามาเพื่อผสมพันธุ์อีกที ด้านพ่อพันธุ์ช่วงสมบูรณ์พันธุ์จริงๆ คือ อายุ 10 ปีขึ้นไป โดยราคาซื้อขายพ่อแม่พันธุ์จระเข้นั้นราคาจะขึ้นๆ ลงๆ แต่เฉลี่ยราคาอยู่ที่ตัวละ 15,000 บาท”
การเพาะพันธุ์จระเข้
ด้านการเพาะพันธุ์ โดยเราต้องหมั่นสังเกตตรวจสอบเชื้อที่ไข่ว่ามีเพียงพอหรือไม่ กล่าวคือ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเก็บไข่จระเข้ไว้ 30 ฟอง ปรากฏว่าผสมติดมีเชื้อแค่ 2 ฟอง ก็ต้องไปดูที่พ่อพันธุ์ว่าพ่อพันธุ์อาจจะมีจำนวนน้อยกว่าแม่พันธุ์ หรือแม่พันธุ์มีจำนวนมากไปหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องทยอยนำเอาพ่อพันธุ์เข้าฟาร์มได้แล้ว เป็นต้น ซึ่งก็ต้องใช้ประสบการณ์ และการสังเกตเช่นนี้ในการตรวจสอบทีละบ่อๆ ไป
โดยสรุปหากเราจะนำพ่อพันธุ์เข้าฟาร์ม ก็ต้องดูในเรื่องของไข่เป็นหลัก ซึ่งหากพ่อพันธุ์สมดุลกับแม่พันธุ์ เชื้อในไข่ก็จะดี มีคุณภาพ ทั้งนี้พ่อแม่พันธุ์จระเข้ที่สมบูรณ์ คือ ต้องมีอายุที่ 7 ปีขึ้นไป ในส่วนปริมาณการไข่ เช่น จำนวนไข่ 20 ฟอง สำหรับแม่พันธุ์สาว แต่ถ้าเป็นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์แล้วนั้นจะไข่ครั้งละประมาณ 50-70 ฟอง แต่ต้องเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 15 ปีขึ้นไป จึงจะไข่ได้ปริมาณดังกล่าวนี้
ทั้งนี้เชื้อของจระเข้จะเกิดจากการผสมพันธุ์กันในน้ำ เหมือนสัตว์น้ำทั่วๆ ไป โดยสังเกตได้ว่าช่วงผสมพันธุ์จะอยู่ที่ประมาณเดือนธันวาคม และจะเริ่มไข่ประมาณเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี เป็นต้น โดยสรุปจระเข้จะตั้งท้องประมาณ 2-3 เดือนนี้เอง
การฟักไข่จระเข้
ในส่วนเชื้อที่ได้มา มากหรือน้อยนั้น ตัวแปรอัตราการสูญเสียจะอยู่ที่ความประณีตพิถีพิถันในการเอาใจใส่ของคนงานที่เก็บไข่ และฟักไข่ด้วย กล่าวคือ การเก็บไข่จระเข้นำมาฟักหลังจากจระเข้ปฏิสนธิแล้วนั้น จะไม่เหมือนสัตว์อื่นๆ โดยต้องใช้ความระมัดระวังในการเก็บ และขนย้าย เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้แม่พันธุ์จระเข้เองก็เสี่ยงต่อการทำไข่ของตนเองเสียหายเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำรัง เพื่อป้องกันไม่ให้แม่จระเข้ทำไข่ลูกแตกเสียหาย ก่อนจะนำมาฟักเพาะพันธุ์ขายต่อไป ซึ่งวิธีป้องกันอย่างที่บอก คือ โดยการขุดหลุม เอาแกลบลง เอาฟางสุมใส่ไว้ข้างบนเหมือนรังนก หรือรังสัตว์ ทั่วไปตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันการได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย
ทั้งนี้ส่วนลูกจระเข้แรกคลอด ขนาดความยาวลำตัวจะอยู่ที่ประมาณ 28 เซนติเมตร โดยเมื่อคลอดออกมาแค่สัปดาห์กว่าๆ ผ่านการอนุบาล ก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว โดยราคาซื้อขายจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500บาท/ตัว ทั้งนี้ด้านอุณหภูมิการ เลี้ยงจระเข้ นั้น คุณจินตนาบอกว่าก็มีส่วนบ้างเล็กน้อย แต่อย่างที่บอกว่าจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้มีลักษณะเด่นของมัน คือ แข็งแรงอยู่แล้ว หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ ก็มักไม่ค่อยเกิดปัญหา หรือโรคในการเลี้ยงแต่อย่างใด
การเก็บไข่จระเข้
ในส่วนวิธีการเก็บไข่แล้วนำมาฟักเป็นตัว ขั้นตอนการฟัก ยกตัวอย่าง คือ เตรียมดินใส่บ่อ พรวนดินให้เรียบร้อย หลังจากรดน้ำ แล้วนำหญ้าคาใช้ครกตำให้ละเอียด พอจะทำการฟัก จึงขุดหลุมเอาไข่จระเข้ใส่เข้าไปในหลุม แล้วนำหญ้าคากลบปิดไว้ พร้อมกับใส่เทอร์โมมิเตอร์เพื่อวัดอุณหภูมิ แล้วจึงกลบดินอีกครั้งหนึ่ง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการฟักควรอยู่ที่ประมาณ 32 และไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส
ส่วนระยะฟักไข่ใช้ระยะเวลาประมาณ 70 วัน แต่ถ้าอากาศเย็น หรือฝนตก อาจจะยืดเวลาการฟักออกไปอีกเล็กน้อย ทั้งนี้เมื่อลูกจระเข้ฟักออกมาเป็นตัวแล้ว การจัดการโดยทั่วไป คือ สังเกตสะดือ แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด แล้วนำไปลงบ่ออนุบาล ขนาดบ่อที่สร้างเอาไว้ 150 เซนติเมตร (ความกว้าง)
โดยการออกแบบจะมีพื้นที่เป็นบนบก และมีน้ำรอบๆ บ่อ โดยปริมาณลูกจระเข้ที่อนุบาลไว้ประมาณ 30 ตัว/บ่อ โดยหลังจากผ่านไปประมาณ 7 วัน เมื่อบาดแผลที่ท้องเริ่มปิดสนิท จระเข้จะเริ่มกินอาหารได้ตามปกติ
การให้อาหารจระเข้
เรื่องอาหารที่ใช้ เลี้ยงจระเข้ ยกตัวอย่างเช่น หมูบด โครงไก่บดละเอียด (หั่นเป็นชิ้นๆ) เป็นต้น โดยการให้อาหารจะไม่ได้ให้ทุกวัน เนื่องจากพ่อแม่พันธุ์หากมีรูปร่างอ้วน หรือน้ำหนักตัวที่มากไป ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี ส่งผลให้จระเข้ไข่ได้ยากอีกด้วย
ทั้งนี้คุณจินตนาจะมีตารางการให้อาหาร เช่น ให้อาหาร 2 สัปดาห์/ครั้ง ปริมาณน้ำหนักอาหารก็ให้บ่อละ 1 ตัน ไปในครั้งเดียว ประมาณการให้อยู่ได้ถึง 2 สัปดาห์ ทั้งนี้โดยการสังเกตหากมีจระเข้ที่ตัวผอมๆ แสดงว่าตัวนั้นกินไม่ทันตัวอื่นๆ ที่เร็วกว่า ก็ต้องให้อาหารเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ สำหรับวิธีการให้อาหาร คือ การโยนอาหารให้กินนั่นเอง
การผสมพันธุ์จระเข้
ในเรื่องการผสมพันธุ์จระเข้ คุณจินตนากล่าวขยายความต่อว่าจระเข้จะผสมพันธุ์ปีละครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีตามที่กล่าวไป ซึ่งจะผสมพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ลักษณะเหมือนเป็นรอบๆ ปีชนปีนั่นเอง ทั้งนี้ช่วงผสมพันธุ์ จระเข้ก็ไม่ได้มีความดุร้ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อาจจะมีบ้างในบางตัว กรณีที่จะมีอาการหวงไข่ นอนเฝ้าไข่
โดยเวลาจะเข้าไปเก็บไข่ออกมา ก็จะมีคนงานกว่า 4-5 คน ถือไม้ยาวเข้าไปช่วยไล่ ช่วยตี ให้จระเข้หนีลงน้ำ จึงเข้าไปเก็บไข่นำออกมาเพื่อทำการฟักต่อไปได้ ทั้งนี้เวลาที่เก็บไข่ หลังจากจระเข้ฟักออกมาแล้ว ยิ่งเก็บเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ซึ่งที่ฟาร์มฯ จะมีการเข้าไปเก็บไข่ในบ่อทุกๆ วัน
ปัจจุบันสหมิตรฟาร์มจระเข้มีแม่พันธุ์จระเข้ประมาณ 300 ตัว และที่ปล่อยลงไปยังไม่ไข่ น่าจะอีกประมาณ 100 ตัว ส่วนพ่อพันธุ์ก็อัตราเฉลี่ย 1:5 ในส่วนการแยกแยะตัวผู้/ตัวเมียนั้น คุณจินตนาใช้การสังเกต ยกตัวอย่างเช่น ตัวผู้ ความแตกต่าง คือ ตัวใหญ่ และมีเกล็ดใหญ่ จะเห็นเด่นชัด และโครงหน้า/กรามจะบานออก ขณะที่ตัวเมียจะมีลักษณะตัวเล็กกว่า และโครงหน้าแหลมกว่าเพศผู้ เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์ม
สำหรับปัญหาเรื่องโรคจระเข้ ต้องบอกว่าตลอดระยะเวลาที่ยึดอาชีพเพาะพันธุ์จระเข้มากว่า 30 ปี ที่สหมิตรฟาร์มจระเข้แห่งนี้ไม่เคยประสบโรคจระเข้ที่ร้ายแรงแต่อย่างใด โดยคุณจินตนาการันตีว่าที่ฟาร์มฯ ไม่เคยพบปัญหาเรื่องโรคระบาดเลยสักครั้ง ทั้งนี้เพราะฟาร์มฯ มีการควบคุมดูแลเป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง น้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยง จะมีการเติมน้ำใหม่อยู่ตลอดเวลา และผ่องถ่ายน้ำเสียออกไป
อีกทั้งลูกจระเข้ที่ฟักออกมาทุกตัวก็ได้รับการดูแลควบคุมจากฟาร์มฯ ในทุกกระบวนการ จึงทำให้ปลอดเชื้อจากที่อื่นๆ ทั้งนี้หากถามว่าพบปัญหาการเลี้ยงอื่นๆ อะไรอีกบ้าง ที่พบเจอก็จะเป็นเพียงการไล่กัดกันของจระเข้เสียมากกว่า ซึ่งเป็นธรรมชาติที่พวกมันจะชอบงับกันเองบ้าง แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นก็จะค่อยๆ สมานและหายไปเอง
“เรื่องของสภาพอากาศ สำหรับพ่อแม่พันธุ์ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่ อาจจะกระทบกับลูกบ้างในการฟักไข่อย่างที่บอก แต่พอคลอดออกมาก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะถ้าจระเข้ร้อน เขาก็จะคลานลงไปในน้ำ ในส่วนด้านความปลอดภัย ฟาร์มของเรามีการก่อกำแพงสูง มิดชิด แน่นหนา
เมื่อถึงเวลาเก็บไข่ การลงไปเก็บไข่ที่บ่อ ลูกน้องหรือคนงานก็จะมีไม้ยาวๆ ไว้ไล่ตีจระเข้ให้วิ่งหนีลงน้ำอย่างที่กล่าวไป ซึ่งจริงๆ แล้วจระเข้ก็เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย และขี้กลัว เหมือนกัน ยกเว้นบางตัวที่หวงไข่จริงๆ เราต้องใช้ไม้ไล่ตี แล้วเขาก็จะวิ่งลงน้ำเช่นกัน” เจ้าของสหมิตรฟาร์มจระเข้กล่าวเสริม
ด้านตลาดจระเข้
สำหรับในเรื่องของการตลาดสหมิตรฟาร์มจระเข้ เมื่อเพาะพันธุ์จระเข้ได้ครบตามกำหนดระยะเวลาตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม ซึ่งก็เป็นทีมงานจากฟาร์มรายใหญ่ในจังหวัดชัยนาท ซึ่งเขาจะนำไปจำหน่ายต่อให้กับลูกเล้าของเขาอีกทอดหนึ่ง โดยอาจจะนำไปเชือด หรือนำไปขุนต่อ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็มีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามารับซื้อ ซึ่งเป็นกลุ่มของเจ้าของ/ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ ต้องการซื้อจระเข้นำไปเลี้ยงเสริมเพื่อไว้คอยกิน/กำจัดซากสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม โดยกลุ่มนี้ก็มีอยู่จำนวนมาก และถือเป็นลูกค้าหลัก/ลูกค้าประจำของสหมิตรฟาร์มจระเข้ และตลาดจำหน่ายอีกหนึ่งช่องทาง คือ กลุ่มนายทุน หรือพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อเพื่อนำไปเชือด แปรรูป ทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ฯลฯ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
การจำหน่ายจระเข้
ทั้งนี้คุณจินตนากล่าวเสริมด้วยว่า.. “สำหรับราคาจำหน่ายจระเข้ โดยปกติทั่วไปจะคิดราคาตามเรท และขนาดรูปร่างความยาว แต่อย่างที่ได้บอกไว้ว่าที่ฟาร์มฯ จะไม่ขายพ่อแม่พันธุ์ แต่จะขายเฉพาะลูก ซึ่งรายได้จะคิดเป็นการเลี้ยงแต่ละรอบๆ หรือปี/ปี ดังนั้นการ เลี้ยงจระเข้ จะคิดเป็นรายได้ต่อเดือนไม่ได้ โดยหากคิดเฉลี่ยแต่ละรอบๆ การผลิตลูกจระเข้ออกมาของสหมิตรฟาร์มจระเข้ จะเฉลี่ยผลิตได้ประมาณ 3,000 ตัว, มีแม่พันธุ์ประมาณ 200 ตัว ที่ไข่ออกมา และจำนวนไข่ก็ประมาณ 5,000 ฟอง เป็นต้น”
ส่วนเศรษฐกิจโดยรวม คุณจินตนาเผยว่ามีผลกระทบบ้างเล็กน้อย ทว่าจะมีผลกระทบมาก สำหรับบางฟาร์มที่เลี้ยงรูปแบบขุน เพราะตลาดส่งออกเครื่องหนังช่วงนี้ไม่ค่อยสู้ดีนัก
ในส่วนของอนาคต สหมิตรฟาร์มจระเข้ยังคงมุ่งเน้นเพาะพันธุ์พ่อแม่จระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ต่อไปเช่นเดิม แม้จะมีฟาร์มคู่แข่งขันในละแวกใกล้เคียงบ้าง แต่ก็ไม่หวั่นไหว เพราะฟาร์มฯ ก็มีฐานและกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว ถือว่าตลาดใครตลาดมัน ทั้งนี้คุณจินตนาเผยว่าอนาคตมุ่งเน้นวางแผนการขยับขยายจัดสร้างฟาร์มหมูให้ใหญ่ขึ้น และทำอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีการทำตลาดและประชาสัมพันธ์อีกครั้งอย่างแน่นอน
ฝากถึงผู้ที่สนใจจะ เลี้ยงจระเข้
ทั้งนี้คุณจินตนา และคุณวรชัย กีระกิตติวาทย์ แห่งสหมิตรฟาร์มจระเข้ ยังกล่าวฝากถึงผู้ประกอบการฟาร์มสุกร/ฟาร์มไก่ รวมทั้งเกษตรกร หรือผู้ที่คิดอยากจะ เลี้ยงจระเข้ ด้วยว่า.. “การ เลี้ยงจระเข้ สามารถนำไปเลี้ยงเสริม สำหรับในฟาร์มไก่/ฟาร์มหมูได้เป็นอย่างดี หรือหากผู้ที่ต้องการจะ เลี้ยงจระเข้ อย่างเดียวก็สามารถทำได้ โดยสามารถเลี้ยงได้ทั้งพ่อแม่พันธุ์ หรือขุนขาย เป็นต้น
ทั้งนี้จระเข้เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีโรคระบาดร้ายแรง หากผู้เลี้ยงสามารถบริหารจัดการควบคุมทุกอย่างได้ เช่น การให้อาหาร การดูแลแหล่งน้ำภายในบ่อ การเก็บไข่/ฟักไข่ ที่ต้องทำเป็นตารางงานอย่างสม่ำเสมอ โดยถ้าเลี้ยงเป็นจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ จะยิ่งมีความทนทาน สมบูรณ์ แข็งแรง ซึ่งเมื่อเลี้ยงไปสักพัก หากผู้เลี้ยงไม่ต้องการที่จะขุนขาย ก็สามารถเลี้ยงต่อไปเพื่อทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ มูลค่าราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้น
ยกตัวอย่าง โดยพ่อแม่พันธุ์ 1 คู่ จะได้รับการตีราคาอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 70,000-100,000 บาท (เฉลี่ยอายุการเลี้ยงต้องได้อายุ 20-30 ปีขึ้นไป) โดยถ้าเลี้ยงขุนขายก็จะมีคนมารับซื้อไปทำเครื่องหนัง (อุตสาหกรรมเครื่องหนัง) ซึ่งถ้าขุนขาย ระยะเวลาการเลี้ยงจะอยู่ประมาณ 3 ปี ถึง 3 ปีครึ่ง (ถ้าเลี้ยงล่วงเลยไปจากนี้ ต้องทำพ่อแม่พันธุ์อย่างเดียว แต่ก็จะได้มูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งแถมได้ลูกมาเพาะพันธุ์ขายอีกต่อหนึ่ง)
ทั้งนี้โดยรูปร่างเลี้ยงการขุนจระเข้ขาย ในช่วง 3 ปี – 3ปีครึ่ง จะมีความยาวประมาณ 1.80-2 เมตร ซึ่งเป็นช่วงที่เกล็ดหนังกำลังสวย พ่อค้านิยมมารับซื้อกันช่วงนี้ นอกจากนี้สามารถจำหน่ายเข้าสู่ตลาดเนื้อได้อีกด้วย คือ การนำไปเชือดจำหน่ายสู่ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่บริโภคเนื้อจระเข้ เป็นต้น แต่ถ้าจะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ก็ต้องขายให้กับเจ้าของฟาร์มไก่/ฟาร์มหมู เพื่อที่พวกเขาจะนำไปเลี้ยงเพื่อกินซากสัตว์จะดีที่สุด
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผลิตผลจากการ เลี้ยงจระเข้ มีตลาดรองรับที่หลากหลาย แม้จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจเฉพาะกลุ่ม แต่ก็สามารถทำเงินได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย อีกทั้งขอเสริมด้วยว่าจริงๆ แล้วได้มีผลสำรวจออกมาว่า จระเข้ 1 ตัว จะกินอาหารเฉลี่ยต้นทุนตกวันละ 1 บาท หรือโดยเฉลี่ยใน 1 ปี จระเข้ 1 ตัว จะมีค่าใช้จ่ายในการกินอาหาร บวก-ลบไม่เกินประมาณ 500 บาท
เพราะฉะนั้นการเพาะ เลี้ยงจระเข้ ในประเทศไทย ถือได้ว่ายังมีอนาคตที่สดใสมาก และสามารถสร้างเป็นธุรกิจหลัก หรือธุรกิจเสริม ควบคู่ไปกับการทำฟาร์มปศุสัตว์อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำกำไรได้สูง ตลอดจนใช้ทุนเริ่มต้นไม่ได้สูงอย่างที่หลายคนคิด เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการ หรือไม่ได้เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดมากนัก จึงมองว่าจระเข้น่าจะเลี้ยงยาก และใช้ทุนสูง ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย”
ขอขอบคุณ คุณจินตนา และ คุณวรชัย กีระกิตติวาทย์ “สหมิตรฟาร์มจระเข้” 155 หมู่ 2 ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โทร.087-738-8663