เมื่อผู้บริโภคหันมาใส่ใจรักสุขภาพกันมากขึ้น จนกลายเป็นเทรน ทำให้การทำเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมตามมา ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่นำมาบำรุงดินหรือเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผลผลิตก็ต้องเป็นอินทรีย์ด้วย
“ไร่ปั้นเดือน” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์ โดยมีคุณบัณฑิต ธรรมวาริน และคุณบุษกรณ์ สร้อยคำ (ปู) เป็นผู้ดูแล และเจ้าของฟาร์ม เริ่มจากการที่เป็นคนชอบกินจิ้งหรีด ประกอบกับเล็งเห็นช่องทางสร้างรายได้ เนื่องจากจิ้งหรีดมีราคาสูง จึงศึกษาวิธีการเลี้ยง
จุดเริ่มต้นการ เลี้ยงจิ้งหรีด
โดยคุณปูเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ยังไม่มีใคร เลี้ยงจิ้งหรีด แม้กระทั่งข้อมูลทางเวปไซต์ก็มีไม่มาก จึงตัดสินใจซื้อไข่จิ้งหรีดมาทดลองเลี้ยงจำนวน 10 ขัน ใช้เงินลงทุน 3,000-4,000 บาท เป็นค่าแผงไข่ และค่าไข่จิ้งหรีด ในตอนนั้นจะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่มีอยู่ การลงทุนจึงไม่สูงมากนัก จากนั้นศึกษาวิธีการเลี้ยง และการจัดการต่างๆ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเรื่อยมา จนถือได้ว่าเป็นกูรูด้านจิ้งหรีด จากไข่ 10 ขัน ได้จิ้งหรีดประมาณ 20 กว่ากก. จึงได้เริ่มหาตลาดเรื่อยๆ พร้อมกับขยายการผลิต และสร้างบ่อให้ได้มาตรฐานสามารถผลิตได้ 700-800 กก./รอบ และยังมีเครือข่ายกลุ่มสมาชิกอีก โดยที่คุณปูจะทำหน้าที่รับซื้อ
สายพันธุ์จิ้งหรีด
โดยพันธุ์ที่เลี้ยงจะเป็นพันธุ์ทองดำทองแดง และสะดิ้ง ซึ่งระยะเวลาในการเลี้ยงจะต่างกัน พันธุ์ทองดำทองแดงจะเลี้ยงประมาณ 38-42 วัน ส่วนพันธุ์สะดิ้งจะเลี้ยงประมาณ 42-45 วัน ทั้งสองพันธุ์จะมีความยากง่ายในการเลี้ยงที่แตกต่างกัน สะดิ้งถึงจะตัวเล็กกว่า แต่จะเลี้ยงง่าย ส่วนทองดำทองแดงตัวจะใหญ่กว่า แต่ค่อนข้างอ่อนแอ จึงต้องดูแลมากกว่าสะดิ้ง และการ เลี้ยงจิ้งหรีด จะขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย ถ้าเป็นฤดูหนาวจะเลี้ยงยาก ทางฟาร์มก็จะลดปริมาณการเลี้ยงลง ส่วนฤดูร้อนจิ้งหรีดจะเจริญเติบโตได้ดี ก็จะมีการเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้น
สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยง ถ้าเป็นสะดิ้งจะใช้อาหารที่มีโปรตีน 21% ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงจับขาย ส่วนทองดำทองแดงจะใช้อาหารที่มีโปรตีน 21% ในช่วงสัปดาห์แรก ส่วนสัปดาห์ที่สองจะใช้อาหารที่มีโปรตีน 18% ผสมกับรำอ่อน อาจจะใช้อาหารจิ้งหรีดโดยตรง หรือใช้อาหารไก่เนื้อแทน และเสริมผักละ 2-3 ครั้ง เช่น ฟักทอง ใบมันสำปะหลัง และใบดอกรัก ซึ่งถือว่าเป็นยาของจิ้งหรีด และทำให้จิ้งหรีดแข็งแรง
สภาพพื้นที่เลี้ยงจิ้งหรีด
สำหรับโรงเรือน เลี้ยงจิ้งหรีด ควรเป็นโรงเรือนที่สามารถบังแดด บังฝน ได้ และควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนบ่อ เลี้ยงจิ้งหรีด จะใช้อิฐบล็อก โดยความยาวของบ่อจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่โรงเรือน ส่วนความสูงของบ่อจะก่ออิฐบล็อกก่อขึ้นมาจำนวน 3 ก้อน หรือบางฟาร์มอาจจะใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ด โดยอาจใช้เหล็ก หรือไม้ในการขึ้นโครงตามความสะดวก นอกจากนี้ยังมีบ่อซีเมนต์ หรือท่อส้วม ซึ่งจะสะดวก เพราะมีหลายขนาดให้เลือก ปัจจุบันไร่ปั้นเดือนมีบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งหมด 20 บ่อ ซึ่งจะมีขนาดแตกต่างกันไป
การเตรียมบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดเมื่อจับจิ้งหรีดออกหมดจะทำการเก็บมูล เศษอาหาร หรือเศษหญ้า ออกให้หมด และล้างอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมกับนำแผงไข่ไปผึ่งแดด ทำความสะอาด และพักกล่องไว้ 3-5 วัน จากนั้นให้นำเอาแผงไข่มาเรียงให้เต็ม เตรียมถาดน้ำ และถาดอาหาร ใส่ไว้ในบ่อ เพื่อ เลี้ยงจิ้งหรีด รุ่นต่อไป
การให้อาหารและน้ำจิ้งหรีด
การดูแลจิ้งหรีดจะไม่ยุ่งยาก คือ จะให้อาหารและน้ำในช่วงเวลาเช้า-เย็น สำหรับการให้น้ำจิ้งหรีดจะทำเลียนแบบธรรมชาติ คือ จิ้งหรีดจะกินน้ำค้าง คุณปูจะใช้ใบตองแห้งจากต้นกล้วยมาวางในบ่อ และพ่นน้ำเป็นละออง จิ้งหรีดจะดูดกินน้ำจากใบตอง ซึ่งการทำในลักษณะนี้จิ้งหรีดตัวเล็กๆ สามารถดูดกินน้ำได้ และการให้น้ำอีกวิธีหนึ่ง คือ จะใช้ถาดตื้นปัดด้วยกระดาษทราย ทั้งด้านนอกและด้านใน เพื่อให้จิ้งหรีดปีนเข้า-ออกได้สะดวก ส่วนในถาดจะใช้ทราย หรือแกลบดำ ใส่ลงไป แล้วเติมน้ำให้ชุ่ม เป็นการป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดตัวเล็กตกน้ำตาย
ในการเลี้ยงจิ้งหรีดช่วงที่ต้องดูแลและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ช่วงลงไข่จิ้งหรีด และจับจิ้งหรีดขาย เพราะต้องเฝ้าระวังต่างๆ และเตรียมอุปกรณ์สำหรับจับ และเลี้ยงรุ่นต่อไป
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายจิ้งหรีด
ลูกค้าหลักที่รับซื้อจิ้งหรีดจะเป็นแม่ค้าขายแมลงตามตลาดนัด-คลองถม และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการขายในลักษณะนี้จะขายจำนวนน้อย แต่ได้ราคาดี ซึ่งราคาที่ขายปลีกย่อยนี้คุณปูจะเป็นคนตั้งเอง แต่ตลาดใหญ่ที่ส่งจำนวนมาก อย่าง ตลาดโรงเกลือ ราคาค่อนข้างต่ำ และไม่สามารถกำหนดราคาได้
สาเหตุที่ทำให้มีจิ้งหรีดไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค “เพราะคนเลี้ยง หรือคนทำฟาร์ม เลี้ยงจิ้งหรีด ส่วนมากขาดความรู้ และประสบการณ์ เนื่องจากไม่ศึกษาวิธีการเลี้ยง หรือรายละเอียดอื่นๆ ให้ดีก่อน จึงทำให้ขาดทุน และอาจเลิกเลี้ยงไปในที่สุด” คุณปูกล่าว
ดังนั้นความรู้และประสบการณ์จะต้องสอดคล้องกับการเลี้ยง การผลิต และตลาด ทั้งหมดจะต้องสัมพันธ์กัน “ไม่ใช่เพียงแค่เห็นเขาเลี้ยงกัน สร้างรายได้ดี จึงเลี้ยงตามกระแส โดยขาดการศึกษาที่ดี ผลกระทบต่างๆ จึงตามมา”
การเลี้ยงไส้เดือน
นอกจากการ เลี้ยงจิ้งหรีด แล้ว ไร่ปั้นเดือนยังมีการเลี้ยงไส้เดือนในขี้วัวเพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งจะได้มูลไส้เดือนเป็นผลพลอยได้ ปัจจุบันเลี้ยงได้ 8 ปีแล้ว โดยได้แรงบันดาลใจในการเลี้ยงไส้เดือน คือ การปลูกผักหวานป่า ซึ่งเห็นว่าเป็นผักที่มีราคาสูง ซึ่งดินบริเวณนั้นเป็นดินที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อปลูกแล้วผักหวานป่าตาย จึงหาวิธีแก้ไข
ประกอบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดอบรมการเลี้ยงไส้เดือน จึงเข้าอบรมและได้ซื้อไส้เดือนจากมหาวิทยาลัยฯ 300 ตัว ในราคา 5 บาท/ตัว ศึกษาวิธีการเลี้ยงด้วยตนเอง จนสามารถขยายเป็นฟาร์มมาถึงปัจจุบัน และผักหวานป่าก็เจริญเติบโตได้ดี เก็บยอดขาย มีรายได้ทุกวัน ในช่วงที่ผักหวานป่ามีเมล็ด ก็จะเปิดให้เกษตรกรที่สนใจสั่งจองในราคาเมล็ดละ 2 บาท รวมถึงสอนวิธีการปลูกและการดูแลด้วย
บางคนบอกว่าผักหวานป่าปลูกยาก แต่สำหรับคุณปู การปลูกผักหวานป่าไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าคนเราสนใจ และใส่ใจในการปลูก “อันดับแรก คือ เราต้องเข้าใจผักหวานป่าก่อน การปลูกผักต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ผักหวานป่าก็เช่นกัน นอกจากนี้ร่มเงาและน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญ ช่วงระยะการปลูกก็สำคัญ ช่วงที่ปลูกได้ คือ เดือน พ.ค.-มิ.ย. และต้นกล้าที่ปลูกก็สำคัญ”
การขยายพันธุ์ไส้เดือน
โดยปกติไส้เดือนจะผสมพันธุ์ในช่วงเวลากลางคืน จากนั้น 2-3 วัน ไส้เดือนจะเริ่มไข่ สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีช่วงอายุเฉลี่ย 3-4 ปี คุณสมบัติโดยรวมของไส้เดือนมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างของดินอย่างมาก เพราะไส้เดือนจะชอนไช ทำให้ดินเกิดการร่วนซุย ช่วยในการระบายน้ำและอากาศในดินดีขึ้น เนื่องจากไส้เดือนสามารถชอนไชลงไปใต้ดินได้ลึกกว่า 20 ม. ซึ่งเครื่องจักรที่ทันสมัยก็ยังไม่สามารถทำได้ และที่สำคัญ คือ ไม่ทำลายระบบนิเวศอีกด้วย
ประโยชน์จากมูลไส้เดือน
ผลพลอยได้จากการเลี้ยงไส้เดือน แต่ประโยชน์ที่ได้จากมูลนั้นไม่น้อยหน้าตัวไส้เดือนเลย เพราะมีคุณสมบัติในการปรับปรุงโครงสร้างของดิน และมีแร่ธาตุสำคัญที่พืชต้องการ และที่สำคัญมูลไส้เดือนยังมีประโยชน์มากกว่าปุ๋ยทั่วไป คือ มีจุลินทรีย์ และเอนไซม์ จำนวนมากที่จำเป็นต่อพืช มีฮอร์โมนในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช
ด้านตลาดตัวไส้เดือน และมูลไส้เดือน
มูลที่ขายจะเป็นมูลไส้เดือน 100% จำหน่ายในราคา 10 บาท/กก. แต่ไร่ปั้นเดือนจะเน้นขายตัวไส้เดือนเป็นหลัก เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปเลี้ยง และทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ทางฟาร์มจะขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด
ลูกค้าส่วนมากที่มาซื้อตัวไส้เดือน และมูลไส้เดือน จะเป็นกลุ่มลูกค้ารักสุขภาพ ทำสวนเกษตรอินทรีย์ เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้พอสมควร เช่น หมอ พยาบาล ครู หรือนักวิชาการ สำหรับชาวบ้านทั่วไปจะมีไม่มาก การเลี้ยงไส้เดือนปัจจุบันมีไม่มากนัก ยังเป็นแบบเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากยังไม่เป็นที่ยอมรับ และเห็นความสำคัญของการทำฟาร์มลักษณะนี้
การทำเกษตรผสมผสาน ทั้งเลี้ยงเป็ด ไก่ดำ ปลูกพืชผัก และอื่นๆ
สำหรับการทำเกษตรแบบผสมผสาน อาจอยู่ในรูปแบบสัตว์เกื้อกูลประโยชน์กับพืช หรือพืชเกื้อกูลให้กับสัตว์ ล้วนเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน จึงเกิดการทำฟาร์มค่อนข้างหลากหลาย
สำหรับการเลี้ยงเป็ดบาร์บาร์รีเพิ่งเริ่มเลี้ยงได้ 1 ปี ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองเลี้ยงและหาตลาด ปัจจุบันส่งขายให้กับร้านอาหารอีสานในพื้นที่
นอกจากนั้นยังทำไข่เค็ม ปลูกมะนาวนอกฤดู และเลี้ยงไก่ดำสายพันธุ์มองโก หรือเรียกว่า ไก่ KUไก่สายพันธุ์นี้จะมีเนื้อและผิวสีดำ ซึ่งจะมีสีดำกว่าไก่ภูพาน เนื้อไก่สายพันธุ์นี้สามารถขายในตลาดต่างประเทศได้ ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองเลี้ยง มีประมาณ 100 กว่าตัว โดยจะขายให้ผู้ที่นำลูกไก่มาให้ ในราคากิโลกรัมละ 250 บาท อนาคตคิดว่าจะขยายการเลี้ยงและหาตลาดเอง แต่ต้องศึกษาตัวไก่ และวิธีการเลี้ยง การจัดการ ให้ดีก่อน
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจ
“เกษตรกรที่สนใจ หรือมีปัญหาด้านการเกษตร สามารถเข้ามาปรึกษาได้ ทางฟาร์มจะมีศูนย์การเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ ทางฟาร์มยินดีต้อนรับ” คุณปูกล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุษกรณ์ สร้อยคำ (ปู) 10/3 ม.3 บ้านหนองแสง ต.ลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โทร.080-333-6761