ตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพราะหากสินค้าไม่ได้รับความนิยม หรือไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ ถือว่าโอกาสในการอยู่รอดของธุรกิจนั้นยากมาก ดังนั้นต้องคิดหาหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อื่นๆ แทน เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ การ เลี้ยงนกกระทา ก็เช่นกัน
การเลี้ยงนกกระทา
คุณธีระศักดิ์ มะลิวรรณ (โอ) เปิดเผยกับนิตยสารสัตว์บกว่า เดิมทีการเลี้ยงนกกระทาของทางฟาร์มเป็นแบบลูกเล้ากับฟาร์มใหญ่ในจังหวัดอ่างทอง ซึ่งทุกคนทราบดีว่าเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงนกกระทาที่ใหญ่ที่สุด และเนื่องจากตนไม่มีประสบการณ์การเลี้ยง ตลาด และปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ
จากนั้นในปีที่ 2 ได้ตกลงกับฟาร์มที่เป็นคอนแทรคด้วย เพื่อนำผลผลิตบางส่วนทำตลาดในพื้นที่ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากนั้นปีที่ 3 จึงตัดสินใจลงมือทำฟาร์มของตนเอง และทำการขยายฟาร์มเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการของตลาด จึงเป็นที่มาของ “ออกัสซ ฟาร์ม” ดังกล่าว
เปรียบเทียบการทำฟาร์มแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับเป็นเจ้าของเองมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในด้านปัจจัยความเสี่ยง ตลาด และรายได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี และสามารถควบคุมการผลิตได้
“เมื่อก่อนมีลูกค้ารายใหญ่สั่งครั้งละ 60-80 ลัง แต่ในบางครั้งระงับการสั่งซื้อสินค้า ทำให้เกิดผลกระทบพอสมควร เนื่องจากตลาดไม่สอดคล้องกับการผลิต จึงคิดหากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ โดยการมองหาลูกค้าขนาดกลางที่มีศักยภาพในการสั่งซื้อสินค้าเพื่อความต่อเนื่อง รวมถึงการดูแล การให้บริการ และการขนส่ง” คุณโอเปิดเผยถึงกลยุทธ์ของตน
สายพันธุ์นกกระทา
สำหรับพันธุ์นกกระทาที่ทางฟาร์มเลี้ยงจะเป็นพันธุ์นกกระทาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศไทย สามารถเลี้ยงได้ 18,000 ตัว แต่ในปัจจุบันได้ลดจำนวนลงเหลือ 8,000 ตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ดี และกำลังการซื้อของผู้บริโภคในพื้นที่ลดลง เป็นการควบคุมการผลิตตามความต้องการของตลาด
สภาพพื้นที่ เลี้ยงนกกระทา
ปัจจุบันได้เริ่มเพาะพันธุ์นกกระทาเองเพื่อเป็นการลดต้นทุน และใช้เลี้ยงภายในฟาร์มประมาณ 1,000 ฟอง/ครั้ง และได้ทดลองทำมาเกือบปีแล้ว เพื่อศึกษาผลกระทบและวิธีการต่างๆ จนทราบปัญหาว่าในการฟักไข่นกกระทานั้นจะมีตัวผู้เกือบ 50% ทำให้ต้นทุนด้านอาหารเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงหาช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า “ตลาดนกเนื้อ” รองรับนกกระทาตัวผู้ ที่ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 45 วัน ถึงจะจับขายได้
ส่วนขั้นตอนการฟักไข่นกกระทาจะนำไข่ที่มีเชื้อเข้าตู้ฟักที่สามารถควบคุมอุณหภูมิโดยอัตโนมัติจำนวน 16 วัน จากนั้นก็จะออกมาเป็นตัว เสร็จแล้วนำนกกระทาที่ได้มาเลี้ยงแบบอนุบาล 30 วัน จึงนำนกกระทาขึ้นกรงเพื่อผลิตไข่เป็นขั้นตอนต่อไป สำหรับการฟักไข่นกกระทานั้นอัตราสูญเสียมีมากพอสมควร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนและปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้
เลี้ยงนกกระทาในโรงเรือนเปิดแบบกึ่งปิดขนาด 18×18 เมตร มีการรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการเลี้ยง โดยอุณหภูมิควรอยู่ที่ 26°C ไม่ควรร้อนหรือหนาวจนเกินไป เพราะสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์การไข่ของนกกระทา อย่างช่วงหน้าร้อนจะทำให้นกกระทาออกไข่ไม่สม่ำเสมอ เปอร์เซ็นต์การไข่ลดลง ส่วนอากาศเย็นจะทำให้การผลิตไข่ของนกกระทาได้ผลค่อนข้างดี แต่ไม่ควรมีอุณหภูมิที่เย็นจนเกินไป ส่วนหน้าฝนจะกระทบด้านการตลาด เนื่องจากแม่ค้าไม่สามารถนำไข่นกกระทาไปขายในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น โรงเรียน เป็นต้น
การบริหารจัดการนกกระทา
สำหรับด้านอาหาร ทางฟาร์มจะใช้อาหารสำเร็จรูปของ บริษัท เบทาโกรฯ และซีพีเอฟ โดยคุณภาพจะไม่แตกต่างกัน แต่จะคำนึงถึงราคาในแต่ละช่วง และเสริมด้วย “ไคโตซาน” ส่วนด้านแหล่งน้ำ ทางฟาร์มทำเป็นระบบประปาใช้ภายในฟาร์มโดยการเจาะบ่อบาดาล และมีแท้งค์น้ำไว้สำหรับการพักประมาณ 2 วัน จึงจะนำไปใช้
ในการเลี้ยงนกกระทาจะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถผลิตไข่ได้ 80-90% และจะเลี้ยงประมาณ 7 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะปลด ส่วน “มูลนกกระทา” จะเก็บทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 วัน/ครั้ง เพื่อความสะอาด และป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรค
โดยนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นจะบรรจุใส่กระสอบขนาด 25 กิโลกรัม จำหน่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพารา สวนมะนาว และสวนมะละกอ ในราคากระสอบละ 100 บาท ซึ่งมีประมาณ 2 ตัน/เดือน สร้างรายได้ให้กับฟาร์มอีกหนึ่งช่องทาง
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่นกกระทา
–กลุ่มบุคคลทั่วไป เป็นกลุ่มลูกค้าเจ้าประจำของตัวแทนจำหน่ายแต่ละอำเภอในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร เช่น ไข่นกกระทาสด, ไข่นกกระทารสเค็ม (ไข่ดิบ), ไข่นกกระทาต้มพร้อมปอกเปลือก และนกกระทาเนื้อ
–กลุ่มนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทาง เป็นการแปรรูปสินค้าเพื่อจำหน่ายเป็นของฝากตามร้านค้าต่างๆ เช่น ไข่นกกระทารสเค็มพอกเสริมเกลือไอโอดีน, ไข่นกกระทารสเค็ม (ไข่ดิบ) ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม
–กลุ่มลูกค้าทางตรง เป็นการแปรรูปสินค้าที่พร้อมรับประทานได้เลย มีพนักงานจากฟาร์มนำไปจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่พักอาศัย หรือสถานที่ทำงาน เป็นต้น สินค้า เช่น ไข่นกกระทาต้มสุก รสธรรมดา และรสเค็ม
เห็นได้ว่าทางฟาร์มจะมีกลุ่มลูกค้าค่อนข้างหลากหลาย เพื่อรองรับตลาด ทั้งไข่นกกระทาสด นกกระทาเนื้อ ไข่นกกระทาต้มพร้อมปอก ไข่นกกระทารสเค็ม ไข่นกกระทาเสริมไอโอดีน และมูลนกกระทา โดยบริหารให้เกิดความสมดุลตลาดและสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะในแต่ละช่วงมีความยืดหยุ่นแตกต่างกัน ส่วนราคาจำหน่ายจะอิงราคากลาง
สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในขณะนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำฟาร์มเลี้ยงนกกระทา เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดพิจิตรมีอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นรายได้หลักของเกษตรกรจึงขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และราคาของสินค้าเกษตร หากมีราคาซื้อขายดีจะทำให้มีกำลังในการซื้อสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย
กลยุทธ์ในการบริหารตลาด จากเมื่อก่อนจะมีลูกค้ารายใหญ่ซึ่งอยู่ไกลจากพื้นที่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ โดยทำตลาดในพื้นที่จังหวัดพิจิตร สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยวางแผนให้มีลูกค้าครบทั้ง 7 วัน และใช้หลักการสินค้าต้องมีคุณภาพ การบริการ และราคาย่อมเยา
ส่วนปัญหาด้านตลาดจะพบมากในช่วงภาวะไข่นกกระทาล้นตลาด ทำให้ราคาถูก และไข่นกกระทาจากฟาร์มในภาคกลางมาขายในพื้นที่ ทำให้ได้รับผลกระทบพอสมควร แต่ทางฟาร์มมีวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า ทั้งทางด้านคุณภาพ ความสดใหม่ สะอาด และการดูแลเอาใจใส่ลูกค้า
“จุดแข็งของทางฟาร์มอยู่ที่ความสด สะอาด ของสินค้า และมีคุณภาพ ตลอดจนการบริการให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ และมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ทั้งทางด้านราคา และสินค้า” คุณโอย้ำถึงจุดแข็งของตน
การวางแผนในอนาคต
เมื่อถามถึงแผนงานในอนาคต คุณโอบอกว่าแผนสำหรับอนาคตในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ทางฟาร์มจะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนมากกว่า โดยการฟักนกกระทาแล้วนำมาเลี้ยงและบริหารจัดการเอง ทั้งนี้รวมถึงนกกระทาตัวผู้ด้วยที่ได้ทำตลาดไปแล้วในระดับหนึ่ง และการแปรรูปนกกระทา เช่น ผลิตภัณฑ์นกกระทาสูตรพริกไทยดำ เป็นต้น ซึ่งระยะเวลาอันใกล้นี้หรืออาจต้องดูภาวะตลาดก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการ
“เกษตรกรควรพึ่งตนเองก่อนพึ่งคนอื่น โดยพยายามยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง จากนั้นจึงค่อยขอความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การทำผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นต้น ดังนั้นเมื่อสามารถทำอาชีพได้อย่างมั่นคงแล้ว อาชีพของเราก็จะอยู่รอดอย่างยั่งยืน”
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ออกัสซ ฟาร์ม คุณธีระศักดิ์ มะลิวรรณ 919 หมู่ 5 ต.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล จ.พิจิตร โทร.081-492-4040
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 269/2558