สืบเนื่องจากโรค ASF เมื่อปี 2562 และการระบาดของ Corona Virus สายพันธุ์ใหม่ ในขณะนี้ (กุมภาพันธ์ 2563) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ และเป็นที่น่าจับตามองอย่างต่อเนื่องในวงการปศุสัตว์ไทย เลี้ยงหมูแม่พันธุ์
เมื่อราคาสุกรขายหน้าฟาร์มนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พุ่งสูงถึง 80 บาท/กก. (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 63) สวนทางกับจำนวนผู้เลี้ยงสุกร ทำให้ปริมาณเนื้อสุกรทั้งบริโภคในประเทศและส่งออกไม่เพียงพอ
จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงหมู
นิตยสารสัตว์บก ได้มาเยือน “ชอบฟาร์ม” เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ แห่ง อ.ดอนเจดีย์ ประกอบอาชีพเลี้ยงหมูมานานถึง 17 ปี และได้พูดคุยกับ คุณชอบ เอี่ยมเมือง ถึงการจัดการฟาร์มแม่พันธุ์ในยุคที่ปศุสัตว์ไทยเต็มไปด้วยโรคระบาด และราคาที่แกว่งไปมาในปัจจุบัน โดยที่ชอบฟาร์มจะเลี้ยงเฉพาะแม่พันธุ์เท่านั้น และใช้วิธีการผสมเทียม เมื่อได้ลูกสุกรจึงนำออกขายเพื่อสร้างกำไร
คุณชอบปัจจุบันอายุ 54 ปี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 คุณชอบได้เริ่มต้นก้าวเข้าสู่วงการคนเลี้ยงหมู ด้วยคำชักจูงจากสัตวบาลส่งเสริมของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ จึงเปลี่ยนจากการทำไร่ ทำนา มาเลี้ยงหมูแทน และตั้งชื่อฟาร์มว่า “ชอบฟาร์ม เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์”
เริ่มต้น เลี้ยงหมูแม่พันธุ์
เริ่มต้นจากการสร้างโรงเรือนเป็นระบบปิด หรือระบบ Evap ในปัจจุบัน ลงแม่พันธุ์รุ่นแรก 120 แม่ คุณชอบยอมรับว่า ตนไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำฟาร์มมาก่อนเลย ได้รับคำแนะนำจากสัตวบาลและสัตวแพทย์ของบริษัท โดยบริษัทส่งทีมงานเข้ามาช่วยดูแลตลอด ทำให้คุณชอบได้ความรู้ไปด้วย จนปัจจุบันสามารถเลี้ยงเองได้อย่างสบาย และถูกต้องตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์และบริษัทกำหนดทุกประการ
สภาพพื้นที่เลี้ยงหมู
“หลังจากที่เริ่มมีความรู้ในการเลี้ยงเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจขยายฟาร์มเพิ่มจนตอนนี้มีแม่พันธุ์กว่า 300 แม่ มีโรงเรือนจำนวน 2 โรงเรือน แบ่งออกเป็น โรงเรือนคลอด ขนาดหน้ากว้าง 18 เมตร และโรงเรือนแม่พันธุ์ ขนาดหน้ากว้าง 8 เมตร อุปกรณ์ที่ใช้ทั้ง 2 โรงเรือน เป็นของ บริษัท การุณบราเธอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และใช้งานได้ดี
แต่ก่อนบ้านเกิดตั้งอยู่ที่ อ.เมืองสุพรรณบุรี แต่ย้ายรกรากมาเลี้ยงหมูที่ดอนเจดีย์ และได้สร้างฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้ออีก 2 โรงเรือน ขนาด 40,000 ตัว ในรัศมีใกล้ๆ กัน ให้ลูกสาวเป็นคนดูแล ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นของการุณ ใช้มานานกว่า 11 ปี ตั้งแต่สร้างฟาร์มไก่เลย” คุณชอบเปิดเผยถึงเส้นทางธุรกิจฟาร์ม
นอกจากการสร้างโรงเรือนใหม่แล้ว ชอบฟาร์มยังมีบ่อไบโอแก๊สขนาด 120 คิวบิกเมตร โดยนำมูลและน้ำเสียจากการล้างคอกเป็นสารตั้งต้นในการผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในฟาร์ม แต่ด้วยความที่เป็นฟาร์มแม่พันธุ์ไม่ใช่หมูขุน ทำให้ปริมาณแก๊สที่ผลิตมานั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในฟาร์ม และบริเวณฟาร์มกระแสไฟฟ้านั้นมาไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีเหตุการณ์ไฟดับบ่อยครั้ง คุณชอบจึงต้องมีเครื่องปั่นไฟสำรองขนาด 60 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ภายในฟาร์มยามฉุกเฉิน
การบริหารจัดการโรงเรือนหมู
การเลี้ยงสุกรจะประสบความสำเร็จหรือไม่? ขึ้นกับความใส่ใจในการเลี้ยง และการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมควบคู่กัน ถึงแม้สายพันธุ์จะดีเพียงใด หากผู้เลี้ยงละเลย ขาดความใส่ใจ ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลังอยู่ดี ทางชอบฟาร์มจึงยึดหลักการจัดการแม่พันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีการนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
คุณชอบแบ่งการจัดการออกเป็น 2 โรงเรือน คือ โรงเรือนแม่พันธุ์ โรงเรือนนี้จะรับแม่พันธุ์สาวที่พร้อมผสมจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ แต่ก่อนเคยใช้วิธีให้พ่อพันธุ์ขึ้นผสม แต่จะมีปัญหา คือ พ่อพันธุ์จะโทรมเร็ว ทำให้ทางฟาร์มเปลี่ยนมาใช้วิธีผสมเทียมแทน ทั้งประหยัดต้นทุนมากกว่า และการจัดการง่ายกว่า โดยสุกรสาวที่นำมาผสมจะมีน้ำหนัก 80-90 กิโลกรัม มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนน้ำเชื้อทางบริษัทจะจัดส่งมาให้ตามเป้าที่กำหนดไว้
รับสุกรสาวมาไม่เกิน 1 อาทิตย์ ก็สามารถผสมเทียมได้ทันที หลังจากการผสมติดเรียบร้อย แม่สุกรจะถูกย้ายไปอยู่ โรงเรือนคลอด ซึ่งเป็นโรงเรือนที่สะอาด และปลอดเชื้อที่สุด สำหรับรองรับสุกรใกล้คลอด และลูกสุกร ระยะเวลาตั้งท้องในสุกร คือ 115 วัน (นับตั้งแต่วันผสม) ภายหลังจากลูกสุกรคลอด จะให้อยู่กินนมแม่ประมาณ 18 วัน จึงจับแยก และทางบริษัทจะมารับลูกสุกรไปเลี้ยงต่อ
“การจัดการแม่พันธุ์สำหรับผมนั้นไม่ยุ่งยากอะไร ในทุกๆ วัน จะมีลูกน้อง 4 คน ค่อยดูแลสุกรทั้ง 2 เล้า ดูแลเรื่องการให้อาหาร ซึ่งอาหารก็เป็นสูตรเฉพาะของทางบริษัท แบ่งออกเป็นระยะ ดังนี้ คือ แม่สุกรสาว สุกรท้อง 2 เดือน สุกรท้อง 3 เดือน และสุกรใกล้คลอด
ทุกสูตรจะมีปริมาณการให้ที่แตกต่างกัน ขึ้นกับคำแนะนำของบริษัท อาทิ แม่สุกรหลังคลอดให้อาหาร 3 เวลา (เช้า กลางวัน และเย็น) แต่หากเป็นสุกรตั้งท้องจะให้อาหารเพียงวันละ 1 ครั้ง เท่านั้น และจะมีสัตวบาลเข้ามาดูแล ตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
เมื่อเป็นระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นการจัดการเรื่องอุณหภูมิและโรคระบาดจากภายนอก จึงไม่ค่อยพบปัญหา ถึงแม้อากาศแถวสุพรรณบุรีจะร้อนเป็นหลักก็ตาม เพราะการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งควรควบคุมอยู่ในช่วงระหว่าง 28-30 องศาเซลเซียส เพื่อให้แม่พันธุ์อยู่สบาย สุขภาพดี และเพิ่มอัตราการผสมติดด้วย
ในส่วนโรคระบาดนั้นมีบ้าง เช่น ท้องเสีย โรคเพิร์ส (PRRS) ซึ่งทางสัตวบาลเข้ามาช่วยจัดการ และมีการปูพรม ทำวัคซีนแม่สุกรอยู่สม่ำเสมอ เพื่อในร่างกายสุกรมีภูมิต้านทานเชื้อ”คุณชอบให้ความเห็นเพิ่มเกี่ยวกับการจัดการแม่พันธุ์สุกร
การ เลี้ยงหมูแม่พันธุ์ จะใช้ระบบเข้า-ออกพร้อมกันเป็นชุด (ตามเป้าของบริษัท) กล่าวคือ แม่สุกร 300 ตัว จะแบ่งผสมครั้งละ 65 แม่ หนึ่งแม่ใช้ระยะเวลาท้องประมาณ 115 วัน ดังนั้นในหนึ่งรุ่นที่ผสมจะสามารถตั้งท้องได้ 4 รอบต่อปี
โดยมีอัตราการคลอด/ตัว/คอกประมาณ 10-14 ตัว บางครั้งอาจให้ลูกได้มากถึง 20 ตัว/คอก และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นแม่ที่เคยคลอดแล้วหรือแม่ผสมใหม่ เพราะหากเป็นช่วงที่แม่สุกรมีการตกไข่มาก ลูกที่ได้จะยิ่งมีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน ระยะเวลาที่ใช้แม่พันธุ์จนกระทั่งปลด คือ แม่สุกร 1 ตัว จะให้ลูกประมาณ 7 ครั้ง แล้วจึงเริ่มปลดออก เพื่อไปไม่ให้แม่พันธุ์โทรม และช่วยลดต้นทุน
ในช่วงระยะเวลาหลังคลอดจนถึงลูกสุกรอายุ 18 วัน จะให้ลูกสุกรกินนมแม่เป็นหลัก มีการป้อนน้ำนมเสริมบ้าง เพื่อให้ลูกสุกรแข็งแรง และสมบูรณ์ มีโอกาสรอดชีวิตทุกตัว ส่วนในแม่สุกรจะให้กินอาหารอย่างเต็มที่ เพื่อบำรุงแม่สุกรสำหรับการเป็นสัดครั้งต่อไป และเพิ่มปริมาณน้ำนมในการเลี้ยงลูก
การจำหน่ายลูกหมู
ผลตอบแทนจากการรับจ้างเลี้ยงนั้น คุณชอบเปิดเผยว่า บริษัทจะมีเป้าหมายที่กำหนด เช่น อัตราการผสมติด จำนวนลูกรอดชีวิตที่คลอด อัตราการให้ลูกเฉลี่ย (ตัว/คอก) และน้ำหนักลูกสุกรหลัง 18 วัน เป็นต้น หากได้ครบตามเป้าที่กำหนดไว้จะได้เงินตามที่ตกลงกัน หากได้สูงกว่าเป้าที่กำหนดจะได้รับเป็นโบนัสในการเลี้ยงเพิ่มเติมอีก
ส่วนฟาร์มของคุณชอบเองมีรายได้จากการขายลูกสุกรหลัง 18 วัน น้ำหนักเฉลี่ย 9 กิโลกรัม/ตัว และได้ลูกต่อคอกเฉลี่ย 9 ตัวขึ้นไป ประมาณ 300 บาท/ตัว (เมื่อหักทุกอย่างแล้ว)
ข้อดีของแอร์โร่ฟอยล์
ด้วยความที่เป็นฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ จึงไม่มีการพักเล้า พักโรค เหมือนในสุกรขุน ทำให้อุปกรณ์ภายในฟาร์มที่ใช้นั้นต้องมีความแข็งแรง คงทน และมีประสิทธิภาพจริง เพราะอุปกรณ์จะมีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบทำความเย็น เช่น คูลลิ่งแพค พัดลม แผ่นฝ้าเพดาน เป็นต้น
คุณชอบยอมรับว่าแต่ก่อนใช้ผ้าพีวีซีแทนแผ่นฝ้าเพดาน ผลคือ ต้องมีการเปลี่ยนบ่อยครั้งด้วยแรงลมจากการดึงอากาศของพัดลมในทุกวัน ใช้ได้เพียง 1-2 ปี ก็ต้องเปลี่ยนแล้ว จนมีสัตวบาลคนเก่ามาแนะนำให้รู้จักกับแอร์โร่ฟอยล์ จึงตัดสินใจลองใช้ดู ปัจจุบันใช้มานาน 6 ปี ยังไม่ต้องเปลี่ยนหรือต้องซ่อมแต่อย่างใด
“ต้องยอมรับว่าผ้าแอร์โร่ฟอยล์ใช้งานได้ดี ลดต้นทุน และแข็งแรง ทนทานจริง ตัวผ้าไม่ฉีกขาดง่าย ถึงแม้ราคาจะสูงอยู่บ้าง แต่ในแง่การใช้งานนับว่าคุ้มที่จะเสีย หากเปรียบเทียบผลการใช้งานหลังติดตั้งผ้าแอร์โร่ฟอยล์ ผลปรากฏว่า อุณหภูมิภายในเล้ามีความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น ทำให้ประหยัดไฟได้เยอะ ลงทุนครั้งเดียวคุ้ม ไม่มีการซ่อม หรือมีรอยร่วงจากการทำความสะอาด ขนาดเศษเหลือที่วางทิ้งไว้ยังไม่มีรอยกัดของสัตว์เลย” คุณชอบยืนยันถึงการใช้งานผ้าแอร์โร่ฟอยล์แท้ จากบริษัท เด่นใหญ่ จำกัด
ด้วยคุณสมบัติพิเศษแอร์โร่ฟอยล์ ซึ่งผลิตจากแผ่นสะท้อนความร้อน (Heat reflective sheet) ชนิดอะลูมิเนียมฟอยล์บริสุทธิ์ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งสามารถสะท้อนความร้อนได้สูงถึง 95% ไม่อมความร้อน ไม่ลามไฟ และกันความชื้นได้ดี เหมาะกับงานฟาร์ม ซึ่งจะมีการทำความสะอาดบ่อยครั้ง และทนทาน ไม่ขาดง่าย อายุการใช้งานยาวนาน ไม่หดตัว 100 % และรับประกันการใช้งานนานกว่า 5 ปี
ฝากถึงเกษตรกรที่เลี้ยงหมู
ในปี 2563 นี้ คุณชอบยังไม่ได้วางเป้าหมายใดเป็นพิเศษ อาจต้องดูตามทิศทางของตลาดในปัจจุบันเป็นหลัก แต่จะปรับปรุงและพัฒนาด้านการจัดการให้ดีขึ้น และยังฝากถึงเกษตรกรทุกคนว่า “ทุกอย่างคือการลงทุน และการลงทุนคือความเสี่ยง แต่สำหรับการลงทุนใช้แผ่นแอร์โร่ฟอยล์นี้นั้นคุ้มค่า ทั้งความแข็งแรง คงทน ไม่อมความร้อน ทำให้อุณหภูมิสม่ำเสมอ ประหยัดไฟ ถึงจะใช้มาแล้วกว่า 6 ปี ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้ หากกำลังมองหาวัสดุที่จะใช้แทนผ้าพีวีซี ให้แอร์โร่ฟอยล์เป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักของคุณเถอะ”
หากสนใจผลิตภัณฑ์แอร์โร่ฟอยล์สามารถดูตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่ Website : denyai.com และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค : แอร์โร่ฟอยล์ อลูมิเนียมฟอยล์ของคนไทย
ขอขอบคุณ คุณชอบ เอี่ยมเมือง เจ้าของชอบฟาร์ม ที่อยู่ 87/3 ม.9 ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี โทร.086-001-1420 ที่ให้เกียรติแบ่งปันเรื่องราวดีๆ อันเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ที่สนใจทุกท่าน