เมื่อพูดถึงการเลี้ยงไก่เนื้อของประเทศไทย เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงในระบบปิด แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนการเลี้ยงยังคงสูง และเป็นการ เลี้ยงไก่ประกันราคา กับบริษัทต่างๆ นั่นอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้เลี้ยง เพราะทางบริษัทส่วนใหญ่จะเข้ามาช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้เลี้ยง ซึ่งหน้าที่สำคัญของผู้เลี้ยง คือ บริหารต้นทุนของตนเท่านั้น
การเลี้ยงไก่เนื้อ
ดั่งเช่น “สุรวิชญ์ฟาร์ม” ตั้งอยู่ที่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ นำทีมบริหารงานโดย คุณสุรวิชญ์ มหามาตย์ (เฮียเบิ้ม) ผู้เลี้ยงไก่เนื้อมากว่า 24 ปี และดำรงตำแหน่งเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อส่งออกอีสานใต้ เฮียเบิ้มเล่าย้อนกลับไปเมื่อปี 2538
ซึ่งตนเริ่มเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคาเป็นระบบเปิดประมาณ 4,000 ตัว กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาหนองกี่ พอธุรกิจเริ่มอยู่ได้ก็เริ่มขยายเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนมาเลี้ยงกับทางเบทาโกรจำนวน 50,000 ตัว ในปี 2545 ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการสร้างโรงเรือนระบบปิด
ต่อมาในปี 2549 ได้รับการจดทะเบียนเป็นบริษัท สุรวิชญ์ฟาร์ม จำกัด ทุนจดทะเบียน 13.5 ล้านบาท ในปี 2554 มีการขยายพื้นที่ อ.หนองกี่ เป็นโรงเรือนระบบปิดอัตโนมัติ (Auto Feed) จำนวน 6 โรงเรือน รองรับไก่เนื้อกว่า 150,000 ตัว/รอบการเลี้ยง ต่อมาในปี 2560 เพิ่มทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท และขยายกิจการที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จำนวนโรงเรือน 20 โรงเรือน รองรับไก่เนื้อได้ 680,000 ตัว/รอบการเลี้ยง และเลี้ยงแบบประกันราคากับบริษัทในเครือบริษัท แหลมทองเกษตรภัณฑ์ จำกัด
บริษัท สุรวิชญ์ฟาร์ม จำกัด มีฟาร์มในเครือ ได้แก่
- สุรวิชญ์ฟาร์ม 1 จำนวนโรงเรือน 6 โรงเรือน รองรับไก่เนื้อ 150,000 ตัว/รอบการเลี้ยง
- สุรวิชญ์ฟาร์ม 2 จำนวนโรงเรือน 11โรงเรือน รองรับไก่เนื้อ 330,000 ตัว/รอบการเลี้ยง
- สุรวิชญ์ฟาร์ม 3 จำนวนโรงเรือน 20 โรงเรือน รองรับไก่เนื้อ 680,000 ตัว/รอบการเลี้ยง
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ
ปัจจุบันบริษัท สุรวิชญ์ฟาร์ม จำกัด ขยายกิจการเลี้ยงไก่เนื้อรวมกว่า 5,800,000 ตัว/ปี ณ ปัจจุบันเลี้ยงแบบประกันราคากับทางบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ทั้งหมด
กล่าวถึงตอนเริ่มต้นเริ่มเลี้ยงกับ บริษัท บี ฟู๊ดโปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (เบทาโกร) “เราอยู่กับเบทาโกรเป็นระยะเวลาหลายปี เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า เบทาโกรสร้างเราให้เติบโตในสายไก่ประกันฯ และเรียนรู้กับการพัฒนา การแก้ปัญหา และการเฝ้าระวัง กระทั่งวันหนึ่งสภาวะไก่เนื้อประสบปัญหา เราเลยขอกับทางผู้บริหารเบทาโกรขอยุติสัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของฟาร์ม
ประจวบกับทางบริษัท แหลมทองเกษตรภัณฑ์ เปิดรับลูกค้าใหม่พอดี เราจึงย้ายมาเลี้ยงกับกลุ่มบริษัท แหลมทองเกษตรภัณฑ์ เลี้ยงได้ประมาณ 4 รุ่น
เมื่อเริ่มสร้างฟาร์มใหม่ที่ด่านขุนทด มีผู้ใหญ่จากบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ได้เข้ามาเสนอโอกาสและเงื่อนไขสัญญาการเลี้ยง ที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการพัฒนาและเติบโตทางธุรกิจไก่ประกันฯ ผมจึงลองเลี้ยงดูจนถึงตอนนี้ประมาณ 5 รุ่นแล้ว มีคุณหมอส่งเสริมเข้ามาดูแลทุกสัปดาห์ ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มและความเสี่ยงต่างๆ จบรอบการเลี้ยงหนึ่ง ก็พูดคุยสรุปปัญหากันเสมอ “เฮียเบิ้มกล่าวถึงสาเหตุที่เลือกสหฟาร์มด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม”
ในส่วนอุปกรณ์โรงเรือน คุณสุรวิชญ์มั่นใจเลือกใช้คัมเบอร์แลนด์ และบิ๊กดัชแมน สุรวิชญ์ฟาร์ม 2 ให้ทางBOI นำเข้าอุปกรณ์ ซึ่งได้ในราคาที่ถูก คุณภาพดีทั้ง 2 บริษัท โดยจะมีทีมเข้ามาบริการติดตั้งให้ แต่ในเรื่องการเซอร์วิสหลังการขายไม่น่าประทับใจนัก ซึ่งทางฟาร์มแก้ปัญหาโดยใช้ช่างประจำฟาร์มซ่อมเท่าที่ทำได้ หากรอทีมเซอร์วิสจะล่าช้าจนเกินไป
การบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อ
การเลี้ยงไก่เนื้อในระบบคอนแทรคนั้นทำได้ง่าย และดีกว่าเลี้ยงตัวคนเดียว เหมือนได้เพื่อนคู่คิดร่วมไปกับธุรกิจ ซึ่งได้รับทั้งข่าวสารที่ทันสถานการณ์ มีสิ่งเดียวที่ต้องทำ คือ การบริหารต้นทุน เปรียบเสมือนการปรุงอาหาร ซึ่งเมื่อมีวัตถุดิบที่ดีในมือแล้ว เหลือแค่ปรุงแต่งให้ดี และคุ้มค่า อย่างที่เฮียเบิ้มทำตอนนี้กำไรจะไปไหนเสีย เฮียเบิ้มยังกล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า “คู่ค้าที่ดีต่อกันจะต้องมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้สามารถเดินร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย จึงจะทำให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน”
หากฟาร์มมีการจัดการที่ดี ไก่โตเร็ว สุขภาพดี ก็ย่อมนำมาซึ่งเนื้อไก่ที่มีคุณภาพ ปลอดยาปฏิชีวนะ ตามหลักมาตรฐานสากล สุรวิชญ์ฟาร์มก็ยึดหลักการนี้เช่นกัน เฮียเบิ้มเชื่อมั่นว่าหากมีทีมงานที่ดีทุกอย่างก็ย่อมออกมาตามที่หวังไว้
ปัจจุบันไก่เนื้อที่ทางฟาร์มเลี้ยงอยู่เป็นไก่สายพันธุ์คอบบ์ (Cobb) ซึ่งเลี้ยงยาก เพราะจะมีปัญหาเรื่องขา ลูกไก่ที่นำมาลง ทางสหฟาร์มจะเป็นคนจัดหามาให้ทั้งหมด เป็นลูกไก่อายุ 1 วัน น้ำหนักดี และแข็งแรง อัตราสูญเสียประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ (นับตั้งแต่วันลงจนถึงจับขาย) น้ำหนักจับขาย 2.5 กก./ตัว ในราคาประกัน 35.50 บาท/กก. ถ้าหักต้นทุนออกสูงสุดที่เคยทำได้ คือ 18-20 บาท/ตัว
การจัดการลูกไก่ในช่วง 7 วันแรกนับว่าสำคัญที่สุด โดยจะต้องมีการกกไฟที่อุณหภูมิ 31-33 ºC และอุปกรณ์ให้อาหารและน้ำต้องเพียงพอต่อจำนวนลูกไก่ เพื่อให้ลูกไก่ทุกตัวมีโอกาสได้รับอาหารเท่าๆ กัน หากลูกไก่กินอิ่ม นอนอุ่น ก็ย่อมโตดีประมาณ 4.5 เท่าของน้ำหนักตัววันแรก ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จะถือว่าเป็นการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ในส่วนของอาหารเป็นสูตรของสหฟาร์มโดยตรงมีทั้งหมด 3 เบอร์ แบ่งกินตามช่วงอายุดังนี้
-อาหารเบอร์ 1 ให้ไก่กิน 4%
-อาหารเบอร์ 2 เมื่อไก่อายุ 21 วัน ให้ไก่กิน 5%
-อาหารเบอร์ 3 ให้กินจนถึงวันจับ
นอกจากนี้ในลูกไก่ก็ยังมีการเสริมวิตามินบ้าง เพื่อไม่ให้ไก่เครียดจนเกินไป ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่สัตวแพทย์กำหนด
การจัดการด้านอุณหภูมิ/ความชื้น/ความเร็วลม เป็นที่รู้กันดีว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ ดังนั้นสัตวบาลที่ดูแลจะต้องยึดตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ อาจปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น ในช่วงฤดูฝน ในช่วงที่แดดออกแต่ฝนกลับตกลงมา ทำให้ความชื้นเข้ามาภายในโรงเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้ไก่เป็นหวัดได้ง่าย สัตวบาลจึงต้องหมั่นตรวจเช็คความชื้นภายในโรงเรือนอยู่เสมอ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีเมื่อมีการจัดการที่ดีแล้วย่อมไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะใดๆ ทางสุรวิชญ์ฟาร์มจะเน้นในเรื่องระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) เป็นสำคัญ มีการจุ่มฆ่าเชื้อก่อน-หลังเข้าบริเวณฟาร์ม ทั้งคนและยานพาหนะ และมีการพ่นยาฆ่าเชื้อที่โรงเรือน และอบด้วยฟอร์มาลีน แล้วพักเล้าก่อนเลี้ยงรอบต่อไปเป็นเวลา 24-25 วัน
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไก่เนื้อ
บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไก่สดแช่แข็ง ไก่คลุกเกลือ และไก่แปรรูป เป็นต้น รวมกระบวนการผลิตกว่า 3.6 ล้านตัว/สัปดาห์ เป็นการผลิตและส่งออกสู่ต่างประเทศแถบยุโรป เกาหลี จีน และญี่ปุ่นเป็นต้น โดยทุกฟาร์มได้รับการตรวจสอบที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ทั้ง GMP/HACCP/ISO และเน้นระบบBiosecurity เป็นหัวใจสำคัญ
ในสัญญาลูกเล้าของสหฟาร์มระบุทันทีว่า ลูกเล้าจะได้เลี้ยงไก่ไม่ต่ำกว่า 5 รอบ/ปี มีการต่อสัญญาร่วมกันทุก 2 ปี ลูกเล้าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ลพบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และบริเวณใกล้เคียง ส่วนใหญ่จะเป็นลูกเล้าเก่าที่เคยเลี้ยงกับทางสหฟาร์มมาก่อน เมื่อบริษัทหยุดไปลูกเล้าก็ไม่ได้เลี้ยง แต่ด้วยความซื่อสัตย์ที่มีในบริษัท สหฟาร์ม ทำให้ลูกเล้าเก่าหันกลับมาเลี้ยงไก่เนื้ออีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันสหฟาร์มกรุ๊ปมีจำนวนไก่ที่เลี้ยงอยู่ทั่วประเทศรวมกันกว่า 18 ล้านตัว
เมื่อธุรกิจดำเนินไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว ทางเลือกของเกษตรกรที่เหลือ คือ การเข้าระบบคอนแทรคกับบริษัท ใช่ว่าเกษตรกรจะเป็นผู้เลือกฝ่ายเดียว ทางบริษัทก็ย่อมมีกฎกติกาและข้อตกลงร่วมกันฉันนั้น ทางบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ก็เช่นกัน “สิ่งแรกนำมาพิจารณา คือ มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ หรือเล็ก ทางสหฟาร์มก็ยินดีรับเข้ามาเป็นลูกเล้า หากทัศนคติคุณและองค์กรไปด้วยกันได้” คำยืนยันจากคุณภัทรคมน์ กลิ่นทอง (หมอดอน) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของสหฟาร์ม
ผลตอบแทนที่ได้รับจากการเป็นลูกเล้ากับสหฟาร์ม คือ ผลกำไรประมาณ 10-14 บาท/ตัว (ขึ้นกับความต้องการของตลาด) ค่าเฉลี่ยที่บริษัทกำหนดไว้ คือ 12 บาท/ตัว แต่ยังมีลูกเล้าบางส่วนอาจจะยังไม่สามารถทำกำไรได้ตามนี้ เพราะลูกเล้ายังขาดความใส่ใจในการเลี้ยง และยึดติดกับทัศนคติเดิมของตน จนมองไม่เห็นหัวใจสำคัญในการเลี้ยง ผู้เลี้ยงต้องลองปรับเปลี่ยนทัศนคติเดิม และมองหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ดังเช่น สุรวิชญ์ฟาร์ม ซึ่งถึงแม้จะเลี้ยงมาเพียงไม่นาน แต่ด้วยทัศนคติที่ดีและความใส่ใจจนนำมาซึ่งผลกำไรสุทธิ
นอกจากผลกำไรที่ได้รับแล้ว ยังมีทีมงานส่งเสริมที่มีคุณภาพมากกว่า 25 คน ซึ่งพร้อมและเต็มใจที่จะเข้าไปให้คำปรึกษาพูดคุยกับเกษตรกรทุกคนที่สนใจ เมื่อเข้ามาเป็นลูกเล้าแล้ว ทางทีมงานสหฟาร์มจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วง 4 วันแรก เพื่อติดตามสุขภาพลูกไก่ ตั้งแต่ลงลูกไก่จนถึงจับไก่ และหลังจับไก่มีการเชิญเจ้าของฟาร์มเข้ามาเพื่อพูดคุยวิเคราะห์สรุปปัญหา และหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ยืนยันว่าสหฟาร์มมีการใส่ใจมากกว่าที่อื่นแน่นอน
เป้าหมายในอนาคตของธุรกิจ เลี้ยงไก่ประกันราคา
สหฟาร์มมีเป้าหมายในการขยายลูกเล้ารายใหม่เพิ่ม แต่ยังคงยึดที่ลูกเล้าที่มีอยู่ก่อน ถ้าหากมีศักยภาพในการเลี้ยงพอจะผลักดันลูกเล้าเหล่านี้ก่อน เนื่องด้วยความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งโรงเชือดที่ลพบุรีและเพชรบูรณ์ทั้ง 2 แห่ง ยังสามารถรองรับการผลิตได้อีกมาก
ทำให้สหฟาร์มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเลี้ยงไก่เนื้อของเกษตรกร เพราะด้วยสถานะทางการเงินที่มั่นคง และศักยภาพของทีมงานที่ยินดีให้บริการลงพื้นที่จริง เข้าไปดูแลช่วยวิเคราะห์สถานการณ์และหาทางแก้ไขร่วมกับเจ้าของฟาร์มเหมือนเป็นคนในครอบครัว ตั้งแต่เกษตรกรรายเล็กที่เลี้ยงเพียง 10,000 ตัว ก็สามารถเข้าระบบคอนแทรคร่วมกับทางสหฟาร์มได้ “เราเลือกเจ้าของที่ทัศนคติดี ไม่ใช่ขนาด/จำนวนที่เลี้ยง” เปิดจุดยืนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของสหฟาร์ม
คุณสุรวิชญ์ยืนยันในความคิดของตนว่า “หากสร้างฟาร์มที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มีความใส่ใจในการเลี้ยง ก็จะนำมาซึ่งผลประกอบการที่ดีตามที่คาดหวังไว้ ไม่ว่าจะทำธุรกิจกับใคร ทุกคนก็ต้อนรับเสมอ” และทางสุรวิชญ์ฟาร์มเพิ่งขยายฟาร์มใหม่ ซึ่งการสร้างในแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เงินทุนสูง อาจมีการเว้นระยะห่างไว้สัก 5 ปี หากคิดจะขยายเพิ่มอีก ทั้งนี้ก็ขึ้นกับรายได้จากการเลี้ยงไก่เนื้อกับโควตาที่ได้รับจากระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งด้วย
การทำฟาร์มสเตย์ ปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงปลา
นอกจากนี้เฮียเบิ้มยังมีโปรเจ็คใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ตอนนี้ เป็นการคืนกำไรสู่สังคม บนเนื้อที่กว่า 35 ไร่ โดยตั้งใจสร้าง “ฟาร์มสเตย์” มุ่งเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ในหลวง ร.๙ และการทำการเกษตรอินทรีย์เชิงสุขภาพ มีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนได้แก่ ที่พัก พื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว และบ่อเลี้ยงปลา ไว้สำหรับเป็นพื้นที่พักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์ และเป็นแหล่งผลิต ให้แก่โลกของเรา
สุดท้ายเฮียเบิ้มยังฝากข้อคิดดีๆ ถึงเกษตรกรทุกคนว่า เชื่อว่าทุกธุรกิจก็ย่อมต้องการคู่ค้าที่ดี มีวินัย ใส่ใจ และมีทัศนคติที่ตรงกัน เพื่อจะก้าวเดินร่วมกันต่อไปได้ในอนาคต เกษตรกรยุคใหม่ต้องเข้าใจในเรื่องคู่ค้าทางธุรกิจ การได้เพื่อนคู่คิด คู่ทำ ร่วมไปด้วยกันย่อมดีกว่า หากไปด้วยกันไม่ได้ก็แค่แยกทางกันไป ขึ้นกับทัศนคติของคนทั้งสองฝ่าย
ขอขอบคุณ
นายสุรวิชญ์ มหามาตย์
115 หมู่ 6 ต.โคกสูง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์
โทร.088-117-8685
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 318