คุณกำพลศักดิ์ เพชรสีจา หนุ่มวัย 27 ปี เจ้าของฟาร์มไก่เนื้อ “กำพลศักดิ์ฟาร์ม” เรียนจบสาขาสัตวศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา ผันชีวิตเข้าสู่การทำอาชีพรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพราะเชื่อมั่นในระบบที่สามารถลดความเสี่ยงด้านราคา และการประกันรายได้ที่แน่นอนของเกษตรกร และที่สำคัญไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด
“อาชีพเลี้ยงไก่เนื้อเริ่มทำตั้งแต่ตนยังเรียนหนังสืออยู่ โดยทำในลักษณะเช่าสถานที่เลี้ยง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มที่ตั้ง ณ ปัจจุบันมากนัก ให้น้องชายช่วยดูแล และในระหว่างที่ตนเรียนอยู่นั้นได้ไปฝึกงานที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น เกี่ยวกับพันธุ์ไก่เนื้อ จึงทำให้มีความรู้พอสมควร จนกระทั่งตนเรียนจบ มีความรู้และประสบการณ์มากพอ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินแห่งนี้ก่อตั้งฟาร์ม” คุณกำพลศักดิ์เล่าถึงที่มาของการทำฟาร์ม
สภาพพื้นที่ เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา
ปัจจุบันคุณกำพลศักดิ์ เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา ของ บริษัท เอฟแอนด์เอฟฟู้ด จำกัด เกือบ 5 ปี เนื่องจากเปรียบเทียบกับของบริษัทอื่นที่สามารถเลี้ยงได้มากกว่า 1 รุ่นต่อปี แต่รายได้ที่ได้รับของทางฟาร์มดีกว่า และมีกำไรมากกว่า ส่วนมาตรฐาน หรือการกำหนดคุณภาพ เช่น ผิวหนังเป็นรอยขีดข่วน ข้อเท้าอักเสบ หรือด้านอื่นๆ ทางบริษัทค่อนข้างให้ความสำคัญ และมีกฎเกณฑ์เข้มงวด เพราะเป็นไก่ส่งออกต่างประเทศ ตลอดจนความสม่ำเสมอในการนำลูกไก่เข้าฟาร์ม และการจับไก่ออกจากฟาร์ม
กำพลศักดิ์ฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 261 หมู่ 13 ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บนเนื้อที่ 12 ไร่ สามารถเลี้ยงไก่ได้ 100,000 ตัว โดยใช้เงินลงทุนของตนเอง และกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทยอีกส่วนหนึ่ง ประมาณ 10 ล้านบาท ก่อสร้างฟาร์มซึ่งเป็นโรงเรือนระบบอีแวป (Evap) ขนาดกว้าง 25 เมตรx ยาว 105 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน สามารถเลี้ยงไก่ได้โรงเรือนละ 30,000 ตัว ส่วนอีก 1 โรงเรือน ขนาดกว้าง 32 เมตรxยาว 105 เมตร สามารถเลี้ยงไก่ได้ 40,000 ตัว
สำหรับการออกแบบโรงเรือน คุณพ่อของคุณกำพลศักดิ์จะเป็นผู้ออกแบบ โดยใช้หลังคาเมทัลชีทแทนการใช้กระเบื้อง เพื่อความมั่นคง แข็งแรง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และป้องกันการรั่วซึมได้ดี ส่วนภายในโรงเรือนทำเป็นฝ้าเพดานแทนการใช้วัสดุอื่น โดยเน้นให้สัตว์อยู่สบาย และสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี ส่วนด้านข้างของโรงเรือนจะใช้ตะแกรงเหล็กล้อมเพื่อป้องกันสัตว์อื่นๆ เช่น นก เข้าไปอาศัยในโรงเรือน
ส่วนพันธุ์ไก่ที่ทางฟาร์มเลี้ยงจะเป็นพันธุ์รอส (Ross) เลี้ยงแบบประกันราคาที่ 44 บาท/กิโลกรัม ซึ่งทำให้มีรายได้ที่แน่นอน เพราะบริษัทฯ เป็นผู้รับซื้อ และมีตลาดที่มั่นคง
ปัญหาและอุปสรรคในโรงเรือนไก่เนื้อ
ระยะเวลาในการเลี้ยงไก่ของทางฟาร์มไม่เกิน 45 วัน หรือน้ำหนักเฉลี่ยที่ 2.5-2.6 กิโลกรัม/ตัว เลี้ยงแบบนำไก่เข้าเท่าไหร่ก็จะจับไก่ออกทั้งหมด ไม่ได้เลี้ยงแบบจับขายเฉพาะบางส่วน เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านค่าไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าที่ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาท/ตัว/รุ่น ส่วนอัตราสูญเสียอยู่ที่ไม่เกิน 5%
“การเลี้ยงไก่เนื้อในระบบอีแวป (Evap ) นั้น ระบบไฟฟ้าถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเกิดปัญหาขึ้นจะทำให้เกิดการเสียหายทั้งหมด ดังนั้นทางฟาร์มจะมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้า แผงควบคุม และอุณหภูมิภายในโรงเรือนอาทิตย์ละครั้ง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ระบบน้ำ ทั้งระบบน้ำไหลผ่านคูลลิ่งแพด (Cooling pad) และระบบน้ำที่ให้ไก่กิน”
ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี สะสมประสบการณ์ และองค์ความรู้ ตลอดจนปัญหาต่างๆ จนสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี อาจพบปัญหาบ้างช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ทางฟาร์มไม่สามารถควบคุมได้ เช่นไก่เป็นหวัด แต่ก็สามารถดูแลแก้ไขได้ ส่วนหน้าหนาวจะเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงไก่เนื้อมากที่สุด ทั้งอุณหภูมิ อัตราการกิน และการเจริญเติบโต
การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เนื้อ
การเตรียมโรงเรือนหลังจากจับไก่ออกทั้งหมดจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำความสะอาดโรงเรือน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เสร็จแล้วจะพักโรงเรือนอย่างน้อย 14 วัน หรือมากกว่านั้น ส่วนแกลบที่ใช้เป็นวัสดุรองพื้นจะใช้ประมาณ 14 ตัน/ 1 โรงเรือน ในราคาตันละ 2,000 บาท รวมค่าขนส่ง ส่วนแกลบที่ผสมมูลไก่หลังจากที่จับไก่ออกจากโรงเรือนจะขายในลักษณะเหมาทั้งโรงเรือนประมาณ 15,000 บาท โดยมีเกษตรกรชาวสวน และชาวไร่อ้อย ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มารับซื้อ
การจัดการด้านโรงเรือนที่เป็นมาตรฐาน ทางฟาร์มจะมีมาตรการควบคุมคนเข้า-ออกฟาร์ม มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และมีบ่อน้ำยาสำหรับยานพาหนะที่วิ่งเข้า-ออกบริเวณหน้าฟาร์ม
“หลักการบริหารของทางฟาร์ม จุดไหนที่บกพร่องหรือเสียหาย ควรรีบแก้ไขหรือหาวิธีป้องกัน อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ และท้ายที่สุดจากปัญหาเล็กๆ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับฟาร์ม เช่นไก่เป็นโรค และที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และกลิ่น ที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งชุมชน แต่ทางฟาร์มไม่ประสบปัญหาดังกล่าว เนื่องจากที่ตั้งของฟาร์มอยู่ไกลจากแหล่งชุมชน และมีการจัดการที่ดี”
การให้อาหารและน้ำไก่เนื้อ
การเป็นคอนแทรคฟาร์มกับทางบริษัทฯ เรื่องอาหารในแต่ละสูตร หรือช่วงอายุของไก่ ทางบริษัทจะเป็นผู้จัดการให้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 สูตร ตามตารางที่บริษัทกำหนด จนไก่มีอายุครบตามกำหนดจับ การให้อาหารและน้ำจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติเข้ามาควบคุม สำหรับยาเวชภัณฑ์ และวัคซีนต่างๆ คุณกำพลศักดิ์ สามารถดูแลในส่วนนี้ได้ เนื่องจากเรียนจบมาด้านนี้โดยตรง ส่วนคำแนะนำสำหรับปัญหาด้านต่างๆ จะมีสัตวแพทย์ของบริษัทฯ คอยช่วยเหลือ
ส่วนลักษณะการให้อาหารจะให้แบบเปิดแสง 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร เพื่อทำให้ FCR ต่ำ โดยไก่เล็กจะเปิดไฟให้กินอาหาร 3 ชั่วโมง จากนั้นจะปิดไฟเพื่อให้ไก่ได้นอนพักผ่อน สำหรับไก่ใหญ่จะเปิดไฟ ให้ไก่กินอย่างน้อย 4 ชั่วโมง สำหรับเรื่องน้ำที่ใช้ในฟาร์มจะเป็นน้ำบาดาลทำเป็นระบบน้ำประปา ใช้ทั้งภาคครัวเรือน และให้ไก่กิน โดยจะทำการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน จากนั้นพักไว้ระยะหนึ่งจึงนำไปใช้ นอกจากนี้ทางฟาร์มยังเสริมด้วยวิตามินจำพวกแคลเซียม หรือโซเดียม ผสมน้ำให้ไก่กิน เพื่อให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง หรือบางตัวอาจขาดสารอาหารจำพวกนี้
ทางฟาร์มจะใช้พนักงาน 2 คน/1 โรงเรือน โดยให้ค่าแรงเป็นแบบเหมาเลี้ยง/รุ่น มีที่พัก ให้น้ำ-ไฟฟรี และมีรายได้พิเศษให้ หากเลี้ยงไก่ในแต่ละรุ่นดี เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน
การทำอาชีพ เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา นอกจากจะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาหาความรู้แล้ว การส่งเสริมเกษตรกรทางบริษัทได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานฟาร์ม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ง่ายต่อการจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
การวางแผนในอนาคต
สำหรับแผนในอนาคต คุณกำพลศักดิ์จะขยายฟาร์มและเพิ่มจำนวนไก่อีก 100,000 ตัว เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการส่งออก โดยอยู่ในช่วงดำเนินงาน และมองหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับกำพลศักดิ์ฟาร์มแห่งที่ 2
“เมื่อตั้งเป้าหมายให้กับชีวิต หากเราทำได้จะรู้สึกภาคภูมิใจกับความสำเร็จนั้น และสิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ที่สนใจในอาชีพการ เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา ควรศึกษาวิธีการให้แตกฉานว่าการจัดการต้องทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง มีขั้นตอนและการป้องกันอย่างไร เพราะสัตว์เล็ก อย่าง การ เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา หากเกิดปัญหาขึ้นจะแก้ไขค่อนข้างยาก” คุณกำพลศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา