ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยต่างก็หาทางออกให้กับฟาร์มของตนเองเพื่อความอยู่รอด เพราะการเลี้ยงไก่ไข่ในปัจจุบันมีต้นทุนค่าอาหารและแรงงานสูง ประกอบกับประสบปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ หรือแม้มีการประกาศราคาขึ้น บางครั้งก็ไม่สามารถขึ้นราคาตามที่ประกาศได้ ยิ่งช่วงหน้าร้อนจะพบปัญหาไข่มีขนาดเล็ก เปอร์เซ็นต์การไข่จะแตกต่างจากฤดูอื่นๆ หรือโรงเรือนที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ทำให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน บางฟาร์มอาจต้องหาตลาดรองรับในการขายไข่ไก่เอง ดังมีให้เห็นตามข้างถนน
การทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลาจึงเป็นหนทางของความอยู่รอดของ “สายันฟาร์ม” เพราะผลผลิตที่ได้ต่างเกื้อกูลกัน อีกอย่างเป็นการสร้างมูลค่าของมูลไก่ให้มีรายได้จากการขายปลาอีกหนึ่งช่องทาง
บริหารโดย คุณพเยาว์ อริกุล ผู้ใหญ่บ้านบ้านใหม่ตาลกาบ หมู่ที่ 8 ต.หัวโพธิ์ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เดิมทีมีอาชีพเป็นแม่ค้าขายไข่ไก่ โดยรับไข่ในเขตพื้นที่ไปขาย ช่วงแรกๆ จะส่งให้กับลูกค้าในจังหวัดกาญจนบุรีและกรุงเทพฯ บางส่วน ทำอยู่สักระยะหนึ่งจนมีเงินทุนจำนวนหนึ่ง จึงเกิดความคิดอยากจะทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เป็นของตนเอง โดยเริ่มเลี้ยงไก่เล็กจำนวน 4,000 ตัว ในปี 2535 เพื่อใช้เป็นไก่รุ่นสำหรับยืนกรง แต่ประสบปัญหาไก่ตาย เนื่องจากปัญหาเรื่องโรค เหลือไก่ประมาณ 1,000 กว่าตัว
ครั้งที่ 2 ก็เกิดปัญหาเช่นเดิม ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนแผนใหม่ โดยการขายไข่ไก่เพื่อเก็บเงินทุนไว้ซื้อไก่รุ่นยืนกรงจนสำเร็จ ในช่วงแรกจะใช้พันธุ์ไก่ไข่ของเบทาโกร ปัจจุบันพันธุ์ไก่ไข่ที่ทางฟาร์มเลี้ยงจะเป็นพันธุ์โรมันของเบทาโกร ซีพีบราวน์ของซีพี และพันธุ์ Babcock ขึ้นอยู่กับช่วงหรือจังหวะในการจอง
ปัจจุบันทำธุรกิจเกี่ยวกับไข่ไก่เป็นหลัก ทั้งได้จากฟาร์มของตนและรับซื้อจากฟาร์มเครือข่ายที่ซื้ออาหารสัตว์จากตน ซึ่งมีทั้งฟาร์มเป็ดและฟาร์มไก่ไข่ โดยสัดส่วนของไข่ไก่จะมากกว่าไข่เป็ด
“ตนมีอาชีพขายไข่ไก่มาก่อน หากให้มองหาอาชีพอื่นเกรงว่าจะไม่ถนัดและไม่สามารถเลิกได้” คุณพเยาว์กล่าวถึงแรงบันดาลใจ
การทำโรงเรือนให้ได้ขนาดความกว้างหรือความยาวเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของบ่อปลา เพราะหากเลี้ยงไก่มากจนเกินไปจะทำให้น้ำเสีย หรือหากเลี้ยงน้อยเกินไปจะทำให้ปลามีอาหารกินไม่เพียงพอ ดังนั้นขนาดของโรงเรือนจึงไม่เท่ากัน
ส่วนปลาที่เลี้ยงจะเป็น ปลานิล ปลาตะเพียน และปลายี่สก ซึ่งเป็นปลาที่ตลาดต้องการ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 7-8 เดือน หรือสามารถจับขายครั้งละประมาณ 60-70 ตัน
ด้านการตลาด
ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นลูกค้าประจำ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะมีตารางนัดหมายกันอย่างชัดเจน ส่วนลักษณะการขายจะมีไข่คัดไซส์และไข่คละเบอร์
การขยายโรงเรือนจะต้องคำนึงถึงพื้นที่ก่อสร้างโรงเรือนและบ่อเลี้ยงปลา เพราะจะต้องทำควบคู่กัน อนาคตจะปรับแผนการเลี้ยงไก่ใหม่ โดยใช้โรงเรือนปิด (Evap) ที่มีอยู่เลี้ยงไก่รุ่นแทนไก่ยืนกรง และบ่อเลี้ยงปลา ที่มีการขยายเพิ่มเติมจากเดิมจะเลี้ยงไก่จำนวนไม่มาก พอให้อาหารปลา โดยจะเน้นที่การเลี้ยงปลาเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันการขายปลามีกำไรมากกว่าขายไข่ไก่ และคืนทุนเร็วกว่า แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถเลิกการเลี้ยงไก่ไข่ได้ เพราะ เป็นธุรกิจที่เกื้อกูลกัน ต้องทำควบคู่กันไป และทำมานาน อีกอย่างมีการลงทุนไปค่อนข้างสูง สำหรับฟาร์มไก่ไข่จะเน้นการขายไข่ไก่มากขึ้น
การร่วมมือกันเป็นเครือข่ายจะได้รับประโยชน์สำหรับการเลี้ยงไก่มากขึ้น เพราะเรื่องของราคา การปรึกษาหารือ และแนวโน้มต่างๆ ตลอดจนการขาดแคลนไข่ไก่ สามารถหาได้จากฟาร์มที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันมาจำหน่ายในตลาดของตน
“หากมองภาพรวม ณ.ปัจจุบัน ธุรกิจไก่ไข่มาถึงทางตัน เพราะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเสรีคือใครอยากจะเลี้ยงก็เลี้ยง เลี้ยงจำนวนเท่าไหร่ก็เลี้ยงได้ ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ จะต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของตลาดในแต่ละคน หากฟาร์มไหนไม่มีทุนหนาพออาจหยุดการเลี้ยงไปในที่สุด เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะทุกวันนี้ การทำฟาร์มเลี้ยงไก่ยังต้องพยุงตัวเองเพื่อให้อยู่รอดในตลาดที่ถูกควบคุมราคาโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง”
สำหรับสายันฟาร์ม ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะอาศัยหลักความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า จริงใจ และตรงไปตรงมา จนทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวสินค้าและชื่อเสียงฟาร์ม
“หากพูดจากใจสำหรับคนที่มีอาชีพเลี้ยงไก่ ปัจจุบันทุกคนบอบช้ำกัน และทุกฟาร์ม แต่ต้องปลอบใจตัวเองและทำให้ดีที่สุด ได้บ้างก็ยังดี อย่าคาดหวังอะไรที่เกินตัว หากมีกำไรในการเลี้ยงไก่ไข่ ควรเก็บไว้เป็นทุนบ้าง หากถามว่าอาชีพเลี้ยงไก่ในอนาคตจะสามารถทำได้ไหม คิดว่าพอจะพยุงได้แต่อาจไม่ดีเหมือนสมัยก่อน ให้ทำใจไว้บ้างในสภาวะแบบนี้ และให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็จะสามารถอยู่ได้ในภาวะที่มีการแข่งขันทางการตลาดสูงและอีกอย่างจะได้ไม่เครียดและมีความสุข” คุณพเยาว์ แสดงความคิดเห็นทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติม คุณพเยาว์ อริกุล 16 ม.8 ต.หัวโพธิ์ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 72110 โทร. 089-921-1454
[wpdevart_like_box profile_id=”1414452475453135″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]