ปริญญาอาชีพ และ ชีวิต คือ “หลักประกัน” ทางธุรกิจ ที่โลกยอมรับมากขึ้น เห็นได้ชัดในไทย “เจ้าสัวแสนล้าน” ไร้ปริญญาบัตร จากสถาบันการศึกษา แต่ได้ “ปริญญาอาชีพ” ที่ผู้บริโภค และสังคม มอบให้
เอนก สีเขียวสด สามัญชนคนเลี้ยงนกกระทา ตามรอยพ่อแม่ ก็เป็นปริญญาชนทางอาชีพที่สังคมยอมรับ ความรู้ในระดับประถม ปีที่ 7 แต่อดีตเป็น ประธานหอการค้า และ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง และอีกหลายๆ ตำแหน่งทางสังคม
39 ปี ในธุรกิจนกกระทา พัฒนาจากการเลี้ยงนกไม่กี่หมื่นตัว จนกระทั่งขยายธุรกิจครบวงจร มีเครือข่ายหลายจังหวัด พัฒนา “ไข่นก” เป็น ไข่กระป๋อง และ เนื้อกระป๋อง ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ คู่ขนานกับ “ไข่สด” ผ่าน เอเยนต์ใหญ่ๆ กระจายทั่วประเทศ
ขี้นก และ เปลือกไข่ กลายเป็นวัตถุดิบเกรดเอในอุตสาหกรรมสารปรับปรุงดิน และปุ๋ยอินทรีย์พรีเมียม ซึ่งพืชเศรษฐกิจหลายชนิดต้องใช้ เพราะได้ผล สอดรับกับ ยุคเศรษฐกิจสีเขียว เทรนด์โลกที่มาแรง เพราะสภาวะโลกร้อน ลดคาร์บอนฯ และก๊าซเรือนกระจก
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงนกกระทา
เอนก สีเขียวสด เปิดใจกับ พายัพ ยังปักษี เลขาธิการสมัชชาพลังเขียวสร้างชาติว่า ตนเองเลิกอาชีพช่างเคาะพ่นสีรถ ไปทำงานซาอุฯ ตอนอายุ 21 ปี เป็นลูกจ้างงานก่อสร้างร่วมกับชาวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ ต้องเรียนภาษาอังกฤษ ตำรา 75 ชั่วโมง เพื่อให้สื่อสารได้ ปรากฏว่า 7 ปี ในซาอุฯ ได้ความรู้และศาสตร์การอยู่ร่วมกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม
ในที่สุดกลับมาไทยทำธุรกิจส่วนตัว แต่เมื่อ คุณพ่อ คุณแม่ ประสบปัญหาการเลี้ยงนกกระทา เพราะผู้ซื้อยกเลิก บอกให้ขายคนอื่น เมื่อไข่นกกระทาเหลือ คุณเอนกตัดสินใจมาลุยตลาด ระบายไข่ด้วยตนเอง เมื่อปี 2527 บุกตลาดเมืองหลวง พรีเซนต์ตัวเอง คือ เจ้าของเอนกฟาร์มนกกระทา รับไข่ไปขายยังไม่ต้องจ่ายเงิน ซ้ำราคายังถูกกว่าไข่เจ้าอื่น
ช่วงนั้นไข่จากฟาร์มวันละ 2,000 ฟอง 5 วัน ขายในกรุงเทพ 10,000 ฟอง หมด ลูกค้าซื้อลังละ 250 บาท ขาย 350 บาท กำไรลังละ 100 บาท แต่คุณเอนกขอซื้อกลับคืนลังละ 350 บาท เพื่อไปส่งขายให้ลูกค้าประจำ ในวันไหนที่สินค้าไม่พอ “ขาดทุนวันนี้ แต่ผมมีสินค้าให้ลูกค้าได้ซื้อ ในวันหน้าต่อไปผมก็ต้องทำแบบนี้ นี่คือการตลาดนำการผลิต” คุณเอนก เปิดเผยถึงปรัชญาการขาย “ขาดทุนเพื่อกำไร” ที่เขายึดถือมาตลอด
การผลิตพ่อแม่พันธุ์นกกระทา
ไม่กี่ปีผ่านมาตลาดไข่สดโตแบบก้าวกระโดด จำเป็นต้องขยายฐานการผลิตไข่ให้เพียงพอ แต่การผลิตไข่นกกระทาให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ต่างจากการผลิต “ชิ้นส่วนรถยนต์” เพราะสัตว์ปีกนกกระทาเป็นสิ่งมีชีวิต เริ่มตั้งแต่พัฒนา “พ่อแม่พันธุ์” ตามหลักวิชาการ เหมือนการสร้าง “แม่พิมพ์” นั่นเอง
นั่นคือการจับมือกับ “กรมปศุสัตว์” พัฒนาพันธุ์นกกระทาญี่ปุ่น (JAPANESE QUAIL) ลายดำประขาว สีทอง และสีขาว แต่เปลือกไข่ต้องมี ลายจุด หรือ ลายประ เหมือนกัน มีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาวะแวดล้อม แม่นกแต่ละตัวให้ไข่เฉลี่ย 250-300 ฟอง/รอบ
เมื่อได้สายพันธุ์ที่ดี คุณเอนกจึงต้องสร้าง ทายาททางอาชีพ นั่นคือ ดึงญาติ และเกษตรกร มาเลี้ยงนกกระทาป้อนให้คุณเอนก หรือ บริษัท เอนกฟาร์มนกกระทา จำกัด และวันนี้คุณเอนกได้บุตรชาย นาม พยุงศักดิ์ สีเขียวสด หรือ คุณนก มาช่วยงานเต็มตัว
ถึงตรงนี้พอจะจับประเด็นได้ว่าคุณเอนกได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ว่าด้วยการผลิต “พ่อแม่พันธุ์” คุณภาพ จากกรมปศุสัตว์ และผู้รู้ทั้งหลาย
การบริหารจัดการฟาร์มนกกระทา
ไข่นกกระทา ส่วนหนึ่งถูกนำเข้าฟักในฟาร์ม และอีกส่วนหนึ่งส่งให้ “ลูกฟาร์ม” นำไปฟัก เพื่อเลี้ยงเป็นนกไข่ เข้าฟักประมาณ 16-17 วัน ก็จะได้ลูกนก เลี้ยงจนอายุ 30 วัน ก็แยกเอาตัวเมียขึ้นกรงเลี้ยง ส่วนตัวผู้เลี้ยงต่อ 10 กว่าวัน แล้วขายเป็น “นกเนื้อ” ตัวเมียอายุ 45 วัน เริ่มไข่ จนครบ 10-12 เดือน ก็ปลดแม่นก ขายเป็น “นกเนื้อ” เช่นกัน ราคานกเนื้อที่ถอนขนแปรสภาพราคาไม่ต่ำกว่าหลายบาท/กก.
สำหรับรายละเอียดการเลี้ยงแม่นกเพื่อขายไข่นั้น คุณเอนกจะให้ความรู้ทุกคนที่สนใจ โดยเฉพาะลูกฟาร์มต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เช่น เมื่อลูกนกอายุ 15-20 วัน ต้องย้ายไปอยู่กรงรุ่น หากอากาศเย็นต้องกกลูกนก และแยกเพศตัวผู้ที่ลำคอสีน้ำตาลเข้ม ตัวเมียขนที่คอสีน้ำตาลปนเทา หรือปนขาว หรือดำปนขาว หรือ ทวารหนัก เมื่อปลิ้นจะเห็นติ่งเล็ก บ่งบอกว่าเพศผู้ ถ้าไม่มีคือตัวเมีย ต้องตัดปากตัวเมียป้องกันการจิกกัน เลี้ยงในกรง 80-100 ตัว เพื่อรอนกไข่ สำหรับ “อาหาร” ทางฟาร์มจะผสมเอง และอาหารสำเร็จรูปจากโรงงานมาตรฐาน เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตการให้ไข่ และความแข็งแรงของเปลือก ที่สำคัญ โปรตีน ต้อง 20-24% เพราะถ้าต่ำกว่านี้จะไข่ช้า น้ำหนักเบา ฟองเล็ก
โรงเรือน สำหรับเลี้ยงนกกระทา คุณเอนกยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องเป็น โรงเรือนอีแวป เหมือนปศุสัตว์อย่างอื่น “คนที่ทำโรงเรือนอีแวปมันเป็นธุรกิจอีแวป ไม่ใช่โรงปลอดโรค ถ้าพันธุ์ไม่แข็งแรง น่ากลัว” คุณเอนก ยืนยัน ดังนั้นเอนกฟาร์มมุ่งให้ทำโรงเรือน เช่น ใช้เสาไม้ยาง หลังคา ก็ใช้วัสดุในย่านนั้น เช่น แฝก หรือ ใบจาก เป็นต้น ประหยัดต้นทุนได้มาก
เนื่องจากคุณเอนกมีเพื่อนฝูงมากมาย เป็นคนถ่อมตน แต่ใฝ่รู้ ดังนั้นเมื่อเกิด “ปัญหา” ก็จะได้รับคำแนะนำ เช่น ช่วงเทศกาลกินเจ หรือปิดเทอม ไข่สด เหลือมาก เกิดความเสียหาย ขาดทุน ก็ต้องหาทางทำ “ไข่ต้ม” ซึ่งจะต้องมี เครื่องปอก ไวกว่าการใช้คนปอก และ หม้อต้ม ก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ ผู้รู้ทั้งหลาย จนผลิตเครื่องสำเร็จ ขยายตลาดไข่ต้มเป็นตลาดที่ 2 ส่งผลให้ต้องเพิ่มพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตไข่ให้เพียงพอต่อตลาด และอีกหลายๆ เคสในธุรกิจ ที่ปัญหาทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง “ปัญหาไม่น่ากลัว ถ้ารู้เราแก้ไขได้ สิ่งที่น่ากลัว คือ ไม่รู้ว่ามันคือปัญหา” คุณเอนก ให้แง่คิด
ซึ่งงานของคุณเอนกที่ต้องขยายเป็นอุตสาหกรรมอาหารจากไข่และเนื้อนกกระทา ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ในกระบวนการผลิตมาก ต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิศวะ ด้านโภชนาการ ด้านฟิสิกส์และเคมี เป็นต้น แต่คุณเอนกก็ทำสำเร็จตามกระบวนการ เช่น การต้มไข่ต้องให้ “ไข่แดง” อยู่ตรงกลาง เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นแล้วรู้สึกว่าสวย จะได้ตัดสินใจซื้อ ซึ่งมันเป็นงานท้าทายมาก แต่สุดท้ายก็ทำสำเร็จ เพราะงานมันสอนคนนั่นเอง
การบำรุงดูแลนกกระทา
เพื่อความเข้าใจในอุตสาหกรรมนกกระทาของบริษัท คุณนกเปิดเผยว่า ฟาร์มเลี้ยง 8 โรงเรือน ตอนนี้เลี้ยง 5 โรงเรือนๆ ละ 4-5 หมื่นตัว หรือรวมๆ ประมาณ 2 แสนตัว ให้ไข่ 1.3-1.4 แสนตัว/วัน ไข่ส่วนหนึ่งฟักเอง อีกส่วนหนึ่งส่งให้ลูกฟาร์มฟักเพื่อเลี้ยงเอาไข่ส่งบริษัท กระบวนการเลี้ยงก็ไม่ยุ่งยาก กก และอนุบาล ลูกนก จนถึง 20 วัน แล้วแยกเพศ เลี้ยงต่ออีก 10 วัน ตัวเมียส่งให้เอนกฟาร์มเลี้ยง ส่วนผู้เลี้ยงๆ ต่อครบ 40 วัน ก็จับเข้าโรงเชือด
“เลี้ยงยังไงให้ไข่เยอะ มีคุณภาพ ต้องดูเรื่องสายพันธุ์ที่ดี ที่ขาดไม่ได้ คือ น้ำ และอาหาร ต้องสะอาด ครบด้านโภชนาการ โปรตีนครบ ไม่ต่ำกว่า 20% ในส่วนของอาหารเสริม เช่น วิตามิน ต้องบำรุงรังไข่ให้ไข่ได้ยาวๆ 1 ตัว 1 ฟอง โดยเฉลี่ย 1 อาทิตย์ ควรให้วิตามิน 2-3 วัน มีสัตวบาลดูแลให้คำแนะนำด้านการใช้ยาเพื่อมิให้ตกค้างอันตรายต่อผู้บริโภค” คุณนก เปิดเผย และยืนยันว่า นกกระทาให้ไข่ 8-10 ดือน
แต่หลังจากนั้นต้องดูว่าปริมาณไข่จะคุ้มกับต้นทุนการเลี้ยงมั๊ย ถ้าไม่คุ้มก็ขายให้พ่อค้าที่มารับหน้าฟาร์ม หรือเชือดเอง และในส่วนของกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะไข่จากฟาร์ม และลูกเล้า 4-5 แสนฟอง/วัน จะเข้าสู่กระบวนการอบ เพื่อให้ไข่มันเก่า ล่อน และบาง ปอกเปลือกง่าย จากนั้นก็นำไปล้างแล้วเข้าหม้อต้ม อุณหภูมิ 90-100 องศาฯ เวลา 7 นาที จากนั้นไข่ถูกลำเลียงเข้าเครื่องกะเทาะเปลือก เพื่อให้เปลือกบาง ปอกง่าย ใช้เวลาปอก 6 ชั่วโมง จะได้หลายหมื่นฟอง จากนั้นไข่จะถูกแยกคุณภาพตามเกรด A B และ C
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ไข่ เนื้อ ผลิตภัณฑ์นกกระทา
จึงเห็นได้ว่า บริษัท เอนกฟาร์มนกกระทา จำกัด วันนี้เป็นอุตสาหกรรมอาหารเต็มรูปแบบ เพราะมี ตลาดไข่สด ตลาดไข่ต้ม และ ตลาดเนื้อกระป๋อง รองรับ “ผมกำลังจะใส่กระป๋องตุ๋นยาจีนทั้งตัว มีมะนาวดอง แกงมัสมั่น คุณกินไก่ กินหมู มันเป็นชิ้น เหมือนกินวิญญาณ แต่นี่คุณกินทั้งตัว ความรู้สึกคนละอย่าง คนมุสลิมต้องไปละหมาดที่เมกกะ จะเอารสชาติแบบไหน เราทำฮาลาลอยู่แล้ว ทำได้ทุกรสชาติตามที่สั่ง” คุณเอนก เปิดใจถึงความคืบหน้าในการผลิตโปรดักส์ใหม่ๆ ออกมาสู่โลกมุสลิม เป็นต้น หรือแม้ ตลาดจีน ตลาดญี่ปุ่น ผลิตตามออเดอร์ได้หมด ขอให้สั่งตามที่ต้องการ
แนวโน้มในอนาคต
เนื่องจากการเลี้ยงนกกระทาที่กินอาหารโปรตีนสูง และนกมีลำไส้สั้น จึงย่อยอาหารไม่หมด ก็ขี้แน่นอน “ขี้นก” จึงมีธาตุอาหารสูง ที่จะทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงได้ นอกจากนี้ถ้าผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพก็จะไร้กลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน หรือ เปลือกไข่ ที่มี แคลเซียม สูง ก็เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แม้แต่ “ขี้เถ้า” จากเตาเผา ที่ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ก็เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย
ดังนั้นคุณเอนกจึงขอคำแนะนำจากเพื่อนๆ เช่น จาก กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น แล้วสั่ง ขี้เค้ก จากโรงงานน้ำตาล และ โดโลไมท์ มาผสมเป็นปุ๋ยผง ให้คนไปใช้ เพื่อทดลองว่าผลเป็นอย่างไร ปรากฏว่า อินทผลัมของ เสี่ยปรีชา ธรรมชูเชาวรัตน์ ได้ผลผลิตดีมากๆ ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ คุณเอนกจะต้องผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงแน่นอน พร้อมๆ กับผลิต สารปรับปรุงดิน ในเชิงพาณิชย์ อย่างไม่ต้องสงสัย
ถ้าตั้งโรงปุ๋ยแล้ว ตลาดต้องการมาก ขี้นกกระทา จะเพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้คุณเอนกยืนยันว่า ตนมีเครือข่ายผู้เลี้ยงนกกระทาทั่วประเทศ จึงไม่กังวลแต่อย่างใด
นี่คือแผนการขยายตัวธุรกิจนกกระทาใน “แนวดิ่ง” ที่คุณเอนกมีความพร้อม เพราะมีทายาททางอาชีพเป็นฐานการผลิต ขณะที่ ตลาดนก ก็เดินหน้าทั้งในและต่างประเทศ
เยี่ยมชมการเลี้ยงนกกระทา และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ของ คุณเอนก ได้ที่ 57/1 หมู่ 2 ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง 14000 โทร.035-611-444, 081-652-5666