แบ่งปันประสบการณ์ เลี้ยง โคนม ต่างแดนกับ “Takada Farm”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยง โคนม เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้อ่านทุกท่านคงคุ้นชินกับการเลี้ยงโคนมในไทยแล้ว นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จึงพาทุกท่านมารู้จักกับ “ Takada Farm ” ฟาร์มโคนมที่ญี่ปุ่น มาดูกันว่าฟาร์มโคนมที่นั่นมีการดูแลจัดการอย่างไร และจะเหมือนหรือแตกต่างกับที่ไทยหรือไม่

1.คุณสุทธิกานต์ ทาคะดะ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
1.คุณสุทธิกานต์ ทาคะดะ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

การเลี้ยงวัว

นิตยสารสัตว์บกได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสุทธิกานต์ ทาคะดะ หรือ พี่เก๋ เกษตรกรผู้เลี้ยง โคนม จังหวัดชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น Takada Farm บริหารจัดการโดย คุณโยชิคะสึ ทาคะดะ (สามีพี่เก๋) ฟาร์มโคนมแห่งนี้เป็นฟาร์มที่มีการดูแลจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่า 50 ปี

การดูแลจัดการเรื่องรีดนมจะไม่ต่างกัน ทางฟาร์มจะรีดนม 2 เวลา เช้า – เย็นเหมือนกัน ช่วงเช้าจะรีด 6 – 7 โมง ช่วงเย็นจะเริ่มรีด 6 โมงเย็น ปัจจุบันทางฟาร์มมีแม่โครีดนมประมาณ 50 ตัว ใช้ระบบการรีดนมแบบไปป์ไลน์ มีรูปแบบการรีดสองแบบ ให้โคเดินมารีดที่โรงรีดนม กับแบบกินนอนที่ซอง และรีดที่ซอง

ซึ่งน้ำนมดิบที่ได้จะยังไม่ถูกส่งไปศูนย์รับน้ำนมดิบ แต่จะถูกนำไปเก็บไว้ที่แท็งค์นมที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เพราะที่นี่ศูนย์รับน้ำนมจะมารับนมที่ฟาร์มวันเว้นวัน และที่นี่เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเอง เนื่องจากมีการห้ามแปรรูปเอง เพราะกังวลในเรื่องของความสะอาด

2.คอกวัว
2.คอกวัว
หญ้าแห้งทิโมธี
หญ้าแห้งทิโมธี

การบริหารจัดการภายในฟาร์มวัว

วิธีการทำต่างๆ ทางฟาร์มจะผสมอาหารเองวันต่อวัน โดยจะมี 3 สูตร สำหรับโคแม่รีด โคตั้งท้อง และโคขุนขาย โดยจะมีสัตวบาลประจำฟาร์มเป็นคนดูแลเรื่องสูตรอาหาร และคอยให้คำปรึกษาเรื่องวัตถุดิบ การให้อาหารที่ฟาร์มจะให้ช่วงรีดนมเป็นอาหาร TMR ที่ผสมเอง จะให้อาหารเฉลี่ย 10 กิโลกรัม / วัน เช้า 5 กิโลกรัม เย็น 5 กิโลกรัม มีหญ้าเสริมให้เรื่อยๆ แต่ไม่ทั้งวัน และให้หญ้าในช่วงก่อนรีดนม จะเป็นหญ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ที่ฟาร์มเมื่อปลดแม่โคแล้ว แม่โคที่ถูกปลดจะนำมาเลี้ยงขุนเพื่อขายเป็นโคเนื้อ และซื้อแม่ โคนม พร้อมรีดนมเข้ามาในฟาร์มเพื่อทดแทนแม่โคที่ปลดออก จะไม่มีการเลี้ยงลูกโคเพื่อทดแทน ไม่ว่าจะคลอดมาเป็นเพศผู้หรือเพศเมียทางฟาร์มจะขายหมด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยพี่เก๋ได้ให้เหตุผลว่า “ที่นี่เราจะไม่ได้เลี้ยงลูกโคเพื่อทดแทนแม่โคในอนาคต ลูกโคที่คลอดออกมาหลังจากหย่านมแล้วเราจะเลี้ยงขุน 2 – 3 เดือน จึงนำไปขาย ส่วนวัวที่จะนำมาทดแทนแม่โคที่ปลดจะซื้อวัวพร้อมรีดนมเข้ามาแทน เพื่อลดระยะเวลาและค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกวัวทดแทน และทำให้ที่ฟาร์มไม่ต้องมีสูตรอาหารที่หลากหลายให้เหมาะสมกับวัวในแต่ละระยะ”

ซึ่งแม่โคทดแทนที่นำเข้ามาจะเป็นแม่โคพร้อมรีด ถ้านำเข้ามาตอนบ่ายก็สามารถรีดได้เลยตอนเย็น จะมีใบรับรองว่าสามารถรีดนมได้เลย ไม่ต้องพักก่อน ไม่มีการใช้ยา นมที่รีดมาสามารถส่งได้เลย ส่วนโคที่นำไปขายนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกโคนม หรือโคนมขุน ที่นี่จะมีตลาดกลางในการรับซื้อ – ขาย โดยโคที่นำไปขายทุกตัวจะมีหนังสือเคลื่อนย้ายรับรอง และมีระบุประวัติว่ามาจากฟาร์มไหน อายุเท่าไหร่ ให้ลูกมาแล้วกี่ตัว

3.โรงเรือนวัว
3.โรงเรือนวัว
ขี้เลื่อยวัสดุปูรอง
ขี้เลื่อยวัสดุปูรอง

ปัญหาและอุปสรรคภายในฟาร์มวัว

เมื่อถามถึงปัญหาด้านสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการเลี้ยง พี่เก๋ได้ให้ความเห็นว่า “เหมือนกับบ้านเรา ก็คือ ในช่วงหน้าร้อน เพราะวัวที่นี่ชอบอากาศเย็น ช่วงนี้หน้าหนาวก็จะผลผลิตน้ำนมดีหน่อย แต่พออากาศร้อนวัวจะป่วย ไม่กินอาหาร ทำให้น้ำนมช่วงนั้นได้น้อย ที่ฟาร์มก็จะมีพัดลมช่วยระบายอากาศ หรือบางวันที่อากาศร้อนมากๆ อาจจะมีฉีดน้ำให้”

และเนื่องจากที่ญี่ปุ่นอากาศค่อนข้างหนาว เรื่องพื้นคอกนั้นทางฟาร์มจะใช้ขี้เลื่อยเป็นวัสดุปูรอง เพราะขี้เลื่อยจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่โค เวลาโคนอนจะช่วยเต้านมของโคอุ่น ช่วยในเรื่องของคุณภาพน้ำนม ซึ่งจะเป็นขี้เลื่อยที่มาจากโรงเพาะเห็ด

ทางฟาร์มจะเปลี่ยนขี้เลื่อยที่ปูนอนให้โคทุกวัน เพื่อรักษาความสะอาด ไม่ให้มีปัญหาเรื่องกลิ่น ซึ่งที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยตรวจเช็คเรื่องระบบนิเวศ ระบบน้ำเสีย เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียรบกวนผู้อื่น นอกจากความสะอาดแล้ว พี่เก๋ยังเผยว่าควรให้ความสำคัญเรื่องการสังเกต หมั่นคอยสังเกตพฤติกรรมโค การเดิน การกิน การให้นม ว่าปกติหรือไม่ ถ้าผิดจากปกติไปจะได้รีบหาสาเหตุและแก้ไขได้ทัน

ส่วนมูลโคที่ได้ทางฟาร์มจะนำไปกองไว้ที่ลานกว้างเพื่อทำเป็นปุ๋ยขาย โดยจะแบ่งเป็น 3 เกรด เกรดแรกจะใช้เวลาหมัก 3 เดือน เกษตรกรที่ซื้อไปจะนำไปใส่พวกบ่อรากบัว เกรดที่สองใช้เวลาหมัก 6 เดือน ใส่เครื่องแต่ยังตีไม่ละเอียด เหมาะสำหรับไปใส่ผักทั่วๆ ไป และเกรดสุดท้ายใช้เวลาหมัก 6 เดือน จะใส่ส่วนผสมเฉพาะของทางฟาร์มและตีจนละเอียด เหมาะสำหรับใส่ผักที่จะนำไปขายตามตลาดโมเดิร์นเทรด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ที่ฟาร์มจะไม่ได้กรอกปุ๋ยใส่กระสอบแล้วจำหน่าย แต่เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยจะนำรถตักเข้ามาขนเอง หรือนำถุงกระสอบมาตักเองที่ฟาร์ม ซึ่งปุ๋ยที่ฟาร์มได้รับรางวัลปุ๋ยคุณภาพดีอันดับ 8 ของจังหวัดชิสุโอกะ และพี่เก๋ยังปลูกผักไว้กินเอง และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

“เนื่องจากที่นี่ผักราคาค่อนข้างแพง และขี้วัวก็เป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงวัวอยู่แล้ว นอกจากขายได้ เราก็แบ่งไว้สำหรับปลูกผักกินเอง จะได้ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อผักข้างนอก ผักที่เราปลูกเองก็ปลอดภัยด้วย เพราะเราไม่ได้ใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังขายให้เพื่อนบ้านเป็นรายได้เสริมอีกด้วย” พี่เก๋กล่าวเพิ่มเติม

และปัญหาที่หนีไม่พ้นสำหรับเกษตรคนเลี้ยงโคนม คือ เต้านมอักเสบ ซึ่งพี่เก๋ได้เผยว่าที่ฟาร์มก็พบเจอปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ส่วนการป้องกัน คือ การรักษาความสะอาด ตรวจด้วยน้ำยาซีเอ็มทีก่อนรีด ตรวจเช็ดเครื่องรีดนม และแรงบีบเครื่องรีด ให้เหมาะสม ส่วนการแก้ปัญหาก็จะใช้ยาสำหรับเต้านมอักเสบเหมือนกัน

4.วัวแข็งแรง สมบูรณ์
4.วัวแข็งแรง สมบูรณ์
แท็งค์เก็บน้ำนม
แท็งค์เก็บน้ำนม
รถรับน้ำนมดิบที่ฟาร์ม
รถรับน้ำนมดิบที่ฟาร์ม

ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว

และสุดท้ายพี่เก๋ได้ฝากถึงเกษตรกรคนเลี้ยงโคนมว่า “ปกติแล้วพี่ก็โพสในกลุ่มคนเลี้ยงโคนมเป็นประจำ แบ่งปันเรื่องราว และถ้าใครมีปัญหาอะไร ไม่ต้องกลัวที่จะถาม อยากให้แชร์ปัญหาที่ฟาร์มเจอลงกลุ่ม จะได้ช่วยกันแก้ไข เพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคนมบ้านเราต่อไป

และอยากให้เกษตรกรนอกจากการรีดนมแล้วอยากให้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการผสมเทียมเอง เรียนรู้ตัวยาที่ต้องใช้รักษา ฉีดยารักษา เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ที่ต้องไปจ้างหมอข้างนอกมาทำให้ ถ้าเราทำได้ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินเราจะได้รักษาได้เองในทันที ไม่ต้องรอหมอ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณสุทธิกานต์ ทาคะดะ หรือ พี่เก๋

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 335