การเลี้ยงแพะ
ทีมงานสัตว์บก ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ เอราวัณฟาร์ม ฟาร์มวัวในจังหวัดเพชรบุรี แต่สิ่งที่ทีมงานพบ คือ ทางฟาร์มสามารถเลี้ยง แพะเนื้อ ควบคู่กับการเลี้ยงวัวไปด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหรืออย่างไร แต่มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี
โดย คุณณรงค์ สังวาลเพชร หรือคุณเล็ก อายุ 44 ปี เมื่อเริ่มทำฟาร์มครั้งแรกจะเน้นการเลี้ยงแพะมากกว่า ด้วยงบประมาณการลงทุนครั้งแรกเฉพาะตัวแพะอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท ได้แพะจำนวน 200 ตัว โดยการไปรับซื้อที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ใกล้เคียง นำมาเลี้ยง พร้อมกับการเลี้ยงวัว
แต่เนื่องด้วยตลาดแพะยังไม่กว้างมากพอ และยังเป็นตลาดที่นิยมกันเฉพาะกลุ่ม จึงมองเห็นอนาคตของการทำฟาร์มค่อนข้างลำบาก เนื่องจากไม่ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มหรือสหกรณ์การเลี้ยงแพะ ดังนั้นปัจจุบันทางฟาร์มจะไม่เน้นมากนัก แต่จะเน้นการเลี้ยงวัวมากกว่า
สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ
ในการเลี้ยงแพะสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอันดับแรก คือ ควรสร้างโรงเรือนหรือที่อยู่อาศัยให้มีขนาดและพื้นที่พอเหมาะกับจำนวนแพะที่เลี้ยง โดยพื้นที่ของโรงเรือนจะต้องยกพื้นสูงกว่าพื้นดินตามความเหมาะสม เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลิ่นและมูล เป็นต้น สามารถป้องกันการเกิดโรค เช่น พยาธิ ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายต่อการเลี้ยงแพะ เหตุผลที่เลือกเลี้ยงแพะพันธุ์เนื้อ หรือพันธุ์บอร์ เพราะการซื้อ-ขายค่อนข้างสะดวกเป็นที่ต้องการของตลาด
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ
ปัจจุบันราคาซื้อ-ขายแพะตัวเมียจะขายในราคา กก.ละ 70 บาท เฉลี่ยน้ำหนักต่อตัวอยู่ที่ 20-30 กก. ซึ่งเป็นขนาดที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด
ส่วนฟาร์มอื่นๆ จะเน้นขายตัวผู้มากกว่านับตั้งแต่แรกเกิด หากคลอดออกมาเป็นตัวผู้เขาจะเก็บแพะตัวผู้นั้นมาขุนให้ได้ขนาดน้ำหนัก 17-18 กก./ตัว ซึ่งสามารถขายได้ในราคา กก.ละ 100 บาท
ตลาดส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิมทางภาคใต้ และเขียงเนื้อแพะในกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ทำสเต็กเนื้อแพะ และข้าวหมกเนื้อแพะ เป็นต้น ลูกค้าจะมารับที่ฟาร์ม หรือบางรายอาจจะโทรมาติดต่อสอบถามก่อน เช่น ถามขนาดตัวและน้ำหนัก เป็นต้น
การให้อาหารแพะ
คุณเล็กบอกว่า “การเลี้ยงแพะเป็นอะไรที่เลี้ยงง่ายมาก เพียงแค่มีหญ้าสด พวกหญ้าเนเปียร์ หรือแปลงหญ้าเท่านั้น เพราะการกินของมันจะกินได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ควรมีการสร้างแนวป้องกัน เช่น ทำเป็นคอกรั้วจำกัดบริเวณ เพราะการกินเก่งของแพะอาจทำให้แปลงพืชไร่ที่ปลูกไว้โดยรอบเสียหาย เนื่องจากแพะหลุดออกนอกบริเวณ”
นอกจากจะมีแปลงหญ้าไว้สำหรับเลี้ยงแพะแล้วอาจหาหญ้าหรือพืชอื่นๆ เช่น กระถิน มาให้แพะกินภายในโรงเรือน เฉลี่ยวันละ 100 กิโลกรัม นอกจากนั้นยังมีการให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปของซีพี ซึ่งเป็นอาหารสำหรับแพะโดยตรงเสริมอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง
การบริหารจัดการฟาร์มแพะ
การเลี้ยงแพะทางฟาร์มจะมีการฉีดวัคซีน และเน้นการรักษาโรคพยาธิมาก อาจต้องใช้ยาถ่ายพยาธิมากกว่าปกติ ส่วนโรคอื่นๆ ทางฟาร์มจะไม่ประสบปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยจากโรค ส่วนด้านปัญหาสภาพแวดล้อม ทางฟาร์มจะได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่เลี้ยงแพะ เป็นพื้นที่ราบสลับภูเขา ห่างไกลจากแหล่งชุมชน เป็นข้อดีของฟาร์มช่วยลดปัญหาด้านมลภาวะทางเสียง และกลิ่นจากสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย
มูลสัตว์หรือที่เราเรียกว่า “ขี้แพะ” ทางฟาร์มจะนำไปใช้ประโยชน์ โดยการนำไปใส่แปลงดินที่ปลูกพืชไร่ทางการเกษตร เช่น มะนาว และฝรั่ง สามารถลดต้นทุนด้านปุ๋ยค่อนข้างมาก และสามารถทำให้ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้นด้วย
การให้อาหารในการเลี้ยงแพะจะมีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกถ้าไม่ปล่อยให้แพะออกไปหากินหญ้าเองก็จะตัดหญ้าหรือกระถินนำมาวางไว้ภายในโรงเรือน ปล่อยให้แพะกินภายในคอก โดยมีการเตรียมหญ้าไว้ในช่วงเช้าประมาณ 10 โมง แบบที่สองจะปล่อยให้แพะไปกินหญ้าที่แปลงหญ้า โดยจะให้กินเพียงรอบเดียว คือ ช่วงประมาณ 16.00 น. เพื่อป้องกันไม่ให้แพะหิว เพราะเวลาที่แพะหิวจะร้องเสียงดังก่อความรำคาญแก่ผู้อาศัยได้
การรักษาโรคเกี่ยวกับแพะ
ทางด้านแพะแม่พันธุ์ 1 ตัว สามารถให้ลูกแพะได้เฉลี่ย 2-3 ตัว/รอบ ต้องขึ้นอยู่กับแม่พันธุ์ด้วยว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ ปกติแม่พันธุ์อายุตั้งแต่ 7-10 เดือนขึ้นไป จะสามารถเริ่มให้มีการผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์ได้ เพราะเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมในการเริ่มสืบพันธุ์
ส่วนการรักษาโรคเกี่ยวกับแพะ หากพบว่าแพะป่วยเป็นโรคควรแยกออกจากฝูงโดยด่วน ทำการรักษาให้หายจากโรค ก่อนนำกลับเข้าฝูงดังเดิม ช่วงที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ช่วงหน้าฝน เพราะเชื้อโรคสามารถติดต่อกันได้ในที่ชื้นค่อนข้างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังให้มากๆ
การปลดระวางของแม่พันธุ์แพะจะต้องดูคุณลักษณะต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น แม่พันธุ์มีอายุ 5 ปีขึ้นไป, แม่พันธุ์ที่ไม่สามารถดูแลลูกได้ หากเข้าข่ายดังที่กล่าวมาข้างต้น เตรียมตัวจัดจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดได้
ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยง แพะเนื้อ
คุณเล็กได้กล่าวทิ้งท้ายให้แก่ผู้อ่านหรือผู้ที่สนใจไว้ว่า “หากคิดที่จะทำฟาร์มเลี้ยงแพะ สิ่งที่ควรมองหาเป็นอันดับแรก คือ ตลาด เพราะเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการระบายสินค้าที่คุณมีสู่ความต้องการของตลาด และผู้บริโภค ส่วนด้านการจัดการอื่นๆ ไม่ยาก” เขายังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า “ควรมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อสามารถต่อรองกับตลาดได้ เนื่องจากทางฟาร์มเลี้ยงแพะตัวคนเดียว ไม่มีการรวมกันเป็นกลุ่ม จำเป็นต้องวิ่งหาตลาดเอง เป็นอะไรที่ค่อนข้างเหนื่อย”
หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้ได้ที่ คุณณรงค์ สังวาลเพชร (คุณเล็ก) บ้านเลขที่ 146 หมู่ 2 ต.หนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี 76160 เบอร์โทรศัพท์ 095-151-4298