อาชีพเกษตรกรรมหรือการทำปศุสัตว์ เป็นอาชีพอันดับต้นๆที่บุคคลหลังวัยเกษียณให้ความสนใจ เพราะต้องการทำในสิ่งที่ตนเองชอบหรือการย้อนกลับไปสู่ธรรมชาติ (Back to the Nature) เช่นเดียวกับคุณชินรัตน์ เมืองขุนทด อดีตข้าราชการบำนาญกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่หันมาทำอาชีพเลี้ยงไก่ดำโดยใช้ชื่อ “รัตนวรรณฟาร์ม (ไก่ดำ)” และพัฒนาสายพันธุ์ “ไทยชิน เชียงดาว 2” ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้เลี้ยงและผู้บริโภคให้มากที่สุด
คุณชินรัตน์เผยว่า เริ่มทำอาชีพเลี้ยงไก่ดำเมื่อปี พ.ศ. 2547 สาเหตุที่เลือกทำอาชีพนี้ เพราะเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีทำเลที่ตั้งเหมาะสำหรับการเลี้ยงและที่สำคัญคนในพื้นที่เป็นคนไทยหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ เช่นคนไทยเชื้อสายจีน นิยมบริโภคไก่ดำและมีราคาดีกว่าไก่ทั่วไป เนื่องจากไก่ดำมีประโยชน์ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน พบว่าไก่ดำจะมีสารเมลานิน(melanin) ที่ไก่ทั่วไปไม่มี ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนมีความเชื่อว่าไก่ดำเป็นยาอายุวัฒนะ
ไก่ดำดั้งเดิมที่มีทางภาคเหนือเป็นสายพันธุ์อเมริกัน และในการผสมพันธุ์ส่วนใหญ่นำสายพันธุ์จากลูกหลานเครือเดียวกันผสมกันมาเรื่อยๆทำให้ไก่มีเลือดชิดสูงและแสดงจุดด้อยออกมา ทางฟาร์มจึงแก้ไขปัญหาเลือดชิดโดยใช้แม่ไก่พันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ในพื้นที่น้ำหนักประมาณ 2.5 กก.และมีลักษณะดีเป็นแม่พันธุ์ตั้งต้น จากนั้นจะใช้พ่อพันธุ์ลูกผสมระหว่างไก่เบตงกับไก่ดำทางภาคเหนือ มาผสมกับแม่พันธุ์ไก่พื้นเมืองที่คัดเลือกไว้ และเก็บตัวที่มีลักษณะดีไว้ทำพันธุ์ต่อไป โดยใช้ชื่อ “ไทยชิน เชียงดาว” ซึ่งมีลักษณะแข็งแรง ทนต่อโรคและเจริญเติบโตได้ดี ต่อมาได้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการฟาร์มรายย่อยเป็นสมาคมการค้า เพื่อใช้เป็นองค์กรการช่วยพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบการฟาร์มรายย่อย
อย่างไรก็ตามคุณชินรัตน์ยังไม่หยุดการพัฒนาสายพันธุ์เพียงเท่านี้ เมื่อสายพันธุ์แรกที่พัฒนายังไม่ตอบโจทย์ จึงทำการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ไทยชิน เชียงดาว 2 “สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์แรกใช้ระยะเวลาร่วม 12 ปี ปัจจุบันได้มีการพัฒนา ไทยชิน เชียงดาว 2 เพราะเห็นว่า 12 ปีที่ผ่านมา ได้แก้ไขเลือดชิดโดยการใช้แม่ไก่พื้นเมืองเป็นตัวตั้งต้น ซึ่งไก่พื้นเมืองจะมีโครโมโซมและสายเลือดเด่นกว่าไก่ดำ ทำให้ลูกไก่ดำมีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากเดิม เช่นเล็บเท้ามีสีขาว จึงปรับสายเลือดใหม่เพื่อให้คงสภาพความเป็นไก่ดำและมีสายเลือดเข้มข้นกว่าเดิม และสามารถเทียบเท่าไก่ดำสายพันธุ์อื่นได้ เนื่องจากสังเกตเห็นการพัฒนาอย่างชัดเจน” คุณชินรัตน์กล่าวเสริม
ลักษณะเนื้อของไก่ดำไทยชิน เชียงดาว 2 จะมีสีดำออกน้ำเงิน เป็นเนื้อไก่ดำที่สวยมาก ลักษณะภายนอกจะเตี้ย มีลำตัวเป็นปล้อง(ตัวสั้นลง ขาสั้นลง และคอสั้นลง)กว่าไก่ดำสายพันธุ์อื่น แต่ความเตี้ยนั้นจะมาพร้อมกับมวลกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ เหมาะกับการทำตลาดไก่ดำ จึงนำไปให้ฟาร์มในเครือข่ายสมาคมได้ทดลองเลี้ยง เนื่องจากเห็นโครงสร้างของไก่แล้วคิดว่าสามารถตอบโจทย์ได้ดีมาก
“ในช่วงเวลานี้ ไก่ดำไทยชิน เชียงดาว 2 ถือว่าขายดีที่สุด แต่อัตราการผลิตกับการตลาดยังไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจากยอดสั่งซื้อเข้ามา แต่ทางฟาร์มไม่สามารถผลิตได้ตามยอดสั่ง เนื่องจาก ปัจจุบันนี้เรามีพ่อแม่พันธุ์ ไทยชิน เชียงดาว 2 ไม่เพียงพอ สมาชิกต้องเร่งเพิ่มจำนวนพ่อ-แม่พันธุ์ ซึ่งวงจรการผลิตในแต่ละรอบต้องใช้ระยะเวลา 5-6 เดือน จึงไม่สามารถนำไก่ดำไทยชิน เชียงดาว 2 มาจำหน่ายได้ตามสัดส่วนของตลาด”
“หากถามว่าการเลี้ยงไก่ดำเป็นกระแสหรือเหมาะสมกับการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม สำหรับฟาร์มของผมไม่ใช่การเลี้ยงตามกระแส เนื่องจากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน และจะมีการรวมกลุ่มจากสมาคมเป็นสหกรณ์ เพื่อผลิตสินค้าที่มีประโยชน์คุณภาพต่อผู้บริโภค เพราะคุณสมบัติของไก่ดำที่เราผลิตด้วยการใช้สมุนไพรควบคุมโรค ไก่ที่ได้จะไม่มีสารพิษตกค้าง คุณภาพเนื้อดี เนื้อไก่มีรสชาติอร่อยและเนื้อไก่ดำยังมีประโยชน์อีกมากมาย”
ตลอดระยะเวลาของการเลี้ยงไก่ดำ ผลตอบรับจากผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากต้องการให้รู้จักมากกว่านี้ควรมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ในการวิจัยและทดสอบไก่ดำสายพันธุ์ “ไทยชิน เชียงดาว 2” ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเจริญเติบโตกับระบบการเลี้ยง อาหาร และอื่นๆให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งทำทดสอบระบบการเลี้ยงกับทางฟาร์มเป็นแห่งแรก การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่เลี้ยงตามระบบของกรมปศุสัตว์ 2. กลุ่มที่เลี้ยงแบบชาวบ้านทั่วไป และ 3. กลุ่มที่ทางฟาร์มเลี้ยง จากนั้นนำข้อมูลของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาอัตราการเจริญเติบโต สูตรอาหารที่เหมาะสม
อนาคตอันใกล้ทางสมาคมจะทำให้ไก่ดำมีมาตรฐาน GMP รองรับ มาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์จากกรมปศุสัตว์ และมาตรฐานไก่ดำอินทรีย์ จากสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (Institute & Product Quality and Standardization (IQS) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย
“อนาคตเราต้องการผลิตไก่ดำที่มีคุณภาพ ให้ได้ 20,000 ตัว/เดือน มีการส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกในสมาคม ซึ่งได้ปรึกษากันแล้วว่าทุกฟาร์มจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะเราต้องทำตลาดไก่ดำอินทรีย์ ที่เป็นจุดเด่นของสมาคม หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เขายังตามหลังเราอยู่ เพราะฉะนั้นเราควรจะพัฒนาเพื่อก้าวไปอีกขั้น และนำไปอ้างอิงในการทำตลาด เพื่อผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ยังไม่ส่งออกต่างประเทศในเวลานี้ จนกว่าตลาดในประเทศจะเป็นไปตามเป้าหมาย และสมาชิกในเครือข่ายของสมาคมการค้าไก่กระดูกดำอินทรีย์และสมุนไพร เพราะต้องการให้คนไทยได้บริโภคเนื้อไก่คุณภาพ ไม่มีสารเคมีตกค้าง”
ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ต้องสอดคล้องกับตลาดและต้นทุน การที่จะพัฒนาผลผลิตต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย ยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่ดำ ถ้ามีความตั้งใจผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แน่นอนว่าผู้บริโภคต้องหันมาบริโภคไก่ดำเพิ่มขึ้นแน่นอน และที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ และคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก ถ้าไม่มีความซื่อตรงการดำเนินธุรกิจในภายภาคหน้าก็จะไม่ยั่งยืน ไก่ดำมันดีอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้ไก่ดำที่เราผลิตมีคุณค่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม นั้นก็คือเลี้ยงด้วยสมุนไพร” คุณชินรัตน์ฝากทิ้งท้าย
เพิ่มเติมได้ที่ รัตนวรรณฟาร์ม(ไก่ดำ) คุณชินรัตน์ เมืองขุนทด 234 ม.4 ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 50170
ไก่ดำ พันธุ์ไทยชิน เชียงดาว 2 ฟาร์ม ไก่ ดำ ไก่ดำ การเลี้ยงไก่ดำ ขายไก่ดำ เลี้ยงไก่ดำ ไก่ดำ ไทยชิน เชียงดาว ฟาร์ม ไก่ ดำ ไก่ดำ การเลี้ยงไก่ดำ ขายไก่ดำ ไก่ดำ
[wpdevart_like_box profile_id=”1414452475453135″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]