สมรภูมิรบของไทยในด้านการทำการเกษตรที่เป็นต่ออยู่มาก ทั้งเรื่องความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ และสภาพอากาศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้การทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ของเมืองไทยพัฒนาและทำกำไรจำนวนมากแก่นักลงทุนและเจ้าของฟาร์ม ทั้งนี้อาชีพเกษตรกรรมยังเป็นอาชีพดั้งเดิมของเมืองไทยมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้และความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย ไข่แดงเค็ม
อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐยังให้ความสำคัญกับการทำเกษตร จึงมีโครงการหรือนโยบายต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือและเข้าถึงเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายกลางในพื้นที่ เช่น โครงการ Young Smart Farmer โครงการเกษตรอินทรีย์ การยกระดับสินค้าเกษตร เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ให้คงอยู่ต่อไป
จุดเริ่มต้นในการเลี้ยงเป็ด
“คุณทิพย์วรรณ ปัดลาด” หรือ “คุณแหวน” เกษตรกรรุ่นใหม่แห่ง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ เริ่มต้นทำการเกษตรมานาน และได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer กับปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ จนปัจจุบันสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ และนำพาความสุขและรอยยิ้มสู่ทุกคนในครอบครัวได้อย่างแท้จริง
การทำการเกษตรมันอาจดูยากลำบาก ต้องลงทั้งแรงกายและแรงใจอย่างมาก แต่มันจะแลกด้วยความสุขที่ยั่งยืน หากมีความมุ่งมั่น ใส่ใจ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ จะทำให้รู้ว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร คุณแหวนเจ้าของสุนทรฟาร์มยินดีเปิดเผยเรื่องราวและความยากลำบากในการเริ่มต้นทำการเกษตรบนเนื้อที่ของตนเองรวม 3 ไร่ ว่า ตนไม่มีความรู้อะไรเลย ไม่ได้จบด้านนี้ด้วยซ้ำ เป็นเพียงแม่บ้านตัวเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้น และมีแฟนทำงานเป็นพนักงานบริษัทเกี่ยวกับน้ำตาล
ด้วยความที่คุณแหวนเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ และมีความคิดว่าอยากจะทำอาชีพอะไรก็ได้ ที่ทำให้ตัวเองมีรายได้ และได้ออกไปอยู่นอกบ้านบ้าง จนรู้จักกับคนที่เลี้ยงเป็ด อยากจะไปขอความรู้จากเขาบ้าง แต่เขาก็ไม่แบ่งปันให้ เพราะกลัวเราแย่งอาชีพเขา ด้วยเหตุนี้คลังความรู้ทั้งหมดในการเริ่มต้นของสุนทรฟาร์มจึงมาจากยูทูป (Youtube) ทั้งหมด ตั้งแต่การสร้างโรงเรือนจนถึงการจัดการฟาร์ม
“เริ่มต้นเลี้ยงเป็ดเพียง 1,200 ตัว โดยสั่งซื้อผ่านทางเฟสบุ๊ค ได้เป็ดสาวคละมา มีทั้งสมบูรณ์แข็งแรง และเจ็บป่วย หรือสุขภาพไม่ดีบ้าง ช่วง 2 ปีแรกเป็นช่วงล้มลุกคลุกคลานมาก ลองผิดลองถูก ด้วยความที่เราไม่รู้ว่าเป็ดกินยังไง กินอะไร ดูแลยังไง ออกไข่ตอนไหน เก็บไข่เมื่อไหร่ จัดการอย่างไร แต่เราก็ยังได้กำไร 40,000-50,000 บาท/เดือน เพราะอย่างนี้แฟนจึงตัดสินใจลาออกจากงานทันที แล้วมาช่วยกันทำฟาร์มแทน” คุณแหวนเปิดเผยจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงเป็ด
ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มเป็ด
เมื่อเห็นว่าธุรกิจที่ทำได้กำไรดีจึงอยากได้มากขึ้น จึงนำเงินก้อนที่ได้จากการลาออกของแฟนมาลงทุนซื้อเป็ดเพิ่มอีก 1,000 ตัว รวมเป็น 2,200 ตัว เลี้ยงในเล้าเดียวกัน แค่กั้นบล็อกไว้เท่านั้น มีช่องให้เห็นกันบ้าง เลี้ยงไปเรื่อยๆ ผลปรากฏว่าเป็ดไม่ออกไข่เหมือนเดิม ผลผลิตลดลง ทำให้ไม่สามารถขายไข่ได้เหมือนเดิม แต่ด้วยความที่ลงทุนไปแล้วก็ต้องเลี้ยงกันต่อไป คุณแหวนจึงเก็บผักที่ปลูกไปขายบ้างเพื่อให้มีรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว
“โชคดีที่เรามีครอบครัวที่ดี พี่น้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ทุกคนมีน้ำใจช่วยเหลือเรา ช่วยซื้อสินค้าที่เราเอามาขายทุกอย่าง เราผ่านช่วงวิกฤตนี้มาได้ต้องขอบคุณทุกคนมากจริงๆ” คุณแหวนกล่าวถึงช่วงที่วิกฤตที่สุดในการเลี้ยงเป็ด
ภายหลังจากการปลดเป็ดรุ่นที่ไข่ไม่ออกแล้ว คุณแหวนไม่ย่อท้อเริ่มลงเป็ดรุ่นใหม่อีกครั้ง ครั้งนี้แบ่งเป็น 2 เล้า รวมเป็ดทั้งหมด 4,500 ตัว ไม่มีปัญหาเรื่องไข่ไม่ออก แต่กลับมีปัญหาเรื่องผลผลิตซึ่งมากเกินไป ทำให้คุณแหวนต้องหาตลาดเพิ่มเพื่อระบายไข่เป็ดออก ทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ส่งผลให้ได้กำไรเพียงเล็กน้อย แต่กลับต้องลงแรงเพิ่มมากขึ้น
ด้วยเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ผ่านมาทำให้คุณแหวนมีประสบการณ์ในการเลี้ยงมากขึ้น ร่วมกับการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองด้วยแล้ว ทำให้ปัจจุบันที่สุนทรฟาร์มแห่งนี้มีเป็ดไข่จำนวน 2,500 ตัว ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของตลาด และพอเหมาะกับกำลังการผลิตของคนในครอบครัว
จุดเด่นของอาหารเป็ดคุณภาพ เลือกใช้ “อิน เทคค์ฟีด” ไข่ดี ไข่ดก
ปัจจุบันสุนทรฟาร์มซื้อเป็ดสาวอายุประมาณ 22 สัปดาห์ ซึ่งพร้อมออกไข่มาเลี้ยงในราคาตัวละ 125 บาท ส่วนอาหารคุณแหวนยอมรับว่าใช้มาหลายยี่ห้อ ทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก คุณภาพไม่แตกต่างกัน มีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกัน ขึ้นกับความต้องการของเจ้าของฟาร์มว่าต้องการให้ผลผลิตเป็นเช่นไร และจากการใช้อาหารทุกยี่ห้อพบว่าอาหารที่รับมาในแต่ละล๊อตมีคุณภาพที่สูง-ต่ำไม่เท่ากัน ขึ้นกับวัตถุดิบที่นำมาผสมในช่วงเวลาดังกล่าวว่าดีหรือไม่ดี
เป็ดที่เลี้ยงรุ่นนี้ใช้อาหารเพอเฟคค์ ของบริษัท อิน เทคค์ฟีด จำกัดใช้มาประมาณ 1 ปีแล้ว และไปรับซื้อเองที่บริษัทโดยตรง ในราคากระสอบละ 410 บาท บรรจุกระสอบละ 30 กิโลกรัม รับมาครั้งละประมาณ 350 กระสอบ เหตุที่คุณแหวนเลือกใช้อาหารเป็ดของอิน เทคค์ฟีด คือ คุณภาพไข่ดี ค่อนข้างสม่ำเสมอ ไข่ดก เป็ดสุขภาพดีด้วย
เปอร์เซ็นต์ไข่ที่ได้ประมาณ 85% ต่อวัน และไข่ที่ได้เป็นฟองใหญ่ ให้อาหารวันละ 1-2 รอบ (ขึ้นกับความสะดวกของคนเลี้ยง) เป็นไปได้ควรให้วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการกินอาหารของเป็ดด้วย การเลี้ยงเป็ดคล้ายกับการเลี้ยงไก่ ต้องมีการกระตุ้นการกินเช่นกัน เมื่อเทอาหารใหม่เป็ดก็แห่กันมากินใหม่ ช่วยทำให้เป็ดได้รับสารอาหารที่เพียงพอสำหรับออกไข่ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องไข่เล็กและเปลือกบาง
นอกจากนี้คุณแหวนยังทำฮอร์โมนไข่ใช้เองด้วย “ฮอร์โมนไข่ก็เรียนรู้มาจากในยูทูปเช่นกัน มีลักษณะคล้ายนมเปรี้ยว แต่เราแค่ดูวิธีการทำเบื้องต้นมา และมาปรับใช้จนกลายเป็นสูตรเฉพาะของเราเอง ซึ่งช่วยในเรื่องระบบทางเดินอาหารและการย่อยอาหารของเป็ด และมีการเสริมปลาป่นหรือเปลือกหอยร่วมด้วยในบางช่วง” คุณแหวนกล่าวเสริม
การบริหารจัดการฟาร์มเป็ด
คุณแหวนยังเปิดเผยอีกว่า ราคาไข่เป็ดปี 2562 ค่อนข้างดี ราคาไม่ต่ำกว่าแผงละ 100 บาท ส่วนใหญ่จะส่งขายเองบริเวณในอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียง และผลผลิตไข่ที่ได้ของสุนทรฟาร์มส่วนใหญ่จะเป็นไข่ไซส์ใหญ่ ฟองโต เหตุเพราะการจัดการที่ดีของคุณแหวนและคนในครอบครัว คุณแหวนยังบอกเคล็ดลับง่ายๆ ในการเลี้ยงเป็ด คือ พื้นที่อยู่ของเป็ดต้องไม่เฉอะแฉะ อากาศต้องถ่ายเทสะดวก
มักมีปัญหาบ่อยครั้งในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนเกินไป ส่งผลให้เป็ดเครียด กินอาหารน้อยลง ทางฟาร์มแก้ปัญหาโดยปล่อยให้เป็ดเล่นน้ำบ่อยขึ้น แต่ต้องไม่มากเกิน เพราะจะทำให้เป็ดกินอาหารน้อยลง อาจมีการเพิ่มความหวานลงในอาหารบ้างเล็กน้อย เป็ดชอบอากาศแห้งที่มีลมโกรกเย็นสบาย และไม่ร้อนจนเกินไป ถ้าทำได้เป็ดจะโตดี คุณภาพไข่ดีและสม่ำเสมอ
เมื่อมีการทำฟาร์มผลกระทบที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ เรื่องมลภาวะ ทั้งด้านกลิ่น เสียง ฝุ่นละออง และแมลงต่างๆ “ปีแรกยอมรับว่าหนักใจเรื่องกลิ่น ลองทดลองมาหลายวิธี ทั้งปรับเปลี่ยนอาหาร และดูแลโรงเรือนให้แห้ง ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนได้มาลองใช้พวกกากน้ำตาล EM และร่วมกับการใช้ฮอร์โมนไข่ ปัจจุบันก็ไม่ถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่นแล้ว ส่วนขี้เป็ดหากจัดการดีคุณก็ไม่ต้องตากเพิ่ม สามารถตักใส่กระสอบขายได้เลย ราคากระสอบละ 35 บาท” คุณแหวนกล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องกลิ่น
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายเป็ด และไข่เป็ด
สุนทรฟาร์มเลี้ยงเป็ดไข่ประมาณ 2 ปีครึ่ง จึงเริ่มปลดเป็ดออก โดยจะมีพ่อค้ามาตีราคาเป็ดที่หน้าฟาร์ม โดยให้ราคาตัวละประมาณ 53-55 บาท ขึ้นกับราคาตลาดในช่วงเวลานั้นๆ และกำหนดเวลาในการพักเล้าประมาณ 2 เดือน โดยมีการทำความสะอาดและเตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อยพร้อมลงเป็ดรุ่นต่อไป
สุนทรฟาร์มไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด เนื่องจากผลผลิตที่ได้เป็นไปตามความต้องการของตลาด คุณแหวนยืนยันว่า “เราทำตามความต้องการของตลาด เรามองความเป็นไปได้ของตลาดก่อนจึงลงมือทำ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าหรือผลผลิตของเราจะขายได้” มีบางครั้งที่มีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อไข่เป็ดสดถึงฟาร์ม โดยให้ราคาแบ่งเป็น 3 ไซส์ดังนี้
- ไข่ฟองใหญ่ ราคา 115 บาท/แผง
- ไข่ขนาดกลาง ราคา 100 บาท/แผง
- ไข่ขนาดเล็ก ราคา 90 บาท/แผง
และบางครั้งจะขายในแบบเป็นคละ โดยตัดราคาเป็นแบบชั่งไข่ 100 แผง แล้วนำมาคิดค่าเฉลี่ย หากเฉลี่ยประมาณ 23 กิโลกรัม คิดราคาแผงละ 100 บาท หากเฉลี่ยประมาณ 22 กิโลกรัม คิดราคาแผงละ 90 บาท
“ไม่ได้ทำเพียงแค่เลี้ยงเป็ดอย่างเดียว แต่ยังเป็นตัวแทนขายหัวอาหารอินเพอแฟคค์ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย เพราะเราไปซื้ออาหารจากบริษัทโดยตรงอยู่แล้ว จึงมีชาวบ้านสนใจและอยากได้อาหารเช่นกัน เราจึงขายต่อให้ คิดกำไรเพิ่มเพียง 5-10 บาท/กระสอบ ในหนึ่งวันถ้าถามว่าได้กำไรมากไหม วันหนึ่งเราขายไข่เป็ดสดประมาณ 70 แผง ได้เงินวันละ 2,000 บาท อาชีพเกษตรกรไม่จนอยากที่คิด ทุกอย่างอยู่ที่การคิดและวางแผนของเราเอง” คุณแหวนเปิดเผยถึงรายได้ที่ได้รับจากการผันตัวเองเป็นเกษตรกร
การแปรรูปไข่เป็ด
หลังจากการได้เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer กับรัฐบาล ทำให้คุณแหวนเริ่มหาช่องทางในการขายผลผลิตไข่ให้มากขึ้น สิ่งที่คุณแหวนค้นพบ คือ การแปรรูปสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตของตน “เรามีไข่เป็ดแล้ว ลองทดลองดองไข่เป็ดเป็นไข่เค็มขายดู ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ไข่แดงเค็ม คืออะไร จนเจอวิธีการทำในอินเตอร์เน็ต จึงทดลองทำดู ผลตอบรับตอนนี้ถือว่าโอเค เพราะเราก็เพิ่งเริ่มทำโดยจำหน่ายทางออนไลน์ (ส่งผ่านเคอรี่) และส่งร้านค้า เช่น ร้านส้มตำ” คุณแหวนกล่าวถึงการทำสินค้าแปรรูป
วิธีการทำ ไข่แดงเค็ม ไข่เป็ดเค็ม
กระบวนการทำ ไข่แดงเค็ม คือ นำไข่เป็ดสดสะอาดมาดองในน้ำเกลือ ทิ้งไว้ในโอ่ง/ไห เป็นเวลา 25 วันขึ้นไป แยกไข่แดงและน้ำไข่ขาวออกจากกัน นำไข่แดงผึ่งให้แห้ง แพ็คลงซองบรรจุพร้อมส่งขาย ส่วนน้ำไข่ขาวนำไปเป็นส่วนผสมทำน้ำหมักชีวภาพใช้รดต้นไม้ในสวนของตนเอง
การทำเกษตรแบบผสมผสาน ฉบับสุนทรฟาร์ม
นอกจากรายได้จากการเลี้ยงเป็ดไข่ ขายหัวอาหาร และการทำ ไข่แดงเค็ม ขายแล้ว คุณแหวนยังเลี้ยงหมูป่า ไก่พื้นเมือง และทำเกษตรกรรมร่วมด้วย นับว่าเป็นเกษตรกรในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่อย่างพอเพียง และประยุกต์ใช้ทุกอย่างในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดคนหนึ่ง
เลี้ยงหมูป่า..ขายลูก
โดยหมูป่านั้นคุณแหวนเล่าว่าไม่ได้ตัดใจเลี้ยงแต่แรก ด้วยความที่ชาวบ้านนำมาแลกกับเงินเพื่อส่งลูกเรียน ตนจึงซื้อไว้ด้วยราคาคู่ละ 5,000 บาท จำนวน 1 คู่ เลี้ยงด้วยเศษไข่เป็ดที่แตก หรือบุบ ไม่สามารถขายได้ รำ และเศษอาหาร ปัจจุบันเลี้ยงอยู่ประมาณ 4-5 แม่ ไม่มีพ่อพันธุ์แล้ว เลี้ยงแบบขายลูกอย่างเดียวไม่ขุนขาย โดยขายลูกคู่ละ 1,500 บาท น้ำหนักประมาณตัวละไม่เกิน 5 กิโลกรัม หมูป่าเลี้ยงง่าย หากให้หัวอาหาร ดูแลดีหน่อย โตเร็ว และเนื้ออร่อยกว่าหมูทั่วไป
ขุนขาย..ไก่พื้นเมือง
ในส่วนของไก่พื้นเมืองนั้นคุณแหวนเปิดเผยว่าตนเพิ่งเลี้ยงแรกเท่านั้น โดยได้ลูกไก่พื้นเมืองอายุประมาณ 5 วัน มาจำนวน 300 ตัว ยอมรับว่าไม่เคยเลี้ยง วันแรกที่เอามาลงยังต้องกกไฟช่วง 7 วันแรก อนุบาลอีก 1 เดือน อาหารที่ให้เป็นอาหารของเบทาโกรในช่วงแรก ต่อมาเป็นอาหารที่ผสมเอง หลังจากช่วงอนุบาลก็เริ่มปล่อยในพื้นที่กว้างขึ้นเพื่อลดการจิกตีกัน มีการทำวัคซีนตามที่กรมกำหนด หากมีไก่ป่วยก็คัดแยกออกมาดูแลเป็นพิเศษ เลี้ยงประมาณ 5 เดือน ได้น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมกว่า ก็จับขายได้ โดยคุณแหวนไปเสนอขายกับพ่อค้าในตลาดได้ราคา 90 บาท/กิโลกรัม
นอกจากนี้คุณแหวนยังปลูกข้าว ปลูกอ้อย และทำโรงสีเองเป็นอาชีพรอง ส่วนใหญ่ทำเพื่อบริโภคในครัวเรือนและขายบ้าง หากเหลือจากการบริโภคแล้ว โดยแปลงปลูกอ้อยเป็นแปลงเช่าจำนวน 6 ไร่ และปลูกข้าวจำนวนกว่า 10 ไร่
แนวโน้มในอนาคต
ในอนาคตคุณแหวนมองเกี่ยวกับธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตรอย่าง ไข่แดงเค็ม ว่า หากมีเงินทุนพอ ก็อยากจะมุ่งเน้นไปที่การแปรรูปผลผลิตก่อนขยายจำนวนเป็ดหรือเพิ่มเล้า เพราะตลาดขายไข่เป็ดตอนนี้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแล้ว แต่หากเปลี่ยนเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปยังสามารถเดินต่อไปได้ และยังมีกำไรเพิ่มเข้ามาด้วย และปัจจุบันทางสุนทรฟาร์มมีลูกเล้าเป็นคนในพื้นที่ประมาณ 2-3 ราย ซึ่งตอนนี้ก็ยังคงรับลูกเล้าอยู่ แต่อยากให้เป็นพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากระยะทางในการขนส่งที่สะดวก และคุณแหวนสามารถเข้าไปช่วยดูแลให้คำปรึกษาได้ง่าย
ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด
“การเป็นเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน การเลี้ยงเป็ดหรือเลี้ยงอย่างอื่นก็ตาม ต้องอาศัยความใส่ใจทุกรายละเอียด ศึกษาให้ถ่องแท้ เข้าใจให้จริง รู้จักวางแผนทำอย่างไรให้อยู่รอด เริ่มต้นแต่น้อยๆ ก่อน อย่าเน้นปริมาณ ยิ่งเงินทุนไม่มากพอก็ยิ่งไม่ควรทำจนเกินตัว จงอย่าทำในสิ่งที่คุณชอบ แต่จงมองความต้องการของตลาด เรียนรู้ที่จะขายทุกอย่างที่ขายได้ หากลงทุนแล้วขายไม่ได้ก็แจกก่อน เพื่อเป็นต้นทุนให้เขารู้ว่าเรามีอะไร และอย่าหยุดที่จะเรียนรู้” คุณแหวนฝากถึงเกษตรกรทุกคน
ขอขอบคุณ คุณทิพย์วรรณ ปัดลาด (เจ้าของสุนทรฟาร์ม) ที่อยู่ 222 หมู่ 19 ต.บ้านเดื่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ 36120 โทร.088-711-0447
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 320