จากอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกไร่ข้าวโพดอาหารสัตว์ สู่นักการเมืองท้องถิ่นหลายสมัย และหันมาเป็นลูกเล้าบริษัทใหญ่รับเลี้ยงหมูขุนกว่า 2,000 ตัว มานานกว่า 15 ปี ซึ่งผ่านการเลี้ยงหมูขุนแบบพันธะสัญญากับบริษัทใหญ่มาไม่ต่ำกว่า 3 บริษัท ได้เห็นแต่ละบริษัทมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงหมู
พิเชษฐ์ฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 124 หมู่ 2 ต.ยางโทน อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี มี คุณพิเชษฐ์ และ คุณธัญเกียรติ์ กล่อมวงษ์ ช่วยกันบริหารฟาร์ม และพื้นที่ทำเกษตรเกือบ 500 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ฟาร์ม 185 ไร่ ลงทุนเลี้ยงหมูขุน 3 หลัง และนำพื้นที่รอบๆ ฟาร์มมาปลูกมันสำปะหลัง โดยนำของเสียจากฟาร์มหมูมาต่อยอดในการเพิ่มผลผลิตในมันสำปะหลังถึง 15-20 ตัน/ไร่
คุณธัญเกียรติ์ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 2 คน มีพี่ชายที่จบป.ตรี สาขาไฟฟ้า ก็มาเลี้ยงหมูขุนให้กับบริษัทใหญ่ อย่าง เบทาโกร ขณะนั้นกำลังหาลูกเล้าเพื่อมาเลี้ยงหมูขุนอยู่พอดี และทางญาติๆ ก็ทำฟาร์มหมูกับบริษัทอยู่แล้ว จึงได้แนะนำให้เลี้ยง กลายเป็นจุดเริ่มต้นเลี้ยงหมูขุน ลงทุนทำโรงเรือน 3 หลัง มูลค่า 5 ล้านบาท และได้ทำสัญญาเลี้ยงให้กับบริษัทแรก 8 ปี และเปลี่ยนมาเลี้ยงหมูขุนให้กับบริษัทที่ 2 อยู่ประมาณ 6 ปี ได้ค่าตอบแทนการเลี้ยงเป็นกิโลกรัม
“ผมมองว่าการเลี้ยงหมูกับบริษัทใหญ่นั้นเป็นระบบรับจ้างเลี้ยง ถ้าไม่มีเงินลงทุนทำฟาร์มเองตั้งแต่แรก กว่าจะคืนทุนลำบากมาก เพราะการเป็นลูกเล้าต้องเลี้ยงให้ครบสัญญากู้ เช่น บริษัทฯ ให้ทำสัญญากู้กับแบงค์ ถ้าแบงค์ทำสัญญากู้ให้ 6 ปี เราก็ต้องเลี้ยงให้เขา 6 ปี ซึ่งตอนนั้นผมกู้เงินแบงค์มาเสียดอกเบี้ยไป 1 ล้านบาท เราแทบไม่เหลืออะไร เหมือนทำฟาร์มใช้หนี้ แค่เหลือชีวิตสู้ต่อ…
พอหมดสัญญากับบริษัทแรก เราก็ย้ายมาอีกบริษัทใหญ่เบอร์ 1 ของประเทศ ซึ่งมีระบบไม่เหมือนกับบริษัทแรก คือ บริษัทนี้เรารับจ้างเลี้ยงเป็นกิโลกรัม ถ้าหมูหนัก 100 กิโลกรัม/ตัว ค่ารับจ้างเลี้ยง 4 บาท/กก. เราได้ 400 บาท/ตัว ต่อให้ดูแลดี เลี้ยงอย่างดี รายได้จากการเลี้ยงหมู 1 เล้า มีหมู 680-700 ตัว มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาท/โรงเรือน/รุ่น หรือรวมรายได้ 3 หลังแล้ว ประมาณ 7-8 แสนบาท/รุ่น ไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 5 เดือน ค่าไฟหลักแสนกว่า/รุ่น ใช้อาหารของเขาทั้งหมด มีกำไรน้อย ส่วนมากหมดไปกับค่าไฟฟ้า และค่าแรงงานคนเลี้ยง 1 หมื่นบาทต่อเดือน 3 หลังก็ 30,000 บาท” คุณธัญเกียรติ์ กล่าวถึงการเลี้ยงหมูในอดีต
ทางฟาร์มได้ลงทุนทำโรงเรือน 3 หลัง ระบบอีแวปทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเลี้ยง ใช้ แผ่นคูลลิ่งแพด และใช้ พัดลม 6 ตัว /หลัง ระบบน้ำจะใช้เป็นระบบเจาะบาดาล ใช้เครื่องคูโบต้าสูบเพื่อเก็บน้ำเข้าแทงค์แล้วนำมาบำบัดก่อนปล่อยให้หมู แต่หลังจากทำ “โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแบบแปลงใหญ่” สำเร็จ ทางฟาร์มจึงได้ใช้น้ำประปาจากโครงการแทน และได้ใช้กับไร่มันสำปะหลังด้วย เป็นระบบน้ำหยดตลอดทั้งปี
การบำรุงดูแลหมู
ปัจจุบันหันมาเลี้ยงหมูขุนกับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เป็นระบบประกันราคา เป็นเวลาเกือบ 3 ปี หรือเลี้ยงรุ่นที่ 5 แล้ว การเลี้ยงหมูขุนให้กับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ คุณธัญเกียรติ์มองว่าเป็นการเลี้ยงระบบประกันราคา ซึ่งทางฟาร์มจะรับลูกหมูหลังจากที่หมูหย่านมแล้ว มีอายุประมาณ 24 วัน หรือน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม/ตัว และบริษัทจะจัดเตรียมอาหารหมูแต่ละเบอร์ตามช่วงอายุของหมู และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อส่งมอบให้แก่ทางฟาร์มรับเลี้ยง
เมื่อได้ลูกหมูเข้าฟาร์ม แต่ละรอบจำนวนไม่แน่นอนอยู่ที่ 680-700 ตัว/หลัง และให้อาหารหมูเล็กตามที่บริษัทกำหนด แต่ทางฟาร์มจะมีการเสริมอาหารช่วงหมูเล็กเป็นพิเศษ คือ นำ “กล้วยน้ำว้าสุก” ที่รับซื้อจากชุมชนมาบ่มให้สุก แล้วนำเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียดผสมอาหารเหลว หรือเป็นโจ๊ก ให้ลูกหมูกินไปจนถึงอายุ 1-2 เดือน ทำให้หมูแข็งแรงและโตเร็ว
“แม่ผมจะซื้อกล้วยน้ำว้าสุกมาปั่นให้ละเอียด เป็นโจ๊ก พร้อมกับผสมอาหารให้หมูเล็กทุกรอบ ซื้อกล้วยสุกประมาณ 30,000 บาท/รุ่น แต่ก็คุ้ม เพราะการให้กล้วยสุกตั้งแต่ลูกหมูเล็กๆ จะทำให้หมูแข็งแรง ตายน้อย หรือไม่ตายเลย ผมมองว่าหมูได้กินกล้วยสุก ก็เหมือนคนที่ตอนเล็กๆ ก็กินกล้วยน้ำว้าสุกบด
“กล้วยน้ำว้า” มีรสหวาน และมีสารอาหารเกือบทุกชนิด ใน 1 ผลเล็ก (40 กรัม) มีพลังงาน 59 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน และ เกลือแร่ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก เนื่องจากมีสารเพคตินอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มกากอาหารให้กับลำไส้ เลี้ยงมา 5 รุ่น หมูไม่มีตายเลย” คุณธัญเกียรติ์ อธิบายถึงอาหารเสริมช่วงหมูเล็ก
และหลังจากผ่าน 1-2 เดือนไปแล้ว จะให้หมูกินอาหารตามเบอร์ที่บริษัทกำหนด โดยจะให้เป็นถังอาหารแทนระบบราง และใช้แรงงานเทอาหารใส่ถัง เมื่อหมดแล้วทำความสะอาดง่าย ส่วนระบบรางอาหารที่ฟาร์มจะไม่ใช้ เพราะอาหารอาจตกค้างได้ เมื่ออาหารที่ตกค้างถูกความชื้นก็อาจเป็นเชื้อรา และเป็นแหล่งดึงดูดสัตว์พาหะเข้ามาในโรงเรือนได้
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายหมู
ขณะเดียวกันทางฟาร์มก็มีระบบการป้องกันโรคอย่างดีเยี่ยม ผ่านมาตรฐานฟาร์มของบริษัท เมื่อเข้ามาตรวจประเมินฟาร์มจะได้รับโบนัสจากบริษัทด้วย 32,000 บาท/รอบ เมื่อเลี้ยงหมูได้น้ำหนักตามเกณฑ์แล้ว ทาง บริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ จะรับซื้อคืน น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ในช่วง 90-140 กิโลกรัม และขึ้นอยู่กับภาวะตลาดตามดุลยพินิจของบริษัท ถ้าน้ำหนักต่ำกว่า 80 กก. หรือเป็นหมูตกเกรด ทางบริษัทจะหาผู้ซื้อมาให้ แต่ที่ฟาร์มไม่เคยเจอปัญหาหมูน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เลย ใช้เวลาเลี้ยง 4-4.5 เดือน ก็ได้หมูตามไซซ์ที่บริษัทกำหนด
“ผมมาเลี้ยงให้กับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ ระบบประกันราคา มีรายได้หลังจากหักแล้ว 1.4-1.5 ล้านบาท/รุ่น ฟาร์มเราซื้อลูกหมูจากบริษัทในราคาถูกกว่าท้องตลาด และมั่นใจในสายพันธุ์ ดีกว่าเราไปหาซื้อลูกหมูเองตอนนี้ความเสี่ยงสูง ไม่รู้ว่าจะได้ลูกหมูคุณภาพหรือเปล่า แต่การทำคอนแทรคกับบริษัทมีลูกหมูให้ และสนับสนุน อาหาร ยาเวชภัณฑ์ ให้ทุกอย่าง โดยใช้ระบบเครดิต พอเลี้ยงครบกำหนดแล้ว เมื่อจับหมูเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ราคาเท่าไหร่ก็หักลบกลบหนี้กัน
เมื่อก่อนเลี้ยงกับบริษัทอื่น เวลาฉีดวัคซีนมีหมอมาฉีดให้ ตอนนี้เราฉีดเอง แต่เป็นยาของบริษัทฯ เราต้องดูแลเองหมดทุกอย่าง ต้องดูแลเอาใจใส่ให้ดีกว่าเดิมหลายเท่า ถ้าหมูตายเราก็รับผิดชอบเอง เรารับความเสี่ยงเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เวลาขายทางบริษัทจะมีราคาประกัน และมีที่ขายให้เรา 60-80 บาท/กก. ปกติเคยได้ 3 หลัง จับได้เงินไม่เกิน 7-8 แสน/รุ่น มาเลี้ยงให้ไทยฟู้ดส์ฯ 1 รอบ ได้กำไร 1,500,000 บาท แต่เราต้องดูให้ดี สะอาด” คุณธัญเกียรติ์ ให้ความเห็นถึงข้อดีของการเลี้ยงกับไทยฟู้ดส์ฯ
การบริหารจัดการฟาร์มหมู
ส่วนค่าไฟช่วงแรกเปิดพัดลมไม่เยอะ ค่าไฟก็ยังไม่เยอะอยู่ประมาณ 8,000 บาท/เดือน พอเดือนที่ 2 ประมาณ 15,000 บาท/เดือน เดือนที่ 3 ประมาณ 22,000 บาท/เดือน และเดือนที่ 4-5 ประมาณ 35,000 บาท/เดือน รวมแล้วค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 100,000 บาท/รุ่น ส่วนค่าแรงงานภายในฟาร์มจะใช้ทั้งหมด 3 คน ดูแล 1 คน/หลัง มีที่พักฟรี อีกทั้งมีแรงจูงใจให้คนเลี้ยง โดยจะให้โบนัสจูงใจ ถ้าดูแลหมู/รุ่นได้ดี หมู 1 เล้า ตายไม่เกิน 5 ตัว/รุ่น จะให้โบนัส 8,000-10,000 บาท ในปี 2566 ทางฟาร์มมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 1 หลัง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5-2 ล้านบาท ซึ่งต้องขออนุญาตตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนของเสียจากฟาร์มหมู ไม่ว่าจะเป็นขี้หมู หรือน้ำที่ใช้ล้างทำความสะอาดทุกวัน จะถูกปล่อยลงในบ่อเก็บขนาดใหญ่ แล้วนำน้ำขี้หมูไปใช้ในไร่มันสำปะหลัง และไร่ข้าวโพดอาหารสัตว์ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุนได้มาก และยังได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15-20 ตัน/ไร่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์มันสำปะหลังด้วย และนำไปขายที่ลานรับซื้อในท้องถิ่นราคามันรวม
จากนั้นที่ลานรับซื้อจะนำไปส่งโรงแป้ง และลานตาก หรือนำไปส่งเพื่อนำมันสำปะหลังไปเข้าเครื่องอบแทนการตากลาน และนำมันสำปะหลังอบแห้งไปผลิตอาหารสุกร ส่วนกากที่อยู่ก้นบ่อจะใช้รถแบคโฮขุดขึ้นมาตากแห้งในช่วงฤดูร้อน และจำหน่ายให้กับพ่อค้าเพื่อนำไปผลิตขี้หมูอัดเม็ด ในราคา 15,000 บาท/พ่วง เมื่อต้นปี 65 ขายไปประมาณ 11 พ่วง เป็นการสร้างรายได้อีกทาง
2 พี่น้อง ที่หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ได้กำไรหลายต่อ ซึ่งเป็นตัวอย่างของคนทั่วประเทศ ทำให้ พิเชษฐ์ฟาร์ม กลายเป็นฟาร์มต้นแบบของการเลี้ยงหมู/ปลูกมันฯ และ ข้าวโพด แบบยั่งยืน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณธัญเกียรติ์ กล่อมวงษ์ พิเชษฐ์ฟาร์ม 124 หมู่ 2 ต.ยางโทน อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี โทร.061-698-0157