คุณ ถาวร ค้ำคูณ เกษตรกรผู้ปลูก กระท้อนปุยฝ้าย และพันธุ์อีล่า โดยได้ปลูกผสมผสานกัน ทั้งนี้กระท้อนทั้ง 2 สายพันธุ์ เขาไปได้มาจาก จ.นนทบุรี เมื่อ 30 ปีก่อน และนำมาปลูกครั้งแรก 2-3 ต้น ในพื้นที่บริเวณรอบบ้าน เพื่อไว้กินกันเองในครอบครัว และได้ปลูกให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก่อนที่จะมาขยายพันธุ์เป็นกิ่งตอน ปลูกเพิ่มในพื้นที่ 13 ไร่ โดยมองเห็นว่าหากขยายปลูกเพิ่มทำเพื่อเป็นการค้า หรือนำออกขายเฉพาะภายในท้องถิ่นก็น่าจะขายได้ดี
เนื่องจาก ขณะนั้นกระท้อนขายผลละ 5 บาท ก็ถือว่าได้ราคาดี หรือราคาสูงมาก ขณะเดียวกันนั้นกระท้อนยังเป็นผลไม้ที่มีผู้คนกำลังนิยมบริโภคกันมาก “ก่อนนั้นกระท้อนจะมีปลูกกันมาก เฉพาะในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี กับจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลตะลุงจะพากันปลูกมาก เพราะให้ผลผลิตได้ดี และได้มีการขยายพันธุ์ออกปลูกกันไปมาก ทั้งทางจังหวัดทางภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” คุณถาวรเล่า
รายได้จากผลผลิตกระท้อน
คุณถาวรยังเล่าอีกว่าตอนที่ปลูกกระท้อนนำออกขายในครั้งแรกนั้น เขาเก็บผลผลิตขายตามเฉพาะในท้องถิ่นได้เงินถึง 10,000 กว่าบาท มาปีที่ 2 ได้ 20,000 บาท ปีถัดไปก็ได้เพิ่มขึ้นไปอีก กระท้อนเมื่อมีอายุมากก็จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น “กระท้อนยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งจะให้ผลผลิตได้มาก และต้นก็สมบูรณ์” และเมื่อปีที่ผ่านมาคุณถาวรมีรายได้ประมาณ 700,000 บาท มาปีนี้มีรายได้เป็น 800,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจทีเดียว
ราคากระท้อน และ ด้านตลาดผลผลิต กระท้อนหวาน
ทั้งนี้ การปลูกกระท้อน นั้นผลผลิตจะออกได้เฉพาะตามฤดูกาล และกระท้อนของเกษตรกรโดยส่วนมากจะนำออกจำหน่ายขายได้แต่ภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีราคาขายก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด หากผลผลิตออกสู่ตลาดได้น้อย ราคาก็จะดีขึ้น หรือผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาก็จะลดลง เป็นต้น
อย่างเช่น ปีนี้กระท้อนจะมีออกจากสวนเกษตรกรมีไม่มาก สำหรับสวนของเขาในปีนี้ได้ลงทุนไปกับค่าปุ๋ย-ยา และส่วนต่างที่ใช้ในงานเกษตร ใช้เงินทุน ประมาณ 10,000 บาท ผลผลิตออกมาเก็บได้ 30 ตัน และได้นำออกขายในงาน กระท้อนหวาน ที่ จ.ลพบุรี ที่ผ่านมาระหว่างปลายเดือนมิถุนายนกับต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี ทางจังหวัดลพบุรีจะมีการกำหนดวันจัดงาน เทศกาล กระท้อนหวาน ของดี “เมืองลพบุรี”
ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจประจำถิ่นที่มีเกษตรกรปลูกกันมากในพื้นที่ ต.ตะลุง “พร้อมทั้งได้วางแผงขายเองในตลาดตัวเมืองก่อนวันงาน และหลังวันงาน กระท้อนหวาน ที่ลพบุรี”
กระท้อนทั้ง 2 สายพันธุ์ ขายตั้งแต่ กก.ละ 30-100 บาท ส่วน กระท้อนปุยฝ้าย จะขายดีกว่าพันธุ์อีล่า ราคาขายก็ได้ขายตามลักษณะของผล ซึ่งมีทั้งผลขนาดเล็ก ใหญ่ เช่น กระท้อน 1 ผล หรือ 1-3 ผล จะให้น้ำหนักได้ 1 กก.ขึ้นไป และนำออกขายได้ทั้งหมด รายได้เข้าเป็นเงิน 800,000 กว่าบาท
กระท้อนปุยฝ้าย สายพันธุ์กระท้อนที่นิยม
สำหรับกระท้อนที่ปลูกในพื้นที่ ต.ตะลุง จะให้เนื้อแน่น ทั้งคุณภาพ และรสชาติจะหวาน แต่ขนาดของผล ทั้งพันธุ์ กระท้อนปุยฝ้าย และอีล่า ให้ผลเล็กกว่าทาง จ.ปราจีนบุรี “กระท้อนที่นี่ อย่าง พันธุ์อีล่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันดูเนื้อจะแน่นกว่า ทางปราจีนบุรีผมว่าเป็นเพราะตามพื้นที่ปลูกและสภาพอากาศที่แตกต่างกัน”
อย่างไรก็ตามกระท้อนนับได้ว่ามาปีนี้ได้ให้ราคาดีมาก ส่วนมากเกษตรกรที่ปลูกกระท้อนในพื้นที่ ต.ตะลุง โดยส่วนมากจะนำผลลิตออกขายเฉพาะในท้องถิ่น หรือวางขายตามแผงของตนที่มีประจำอยู่ในตัวเมืองลพบุรีเท่านั้น มีทางเกษตรอำเภอเมืองลพบุรีเข้ามาดูที่สวนของผม และบอกผมว่าถ้าทำกระท้อนดูแลรักษาอย่างดี ให้มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ทำไปในเชิงการค้าพาณิชย์ ขายเข้าล้งส่งออกนอก
โดยเฉพาะตลาดทางประเทศญี่ปุ่น เขาจะชอบทาน กระท้อนปุยฝ้าย จากไทยมาก ตอนนี้กระท้อนไทยยังไม่มีส่งออกนอก มีขายให้กันเอง และก็มีปลูกกันในทุกภาคของไทยเราเท่านั้น” คุณถาวรกล่าว
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมปลูกกระท้อน
ตามศักยภาพในพื้นที่ จ.ลพบุรี ที่เหมาะสมกับการปลูก กระท้อนปุยฝ้าย และอีล่า มากที่สุด และปลูกแล้วได้ดี มีคุณภาพ ได้เฉพาะพื้นที่ ต.ตะลุง เท่านั้น ส่วนดินที่ปลูกเป็นดินร่วนปนทรายให้ความเหมาะสมกับการปลูกพืชผล ให้ผลผลิตได้ดี เฉพาะกระท้อน และมะม่วง เท่านั้น
เขาเคยนำไม้ผลหลากหลายชนิดมาปลูกแต่ก็ไม่ได้ผล อย่างเช่น ทุเรียนกับลองกอง ที่เคยนำมาปลูก จะไม่ให้ผลผลิตเท่าที่ควร แม้ให้ผลออกมาก็จะให้ผลเล็ก หรือผลไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การปลูกกระท้อน ที่ปลูกในครั้งแรกนั้น เขาเล่าว่าได้ปลูกในช่วงฤดูฝน โดยได้ไถพรวนดิน หรือปรับหน้าดิน 2 ครั้ง ซึ่งไถพรวนครั้งแรกเป็นการปรับหน้าดิน พร้อมกับนำเอาปุ๋ยคอก ทั้งมูลไก่ มูลวัว ผสมกันหว่านไปด้วย
ครั้งถัดไปอีกประมาณ 10 วัน ไถพรวนเพื่อให้ดินละเอียด ร่วนซุย และทำให้ดินโปร่ง ทั้งนี้ได้ทำแปลงปลูก โดยให้ความห่าง 8 เมตร/ต้น ส่วนการขุดหลุม ความกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50 ซม. หรือได้ขุดหลุมพอเหมาะกับต้นพันธุ์ จากนั้นได้นำเอาปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก
การใส่น้ำและปุ๋ยให้กระท้อน
การเตรียมระบบน้ำ เขาได้น้ำจากคลองชลประทานที่ผ่านหน้าสวน และได้ติดตั้งด้วยมอเตอร์สูบน้ำ และได้นำท่อ pvc ขนาด 2 นิ้ว ต่อเดินเข้าสวนฝังลอยลงกับดินผ่านเข้าไปภายในสวน พร้อมกับต่อท่อแยกตรงขึ้นระหว่างบริเวณโคนต้นกระท้อนทุกต้น และติดด้วยหัวสปริงเกลอร์
อย่างไรก็ตามกระท้อนหลังจากที่ปลูกเสร็จ ในขณะที่ปลูกยังไม่ติด ได้ให้น้ำ 3 วัน/ครั้ง และได้ให้ปุ๋ยคอกมูลวัว 1 ครั้ง เมื่อปลูกติดดีแล้ว การให้น้ำต้องดูลักษณะตามสภาพของดินว่ามีความแห้งมากน้อยแค่ไหน หากดินแห้งมากเขาจึงจะให้น้ำ
การให้ปุ๋ย ในระยะที่กระท้อนยังไม่ให้ผลผลิต โดยเริ่มให้ปุ๋ยตั้งแต่ปลูกปีแรก และได้ให้ปีละ 1 ครั้ง จนกว่ากระท้อนจะให้ผลผลิต เมื่อกระท้อนอายุต้นได้ 8 ปี อย่างเช่น กระท้อนจะเริ่มแตกช่อดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายนกับธันวาคม และให้ผลหรือติดผลเดือนมีนาคม จะเก็บเกี่ยวได้เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
ส่วนการบำรุงในแต่ละช่วงระยะที่ให้ผลผลิตนั้น โดยเฉพาะระยะที่กระท้อนกำลังสะสมตาดอก คือ เดือนตุลาคม ได้ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 ยูเรีย 1 ครั้ง หากอยู่ในช่วงติดผลได้ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ยูเรีย 1 ครั้ง เมื่อเข้าสู่ผลแก่ให้ปุ๋ยเพิ่มความหวานด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-24 ยูเรีย 1 ครั้ง
ประโยชน์ของการห่อผลกระท้อน
ประโยชน์ของการห่อผลนั้นเพื่อช่วยทำให้ผลสวย ผิวเรียบเนียม เมื่อนำออกขายก็จะทำให้ผลขายได้ราคา นอกจากนั้นการห่อยังสามารถป้องกันจำพวกแมลงวันทอง อย่างเช่น ผลกระท้อนหากไม่ห่อผล เมื่อออกผลได้เจริญเติบโตออกเป็นสีเหลือง แมลงวันทองก็จะเข้ามาจับเกาะกินผล พร้อมกับวางไข่ออกเป็นตัวหนอน ทำให้ผลร่วงและเสียหาย โดยเริ่มห่อเมื่อผลกระท้อนเท่าลูกมะนาว
การบำรุงรักษากระท้อนหลังเก็บเกี่ยว
หลังจากกระท้อนได้เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ซึ่งเป็นช่วงการพักต้น ให้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก โดยนำเอากระดูกป่น แกลบเหลือง หรือแกลบดิบ แกลบดำ มูลไก่ มูลวัว และมูลค้างคาว ผสมกัน หรือหมักเข้าด้วยกัน นำมาบำรุงต้นกระท้อนปีละ 1 ครั้ง และได้ไถพรวนดินให้กับต้นกระท้อน เพื่อให้ดินที่อยู่รอบบริเวณโคนต้นโปร่ง หรือเป็นดินร่วนซุย และได้ตัดแต่งกิ่ง จากที่กระท้อนเคยเป็นทรงพุ่ม หรือต้นจะสูงขึ้น เพื่อให้กระท้อนได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดความสมดุลของต้น และง่ายแก่การดูแลรักษา พร้อมกับให้ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 ยูเรีย 1ครั้ง/เดือน
หากผู้อ่านท่านใดหรือเกษตรกรท่านใดสนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณถาวร ค้ำคูณ 62 หมู่ 13 ต.ตะลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000 โทร.08-9008-9207