คุณสมชาย นาสวน นายกเทศมนตรี ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี นอกจากที่เขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น มีหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน และเป็นนักพัฒนาชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาในเขตพื้นที่แล้ว ยังได้สวมบทบาทเป็นนักเกษตร หรือเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ที่เขาปลูกซึ่งมีจำนวนปลูกอยู่ 2 แปลง เช่น แปลงที่ 1 จำนวนพื้นที่ 21 ไร่ และแปลงที่ 2 จำนวนพื้นที่ 25 ไร่ รวมแล้วจำนวนพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ของเขามี 46 ไร่ ทั้งนี้ การปลูกกล้วยไข่ ของเขาก็เพื่อจำหน่ายส่งออกทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย
การปลูกกล้วยไข่
เนื่องจากกล้วยไข่ของไทยมีรสชาติดี แปรรูปเป็นอาหารให้รับประทานกันได้หลายประเภท มีตลาดขายกระจายไปสู่ทั้งภูมิภาคและตลาดท้องถิ่นให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย และทุกภาคของประเทศก็สามารถปลูกได้แทบทุกพื้นที่ แต่พื้นที่ที่ปลูกให้ผลผลิตได้ดีพร้อมทั้งให้คุณภาพ คือ พื้นที่จังหวัดจันทบุรี และยังเป็นกล้วยไข่ดาวรุ่งนำแซงกล้วยไข่จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตกล้วยไข่มาโดยตลอดในพื้นที่ทางภาคเหนือตอนล่าง ทั้งที่เป็นกล้วยไข่มาจากสายพันธุ์เดียวกัน และเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรียังนิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าไปในเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตามจันทบุรีนอกจากเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงเรื่องของการผลิตไม้ผลส่งออกแทบทุกประเภท เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และลำไย ซึ่งล้วนแต่เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีชื่อเป็นของดีประจำจังหวัด แล้วยังได้เป็นแหล่งผลิตกล้วยไข่ส่งออกได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศปัจจุบันมีการจำหน่ายส่งออกเพิ่มมากขึ้น และมีตลาดที่สำคัญ คือ ประเทศจีน ไต้หวัน และเขตปกครองพิเศษของจีน คือ ตลาดประเทศฮ่องกง ส่วนประเทศรองลงมา คือ ประเทศอินโดนีเซีย ที่นำเข้ากล้วยไข่ไทย รวมถึงประเทศญี่ปุ่น และประเทศเหล่านี้จะนิยมบริโภคกล้วยไข่ของไทยเพิ่มมากขึ้น
การปลูกกล้วยไข่ และพืชผสมผสาน
จากที่กล่าวมานั้นทำให้เขาหันมาสนใจปลูกพืชสวนผสมผสาน เช่น ปลูกเงาะ มังคุด และต้นทุเรียน ทั้งนี้ กล้วยไข่ที่เขานำมาปลูกซึ่งเป็นกล้วยไข่ที่ได้มาจากพ่อตาที่มีปลูกไว้ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้นำเอามาปลูกแซมกันไปกับเงาะ มังคุด และทุเรียน ดังกล่าว และในขณะเดียวกันพื้นที่จังหวัดจันทบุรีโดยพื้นฐานได้มีเกษตรกรปลูกกล้วยไข่มานานแล้ว โดยได้กล้วยไข่มาจากพันธุ์กำแพงเพชรเช่นกัน แต่ก็ทำให้เขาไม่ค่อยใส่ใจเท่าไร อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้ปลูกกล้วยไข่แซมผสมผสานอย่างที่กล่าว ช่วงนั้นก็ได้นำออกขาย
โดยจะขายกันเป็นกิโล ใน 1 หวี กล้วยไข่จะให้ถึง 2-3 กก. ราคา กก.ละ 7-12 บาท มีตลาดส่งออกกล้วยไข่ที่จังหวัดระยอง ในขณะที่มีเงาะ ทุเรียน มังคุด และกล้วยไข่ ที่ปลูก เมื่อมาเก็บผลผลิตขายปรากฏว่ากล้วยไข่จะขายได้ราคาดีกว่า ก็เลยทำให้เขานำกล้วยไข่มาปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เต็มพื้นที่ และได้นำทุเรียนมาปลูกใหม่อีกบางส่วน ในส่วนของกล้วยไข่มาปัจจุบันนี้ราคากล้วยไข่จะอยู่ที่ กก.ละ 70-75 บาท
การบำรุงดูแลรักษาต้นกล้วยไข่
“เรื่องกล้วยๆ แต่ไม่กล้วยอย่างที่คิด การปลูกกล้วยหากลงทุนปลูกไปแล้ว แต่ถ้าไม่รู้จักการจัดการเรื่องการบำรุงดูแลรักษาให้ถูกวิธีก็หมดตัวได้เช่นกัน” ซึ่งเป็นคำพูดของคุณสมชาย ทั้งนี้กล้วยไข่ของจังหวัดจันทบุรีเกษตรกรส่วนมากก็จะปลูกหวังผลผลิตไปในเชิงการค้าเพื่อการส่งออก
ส่วนการปลูกกล้วยให้ได้คุณภาพจะต้องมีความพร้อมทั้งในระบบการให้น้ำที่ดี เนื่องจากกล้วยไข่จะเป็นพืชที่ชอบน้ำมาก และสภาพเรื่องของดิน ไม่ใช่ว่ากล้วยจะปลูกได้ดีทุกพื้นที่ ทั้งสองอย่างนี้ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก รวมถึงเรื่องของความพร้อมการใช้สารเคมีภัณฑ์ ชีวภัณฑ์ อย่างเช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก ต้องให้ถึง ทั้งวิธีการให้ และระยะเวลาการให้
สภาพพื้นที่ การปลูกกล้วยไข่
คุณสมชายยังได้กล่าวอีกว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เริ่มแรกที่ปลูกกล้วยไข่ โดยได้ปลูกผสมผสานกับเงาะ ทุเรียน และมังคุด จากที่กล่าว ส่วนการปลูกในครั้งนั้นเขาก็จะขุดหลุมปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่ หรือขุดหลุมให้พอเหมาะกับต้น โดยได้นำเอาส่วนที่เป็นหน่อกล้วยไข่ที่เกิดขึ้นจากข้างต้นแม่ ในระหว่างที่เจริญเติบโตขึ้นมาแตกใบออกมาได้ 4-5 ใบ ก็จะนำเอามาปลูก
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นกล้วยไข่
หลังจากปลูกเสร็จแล้วก็ได้ให้น้ำไปพร้อมการให้ปุ๋ย ทั้งนี้การให้น้ำก็จะให้ 3 วัน/ครั้ง ส่วนการให้ปุ๋ยก็จะให้ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยคอก สลับกันไปแต่ละเดือน อย่างเช่น ใน 1 เดือน/ครั้ง สำหรับปุ๋ยเคมีก็จะให้ปุ๋ยเคมีสูตร 17-17-17 โดยจะให้ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ อย่างเช่น เดือนหนึ่งหว่านที่โคนต้นข้างซ้าย ถัดไปอีกเดือนหนึ่งหว่านที่โคนต้นข้างขวา สลับกันไปกับการให้ปุ๋ยคอก
ส่วนปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ที่หาชื้อได้ทั่วไปนั้น วิธีการให้ก็จะใช้วิธีหยิบขึ้นมาหว่านไปรอบร่องโคนต้น และการดูแลบริหารจัดการพื้นที่และการดูแลต้น หากต้นกล้วยมีใบแห้ง หรือมีใบหักร่วงหล่นที่ติดลำต้น ก็จะตัดเอาออกเพื่อให้เกิดความสมดุลของต้น รวมทั้งเพื่อไม่ให้ส่วนของใบเกิดการแย่งธาตุสารอาหารกัน และต้นก็จะได้รับสารอาหารได้เพียงพอ ก็จะทำให้ต้นสมบูรณ์ ต้นที่สมบูรณ์ก็จะสังเกตได้จากที่ส่วนของใบซึ่งเป็นสีเขียวอมชมพู อย่างไรก็ตามในเมื่ออายุต้นกล้วยไข่ได้ 6 เดือน ก็จะเริ่มออกปลี ออกเครือ ใน 1 เครือ ก็จะออกผลมาได้ถึง 10 หวีขึ้นไป
ทั้งนี้ก็จะเอาออกให้เหลือไว้ 6-7 หวี อย่างไรก็ตามต้นกล้วยไข่ที่ให้ผลออกมาแล้วมันก็จะแทงหน่อหรือลูกออกจากต้นแม่มากถึง 3-4 หน่อ จากนั้นก็จะเลี้ยงเอาหน่อไว้ เพื่อให้เกิดเป็นต้นลูกขึ้นมาแทนต้นแม่ หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นแม่ออกหมด เสร็จแล้วก็จะเอาต้นแม่ออก ทั้งนี้ก็จะเลี้ยงเอาต้นลูกหรือต้นหน่อดังกล่าวไว้ มาเลี้ยงไห้เจริญเติบโตขึ้นมาเพื่อให้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวแทนต้นแม่อีกครั้ง ก็จะเลี้ยงเอาหน่อหรือเอาต้นลูกไปอย่างนี้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องมาไถปรับปรุงหน้าดินเพื่อปลูกใหม่ เหมือนกับพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ทางจังหวัดกำแพงเพชร
การห่อและเก็บเกี่ยวผลผลิตกล้วยไข่
อย่างไรก็ตามในเมื่อกล้วยไข่ที่เขาปลูกเพื่อเป็นการจำหน่ายส่งออก ส่วนที่จะให้ผลของกล้วยออกมามีคุณภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้ตลาดทั้งในและต่างประเทศยอมรับ โดยเฉพาะเรื่องของผลที่จะต้องใหญ่ สมบูรณ์ และสีผิวของผลต้องสวย เนียน ทั้งนี้เขาก็จะใช้วิธีห่อผล
โดยจะเริ่มห่อหลังจากตัดปลีออกพร้อมกับตัดแต่งหวี เช่น จากที่ต้นแม่ให้ผลมา 10 หวี ก็จะตัดออกให้เหลืออยู่ประมาณ 6-7 หวี ส่วนอุปกรณ์การห่อเขาก็จะใช้ถุงกระดาษฟอยล์ซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่สามารถห่อเอาผลได้หมดทั้งเครือ ในส่วนประโยชน์ของการห่อนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังช่วยป้องกันแมลงศัตรู อย่างเช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง นก และหนู ที่จะเข้ามาทำลาย หรือเจาะกินผลของกล้วยได้เป็นอย่างดีด้วย หลังจากที่ห่อเสร็จแล้วภายในระยะเวลา 45 วัน กล้วยไข่ก็จะสามารถให้ผลแก่และตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ และกล้วยได้ราคาที่ดีก็อยู่ที่ผลด้วย
ในฐานะที่เขาเป็นผู้นำท้องถิ่น เขาก็จะแนะนำให้เกษตรกรผู้ที่ปลูกกล้วยไข่ในพื้นที่ให้เน้นถึงคุณภาพของการผลิต ในเมื่อได้ผลผลิตกล้วยไข่ออกมาเพื่อเป็นการค้า อยากให้มองถึงเรื่องของผลผลิตที่ควรจะได้ เพิ่มและลดต้นทุนของการผลิต เช่น ในเรื่องของการใช้ต้นทุน ทำยังไงจึงจะใช้ต้นทุนได้ต่ำ ต้องใช้ปุ๋ยคอก ใส่ปุ๋ยเคมีบ้าง คือปลูกพืชผสมผสาน
เนื่องจากพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ทุกพื้นที่ไม่สามารถที่จะปลูกให้ผลผลิตได้ดีทุกพื้นที่ มีปัจจัยหลักที่สำคัญก็คือ เรื่องของดิน และปัจจัยเรื่องของการผลิต หรือเรื่องของการบำรุงดูแลรักษา แต่ถ้าหากรู้จักบริหารจัดการพื้นที่ปลูกที่ดี รักษาบำรุงต้นที่ดี กล้วยไข่ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดี
ส่วนเรื่องของการลงทุนซื้อปุ๋ย การให้ปุ๋ยบำรุงกล้วยไข่ เกษตรกรบางรายก็จะประหยัดในเรื่องนี้มาก โดยไม่คำถึงต้นทุน และพากันไปซื้อปุ๋ยเกรดต่ำ หรือซื้อปุ๋ยราคาถูกถุงละ 1,000 บาท เมื่อนำปุ๋ยมาบำรุงใส่ให้กล้วย ใน 1 เดือน ใช้ปุ๋ยไปถึง 3 ถุง ก็หมดเงินไป 3,000 บาท/เดือน แต่รู้ไหมว่าถ้าหากซื้อปุ๋ยที่มีคุณภาพ ซื้อ 1 ถุง ราคา 1,450 บาท ใช้ได้ 1 ครั้ง/ถุง/เดือน ผลผลิตก็มีคุณภาพดีเช่นกัน ทั้งนี้เกษตรกรควรคำนึงถึงคุณค่าของปริมาณ ทั้งราคาและผลผลิตที่ควรจะได้เพิ่มจะดีกว่า
ด้านตลาดผลผลิตกล้วยไข่
สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตกล้วยไข่ของเขาทั้ง 2 แปลง ใน 7 วัน หรืออาทิตย์หนึ่งนั้น จะเก็บผลผลิตได้ถึง 5 ตันขึ้นไป และการจำหน่ายส่งออกกล้วยไข่ของจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศก็จะมีประเทศจีน และอินโดนีเซีย ที่เป็นตลาดหลัก
ทั้งนี้ทาง “ล้ง” บริษัทรับซื้อกล้วยไข่ส่งออกก็จะเข้ามาเสนอราคารับซื้อถึงที่สวน ขณะราคากล้วยไข่จะอยู่ที่ 75-76 บาท/กก.ขึ้นไป โดยเฉพาะช่วงฤดูเทศกาลของจีน อย่างเช่น วันชาติจีน วันสารทจีน และวันตรุษจีน เป็นต้น ทั้งนี้ประชาชนของประเทศจีนก็จะนิยมบริโภคผลไม้ไทยมาก และการผลิตผลกล้วยไข่ของเขาก็จะจัดการเลี้ยงเอาต้นกล้วยให้ออกผลผลิตให้ได้ทัน นำจำหน่ายออกมาให้ได้มากในช่วงเทศกาลของจีนดังกล่าวนี้
เนื่องจากราคาขายจะสูงขึ้นมากถึง กก.ละ 200 บาท ส่วนทางบริษัทส่งออกก็จะแย่งกันออกมาซื้อในช่วงฤดูกาลนี้อีกด้วย ในส่วนเรื่องของตลาดอย่างที่กล่าวเขายังมองว่าจะไปได้อีกไกลได้หลายปี ตลาดคงไม่ตายง่าย เพราะกล้วยไข่แปรรูปเป็นอาหารได้หลายอย่าง มีผู้คนนิยมบริโภคกันมาก
รายได้จากผลผลิต การปลูกกล้วยไข่
อย่างไรก็ตามรายได้ปกติที่เขาขายประจำใน 1 อาทิตย์ ที่ตัดเก็บเกี่ยวในแต่ละครั้งได้ถึง 5 ตันกว่า ขณะราคาซื้อขายจะอยู่ที่ กก.ละ 75-76 บาท รายได้ต่ออาทิตย์จะอยู่ที่ 200,000 บาท ถ้าหากคิดเป็นรายได้ต่อเดือนเขาก็จะมีรายได้ถึง 800,000 บาท เลยทีเดียว
การปลูกกล้วยไข่ รวมทั้ง 2 แปลง ใน 46 ไร่ ของเขา ที่สร้างรายได้ให้คุณสมชายมีเงินหมุนเวียนในแต่ละสัปดาห์ หรือในแต่ละเดือน นับได้ว่าสร้างรายได้ให้เขาเป็นเงินไม่น้อย ทั้งนี้ถ้าหากหักค่าลงทุน เช่น ค่าปุ๋ย หรือค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ รวมทั้งค่าแรงงานออกในแต่ละเดือนจะจ่ายอยู่ที่ 30,000 กว่าบาท ในระหว่างรายได้ 800,000 กว่าบาท/เดือน นับว่าเขาเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จก็ว่าได้
หากผู้อ่านท่านใดต้องการอยากจะเป็นเกษตรกรมือใหม่ หรือเกษตรกรที่สนใจ การปลูกกล้วยไข่ นำไปเป็นการปลูกพืชแซมแบบผสมผสาน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมชาย นาสวน 10/3 หมู่ 4 ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 22210 โทร.08-1835-6250 การปลูกกล้วยไข่ การปลูกกล้วยไข่