การจัดสัดส่วนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกด้วยการสรรหาพันธุ์พืชให้ได้ผลดีนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ อาทิ การรู้จักลักษณะของพื้นผิวดิน หรือชนิดของดิน และความสูงต่ำของพื้นดิน รวมถึงการรู้จักอุณหภูมิทางภูมิอากาศ ทั้งระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม เพราะยังจะช่วยให้เกิดความเสี่ยงกับการลงทุน รวมตลอดถึงผลกระทบที่จะไม่ก่อผลให้เกิดอุปสรรคปัญหาอะไร การปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์
หากแต่ได้นำพันธุ์พืชมาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่แล้วก็จะมีอิทธิพลให้เจริญเติบโตได้ดี ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการสรรหาได้พันธุ์พืชให้เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว ยังมีผลต่อการจัดการสวนให้ได้บรรยากาศได้รับความร่มรื่น ทั้งกายและใจ ต่อผู้เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ก็มักจะเกิดขึ้นกับความงดงามของพันธุ์พืชได้ตามธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกัน
การปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์
ขณะเดียวกัน ไร่พรประเสริฐ มีพื้นที่เพาะปลูก 80 ไร่ ซึ่ง คุณปริญญา วิไลรัตน์ เป็นเจ้าของ ได้จัดสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลพันธุ์พื้นเมือง และทางเกษตรกรรม โดยได้พิจารณาวางแผนผังจัดการบริหารพื้นที่ไว้ได้อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะนำพืชไร่ พืชสวน มาปลูก ทั้งเป็นพันธุ์พืชที่มีสรรพคุณ ประโยชน์ทางด้านอุปโภค บริโภค รวมถึงระยะเวลาการทำงานลดลง ทุนทรัพย์ในการบำรุงดูแลรักษา โดยมิได้ลองผิด ลองถูก
คุณปริญญากล่าวว่า ก่อนนั้นทำงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบัน) โดยมีหน้าที่ทำเกี่ยวกับงานวิจัยด้านการเกษตร หลังจากเกษียณอายุจึงได้มาประกอบอาชีพด้วยการเกษตรในพื้นที่ของตน เมื่อปี 2546 ทั้งนี้ด้วยความที่ว่าเป็นผู้ที่มีทั้งองค์ความรู้ และผ่านประสบการณ์จากการทำงานมาหลายปี จึงได้หันมาสู่สิ่งที่รู้มาเพื่อเป็นทุนและกำไรที่ได้ ทำแล้วมีความสุข
“การที่เรารู้และชอบที่จะทำ แต่ถ้าหากได้ทำลงไปแล้วก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากได้เหมือนกัน อย่างเช่น นอกเหนือจากตัวเงินแล้ว ความสุขที่ได้ทำอะไรสักอย่าง เราก็ต้องเฝ้าติดตาม เราก็มีความหวัง เวลามีความหวังเราก็มีพลัง ท้ายสุดก็ต้องมาดูเรื่องตลาด สรุปแล้วงานเกษตรเป็นงานที่ยากที่สุด” เขาให้ข้อคิด
อย่างไรก็ตามการเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน ในขณะนี้ จึงไม่แปลกที่เขาจะสรรหาพันธุ์พืช หรือพันธุ์ไม้ ที่ดีมาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสอดคล้องกับภาวะด้านการตลาดที่ให้การตอบรับได้ดี ทั้งนี้พืชหลักๆ ที่เขาปลูกในขณะนี้ ได้แก่ มะขามเปรี้ยวยักษ์ และลำไย นอกจากนั้นยังมีมะนาว และพุทรา ซึ่งได้ปลูกแซมไปด้วย พร้อมทั้งมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวขายได้ตลอด
ระหว่างมะขามเปรี้ยวยักษ์กับลำไยซึ่งเป็นพืชหลักที่เขาปลูกอยู่ขณะนี้ หากแต่นำมาเปรียบเทียบกัน ทั้งความแตกต่างทางด้านศักยภาพและผลผลิตที่ได้ “ดีที่สุด” คือ มะขามเปรี้ยวยักษ์ รวมตลอดถึงความไม่ยุ่งยาก ทั้งในด้านการดูแลรักษา และทางด้านการตลาดที่ยังคงราคาไว้ได้ดีกว่า “ยางพารา” ทั้งนี้มะขามเปรี้ยวยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ทนแล้ง ทนฝน พร้อมทั้งไม่มีแมลงเข้ามาเกาะกิน หรือมารบกวน ส่วนการทำงานกับมะขามเปรี้ยวยักษ์ในระยะเวลาอยู่กับมันไม่เกิน 100 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้
สภาพพื้นที่ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์
ทั้งนี้ การปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ ซึ่งเป็นพันธุ์พืชพื้นเมือง และยังสามารถเกิดขึ้นงอกมาได้เองตามธรรมชาติ ทุกภาคของไทยก็ปลูกขึ้นได้ หากแต่เป็นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน จะเป็นพื้นที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากต้นมะขามเปรี้ยวมันไม่ต้องการความชื้นมาก ทั้งนี้มะขามเปรี้ยวยังต้องการความแห้งแล้ง โดยเฉพาะช่วงระยะที่กำลังผลิตออกดอก หรือในระยะบานเต็มที่ และกำลังติดผลอ่อน
อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติของมะขามเปรี้ยวแล้วในระยะเข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นฤดูกาลของมันก็จะผลิใบ หรือใบร่วง และผลิตดอกในเดือนพฤษภาคม เริ่มติดผลอ่อนต้นเดือนมิถุนายน พอถึงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก็จะให้ผลผลิตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้เต็มที่
การทาบกิ่งพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์
นอกจากนี้ “ไร่พรประเสริฐ” ยังได้ทำกิ่งพันธุ์เพื่อเป็นการขยายพันธุ์พร้อมจำหน่าย โดยจะใช้วิธีทาบกิ่ง ทั้งนี้การทาบกิ่งของเขาส่วนมากจะมีออเดอร์ส่งเข้ามา “มีทำให้ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง” โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะมีเข้ามามากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูฝน เนื่องจากลูกค้าที่เป็นเกษตรกรก็จะนิยมพากันปลูกในช่วงฤดูนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะและง่ายต่อการดูแลรักษา
คุณปริญญากล่าวอีกว่าโดยเฉพาะการทาบกิ่งพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์เพื่อให้ได้ต้นที่ดีและสมบูรณ์ไปปลูกนั้น ขั้นแรกก็ต้องเลือกต้นพันธุ์ซึ่งเป็นต้นแม่ที่เห็นว่าสมบูรณ์แข็งแรงดีแล้ว จากนั้นเขาก็จะตัดลำต้นให้ได้ในลักษณะเป็นต้นตอ เหลือความสูงไว้เพียง 1 เมตร ได้ประมาณ 2 อาทิตย์ กิ่งก้านก็จะแตกงอกออกมาใหม่ ซึ่งเป็นกิ่งก้านที่อ่อนและยังไม่แข็งแรงหรือสมบูรณ์
หลังจากนั้นให้รอระยะเวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป กิ่งก้านที่แตกออกมาก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งนี้เขายังบอกอีกว่าหากอยากได้กิ่งพันธุ์หรือกิ่งก้านที่แตกออกมาได้ให้สมบูรณ์แข็งแรงดีมากกว่าอายุกิ่งที่ได้ 6 เดือน ควรให้อายุกิ่งได้ถึง 8-12 เดือน อย่างไรก็ดีการเลือกกิ่งพันธุ์ก่อนจะทำเป็นกิ่งทาบนั้นก็ควรเลือกกิ่งก้านที่สวยและตรง หรือกิ่งก้านที่เห็นว่าแข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้ว เป็นกิ่งก้านพร้อมที่จะทาบ ส่วนกิ่งไหนที่เห็นว่าไม่สมบูรณ์ หรือมีกิ่งเล็กๆ ที่ไม่สวยงามให้ตัดทิ้ง เป็นต้น หากเลือกกิ่งพันธุ์ได้พร้อมทาบแล้ว การเลือกต้นกล้าพร้อมที่จะทาบก็ควรเลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์และแข็งแรงเหมือนกัน
สำหรับการทาบกิ่งพันธุ์กับต้นกล้า ส่วนต้นกล้ามะขามฯ ควรเป็นต้นกล้าที่เพาะไว้ในถุงแล้ว และพร้อมที่จะขึ้นทาบกับกิ่งพันธุ์ได้ ทั้งนี้วิธีการทาบให้ตัดส่วนปลายของต้นกล้า โดยให้วัดจากโคนต้นขึ้นมาประมาณ 10-25 ซม. หรือพอประมาณกับความต้องการก็ได้ การตัดใช้มีดตัดออกให้อยู่ในลักษณะเฉียง 45 องศา หรือรูปปากฉลาม
ส่วนกิ่งพันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ให้ใช้มีดปาดแบบเปิดปากปลาฉลาม (อย่าให้ขาด) หรือให้อยู่ในรูปลักษณะเฉียง 40-45 องศา ความยาวลึกประมาณได้ว่าเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงของกิ่งพันธุ์ และการตัดก็ควรให้ลำต้นกล้ากับกิ่งพันธุ์พอเหมาะเข้าประชิดแนบสนิทกันได้ ทั้งนี้หากแต่นำต้นกล้าขึ้นทาบกิ่งพันธุ์ได้แล้วให้ใช้เชือกที่เป็นพลาสติกรัดหรือมัดปิดให้แน่นมิดชิดเพื่อป้องกันความชื้น ส่วนระยะเวลาการทาบกิ่งพันธุ์กับต้นกล้าก็จะติดให้เห็นผลได้ประมาณ 2-3 เดือน
การให้น้ำและปุ๋ยต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์
ในส่วนของ การปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ หากแต่เป็นกิ่งทาบที่จะปลูกลงดินนั้น ความสูงของต้นพันธุ์ก็มีประมาณ 100 ซม. หรือ 1 เมตร การปลูกควรขุดหลุมความกว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. ลึก 30 ซม. หลังขุดหลุมปลูกเสร็จให้นำเอาปุ๋ยคอกรองก้นหลุมประมาณ 1 กก. จากนั้นก็นำต้นมะขามซึ่งเป็นกิ่งทาบปลูกได้เลย
หลังปลูกเสร็จแล้วควรให้ปุ๋ยคอกรอบๆ โคนต้นประมาณ 1 กก./ต้น หลังจากนั้นให้รดน้ำเพื่อให้ต้นได้รับความชื้น ส่วนระยะความห่างของต้นควรให้ได้ 8×10 เมตร เนื่องจากต้นมะขามซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ใหญ่ หากได้เจริญเติบโตแล้วก็จะแตกกิ่งก้านแพร่กระจายเป็นทรงพุ่ม ก็จะช่วยให้ลดการทำงานตัดแต่งกิ่งลง
อย่างไรก็ตามการบำรุงในขณะที่ปลูกเสร็จหรือหลังจากต้นมะขามได้ปลูกติดแล้ว การให้น้ำ บำรุงปุ๋ย เขาก็จะให้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสลับกัน ปุ๋ยคอกที่ให้ประจำส่วนมากก็จะเป็นมูลไก่ เนื่องจากมูลไก่จะมีประโยชน์บำรุงดินได้ดี ส่วนปุ๋ยเคมีก็จะเป็นปุ๋ยสูตร 15-15-15 การให้ปุ๋ยจะให้ 2-3 ครั้ง/ปี การให้น้ำต้องดูลักษณะของดิน หากดินแห้งมาก หรือฤดูแล้งก็จะให้อาทิตย์ 1-2 ครั้ง
นอกจากการให้ปุ๋ย ให้น้ำ ทางดินแล้ว เขายังผลิตปุ๋ยหมักขึ้นมาเพื่อบำรุงโดยให้ทางใบด้วย อย่างเช่น การนำน้ำนมวัวที่เสียแล้วมาหมักเป็นปุ๋ยบำรุงพืชทางใบ โดยเฉพาะช่วงที่ระยะต้นมะขามกำลังผลิตดอกจนถึงติดผลอ่อนในฤดูกาลอย่างที่กล่าวมาข้างต้น การให้จะให้อย่างสม่ำเสมอ โดยจะฉีดพ่นทั่วต้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะขามเปรี้ยวยักษ์
อย่างไรก็ตามต้นมะขามเปรี้ยวหลังจากที่ปลูกจะใช้ระยะเวลาให้เก็บเกี่ยวได้ 3-4 ปี ต้นมะขามในแต่ละต้นจะให้ผลผลิตออกฝักได้ 8 กก./ต้นขึ้นไป ส่วนราคาขายเขาจะแบ่งฝักออกเป็น 2 เกรด อย่างเช่น ฝักดาบ หรือฝักสด เกรด A 10 บาท เกรด B 8 บาท นอกจากจะขายฝักสดแล้วเขายังทำมะขามแช่อิ่ม และมะขามอบแห้ง มีขายตั้งแต่กิโลละ 40-120 บาท ทั้งนี้ยังมีแม่ค้ามารับจองโดยได้เหมาเอาทั้งต้น นอกจากที่ขายฝักและแปรรูปขายแล้ว ยังขายกิ่งพันธุ์ต้นละ 50 บาท
สภาพพื้นที่ปลูกลำไย
อย่างไรก็ดีจากที่คุณปริญญาได้กล่าวถึงมะขามเปรี้ยวยักษ์แล้ว เขายังพาทีมงานเมืองไม้ผลไปดูต้นลำไย ซึ่งเขาได้ปลูกไว้จำนวนเนื้อที่ 8 ไร่ และได้ปลูกมะนาวแซมไปด้วย จากที่ทราบมาต้นลำไยที่เขาปลูกซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างลำไยไทดอก้านอ่อนเชียงใหม่กับเบี้ยวเขียวเชียงใหม่ ได้ปรับปรุงพันธุ์กลายเป็นพันธุ์เพชรราชสีมา ให้รสชาติดี หวาน กรอบ เมล็ดเล็ก เนื้อหนา เปลือกหนา ผิวค่อนข้างขรุขระคล้ายผลลิ้นจี่ หากแต่อยู่บนต้นในขณะที่ให้ผลสุก พอเก็บเกี่ยวได้แล้วผลจะไม่ร่วง และจะอยู่บนต้นได้นานอีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะไม่เหมือนกับลำไยพันธุ์อื่นๆ
ทั้งนี้ในการปลูกลำไยของเขาในพื้นที่ 8 ไร่ ระยะห่างของต้นจะแบ่งเป็นสัดส่วนปลูก โดยจะมีปลูกระหว่าง 8×8 เมตร 4×8 เมตร และ 5×6 เมตร ทั้งนี้ตามอายุต้นของลำไยตั้งแต่เริ่มปลูกก็จะให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้เมื่อถึง 7-8 ปีขึ้นไป
การบำรุงดูแลรักษาต้นลำไย
การบำรุงดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่ต้นลำไยจะติดผลมาก หากให้น้ำ ใส่ปุ๋ย อย่างถูกต้อง ส่วนการให้น้ำจะได้น้ำจากที่เขาขุดสระไว้เพื่อไว้ทำการเกษตร หรือไว้รดพืชโดยเฉพาะ ทั้งนี้การส่งน้ำขึ้นจากสระเพื่อมารดต้นลำไยนั้น การใช้ระบบน้ำก็จะใช้ท่อ PE ขนาด 2 นิ้ว จ่ายน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์หัวผีเสื้อ นอกจากจะวางท่อ PE แล้ว ยังได้วางท่อ PVC จ่ายน้ำ โดยวางท่อติดหัวสปริงเกลอร์ไว้รอบบริเวณโคนต้น ให้น้ำ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
ส่วนการให้ปุ๋ยบำรุง โดยเขาจะใช้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะการทำให้ลำไยออกนอกฤดู ทั้งนี้ตามปกติธรรมชาติของต้นลำไยที่ผลิตออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม แต่ในสวนลำไยของเขาเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการทำลำไยออกนอกฤดู
คุณปริญญายังกล่าวว่าการทำลำไยออกนอกฤดู โดยเขาจะใช้สารบำรุงหลายชนิด อย่าง สารที่เป็นธาตุอาหารจำเป็นต่อพืช เป็นต้น ส่วนการให้ปุ๋ยทางดินก็จะใส่ปุ๋ยคอก ซึ่งเป็นมูลไก่ที่ให้ประโยชน์ต่อการบำรุงดินเป็นอย่างมาก สำหรับปุ๋ยเคมีจะมีอยู่ 2 ชนิด อย่างเช่น ปุ๋ยสูตร 16-16-16, 8-24-24 ยูเรีย การให้ก็จะให้อย่างสม่ำเสมอ จากนั้นก็จะให้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยชีวภาพ (น้ำนมวัว) อย่างเดียวกับปุ๋ยที่ให้ทางใบกับต้นมะขาม การให้โดยจะฉีดพ่นทั่วต้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
อย่างไรก็ตามต้นลำไยทุกต้นของเขาจะให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ต้นหนึ่งจะให้ประมาณ 100-150 กก. อย่างเช่น พวงหนึ่งก็จะได้ประมาณ 2-3 กก. ราคาขาย 40 บาท/กก. ทั้งนี้หากแต่รวมการลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เขามี ทั้งลูกจ้างแรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการบริหารไร่ เดือนหนึ่งๆ จะอยู่ที่ 60,000 บาท ส่วนรายได้ต่อปีก็จะได้หลักล้าน
หากแต่เกษตรกรหรือผู้อ่านท่านใดอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ “ไร่พรประเสริฐ” คุณปริญญา วิไลรัตน์ 346 ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา 08-7824-9900
อ้างอิง : นิตยสารเมืองไม้ผล ฉบับที่ 148