มังคุดผิวด้านส่วนใหญ่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดสาเหตุคือ เพลี้ยไฟลงตั้งแต่แทงช่อดอกแต่คุณสมพงษ์บอกว่าถ้า การปลูกมังคุด ด้วยวิธีที่ทางกลุ่มแนะนำตั้งแต่ต้น เกษตรกรจะสามารถทำเป็นมังคุด “ผิวมัน” ได้อย่างมีคุณภาพ สามารถส่งออกจำหน่ายได้ราคาดีแน่นอน
มังคุดเจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินเหนียวปนทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงสามารถอุ้มน้ำและระบาย น้ำได้ดี มีความเป็นกรดอ่อน ๆ คือ มีค่าความ เป็นกรดด่างของดิน(ค่า pH) ประมาณ 5-6 พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกมังคุดควรมีสภาพภูมิอากาศร้อนและชุ่มชื้น
ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและเสียบยอด
มังคุดมีอยู่พันธุ์เดียวเรียกกันว่าเป็นพันธุ์พื้นเมืองมังคุดเป็นพืชที่ปลูกด้วยเมล็ด และเมล็ดมังคุดไม่ได้ เกิดจากการผสมเกสร จึงแทบจะไม่มีโอกาสกลายพันธุ์
การเพาะเมล็ดโดยตรงสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วแต่มีข้อเสีย คือ ต้องใช้เวลาประมาณ 7 – 8 ปี กว่าจะให้ผลผลิต เมล็ดมังคุดที่นำมาเพาะควรได้จากผลมังคุดที่แก่จัดและเป็นผลที่ยังสดอยู่เพราะ จะงอกได้ดีกว่า เลือกเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ล้างเนื้อและเส้นใยออกให้สะอาดแล้วรีบนำไปเพาะ แต่ถ้าไม่สามารถ เพาะได้ทันที ให้ผึ่งเมล็ดที่ทำความสะอาดแล้วให้แห้ง (ผึ่งลม) เก็บเมล็ดไว้ในถุงพลาสติก แช่ตู้เย็นไว้จะเก็บไว้ได้นานขึ้น การเพาะเมล็ดสามารถเพาะลงในถุงพลาสติกได้โดยตรง แต่ถ้าทำในปริมาณมาก ๆ ก็ควรเพาะใน แปลงเพาะชำหรือกระบะเพาะชำ สำหรับวัสดุเพาะชำจะใช้ขี้เถ้าแกลบล้วน ๆ หรือขี้เถ้าแกลบผสมทรายหรือดินร่วน ผสมทรายก็ได้ แปลงเพาะชำต้องมีวัสดุพรางแสง และรดน้ำให้วัสดุเพาะมีความชื้นอยู่เสมอ หลังจากเพาะจะ ใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน เมล็ดจึงเริ่มงอกจากนั้นก็คัดเลือกต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ย้ายจากแปลงเพาะไปปลูกในถุงบรรจุดินผสมปุ๋ยคอก ใช้ถุงขนาด 4-5 นิ้ว การย้ายควรทำในช่วงที่ต้นกล้ามีอายุไม่เกิน 1 เดือน เพราะ ระบบรากยังไม่แผ่กระจายเต็มที่การเปลี่ยนถุงต้อง ระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนระบบรากเดิม ควรเปลี่ยนถุงบ่อย ๆ สัก 5-6 เดือนต่อครั้งเพราะจะทำให้มังคุดมีการเจริญเติบโต ดีขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องรากขดงอก้นถุง เมื่อมังคุดมีอายุประมาณ 2 ปี มีความสูงราว 30-35 เซนติเมตร มียอด 1-2 ฉัตร ก็พร้อมที่จะปลูกในแปลงได้นอกจากนี้ก็มีการขยายพันธุ์อีกวิธีเรียกว่า “การเสียบยอด” เป็นการนำพันธุ์ดีจากต้นที่เคยให้ผลเป็นวิธีที่ช่วยให้มังคุดให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น
การปลูกมังคุด ที่ถูกต้อง
ต้นกล้าที่นำมาปลูก ควรมีความสมบูรณ์ โดยใบคู่สุดท้าย ควรจะเป็นใบที่แก่เต็มที่แล้ว และ ควรเป็นต้นกล้าที่มีอายุประมาณไม่เกิน 2 ปี มีระบบรากแผ่กระจายดี ไม่ขดม้วนงออยู่ก้นถุง ก่อนปลูกควรตัด ใบให้เหลือครึ่งใบทุก ๆ ใบ เพื่อลดการคายน้ำ นำต้นกล้าไปปลูกตรงกลางหลุม ปลูกให้ลึกเท่ากับระดับดินเดิมใช้ไม้ปักเป็นหลักผูกยึดต้นมังคุดไว้กับหลักเพื่อป้องกัน ลมพัดโยก หลังจากนั้นต้องรดน้ำตามทันทีเพื่อช่วยให้เม็ดดินกระชับราก การปล่อยให้ต้นไม้ที่ยังไม่ตั้งตัวถูก ลมพัดโยกไปมา โดยไม่มีหลักยึดจะทำให้ระบบรากไม่เจริญ และต้นมังคุดจะชะงักการเจริญเติบโตมีเปอร์เซนต์ การตายสูง นอกจากนี้แล้วต้นมังคุดที่เพิ่งปลูกจะไม่ทนต่อแสงแดด และความร้อนสูงต้องใช้ทางมะพร้าว หรือจากช่วยพรางแสงแดดให้กับต้นมังคุด จนกว่าจะมีขนาดโตพอประมาณและตั้งตัวได้แล้วจึงค่อยปลดออก ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 2 ปี
โรคแมลงและการป้องกันกำจัด
อาการผิดปกติที่เกิดกับส่วนต่าง ๆ ของมังคุดอาจจะมีสาเหตุมาจากการทำลายของโรคแมลงหรืออาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของ ผลผลิต โรคแมลงและอาการผิดปกติที่สำคัญได้แก่
- หนอนชอนใบ เป็นหนอนของผีเสื้อชนิดหนึ่ง กินในระยะมังคุดเริ่มแตกใบอ่อน ป้องกันได้ด้วยสารอะบามาซิน หรือสารป้องกันแมลงในกลุ่มคาร์บาริล ทุก 7 วัน เมื่อใบแก่แล้วก็หยุดพ่น
- หนอนกินใบ ลักษณะการทำลายทำให้ใบเว้า ๆ แหว่งๆ เหลือแต่ก้านใบทำให้มังคุดขาดความสมบูรณ์ ป้องกันด้วยการหมั่นตรวจดูหรือฉีดพ่นทำลายด้วย กลุ่มคาร์บาริล ทุก 5-7 วัน
- เพลี้ยไฟเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด ศัตรูชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนดอกอ่อน และผลอ่อนของมังคุด ถ้าหากเป็นยอดอ่อนจะทำให้ยอดแห้ง สำหรับดอกอ่อนและผลอ่อนจะทำให้ดอกร่วง และผลมีรอยสีน้ำตาลกร้านมียางไหลและจะทำให้ผลร่วงได้ ให้หมั่นตรวจดูดอกมังคุดในระยะออกดอกถ้าพบก็ให้ฉีดพ่นด้วย คาร์โบซัลแฟน (ให้ได้ผลดีควรทำพร้อมสวนข้างเคียงเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของแมลง)
- ไรแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก มักอยู่รวมเป็นกลุ่มและระบาดควบคู่ไปกับเพลี้ยไฟ โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ดอกและผลอ่อน ทำให้ดอกและผลอ่อนแห้งร่วงหล่นไปหรือทำให้ผลไม่เจริญ เปลือกมีผิวตกกระเป็นขุย เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเช่นเดียวกันกับเพลี้ยไฟโดยให้หมั่นตรวจดูในระยะที่มังคุดกำลังออกดอกและติดผล ถ้าพบให้พ่นฟิโพนีลทุก7-10 วัน
- โรคใบจุด เกิดจากการทำลายของเชื้อรา ทำให้ความสมบูรณ์ของต้นลดลง และถ้าระบาดรุนแรงใบจะแห้งทั้งใบและร่วงหล่น ทำให้ผลมังคุดไม่มีใบปกคลุม ผิวของผลมังคุดจะกร้านแดดไม่สวย ป้องกันด้วยสารเคมีจำพวกคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แมนโคเซบคาร์เบนดาซิม หรือเบนโนมิล เป็นต้น
- โรคใบแห้งและขอบใบแห้ง เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม คือ แสงแดดจัด ความชื้นต่ำ ทำให้น้ำระเหยออกจากขอบใบมาก จนกระทั่งขอบใบแห้ง ทำให้มังคุดเจริญเติบโตช้า ต้นขาดความสมบูรณ์ให้ผลผลิตน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงการปลูกมังคุดในสภาพที่มีภูมิอากาศไม่เหมาะสม และโดยทั่วไปก็มักจะพบอาการใบไหม้ขอบใบแห้งในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งตรงกับช่วงที่ผลมังคุดกำลังออกดอก ติดผลพอดี เมื่อใบมังคุดขาดความสมบูรณ์จะทำให้ผลมังคุดขาดความสมบูรณ์ตามไปได้
- อาการยางไหลที่ผิว จะพบได้ทั้งระยะผลอ่อนและผลแก่
ยางไหลระยะผลอ่อน เกิดจากเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงระยะผลอ่อนทำให้เกิด ยางไหลออกมาจากผิวเปลือกเป็นสีเหลือง ทำให้ผลมีการเจริญเติบโตช้า การป้องกันกำจัดอาการยางไหลของ ผลอ่อน โดยการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ตั้งแต่มังคุดเริ่มออกดอก
ยางไหลระยะผลขนาดใหญ่ จะพบอาการยางไหลในขณะผลใกล้แก่ แต่ยังมีสีเขียวอยู่ ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน สันนิษฐานว่าเกิดจากมังคุดได้รับน้ำมากเกินไป ทำให้ปริมาณน้ำยางในผลมีมาก และปะทุออกมาเอง หรืออาจมีแมลงไปทำให้เกิดบาดแผลทำให้ยางไหลออกมาได้ ซึ่งภายหลังจากการเก็บเกี่ยว ก็สามารถขูดยางเหล่านี้ออกได้ โดยผลไม่เสียหายแต่จะสิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน
- อาการเนื้อแก้ว เป็นอาการของเนื้อมังคุดที่มีสีขาวใสในบางกลีบ โดยมากจะเป็นกับกลีบที่มีขนาดใหญ่ ในบางครั้งก็เป็นเนื้อแก้วทั้งผล อาการเนื้อแก้วนี้จะสังเกตได้จากลักษณะภายนอก โดย พบว่าผลที่มีรอยร้าวอยู่ที่ผิว มักจะมีอาการเนื้อแก้วด้วย แต่ในบางครั้งลักษณะภายนอกเป็นปกติ เมื่อผ่าดูก็อาจพบอาการเนื้อแก้วได้เช่นกัน
อาการยางไหลภายในผล พบยางสีเหลืองอยู่ตรงกลางระหว่างกลีบผล มักจะพบคู่กับอาการเนื้อแก้ว หรืออาจจะพบแต่อาการยางไหลเพียงอย่างเดียวก็ได้อาการเนื้อแก้วและยางไหลภายในผล ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จะพบมากในมังคุดที่ขาดการดูแลรักษา เช่น ได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ หรือขาดน้ำเป็นเวลานานๆ
การเก็บเกี่ยวและฤดูกาลของมังคุด
โดยทั่วไปมังคุดเริ่มออกดอกเมื่อปลูกไปได้ประมาณ 7-8 ปี และได้ผลผลิตเต็มที่เมื่อมีอายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป การออกดอกของมังคุดจะไม่ออกพร้อมกันในทีเดียวจะทยอยออกอยู่นานราว 40 วัน เป็นผลให้การเก็บเกี่ยวมังคุดต้องทยอยเก็บเกี่ยวไปด้วยเช่นกันมังคุดมีกระบวนการตั้งแต่แทงช่อดอกมาถึงเก็บเกี่ยวผลก็ประมาณ 120 วัน ตั้งแต่ดอกบานไปถึงผลเก็บได้คือ 90 วันมังคุดเป็นพืชอาศัยช่วงแล้งอย่างน้อย 45 วันถึงจะแทงช่อดอก ถ้าไม่กระทบแล้งมังคุดจะออกดอกยากมากต้องอาศัยแล้งต่อเนื่องจะออกดอกได้ดี เพราะช่วงแล้งมังคุดจะสะสมอาหารเต็มที่ ในช่วงที่ออกดอกไม่ต้องการน้ำเลย แต่พอแทงช่อดอกแล้วได้น้ำเท่าไหร่ก็ไม่กลัว ฤดูกาลจริงก็เริ่มตั้งแต่ มีนาคม-พฤษภาคม เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายมิถุนายน – สิงหาคม เพราะระยะการเก็บมังคุดที่เริ่มเก็บได้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกับ 10 วัน (40วัน) ถ้าหมดก็รอรอบปีหน้าแต่ละปีจึงมีฤดูกาลแค่ครั้งเดียว
การรับซื้อจากสมาชิกให้ “การประมูล” เป็นตัวกำหนดราคา
กำลังการรวบรวมมังคุดจากสมาชิกสามารถรับมังคุดในพื้นที่ตำบลท่ามะพลาได้อย่างไม่จำกัดแต่ไม่มีกำลังพอที่จะรับผลผลิตจากตำบลอื่นเฉลี่ยในแต่ละรอบปีสามารถรวบรวมมังคุดได้ประมาณ 800 ตัน/ปี จากสมาชิก 186 ราย ในรอบปีนี้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.57 – 15 สิงหาคม 57 สามารถรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกมาได้แล้วจำนวน 1,030ตัน ซึ่งเมื่อรวบรวมมาแล้วก็จะแยกแยกเป็นเบอร์ให้พ่อค้าหรือตัวแทนจากบริษัทเข้ามาประมูลส่วนมากก็จะเป็นพวกบริษัทที่ส่งออกทั้งหลายราคาประมูลจะออกตอนหลัง 18.00 น.ของทุกวัน ถ้าเกษตรกรมีผลผลิตก็ต้องมาก่อน 18.00 น. หรือถ้ามาไม่ทันก็ต้องแจ้งยอดเข้ามาเพื่อให้ผู้ประมูลรู้ปริมาณที่แน่นอนว่ามีเท่าไหร่ ในการประมูลไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำ ราคาขึ้นอยู่กับตัวแทนและความต้องการของตลาดถ้าตลาดต้องการสูงคนซื้อเขาก็ให้ราคาที่สูงขึ้นได้ แต่ถ้าราคาปลายทางต่ำ ก็จะยื่นราคาต่ำลงมา เป็นกลไกของตลาด ราคา ณ ตอนนี้ ถ้าเป็นมังคุดเบอร์ 1 ราคา 70 บ./กก. ถ้าเป็นราคาข้างนอกที่ไม่ได้มีการรวมกลุ่มกันก็ซื้อแบบไม่ได้แยกเกรดเทรวมราคาประมาณ 22 บาท/กก.
คัดเกรดมังคุดก่อนส่งจำหน่ายทั้งสิ้น 6 ประเภท แพงสุดเกือบ 70 บาท./กก.
มังคุดที่รับมาจากสมาชิกจะมีการคัดแยกมาแล้วเบื้องต้นพอมาถึงที่วิสาหกิจก็จะมีการตรวจสอบคุณภาพกันอีกครั้งซึ่งการจำแนกประเภทนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ลักษณะราคาที่จะประมูลก็แตกต่างกันไปดังนี้ (ราคา ณ วันที่ 15/8/57)
เบอร์ 1 น้ำหนักตั้งแต่ 90 กรัมขึ้นไป ลักษณะผิวจะมัน หัวมีสีเขียวๆ (เรียกว่ามันใหญ่) ราคา 67.99 บ./กก.
เบอร์ 2 น้ำหนักเท่ากับ เบอร์ 1 แต่ประเภทจะติดลายได้แต่ต้องไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ (ผิวมันหัวเขียวเหมือนกัน)ราคา 54.99 บ./กก.
เบอร์ 3 ผิวมันผิวเขียวเหมือนกันแต่น้ำหนักตั้งแต่ 56 -89 กรัม แต่ห้ามติดลาย (เรียกว่ามันเล็ก) ราคา 56.99 บ./กก.
เบอร์ 4 น้ำหนักประมาณ 56 กรัมขึ้นไป เป็นพวกหูแดง ผิวกาก ลายเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ขั้วหัก หูไม่ครบ (ข้างนอกเรียกว่าเป็นมังคุดคละ) หลุดจาก เบอร์ 1 เบอร์2 เบอร์3 ก็จะอยู่เบอร์นี้ แต่ทั้ง 4 เบอร์นี้จะไม่ติดสีดำราคา 30.39 บ./กก.
เบอร์ 5 (เบอร์ดอก) น้ำหนักตั้งแต่ 55 กรัมลงมา ราคา 17.69 บ./กก.
เบอร์ดำ คือทุกลูกที่มีสีดำ ขนาดไม่เกี่ยว ราคา 8.26บ./กก.
ที่ราคาในทุกประเภทมีเศษสตางค์เพราะเป็นราคาประมูลซึ่งบางทีผู้ประมูลก็เอาชนะกันที่เศษสตางค์ ถ้าราคาเท่ากันใครยื่นก่อนก็ชนะ แต่ละวันก็มีคนยื่นประมาณ 10-12 รายเป็นบริษัทที่ส่งออกโดยเฉพาะ
การจ่ายเงินให้สมาชิก
หลังจากหักจากสมาชิก 1 บาท./กก. แล้ว เมื่อจำหน่ายผลผลิตไปแล้วบริษัทก็จะโอนเงินเข้าบัญชีหรือจ่ายสดมา สมาชิกก็ต้องเปิดบัญชีธนาคาร แล้วทางวิสาหกิจก็จะโอนเงินผ่านบัญชีโดยที่ไม่ได้จ่ายเงินสดและถ้าประมูลวันนี้พรุ่งนี้เกษตรกรก็จะได้รับเงินโอนทันที ราคาตรงนี้ถ้าไม่ได้รวมกลุ่มราคาขายในตลาดถูกกว่า แบบครึ่ง/ครึ่ง ค่าเฉลี่ยปีนี้ราคาทุกลูกทุกเบอร์ของวิสาหกิจชุมชนอยู่ประมาณ 30 บ/กก. ถ้าเกษตรกรมีมังคุด 10 ตันก็จะมีรายได้ประมาณ 300,000เป็นขั้นต่ำๆแน่นอน
จีน–เกาหลี ตลาดใหญ่มังคุดผิวมัน
ส่วนใหญ่เป็นตลาดการส่งออกถ้าอยู่ในประเทศก็จะเป็นเบอร์ดอกกับเบอร์ดำ ตลาดใหญ่คือ จีน เกาหลี ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ มีไปยุโรปได้บ้าง ทิศทางเติบโตไปได้ดีมาก ตลาดต้องการสูงแต่เกษตรกรไม่สามารถทำตามคุณภาพที่ตลาดต้องการได้ ทุกวันนี้มังคุดผิวลายยังมีมากปแต่ความต้องการในตลาดคือมังคุด “ผิวมัน” ถ้าทุกคนทำตามวิธีการที่ได้แนะนำไปก็จะได้ผิวมันแน่นอน เกษตรกรบางคนไม่ได้เข้ากลุ่มก็ทำตามธรรมชาติก็เป็นผิวลาย ซึ่งด้อยคุณภาพตลาดไม่ต้องการ มองภาพรวมคนที่จะปลูกเพิ่มในพื้นที่คงไม่เพิ่มขึ้นมากนักเพราะจำกัดเรื่องพื้นที่ เมื่อก่อนที่ราคาตกต่ำบางคนก็โค่นทิ้งไปปลูกอย่างอื่น แต่กลับมาปลูกใหม่ก็ไม่ได้เพราะมังคุดต้องใช้เวลา แต่คนที่ปลูกอยู่แล้วก็น่าจะเข้ามาอีกแต่ไม่น่าจะเพิ่มมากเพราะที่เข้ามาก็แทบครบทุกคนแล้วก็กลายเป็นว่าในตำบลอื่นเริ่มจะมาเรียนรู้งานจากท่ามะพลามากขึ้นแล้วเมื่อกลับไปก็จะไปเปิดเป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการในขณะนี้อำเภอหลังสวนตอนนี้มี 13 ตำบล มีกลุ่มเกิดขึ้น 8 กลุ่มแล้วเป็นมังคุดล้วน ๆ มังคุดในชุมพรปีนี้ราคาแทบไม่ตกต่ำเลย ดังนั้นข่าวปิดถนนประท้วงเหมือนที่อื่นที่ชุมพรแห่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน
ฝากข้อคิดการรวมกลุ่มสร้างพลังให้กับเกษตรกรไทย
การรวมกลุ่มนั้นมีประโยชน์มากที่สุดนอกจากจะได้อำนาจต่อรองในเรื่องราคา ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้เท่าเทียมกัน สามารถลดต้นทุนการผลิตเพราะมีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือในบางส่วน ที่สำคัญเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทุกวันนี้ทางวิสาหกิจแห่งนี้ได้ถูกยกย่องให้เป็น “ท่ามะพลาโมเดล” สำหรับเป็นศูนย์การศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจ ประโยชน์ด้านอื่นนอกจากกลไกราคาก็เป็นเรื่องของการยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทยให้สู้ในเวทีโลกได้ดียิ่งขึ้น ได้ประโยชน์ร่วมกันหลายฝ่ายประเทศชาติก็มีรายได้มากขึ้นจากการส่งออก บริษัทส่งออกก็ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพเอาไปทำตลาดได้มากขึ้น เกษตรกรเองก็มีรายได้มากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องราคา การรวมกลุ่มนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นมังคุดเท่านั้นผลไม้ชนิดอื่นก็ทำตามได้เพียงแต่ต้องตั้งใจ ทำจริง ถ้าทำได้วงการผลไม้ไทยจะเติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่อีกมากมายทีเดียวครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก…. คุณสมพงษ์ จินาบุญ
และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา
ตอนที่ 1 มังคุด ผิวมัน ท่ามะพลา ราชินีไม้ผลในเกาหลีและจีน
tags: การปลูกมังคุด น้ำมังคุด มังคุด เปลือกมังคุด มังคุด สรรพคุณ ผลไม้ส่งออก การปลูกมังคุด น้ำมังคุด มังคุด เปลือกมังคุด มังคุด สรรพคุณ ผลไม้ส่งออก การปลูกมังคุด
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]