ทีมงานเมืองไม้ผล ลัดเลาะจากแยกอัมพวามาตามถนนผลไม้ เลี้ยวเข้าสาย สส.4004 ถนนผลไม้แควอ้อม-เหมืองใหม่ เลยวัดเหมืองใหม่ไป 500 เมตร จะมาเจอกับ สวนลิ้นจี่ กำนันสวัสดิ์ ของ คุณธัญญาธรรค์ เพ็งอุดม ซึ่งเป็นรุ่นลูก รับช่วงต่อจากรุ่นพ่อที่เป็นกำนัน
สวนกำนันสวัสดิ์เป็นสวนหนึ่งที่เปิด สวนลิ้นจี่ ให้ ชมฟรี พร้อมกับชิมฟรี! อีกด้วย และเป็นสวนสาธิตแปลงแรกของจังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มตั้งแต่ปี 2511 ในสมัยนั้นทำแปลงสาธิตอยู่ 3 แปลง มีต้นลิ้นจี่ประมาณ 20 กว่าต้น และมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกลิ้นจี่เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเริ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกร สวนลิ้นจี่ ขึ้น ลิ้นจี่พันธุ์แรกที่ปลูก คือ พันธุ์ค่อม ตามมาด้วยพันธุ์กะโหลก และพันธุ์สำเภาแก้ว
การปลูกลิ้นจี่
ลิ้นจี่เป็นไม้ยืนต้น จัดอยู่ในตระกูล Sapindaceae เป็นไม้กึ่งเมืองหนาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Litchi Chinensis และมีชื่อสามัญว่า Litchi ถิ่นกำเนิดของลิ้นจี่สมุทรสงครามมีหลักฐานยืนยันได้ว่ามาจากประเทศจีนตอนล่าง
สันนิษฐานว่าลิ้นจี่เข้ามาในประเทศไทยโดยทางเรือ ซึ่งมีพ่อค้าชาวจีนได้นำผลลิ้นจี่เข้ามาขาย หรือนำมาฝากญาติพี่น้องชาวจีนด้วยกัน ที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำแม่กลองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งในขณะนั้นแม่กลองเป็นเมืองหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี หรือที่ทำการของมณฑลจังหวัดราชบุรีในสมัยนั้น
สายพันธุ์ลิ้นจี่
เป็นเรื่องที่แปลกว่าลิ้นจี่เมืองไทยมีแหล่งปลูกอยู่ 2 แห่ง คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และภาคกลางตอนล่าง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ลิ้นจี่ที่ปลูกต่างพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และสภาพพื้นที่ ที่ปลูก โดยเฉพาะดิน
ลิ้นจี่ที่ปลูกครั้งแรกพบว่ามีการปลูกตั้งแต่ พ.ศ.2340 ที่ตำบลบางสะแก อ.บางคนที และที่ตำบลเหมืองใหม่ อ.อัมพวา และยังมีต้นลิ้นจี่ที่มีอายุถึง 200 ปี ให้เห็นในทุกวันนี้
พันธุ์ลิ้นจี่ที่นิยมปลูกกันมากจนทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดสมุทรสงคราม คือ “พันธุ์ค่อมลำเจียก” เป็นพันธุ์ที่ติดดอก ออกผล ได้ โดยไม่ต้องการอากาศที่หนาวเย็นมากนัก และยังมีพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย เช่น กะโหลก สำเภาแก้ว และสาแหรกทอง เป็นต้น
ลักษณะเด่นของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม
ด้วยสภาพพื้นดินของจังหวัดสมุทรสงครามมีความสมบูรณ์ ทำให้ลิ้นจี่มีรสชาติดี โดยเฉพาะลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงเข้ม เปลือกแข็ง ตุ่มค่อนข้างแหลม เปลือกด้านในจะมีสีชมพู มีกลิ่นหอม หวาน เนื้อแห้ง ร่อนไม่ติดเมล็ด เนื้อสีขาว หรือขาวนวล เมล็ดเล็ก บ่าของผลกว้างสวยเป็นรูปหัวใจ รสชาติเข้มจัด หวานนำ เปรี้ยวตามเล็กน้อย กลมกล่อมพอดี
นับเป็นเวลากว่า 100 ปี ที่ชาว สวนลิ้นจี่ สมุทรสงครามสามารถพัฒนาสายพันธุ์ สีสัน รสชาติ จนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความโดดเด่นในแง่ของรสชาติของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ผู้เป็นราชินีแห่งลิ้นจี่เมืองสมุทรสงคราม เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นในภาคกลาง และภาคเหนือ นอกจากนี้โดยที่ลักษณะของต้นลิ้นจี่ของสมุทรสงครามไม่ค่อยสูง เป็นพุ่มให้ผลดก จึงได้ชื่อพันธุ์ว่า “ค่อม” จนถึงปัจจุบัน
- ผลลิ้นจี่จะมีสีแดงสด ค่อนข้างกลม มีลักษณะบ่าสูง
- หนามตั้ง เมื่อลิ้นจี่แก่จัดได้ที่ หนามลิ้นจี่จะไม่แหลมสูง แต่จะมีลักษณะราบลง และอยู่ห่างกัน ไม่เป็นกระจุก
- หนังตึง ลิ้นจี่ที่แก่จัดได้ที่จะมีสีแดงสด ค่อนข้างกลม ไหล่ผลจะสูง ลักษณะของเปลือกบางตึง
- เนื้อเต่ง เนื้อลิ้นจี่จะมีสีขุ่น เนื้อหนากรอบ เนื้อแห้ง ไม่แฉะ มีกลิ่นหอม รสหวาน
- ร่องขาด คำนี้เป็นภาษาของชาวสวน หมายถึง สีของเปลือกด้านในของลิ้นจี่เมื่อปอกเปลือกออกแล้วจะเห็นเป็นสีชมพูตั้งแต่ขั้วผลจนถึงกลางผล จะเป็นลิ้นจี่ค่อมที่มีรสชาติอร่อยที่สุด แต่ถ้าเปลือกด้านในเป็นสีชมพูทั้งผล แสดงว่าลิ้นจี่นั้นแก่จัดเกินไป รสชาติจะอร่อยน้อยลง
ทั้งนี้ลิ้นจี่สมุทรสงครามเมื่อแก่จัดได้ที่จะมีสีเข้มเกือบดำซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของผลไม้ ไม่ใช่ลิ้นจี่ที่ใกล้จะเน่าเสียแต่อย่างใด ดังนั้นผู้บริโภคเห็นว่าลิ้นจี่สมุทรสงครามมีสีเกือบดำ อย่าเข้าใจว่าเป็นของเก่า หรือใกล้เน่าเสีย เพราะถึงแม้เปลือกของลิ้นจี่จะมีสีเกือบดำ แต่ก็ยังรับประทานได้ และมีรสชาติหวานอร่อย
การปลูกลิ้นจี่ จริงจัง แทนการทำน้ำตาลมะพร้าว
การทำแปลงสาธิตของที่นี่ คุณธัญญาธรรค์เล่าว่า อยู่ภายใต้การปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ของกรมกสิกรรมเกษตรจังหวัด และผู้ว่าของสมัยนั้น และมีการรวบรวมพันธุ์ลิ้นจี่ที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสงครามได้ประมาณ 20 กว่าสายพันธุ์ แล้วนำมาทดลองปลูกดู ลักษณะสายพันธุ์ดี ปรากฏว่าลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเป็นพันธุ์ที่เหมาะสม และสามารถออกผลผลิตได้ดีที่สุด จึงนิยมปลูกกันทั่วไป
จากต้นลิ้นจี่ที่ชาวบ้านปลูกกันในสมัยก่อนบ้านละ 1-2 ต้น เพราะพื้นที่ในเขตอำเภออัมพวาเป็นพื้นที่ของคนในรั้ว ในวัง ซึ่งชาวบ้านแถวนี้เข้าใจว่าเมล็ดลิ้นจี่ถูกนำมาปลูกจากคนในวัง เพราะเมื่อสมัยนั้นเป็นผลไม้ที่มีราคาแพง และเป็นผลไม้ชั้นสูง พวกเหล่าขุนนาง หรือผู้ที่ยศศักดิ์ถึง จะได้กินผลไม้ชนิดนี้ แต่ในปัจจุบันนี้ลิ้นจี่ก็ยังหากินได้ยาก นอกจากในช่วงฤดูกาลเท่านั้น
“เมื่อก่อนยังไม่มี การปลูกลิ้นจี่ แบบจริงๆ จังๆ แค่มีปลูกกันในบริเวณบ้าน คนละ 1 ต้น 2 ต้น เพราะอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ คือ การทำน้ำตาลมะพร้าว ต้องปีนต้นมะพร้าว เท่าที่ฟังจากพ่อเล่าคนที่ทำน้ำตาลมะพร้าวจะเหนื่อยมาก เพราะต้องปีนต้นมะพร้าว เช้า 1 รอบ เย็นอีก 1 รอบ ทุกวัน หยุดไม่ได้ เพราะตาลจะสุก
โดยเฉพาะหน้าฝนจะอันตรายมาก หลายคนตกลงมาตายก็มี เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกทำแปลงสาธิตใน การปลูกลิ้นจี่ ให้ชาวบ้านดูว่าลิ้นจี่สามารถทำเงินให้เขาได้ ทำเป็นอาชีพได้ ให้ชาวบ้านลดความเสี่ยงในการทำมาหากินได้ในขณะนั้น แถมราคาในสมัยก่อนก็ถือว่าไม่ถูกเลย กิโลกรัม 100 บาท พอๆ กับสมัยนี้ จึงเกิดเป็นอีก 1 อาชีพ ขึ้นมา” คุณธัญญาธรรค์กล่าวอย่างภูมิใจ
การดูแลจัดการภายใน สวนลิ้นจี่
ลิ้นจี่ใช้ระยะปลูกระหว่าง 8×8 เมตร ในพื้นที่ยกร่องขนาดของร่องจะบังคับระยะไว้ 8 เมตร ขุดร่องลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อระบายน้ำเข้าร่องไว้ใช้ตลอดทั้งปี
กิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลูก ควรให้ระดับดินบนภาชนะเพาะชำอยู่เท่ากับระดับดินในแปลง กลบดินโดยรอบ กดให้แน่น หลังจากนั้นให้ไม้หลักที่เตรียมไว้ปักใกล้ๆ กับกิ่งพันธุ์ และผูกเชือกพยุงตัวไว้เพื่อให้ต้นตั้งตรง บังด้วยร่มเงา รดน้ำ แต่ก่อนนำกิ่งพันธุ์ปลูก หลุมที่เตรียมควรใช้ขุยมะพร้าวผสมกับขี้เถ้าแกลบใส่รองก้นหลุมไว้ เพื่อให้กิ่งพันธุ์ที่ปลูกได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอ
การเจริญเติบโตของลิ้นจี่เมื่อมีอายุได้ประมาณ 1 ปี ความสูงจะอยู่ที่ประมาณ 1 คืบ เท่านั้น แต่ถ้าความสูง 1 เมตร ขึ้นไปแล้ว การเจริญเติบโตก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว พออายุได้ประมาณ 5-6 ปี ก็จะสามารถออกผลผลิตให้ได้บริโภคกันได้แล้ว ต้นลิ้นจี่ยิ่งแก่ยิ่งดี เป็นไม้ที่มีอายุยืนนาน ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดี ผลผลิตที่ได้รับในแต่ละปีก็จะดีตามมาด้วย
ผลผลิตที่ได้จะเฉลี่ยตามอายุ และทรงพุ่ม ของลิ้นจี่ 1 ต้น อาจสามารถเก็บได้ถึง 300 กิโลกรัม ถ้าเป็นทรงพุ่มใหญ่อาจจะได้ถึง 700-800 กิโลกรัม แต่ทั้งนี้ต้องดูแลรักษาให้ต้นสมบูรณ์
การให้น้ำและปุ๋ยต้นลิ้นจี่
การให้น้ำ ลิ้นจี่เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง หรือพื้นที่มีน้ำแฉะ แต่ลักษณะของดินต้องมีความชื้นอยู่เสมอ ในช่วงที่ต้นลิ้นจี่ยังเล็กควรรดน้ำแบบวันเว้นวัน พอต้นเริ่มโตจนให้ผลผลิตแล้วในหน้าแล้งควรให้น้ำสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง หากฝนตกต้องทำทางระบายน้ำออกจากแปลง ทำบริเวณโคนต้นให้โปร่ง เพราะต้องการความชื้นน้อยในระยะก่อนการออกดอก
เนื่องจากลักษณะการปลูก สวนลิ้นจี่ ของคุณธัญญาธรรค์เป็นแบบยกร่อง เวลาน้ำทะเลขึ้น หรือลง น้ำในร่องจะขึ้นลงตามเช่นกัน คนโบราณจะปล่อยให้น้ำสามารถซึมเข้าไปในดินจนรากลิ้นจี่สามารถดูดน้ำไปใช้ได้ จึงไม่ต้องให้น้ำกับลิ้นจี่ทางผิวดินเลยก็ได้
การให้น้ำจะแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ
- การให้น้ำทางใต้ผิวดิน เป็นการให้น้ำโดยยกระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้นจนถึงระดับที่รากสามารถดูดไปใช้ได้ เช่น การยกร่องปลูก
- การให้น้ำทางผิวดิน โดยการใช้สายยางสปริงเกลอร์ หรือจะเป็นระบบแบบน้ำหยด ซึ่งแล้วแต่ว่า สวนลิ้นจี่ ไหนจะสะดวกการให้ทางผิวดินแบบไหน เพราะแต่ละวิธีการอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่นั้นๆ
การให้ปุ๋ย ที่นี่จะเน้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์ พวกขี้ไก่กับปุ๋ยหมักอัดเม็ด ปีละ 1 ครั้ง ปริมาณที่ใส่ควรให้เหมาะสมกับต้น ไม่มาก ไม่น้อย จนเกินไป หลังจากการใส่ปุ๋ยต้องพรวนดิน รวบชายทรงพุ่ม และรดน้ำให้ชุ่ม
การตัดแต่งกิ่ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตควรทิ้งต้นไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ต้นลิ้นจี่ฟื้นตัวก่อน จากนั้นควรเลือกตัดแต่งกิ่ง โดยดูลักษณะกิ่งที่แห้ง หรือกิ่งที่ฉีกหักก่อน ถ้ากิ่งโตคาดว่าจะไม่ออกดอกอีกก็ให้ตัดชิดโคนกิ่ง ส่วนกิ่งที่ต้องการให้แตกยอดใหม่ให้ตัดเหลือไว้ให้ยาว ต่อไปให้ตัดกิ่งที่ไม่แข็งแรง กิ่งที่อยู่ในทรงพุ่มไม่ออกมานอกทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรค แมลงทำลาย และกิ่งกระโดง โดยตัดให้ชิดโคนกิ่ง แล้วทาแผลด้วยปูนขาว หรือยากันเชื้อรา
การสังเกตผลแก่ของลิ้นจี่ เมื่อผลลิ้นจี่แก่ คือ หลังจากดอกบานประมาณ 4 เดือน หรือสังเกตจากขนาดผลโตเต็มที่ สีของผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีชมพูปนแดง ไหล่ผลกว้างออก ฐานของหนามที่เปลือกจะขยายออก ปลายหนามแหลม ร่องหนามถ่างออกเห็นได้ชัด เนื้อแห้ง กลิ่นหอม รสหวาน เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มเป็นมัน
การเก็บเกี่ยวผลผลิตลิ้นจี่
การเก็บผลผลิตควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่แสงแดดไม่จัด โดยใช้บันไดพาดกิ่งแล้วปีนขึ้นไป ใช้กรรไกรตัดช่อผลลิ้นจี่ ไม่ควรใช้มือหัก เพราะจะทำให้เกิดแผลช้ำ หรือรอยฉีกขาดในกิ่ง มีผลต่อการแตกใบอ่อนในปีต่อไป แล้วนำมาใส่เข่ง หรือภาชนะที่เตรียมไว้ คัดขนาดและบรรจุหีบห่อต่อไป
การเก็บเกี่ยวควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่พอเหมาะประมาณ 2-3 วัน ต่อครั้ง อย่าให้ผลแก่จัดมากเกินไป จะทำให้คุณภาพต่ำ หลังจากเก็บผลผลิตลิ้นจี่จากต้นแล้ว จะขนย้ายมารวมกันในที่ร่ม เพื่อทำการตัดแต่งช่อผล ตัดผลเล็ก ผลลีบ ผลแตก และผลที่มีร่องรอยการทำลายของโรคและแมลงออก รวมทั้งก้านที่ไม่มีผลออกด้วย
การบรรจุลิ้นจี่ควรคัดเลือกผลที่สมบูรณ์ และมีคุณภาพ ตามความต้องการของตลาด หรือผู้บริโภค บรรจุให้เต็มพอดี ไม่แน่น ไม่หลวม เกินไป และไม่ควรบรรจุผลเลยเหนือภาชนะที่บรรจุ เพราะเวลาปิดหรือแพ็คจะทำให้ลิ้นจี่ด้านบนได้รับความเสียหาย
โรคและแมลงที่สำคัญในลิ้นจี่
- ไรลิ้นจี่หรือกำมะหยี่ ไรชนิดนี้ตัวมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ทำลายพืชโดยดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้พืชสร้างขนสีน้ำตาลขึ้นที่ผิวด้านใต้ใบ และบริเวณที่ถูกดูดกินใบจะหงิกงอโป่งพอง
- หนอนเจาะลำต้น ตัวหนอนจะเจาะลำต้น กิ่ง ทำให้กิ่งผุ และตายในที่สุด
- ผีเสื้อมวนหวาน เป็นผีเสื้อชนิดที่เข้าทำลายผลไม้ในเวลากลางคืน จะเข้าทำลายเมื่อลิ้นจี่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ โดยใช้งวงปากเจาะผล และดูดน้ำหวานในผลลิ้นจี่ ทำให้ผลเน่าและร่วงได้
- หนอนคืบกินใบ จะระบาดในช่วงที่ลิ้นจี่แตกใบอ่อน โดยหนอนจะกัดกินใบลิ้นจี่
- โรคราดำ เกิดจากพวกเพลี้ยทำลายมาก่อนแล้วถ่ายมูลไว้
- โรคกร้านแดด เกิดจากใบลิ้นจี่ถูกแดดเผา เนื่องจากแดดร้อนจัด อากาศแห้งในฤดูหนาว ทำให้อัตราการสูญเสียน้ำไม่ได้สัดส่วนกับน้ำที่มีอยู่ในใบ การแก้ไขต้องให้ความชื้น โดยให้น้ำสม่ำเสมอ
- โรคราสนิม จะเกิดเป็นขุยสนิมเหล็กด้านท้องใบ
- โรคราสีชมพู เกิดตามกิ่ง โดยเฉพาะง่ามกิ่ง ทำให้ส่วนยอดแห้งตาย
การกำจัดวัชพืช ควรควบคุมโดยใช้วิธีขุด ถาก ถอน หรือตัด หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะละอองจากสารเคมีอาจจะไปทำลายต้นลิ้นจี่ได้ ถ้าเป็นในช่วงฤดูฝนควรกำจัดวัชพืชเดือนละ 1 ครั้ง หน้าแล้ง 2-3 เดือน ต่อครั้ง เพื่อควบคุมการเกิดที่มากขึ้น
การจำหน่ายลิ้นจี่
ปัจจุบันประเทศไทยมีส่งออกลิ้นจี่ไปยังประเทศจีนเยอะที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาจะเป็นแถบในทวีปยุโรป แต่ละที่จะเลือกคุณภาพไม่เหมือนกัน แต่จะเน้นเรื่องสารตกค้างที่ติดไปกับผลลิ้นจี่ ทำให้คุณภาพของลิ้นจี่ต่ำลง
ในเรื่องของตลาดภายในประเทศ คุณธัญญาธรรค์เผยว่า ราคาจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของลิ้นจี่ในแต่ละสวนลิ้นจี่ ยิ่ง สวนลิ้นจี่ ไหนลิ้นจี่มีความหวาน หอม กรอบ อร่อย ราคาจะยิ่งสูง
ราคาขายส่งออกจาก สวนลิ้นจี่ จะอยู่ที่ประมาณ 40-45 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาที่แม่ค้า พ่อค้า นำไปขายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 75-90 บาท แล้วแต่คุณภาพของลูกลิ้นจี่ แต่ถ้าเป็นราคาขายปลีกที่อยู่ใน สวนลิ้นจี่ จะอยู่ประมาณ 120 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูง และได้ราคาดี
ด้านการตลาดลิ้นจี่
แนวทางการทำตลาดในเชิงท่องเที่ยวการเกษตร ทำให้มีลูกค้ารู้จัก สวนลิ้นจี่ กำนันสวัสดิ์มากมาย อาศัยการบอกปากต่อปาก การประชาสัมพันธ์ทางเฟสบุ๊คก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผู้เข้ามาชม สวนลิ้นจี่ และซื้อลิ้นจี่ติดมือกลับบ้าน สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ
ในรอบ 1 เดือน สวนกำนันสวัสดิ์สามารถเก็บผลผลิตลิ้นจี่จำหน่ายได้ประมาณ 10 ตัน
“ต้นลิ้นจี่ยิ่งโต ปริมาณช่อ ปริมาณลูก ผลผลิตก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย เฉลี่ยตามอายุ ตามทรงพุ่ม ของต้นลิ้นจี่ 1 ต้น อาจจะได้ผลผลิตถึง 300 กิโลกรัม แต่ต้องเลี้ยงต้นไม้ให้สมบูรณ์ ส่วนเรื่องแนวคิดท่องเที่ยวในเชิงเกษตร ผมเป็นเจ้าแรกที่เปิด สวนลิ้นจี่ ให้คนเข้าชิมลิ้นจี่ฟรี
เพราะเมื่อก่อนไม่มีใครทำ เกษตรกรที่นี่ไม่อยากให้ใครเข้าสวน เพราะบางต้นลิ้นจี่ลูกละ 2 บาท กว่าเขาจะได้เก็บก็เกือบ 2-3 ปี แต่ที่สวนผลตอบรับที่ได้จากการเข้ามาเที่ยวชมมันดีกว่าที่เราจะขายหน้าสวน เพราะมีผู้สนใจชมสวน และซื้อกลับไปเป็นจำนวนมาก บอกตรงๆ ผมได้ราคาแพงกว่าที่อื่น ผมขาย 120 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะผมมั่นใจว่าคุณภาพดีพอ ลูกไหนแก่ หรือยังไม่แก่ ผมอธิบายได้หมด” คุณธัญญาธรรค์กล่าวด้วยความภูมิใจ
การปลูกลิ้นจี่ ยังต้องอาศัยความสมดุลของธรรมชาติเป็นผู้ช่วย อากาศหนาวถึงจะติดดอก ติดผล พออากาศเริ่มร้อนก็บ่มให้ลูกสุก รสชาติถึงจะอร่อย
การปลูกพืชอื่นแซม การปลูกลิ้นจี่ เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนอยู่ตลอด
การปลูกลิ้นจี่ ส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่จะปลูกพืชแบบผสมผสานกันไป เพราะลิ้นจี่จะให้ผลผลิตแค่ปีละ 1 ครั้ง จึงต้องปลูกพืชอื่นแซมเพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนอยู่ตลอด คุณธัญญาธรรค์มีพื้นที่อยู่ 11 ไร่ แบ่งปลูกไม้ผลชนิดอื่นๆ เป็นแบบผสมผสาน อาทิเช่น การปลูกลิ้นจี่ ส้มโอ และมะยงชิด เป็นหลัก
ในการสร้างรายได้ แต่จะมีไม้ผลอื่นๆ บ้างที่ปลูกแซมกันไป ได้แก่ มะนาว กระท้อน มะม่วง กล้วยไข่ ชมพู่ มะเหมียว และอื่นๆ เพราะสภาพแวดล้อมดินและน้ำของที่นี่เมื่อปลูกผลไม้ชนิดใดแร่ธาตุสารอาหารจะทำให้ต้นไม้มีความเจริญเติบโตดี และในเรื่องของรสชาติทำให้เป็นที่ถูกปากผู้บริโภคอีกด้วย
เนื่องจากจังหวัดสมุทรสงครามมีสภาพดินและน้ำที่มีแร่ธาตุเหมาะสำหรับปลูกผลไม้ ให้มีรสชาติอร่อย ถูกปากคนกิน
- ดิน เป็นดินตะกอนปากแม่น้ำที่เกิดจากการสะสมแร่ธาตุจากน้ำในภูเขา ซึ่งพัดพาพวกฮิวมัส แร่ธาตุต่างๆ ลงมาจากต้นน้ำ
- น้ำ จะเป็นจุดศูนย์รวมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะเรียกว่า “เมืองสามน้ำ” คือ น้ำเค็ม เวลาน้ำทะเลหนุนสูง น้ำในแม่น้ำแม่กลองจะกลายเป็นน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด เวลาน้ำทะเลลดระดับลง น้ำในแม่กลองจะกลับเป็นน้ำจืด เช่น แม่น้ำปกติ การปลูกลิ้นจี่ การปลูกลิ้นจี่ การปลูกลิ้นจี่ การปลูกลิ้นจี่ การปลูกลิ้นจี่ การปลูกลิ้นจี่ การปลูกลิ้นจี่
การเป็นเมืองสามน้ำทำให้เกิดมีพรรณไม้ยืนต้น และเป็นพุ่มต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการปลูกผลไม้ต่างๆ แล้วยังสร้างรสชาติทำให้ผลไม้ที่ปลูกมีความอร่อยอยู่ในตัวอีกด้วย
“จุดเด่นของอัมพวา คือ ดิน เพราะดินมีแร่ธาตุอาหารมาก หากนำลิ้นจี้อัมพวาไปปลูกที่ปากช่อง เมืองกาญ สวนผึ้ง จันทบุรี ถึงจะเป็นลิ้นจี่จากอัมพวาไปปลูกพื้นที่ไหนน้ำก็นิ่ง คือ แร่ธาตุในดินของอัมพวาจะทำให้ผลไม้เนื้อแห้ง ที่สำคัญจะมีโปแตสเซียมในดิน ทำให้เนื้อผลไม้อร่อย
ผมฟังจากหน่วยงานเกษตร ถ้าเราเจาะดินลงไปประมาณ 15-20 เมตร จะเจอชั้นเกลือ เพราะที่นี่เคยเป็นหาดชายเลนมาก่อน แสดงให้เห็นว่าตรงนี้มันเป็นหาด เป็นชายเลน มันเลยเป็นที่มาของการสะสมอาหารแร่ธาตุต่างๆ ทำให้ปลูกผลไม้ที่นี่แล้วมีรสชาติอร่อย นอกจากลิ้นจี่แล้วผมยังปลูกส้มโอและมะยงชิดได้อร่อยอีกด้วย” คุณธัญญาธรรค์กล่าว
ท่านผู้ใดสนใจ การปลูกลิ้นจี่ ลิ้นจี่อัมพวาสามารถเข้ามาชมและชิม หรือซื้อเป็นของฝากกันได้ ที่สวนกำนันสวัสดิ์ ติดต่อได้ที่ คุณธัญญาธรรค์ เพ็งอุดม 48 ม.2 ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 75110 โทร.08-1995-5961