การปลูกเสาวรส
“เสาวรส” เป็นพืชตัวหนึ่งของโครงการหลวงที่นำมาทดลองปลูกให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยในเรื่องของการลดการเผาพื้นที่ แนวทางแก้ไขจึงต้องการให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ยืนต้น เช่น ไม้ผล แทน ดังนั้นเสาวรสจึงเป็นพืชที่ถูกเลือกในการส่งเสริมให้เกษตรกรแถบอำเภอแม่จริมทดลองปลูก เพราะสามารถให้ผลผลิตเร็ว ดูแลง่าย และตลาดมีความต้องการสูง
คุณนงลักษณ์ ไชยมงคล เจ้าหน้าที่โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม ได้กล่าวถึงผลของเสาวรสว่า เป็นผลไม้ชั้นดี คุณภาพสูง ทั้งรสชาติ และคุณประโยชน์ นิยมนำมาใช้ปรุงแต่งอาหารได้หลายชนิด เช่น เครื่องดื่ม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และตลาดของคนที่สนใจในเรื่องสุขภาพ
ปัจจุบันปริมาณการผลิตจากไร่เสาวรสยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ผู้บริโภคต่างมีความต้องการสูง ทั้งแบบทานสดจากผล ทานน้ำ และแปรรูปต่างๆ
การปลูกเสาวรส หรือภาษาต่างถิ่นอาจเรียกว่า “กระทกรก” passion fruit มีเข้ามาปลูกในประเทศไทย เป็นผลไม้หนึ่งในโครงการหลวงตั้งแต่สมัยโครงการหลวงยุคแรกๆ เป็นพืชที่ปลูกง่าย และได้ผลผลิตดี ในพื้นที่สูงเท่านั้น ซึ่งทำให้พื้นที่เพาะปลูกของไทยมีขีดจำกัด แม้จะเป็นพืชปลูกง่าย แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ราบก็จะได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แต่ถึงอย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคเหนือเสาวรสเป็นพืชที่ช่วยในการลดการเผาพื้นที่ของเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรแถบพื้นที่สูงมิใช่น้อยในแต่ละปีอีกด้วย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตเสาวรสหวาน
เสาวรสหวานจะเก็บเกี่ยวได้เมื่อผลมีอายุประมาณ 50-70 วัน หลังจากดอกบาน โดยพิจารณาจากลักษณะของผิวผลที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมม่วงแล้วประมาณ 70-80% โดยทั่วไปแล้วจะทำการเก็บเกี่ยวทุก 2-3 วัน วิธีการเก็บเกี่ยวใช้กรรไกรตัดขั้วผลจากต้นให้สั้นติดผล แล้วจึงนำไปบ่ม
การบ่มผลเสาวรสหวานเป็นการทำให้ผิวผลมีสีสวยขึ้น โดยนำผลที่เก็บมาคัดสี และขนาด ตามขั้นมาตรฐาน ทำความสะอาดผิวผลโดยเช็ดด้วยผ้าสะอาดและแห้ง ผึ่งไว้ในที่ระบายอากาศได้ดีเพื่อให้ผิวผลแห้ง
จากนั้นนำไปบ่มโดยใช้ตะกร้าพลาสติกหรือเข่งไม้ไผ่ที่รองด้านในด้วยผ้าสะอาดที่สามารถซับน้ำและเก็บความร้อนได้ เช่น ผ้าห่ม หรือผ้าขนหนู ปิดทิ้งไว้ 4-5 วัน ผลผิวจะเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงแดงเข้มขึ้น และส่งจำหน่ายได้
รายได้จากผลผลิตเสาวรสหวาน
เกษตรกรผู้ปลูกเสาวรสหวานในเขตอำเภอแม่จริมนั้นมีประมาณ 30 กว่าราย แต่ที่ให้ผลผลิตแล้วมีประมาณ 20 กว่าราย โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมปลูกเสาวรสหวานอย่างน้อยประมาณ 3 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่พออยู่ พอกิน
1 ต้น ของเสาวรสหวานจะสามารถมีผลผลิตได้ประมาณ 50-60 กิโลกรัม เมื่อปลูกได้ประมาณ 6-7 เดือน ผลผลิตก็มีให้เก็บจำหน่าย
ในแต่ละปีเกษตรกรผู้ปลูกเสาวรสหวานจะสามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋าให้กับครอบครัวเป็นจำนวนเงินหลาย 100,000 บาท เพราะการเก็บเสาวรสหวานในแต่ละอาทิตย์จะเฉลี่ยรายได้ประมาณ 12,000 บาท ถ้ารวมเป็นเงินที่ได้รับต่อเดือนจะประมาณ 50,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดีสำหรับเกษตรกรในพื้นที่นั้นอีกด้วย
ด้านการตลาดเสาวรสหวาน
ตลาดที่เข้ามารับซื้อผลผลิตจะมีที่โครงการหลวง และพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อโดยตรงจากสวนเกษตรเอง ซึ่งราคาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเกรด และผลผลิต
การที่เกษตรกรนำผลผลิตไปจำหน่ายให้โครงการหลวง จะมีข้อเสียตรงที่ผลเสาวรสหวานกว่าจะถึงที่จำหน่ายก็จะเกิดการเหี่ยวซะก่อน เมื่อจำหน่ายอาจไม่ได้ราคาเท่าที่ควร แต่การนำผลผลิตไปส่งที่โครงการหลวง ถ้าผลผลิตมีคุณภาพราคาก็จะสูงตามไปด้วย
แต่การที่มีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงสวน ราคาที่จำหน่ายอาจจะน้อยกว่าโครงการหลวง แต่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องผลเหี่ยว เพราะพ่อค้า แม่ค้า รับซื้อหมด ตามเกรดของเสาวรสหวานขนาดต่างๆ ถ้าเป็นเกรด A จะได้ราคา 40 บาท/กิโลกรัม เกรดต่ำสุด (ลูกเล็ก) ราคาจะอยู่ที่ 10 บาท/กิโลกรัม แต่หากเหลือเสาวรสหวานตกเกรดในปริมาณที่เยอะ ก็จะนำมาทำน้ำเสาวรสแปรรูปจำหน่ายต่อไปได้
ลักษณะสายพันธุ์ของเสาวรส
โดยทั่วไปแล้วเสาวรสแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดผลสีม่วง และชนิดผลสีเหลือง โดยแต่ละชนิดมีลักษณะดังนี้
1.เสาวรสชนิดผลสีม่วง (Passiflora edulis L.) จะมีผลผิวเป็นสีม่วง เมื่อผลแก่ผลมีลักษณะกลมเหมือนรูปไข่ ผลสุกมีรสหวาน และกลิ่นหอมกว่าเสาวรสชนิดผลเหลือง เสาวรสชนิดนี้มีพันธุ์สำหรับแปรรูป และพันธุ์สำหรับรับประทานผลที่มีรสชาติหวาน ซึ่งต่อมาโครงการหลวงเรียกว่า “เสาวรสหวาน”
มูลนิธิโครงการหลวงคัดเลือกได้เสาวรสหวาน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เบอร์ 1 และเบอร์ 2 แต่ปัจจุบันได้ส่งเสริมปลูกเป็นการค้าเฉพาะพันธุ์เบอร์ 2 เท่านั้น เพราะมีลักษณะเด่นกว่า คือ มีความหวาน 17-18 บริกซ์ นอกจากนี้ยังมีเปลือกผลไม่บางเกินไป ทำให้อายุการวางจำหน่ายนานขึ้น
2.เสาวรสชนิดผลสีเหลือง (P.edulis F.flavicarpa) จะมีลักษณะผลเป็นสีเหลือง มีขนาดใหญ่กว่าชนิดผลสีม่วง เนื้อในให้ความเป็นกรดสูงกว่าชนิดผลสีม่วง จึงมีราคาเปรี้ยวมาก และนิยมใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปทำน้ำผลไม้
ต้นของเสาวรสชนิดนี้จะมีความทนทานต่อโรค ต้นเน่า เถาเหี่ยว โรคไวรัส และไส้เดือนฝอย มากกว่าสายพันธุ์สีม่วง จึงนิยมใช้เป็นต้นตอสำหรับเปลี่ยนพันธุ์เป็นเสาวรสหวาน
การปลูกเสาวรส นั้นแตกต่างจาก การปลูกเสาวรส พันธุ์เปรี้ยว (พันธุ์แปรรูป) คือ ต้องรักษาให้ผลผลิตมีคุณภาพ และรสชาติที่ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากพันธุ์เดิม จึงต้องปลูกด้วยเมล็ดที่ได้จากการเปลี่ยนยอดพันธุ์ ต่างจากเสาวรสพันธุ์แปรรูปที่สามารถปลูกได้โดยใช้ต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด
โดยปกติแล้วเสาวรสหวานมีอายุยาวนานหลายปี แต่การปลูกเป็นการค้านั้นจะคำนึงถึงคุณภาพ และผลผลิต และผลตอบแทนที่เหมาะสม เมื่อต้นของเสาวรสมีอายุมากขึ้นจะถูกทำลายจากโรคไวรัสอย่างรุนแรง จึงนิยมปลูกแค่ 3 ปี เท่านั้น
ขั้นตอน การปลูกเสาวรส
ระบบการปลูกจึงมี 2 แบบ คือ เก็บเกี่ยว 1 ฤดูกาล และเก็บเกี่ยว 2-3 ฤดูกาล ต่อการปลูก 1 ครั้ง แต่ระบบที่แนะนำให้เกษตรกรใช้ในปัจจุบัน คือ แบบเก็บเกี่ยว 2-3 ฤดูกาล เนื่องจากในปีแรกต้นเสาวรสหวานยังให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก เพราะนอกจากค่าปัจจัยการผลิตแล้วต้องมีการลงทุนทำค้างเพิ่ม และจะได้ผลตอบแทนอย่างเต็มที่ในปีที่ 2 อย่างไรก็ตามโครงการหลวงกำลังพัฒนาระบบการปลูกแบบ 1 ฤดูกาล ที่เหมาะสำหรับประเทศไทย
ธรรมชาติของเสาวรสหวานจะออกดอกบนเถาใหม่ที่เจริญเติบโตเมื่อถึงฤดูเจริญเติบโตในฤดูร้อน จากนั้นจะเริ่มให้ผลผลิตได้ประมาณเดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ การปลูกเสาวรส หวานจึงมีขั้นตอนและการปฏิบัติดูแลรักษาดังนี้
1.การเลือกและเตรียมพื้นที่ปลูก
พื้นที่ที่เหมาะสมกับ การปลูกเสาวรส หวานให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ คือ พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,000 เมตร มีแสงแดดจัด และที่สำคัญต้องมีแหล่งน้ำ อย่างไรก็ตามเสาวรสหวานสามารถปลูกในพื้นที่ต่ำ โดยใช้น้ำฝนได้ แต่การให้ผลผลิตจะลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเปลือกของผลจะบาง และสีผิวของผลจะจางลง
การเตรียมพื้นที่ปลูกเสาวรสหวาน ถ้าพื้นที่ไม่ลาดชันควรไถพรวน และหว่านปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ แต่ในกรณีที่พื้นที่สูง มีความลาดชัน ไม่ควรไถพรวน ให้กำจัดวัชพืชออกเท่านั้นพอ ขุดหลุมปลูกขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ระยะปลูก 4×4 เมตร (100 ต้น/ไร่) และควรให้หลุมปลูกอยู่บริเวณแนวเสาค้าง เพราะจะทำให้สะดวกในการปฏิบัติงานภายในแปลง
2.การปลูก
การปลูกเสาวรส หวาน ไม่ว่าจะปลูกด้วยต้นตอ หรือต้นพันธุ์ดี จะต้องให้ระดับผิวของวัสดุปลูกอยู่ในระดับเดียวกับระดับผิวดินที่กลบหลุมปลูก หลังจากปลูกต้นกล้าแล้วควรให้น้ำและปักหลักสำหรับผูกยึดเถาสูงถึงระดับข้าง เพื่อช่วยให้ต้นเจริญเติบโตได้เร็ว
การปลูกเสาวรส หวานด้วยต้นพันธุ์ดีที่มีอยู่ในช่วงเดือนมกราคม เป็นเวลาที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะช่วยให้ต้นเสาวรสเติบโตได้รวดเร็ว แต่ระยะนี้มักจะขาดน้ำ และมีการระบาดของแมลงต่างๆ ที่เป็นพาหะของโรคไวรัส จึงต้องมีการดูแลรักษาที่ดี
3.การทำค้าง
เสาวรสหวานเป็นไม้ผลเถาเลื้อยที่ต้องทำค้างรองรับ โดยค้างต้องแข็งแรง และใช้งานได้นาน 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการปลูกแบบเก็บผลผลิต 1 หรือ 2-3 ฤดู โดยต้องทำค้างก่อนปลูก เพราะจะสะดวกในการทำค้าง และสามารถจัดทรงต้นได้ทันทีที่ปลูก การทำค้างหลังปลูกจะทำให้ไม่สะดวกต่อการทำงาน และเกิดการเสียหายกับต้นได้ ค้างเสาวรสหวานที่แนะนำให้ใช้ในปัจจุบันมี 3 แบบ คือ แบบเป็นผืน แบบแนวรั้ว และแบบตัวเอ ซึ่งแต่ละแบบมีความเหมาะสมในการใช้ต่างกัน
4.การให้ปุ๋ย
เสาวรสหวานจะออกดอกได้ผลผลิตเกือบตลอดทั้งปี จึงจำเป็นต้องได้รับปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี การได้รับปุ๋ยที่ไม่ถูกต้องและเพียงพอจะมีผลทำให้คุณภาพและรสชาติของผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน ปุ๋ยที่ใช้ใน การปลูกเสาวรส หวานมี 2 ชนิด คือ
4.1 ปุ๋ยอินทรีย์ มีประโยชน์ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ต้นเสาวรสแข็งแรง และลดความรุนแรงของโรคไวรัส ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ โดยครั้งแรกใส่พร้อมกับการไถพรวน เตรียมดิน หรือเตรียมหลุมปลูก และใส่เพิ่มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในช่วงตัดแต่งกิ่งเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวจำนวน 10 กิโลกรัม ต่อต้น
4.2 ปุ๋ยเคมี เป็นปุ๋ยที่มีความสำคัญต่อเสาวรสหวานเช่นกัน ต้องให้อย่างต่อเนื่อง ครั้งละจำนวนน้อย แต่ให้บ่อยครั้ง เพราะเสาวรสหวานมีการให้ผลผลิตเกือบตลอดปี และพื้นที่สูงยังมีปัญหาการชะล้างของน้ำฝน ทำให้เกิดการสูญเสียของปุ๋ยได้ง่าย อัตราใช้ปุ๋ยเคมีที่แนะนำ คือ 150-200 กิโลกรัม ต่อไร่ต่อปี
5.การให้น้ำ และการกำจัดวัชพืช
เสาวรสหวานสามารถปลูกโดยใช้น้ำฝนได้ แต่การปลูกแบบให้น้ำจะให้ผลผลิตและผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า จึงต้องมีการให้น้ำในฤดูแล้ง โดยสังเกตจากความชื้นในดิน เสาวรสหวานมีระบบรากตื้นและกระจายไปทั่วแปลง การให้น้ำที่ดีควรเป็นวิธีที่ทำให้ได้รับน้ำทั่วถึงทั้งแปลง เช่น สปริงเกลอร์ หรือรดด้วยสายยาง โดยปกติแล้วในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำทุกๆ 7 วัน
สำหรับการกำจัดวัชพืชนั้นต้องทำอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นยังเล็ก เมื่อเถาเจริญเติบโตเต็มค้างแล้ว วัชพืชจะเกิดน้อยลง เพราะใต้ค้างมีร่มเงา การกำจัดวัชพืชควรใช้วิธีการตัด หรือถอน ส่วนการพ่นด้วยสารเคมีสามารถทำได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังเป็นอย่างมาก ทางที่ดีไม่ควรใช้จะดีกว่า เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อต้นเสาวรสได้
6.การปลิดผล
การออกดอก ติดผล ของเสาวรสนั้นจะเกิดที่ทุกข้อบริเวณโคนก้านใบของกิ่งใหม่ แม้ว่าดอกบางส่วนจะไม่ติดผลแต่ก็ยังจะติดผลมากเกินไปอยู่ ทำให้ผลมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องทำการปลิดผลที่มีคุณภาพต่ำทิ้ง เพื่อให้ผลที่เหลืออยู่มีคุณภาพดี คือ ผลมีขนาดใหญ่ และผิวผลสวย เถาของเสาวรสหวานที่สมบูรณ์จะเจริญเติบโตพร้อมกับออกดอก และติดผลเป็นจุดๆ และเมื่อติดผล 3-4 ผล แล้ว ผลที่ออกต่อไปมักมีขนาดเล็ก เพราะอาหารไม่เพียงพอ จึงต้องปลิดทิ้งบ้าง นอกจากนี้ยังมีผลที่บิดเบี้ยว เนื่องจากการทำลายของโรค หรือแมลง ที่ต้องปลิดทิ้งด้วย ซึ่งการปลิดผลต้องทำตั้งแต่ผลมีขนาดเล็กอยู่ สำหรับเถาที่ขนาดเล็กมักจะไม่เจริญเติบโตต่อไป และใบมีขนาดเล็ก จึงไม่ควรให้ติดผลบนกิ่งมากนัก
7.การตัดแต่งเถา
โดยปกติ เสาวรส หวานจะออกดอกบนกิ่งใหม่ไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของยอด ดังนั้นปริมาณและคุณภาพของผลจึงขึ้นอยู่กับการเกิดของเถาใหม่ คือ ถ้ามีเถาใหม่ที่แข็งแรงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ต้น เสาวรส หวานก็จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เถา เสาวรส จะเลื้อยยืดยาวออกไปตลอดเวลา ทำให้เถาใหม่ที่ติดผลอยู่ไกลลำต้นออกไปเรื่อยๆ จึงได้รับน้ำและอาหารไม่เพียงพอ ผลผลิตจึงคุณภาพต่ำลง การตัดแต่งเถาจึงมีความสำคัญมาก โดยเป็นวิธีการสร้างเถาใหม่ที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำให้ได้เถาใหม่ที่แข็งแรง และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ยาวไกลจากลำต้นเกินไป
7.1 การตัดแต่งกิ่งระหว่างฤดูกาล เมื่อจัดทรงต้นขึ้นค้างหลังจากปลูกแล้ว ต้น เสาวรส หวานจะแตกเถา และติดผล โดยมีเถาแขนงจำนวนมากที่แตกออกจากเถาหลัก เถาเหล่านี้ให้ผลผลิต และต่อมาจะแน่นทึบ เริ่มแก่ และให้ผลผลิตที่คุณภาพต่ำ จึงต้องหมั่นตัดแต่งเอาเถาแขนงที่แก่ และไม่ติดผลแล้วออก โดยตัดให้เหลือโคนกิ่ง 2-3 ตา เพื่อให้แตกเถาใหม่ที่จะออกดอก และให้ผลผลิตในค้างแบบแนวรั้ว และค้างแบบตัวเอ จะตัดแต่งเถาแขนงได้ง่ายกว่าค้างแบบยืน เพราะการจัดทรงต้นเป็นระบบกว่า
7.2 การตัดแต่งเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ตั้งแต่ปลูกจนถึงสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวระยะเวลา 1 ปี เถาของ เสาวรส หวานจะยาวจากลำต้นมาก ในการปลูกแบบเก็บเกี่ยว 2-3 ฤดู ถ้าไม่ตัดแต่งกิ่งในฤดูกาลเจริญเติบโต เถาของ เสาวรส จะเจริญต่อไปจากยอด ทำให้เถายิ่งอยู่ไกลจากลำต้นมากขึ้น และผลผลิตจะมีคุณภาพต่ำ จึงต้องทำการตัดแต่งกิ่งแบบหนัก 1 ครั้ง เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว และจะเริ่มเข้าสู่ฤดูเจริญเติบโตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์
โดยตัดแต่งเถาโครงสร้างที่เกิดจากลำต้นให้เหลือ 3-4 กิ่ง ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร หลังจากนั้น 1 เดือน จะแตกเถาใหม่ และทำการตัดแต่งให้เหลือเถาที่สมบูรณ์ 1-3 เถา ต่อเถาโครงสร้าง 1 เถา จัดเถาให้กระจายไปรอบต้น
การป้องกันกำจัดโรคและแมลงใน เสาวรส หวาน
เสาวรส หวานมีโรคและแมลงหลายชนิด แต่เนื่องจากเป็นพืชที่ค่อนข้างแข็งแรง และทนทานต่อโรคและแมลง ประกอบกับมีการให้ผลผลิตตลอดทั้งปี การปลูกส่วนใหญ่จึงใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงน้อย โดยโรคและแมลงที่สำคัญมีดังนี้
1.โรคของ เสาวรส หวาน
1.1 โรคผลเน่า (Fruit rot) สาเหตุเกิดจากเชื้อรา 2 ชนิด คือ
-เชื้อราชั้นต่ำ ไฟทอปทอรา (Phytophthora sp.) พบในสภาวะอากาศชื้น ฝนตกหนัก
-เชื้อราชั้นสูง คอลเลทโตตริคัม (Collectotrichum sp.) หรือโรคแอนแทรคโนส พบในสภาวะอากาศอบอุ่น ฝนตกสลับแดดออก
ลักษณะอาการ
-อาการที่เกิดจากเชื้อราชั้นต่ำจะปรากฏแผลสีน้ำตาลฉ่ำน้ำบริเวณใบ และผล ในระยะแรก เมื่อสภาพอากาศเหมาะสมแผลจะขยายเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ใบไหม้เป็นสีน้ำตาล และร่วงจากต้น ผลและใบที่เน่าจะร่วงลงพื้นที่ชื้นแฉะจากฝน จะเน่ามีเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุม เชื้อจะสร้าง Zoospore ซึ่งมีหาง สามารถเคลื่อนที่ไปตามน้ำที่เคลือบผิวดิน และส่วนต่างๆ ของลำต้น ทำให้โรคระบาดอย่างรวดเร็ว
-อาการที่เกิดจากเชื้อราชั้นสูง เริ่มแรกจะปรากฏแผลสีน้ำตาลขนาดเล็กบริเวณใบ และผล แผลจะเห็นชัดเจนบนผล โดยจะพบเป็นจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กกระจายทั่วผล บริเวณขอบแผลสีเข้ม ตรงกลางแผลสีขาว หรือซีดกว่าขอบแผล
1.2 โรคไวรัส (Virus disease) สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น Passion fruit woodiness virus (PWV), Cucumber mosaic virus (CMV) เป็นต้น
ลักษณะอาการ บนใบมีอาการด่างสีเขียวอ่อนสลับกับสีเขียวเข้ม ใบหงิกงอ ผิดรูปร่าง บางครั้งอาจพบรอยขีดสีเหลืองบนใบ ใบเหลือง หากอาการรุนแรงจะทำให้ไม่แตกยอด
อาการบนผล จะพบอาการรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง หรือขาดน้ำ โดยปรากฏอาการด่างสีเขียวอ่อนสลับกับสีเขียวเข้ม ผลสุกเปลี่ยนสีไม่สม่ำเสมอ ผลบิดเบี้ยว บางครั้งอาจพบลักษณะวงแหวนสีเหลืองบนผิวของผล
2.แมลงศัตรู เสาวรส หวาน
2.1 หนอนกระทู้ผัก (Cutworm)
ลักษณะการทำลาย คือ ตัวอ่อน กัดกินใบ ก้านใบ ดอก ก้านดอก ก้านผล
2.2 ด้วงเจาะลำต้น (Long-horned beetle)
ลักษณะการทำลาย ตัวหนอนเจาะเข้าไปในลำต้นกัดกินไปเรื่อยๆ จนเป็นโพรง ทำให้ต้นแห้งตาย อาการระยะแรกๆ มักจะมองไม่เห็น ส่วนตัวเต็มวัยกัดแทะกินผิวเปลือกของก้านใบ และช่อผล
2.3 เพลี้ยไฟ (Thrip)
ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตาใบ ตาดอก ฐานรองดอก ขั้วผลอ่อน ทำให้เซลล์บริเวณนั้นตาย เป็นสาเหตุให้ตาใบ และตาดอก แห้งตาย ดอกและผลแห้งและร่วง ในกรณีที่การระบาดไม่รุนแรง พบรอยตำหนิสีเทาเงิน ที่ขั้วผลบิดงอ ผลบิดเบี้ยว ติดดอกและผลน้อย ใบที่แตกใหม่แคระแกร็น เพลี้ยไฟสามารถทำลายส่วนอ่อน แต่ถ้าใบแก่จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามขอบใบ ทำให้ใบม้วนงอ ถ้าทำลายยอดจะทำให้ยอดแห้ง ถ้าขณะมีดอกจะทำให้ดอกแห้ง
2.4 มวน (Stink bug)
ลักษณะการทำลายระยะตัวอ่อนและตัวแก่ของแมลงชนิดนี้จะใช้ปากแทงเข้าไปในผล ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เพื่อดูดน้ำเลี้ยง หลังจากนั้นผลจะเหลือง และร่วงหล่นไป หรือบางครั้งอาจพบว่าไม่ร่วงหล่น แต่ผลนั้นจะแข็ง และไม่เจริญเติบโต
2.5 ปลวก (Termite)
ลักษณะการทำลาย ปลวกกัดกินเนื้อไม้ ทั้งภายใน และภายนอก พร้อมสร้างทางเดินไปทั่วลำต้น ทำให้ต้นพืชมีอาการเหี่ยวตายเหมือนกับอาการขาดน้ำ บางครั้งทำลายราก ทำให้ต้นพืชยืนต้นตาย หรือหักโค่น
ประโยชน์ของ เสาวรส หวาน
เสาวรส หวานใช้ประโยชน์โดยบริโภคผลสด ส่วนของ “รกหุ้มเมล็ด” ที่เป็นของเหลว ซึ่งประกอบด้วยน้ำ 76-85% ของแข็งที่ละลายได้ 17.4% คาร์โบไฮเดรต 12.4% และกรดอินทรีย์ประมาณ 3.4%
นอกจากนี้ยังมีแคโรทีนอยด์ สารประกอบไนโตรเจน สารประกอบที่ให้กลิ่น วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเอนไซม์ โดยน้ำ เสาวรส 30 มิลลิลิตร ให้แคลอรี 15 กิโลแคลอรี พลังงาน 62 กิโลจูน โปรตีน 0.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.2 กรัม เยื่อใย 0.1 กรัม น้ำตาล 4.1 กรัม และโซเดียม 1.9 กรัม
น้ำ เสาวรส มีวิตามิน A ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสารแคโรทีนอยด์ จึงช่วยบำรุงสายตา และผิวพรรณ และมีวิตามิน C ค่อนข้างสูง คือ 39.1 มิลลิกรัม ต่อน้ำ เสาวรส 100 กรัม ซึ่งมากกว่าที่พบในมะนาว
สำหรับเมล็ดมีสาร albumin-homologous protein ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ และยังมีสรรพคุณช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ลดไขมันในเส้นเลือด และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปรับสมดุลในร่างกาย ลดอาการวิงเวียนคลื่นไส้ สร้างภูมิคุ้มกันโรค กำจัดสารพิษในเลือด บำรุงผิวพรรณ และช่วยฟื้นฟูตับ และไต
นอกจากนี้รสเปรี้ยวของ เสาวรส จะช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ น้ำ เสาวรส ยังสามารถลดความดันโลหิตลงได้ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณนงลักษณ์ ไชยมงคล เจ้าหน้าที่โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม อ.แม่จริม
จ.น่าน โทร.08-8748-9917 การปลูกเสาวรส การปลูกเสาวรส การปลูกเสาวรส การปลูกเสาวรส