พบกับนิตยสาร “เมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ” และความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในเว็บไซต์ “พลังเกษตร.com” ที่ “บริษัท มีเดีย ออฟ กรีน กรุ๊ป จำกัด” ได้นำเสนอให้ท่านได้ติดตามข่าวสารการเกษตรในยุคสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมจนฉุดไม่อยู่ในขณะนี้ ทีมงานขอขอบคุณที่ติดตามด้วยดีตลอดมา ข่าวเด่นจะพาท่านไปพบกับพืชที่ปลูกแล้วใช้ ต้นทุนต่ำ กำไรงาม เชื่อว่าเกษตรกรทางภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี คงจะหันหลังกลับมามองบ้างไม่มากก็น้อย
หลังจาก “กาแฟ” เคยเฟื่องฟูเมื่อครั้งในอดีตที่ผ่านมา ณ เวลานี้ “กาแฟ” เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่พาณิชย์จังหวัดจันทบุรีได้บรรจุให้เป็นที่เรียบร้อย ที่สำคัญเป็นพืชที่สามารถนำมาปลูกแซมระหว่างต้นพืชหลักที่เกษตรกรปลูกไว้ในระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย หรือพืชชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด ที่คาดหวังทางด้านกำไร สร้างรายได้ตามที่ควรจะเป็น
สภาพพื้นที่ปลูกกาแฟ
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า “กาแฟ” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทางภาคใต้ โดยสายพันธุ์ “โรบัสต้า” และภาคเหนือปลูกกาแฟ “อราบิก้า” มาโดยตลอด หากจะพูดถึงทางภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี สามารถปลูกกาแฟได้ผลผลิตมากกว่าทางภาคเหนือ ทั้งๆ ที่เป็นสายพันธุ์เดียวกัน นั่นคือ ไฮไลท์ที่ท่านผู้อ่านไม่ควรพลาดโดยเด็ดขาด และเชื่อว่าเกษตรกรหลายๆ ท่านต้องตั้งโจทย์คำถามที่คาใจว่าจริงเท็จแค่ไหน สาเหตุมาจากอะไร
ดังนั้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา “เมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ” ได้มีโอกาสพบกับ “คุณนพัทธ์ ฐิติโชติพงศ์” หรือ “คุณต้น” ผู้จัดการทั่วไปของ “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” โดยการแนะนำจาก “อาจารย์บุญย์ บางเขน” เจ้าของร้าน “คลังเกษตรบางเขน” ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตร ที่นำเอายุทธศาสตร์ทางด้านการส่งเสริมเกษตรกรชาวจันทบุรีให้ทำการบำรุงดูแลต้นทุเรียน โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี
ผลตอบรับลักษณะดังกล่าวได้ผลดีเกินคาด ปัจจุบันถือเป็นผลิตภัณฑ์ไอดอลที่ถูกใจของเกษตรกรผู้ปลูกอย่างมากมายในจังหวัดจันทบุรี ส่วนหมวกอีกใบหนึ่งของ “อาจารย์บุญย์ บางเขน” ที่มีต่อ “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” กว่า 10 ปี ซึ่งทำหน้าที่ สนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรทำการปลูกกาแฟ “เบอร์บอน”(C.arabicavar.Bourbon)
ที่กลายพันธุ์มาจากกาแฟ “ทริปิก้า” ที่มีลักษณะต้นไม่สูงมาก มีข้อถี่ ใบกว้าง ยอดอ่อนมี สีเขียวอ่อน ให้ผลสุกที่ช้า แต่ให้ผลผลิตที่ดีกว่า และมีคุณภาพ ด้านรสชาติ และกลิ่นหอมกว่า “ทริปิก้า” เมื่อดูสายพันธุ์เป็นกาแฟ “อราบิก้า”สายพันธุ์เดียวกับกาแฟ “จันทบูร” ที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรเป็นจำนวนมากในอดีต
ในปัจจุบันอาจารย์บุญย์ บางเขน บอกว่ากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากตันพันธุ์กาแฟที่นำไปให้เกษตรกรปลูกมีมากถึง 8 แสนต้นเลยทีเดียว คิดเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 40% สำหรับเกษตรกรที่อาจารย์บุญย์ บางเขน เข้าไปแนะนำและส่งเสริม คือ เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลอยู่แล้ว มีความพร้อมในการนำกาแฟไปปลูกแซมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกด้านหนึ่ง ซึ่ง “เมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ” จะนำบทสัมภาษณ์มาตีแผ่ให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันในช่วงต่อไป
จุดเริ่มต้นการปลูกกาแฟ
หากจะย้อนถึงเรื่องราว “ กาแฟจันทบูร ” ถือว่าเป็นชื่อกาแฟประจำจังหวัดจันทบุรี และคอกาแฟรุ่นเก๋าที่ติดตามเรื่องราวความเป็นมาคงทราบกันดีว่าเป็นแหล่งริเริ่มทำการปลูกกาแฟ “อราบิก้า” มาตั้งแต่ พ.ศ.2393 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ปลูกต่อเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 3
ต่อมาได้เพิ่มการปลูกมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย จนใช้ชื่อเรียกกันจนติดปากของคนทั่วไปว่า “ข้าวแฟ” จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2500 กรมวิชาการเกษตรหรือชื่อที่ใช้เรียกกันในสมัยนั้นว่า “กรมกสิกรรม” ได้สั่งเมล็ดกาแฟนำเข้ามา 4 สายพันธุ์ คือ มูนดูนูวู, เบอร์บอง, แคทูร่า และทิปปิก้า จากประเทศบราซิล เข้ามาปลูกทดลองที่สถานีทดลองพืชไร่แม่โจ้ สถานีทดลองพืชสวนฝางจังหวัดเชียงใหม่ และสถานีพืชสวนดอยมูเซอจังหวัดตาก
เพื่อเนื้อหาที่ลงลึกและเป็นการยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง ขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปติดตามเรื่องราว “กาแฟอราบิก้า” ซึ่งผู้จัดการต้นกล้า, อาจารย์บุญย์ บางเขน, ลุงบรรจบ และบรรณาธิการนิตยสาร “เมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ” ได้เดินร่วมทางไปดูต้นกาแฟ “จันทบูร” ที่ยังหลงเหลืออยู่ 2 ต้น
โดยมี “คุณตรี ผักกาดทอง” เป็นเจ้าของต้นกาแฟ ซึ่งยืนต้นอยู่ที่บ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จากการสอบถามเรื่องราวส่วนตัวเพื่อเป็นการยืนยันว่าต้นกาแฟของลุงมีอายุกว่า 100 ปี จริงหรือไม่
โดยสามารถเปรียบเทียบกับอายุของ “ลุงตรี” เพื่อให้หายสงสัย ในวันเกิดวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2472 ปัจจุบันอายุ 89 ปี เป็นลูกของ “หมื่นอารีนรชน” หรือชื่อที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไปว่า “โอ้ม ผักกาดทอง” ส่วนมารดา ชื่อ “นางหยาด ผักกาดทอง” เป็นหลานของ “พระยาราวีชนเขต” หากดูไปถึงต้นตระกูลครอบครัวของ “ลุงตรี” ถือว่าเป็นตระกูลผู้นำอีกตระกูลหนึ่ง ที่ทางการไทยได้แต่งตั้งให้ดูแลหมู่บ้านในสมัยนั้น อีกทั้งโดยส่วนตัวเขายังได้รับทุนการศึกษาวิชาชีพครูของอำเภอโป่งน้ำร้อนคนแรกอีกด้วย
“หมู่บ้านผักกาดเป็นหมู่บ้านติดชายแดนกัมพูชา (ณ ปัจจุบัน) ที่มีประชากรร้อยกว่าหลังคาเรือน ประชากรในหมู่บ้านจะทำการค้าขายระหว่างกัน สินค้าส่วนมากก็จะเป็นพืชผัก โดยเฉพาะผักกาดที่ปลูกกันมาก จนนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน
นอกจากนั้นชาวบ้านก็จะปลูกข้าว พืชสวนผลไม้ พืชไร่ ถ้าจะพูดถึงกาแฟพ่อผมเป็นคนที่นำมาปลูกประมาณ 10 ไร่ ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ดีทีเดียว ส่วนกาแฟที่เหลืออยู่ 2 ต้น เป็นกาแฟที่เหลือไว้จากต้นอื่นๆ ที่ได้ตัดทิ้ง เพราะต้องใช้ที่สำหรับสร้างบ้านของญาติพี่น้องแต่ละครอบครัว ต้นกาแฟ 2 ต้น ที่หลังบ้าน ผมเห็นมาตั้งแต่จำความไม่ได้
ซึ่งปัจจุบันยังให้ผลผลิตอยู่ เมื่อก่อนถือว่าสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างดี นอกจากนี้ยังนำเมล็ดกาแฟสุกมาปอกเปลือกตากแห้ง ก่อนนำมาบดชงดื่มเอง หรือเลี้ยงแขก โดยเฉพาะพ่อค้าจากกัมพูชา ที่เดินทางมาค้าขายในหมู่บ้าน และขอพักอยู่ที่บ้านผู้นำ ก็คือ พ่อของผม หลังจากที่เขาได้ดื่มกาแฟก็ ติดใจในรสชาติ และได้สั่งให้เอาไปขายเป็นลูกค้าประจำ ในราคาขายกิโลกรัมละ 5 บาท ในเวลานั้น ซึ่งถือว่าเป็นราคาขายที่ดีมากพอสมควร”
เป็นคำยืนยันของ “ลุงตรี” ถึงสวนกาแฟที่ “หมื่นอารีนรชน” ผู้เป็นพ่อได้ทำการปลูกในช่วงที่ทางการได้นำสายพันธุ์มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นครั้งแรก จากนั้นผู้เกี่ยวข้องได้ตั้งชื่อให้ว่า “ กาแฟจันทบูร ” ในลำดับต่อมา
ย้อนกลับไปติดตามเรื่องราวก่อนที่จะเข้ามาทำธุรกิจทางด้านกาแฟ “คุณต้นกล้า” ได้ลาออกจากงานประจำมาช่วยคุณพ่อ “สุนทร ญาณะรังษี และครอบครัว” ซึ่งประกอบกิจการการเกษตรพืชเมืองหนาว ยาสูบ มันฝรั่ง อื่นๆ จึงทำให้ได้รู้จักกับกาแฟมาพอสมควรตั้งแต่เด็ก และทางสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ได้รับโปรดเกล้าจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
ให้ทำการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์กาแฟเพื่อนำไปให้เกษตรกรชาวเขานำไปปลูกเมื่อปี พ.ศ.2518 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายทางด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวเขาหลีกเลี่ยงการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ทางด้านการอุดช่องโหว่ของนายทุนที่จะเข้าไปอาศัยพื้นที่เพื่อทำลายป่าไม้ และสร้างธุรกิจผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง
หลังจากทำการพัฒนาสายพันธุ์เสร็จเรียบร้อยก็นำไปให้ศูนย์ทดลองปลูกกาแฟ ซึ่งก็มีอยู่ 2 แหล่ง ที่ประสบผลสำเร็จ คือ ที่ “ดอยขุนช้างเคี่ยน” (ตั้งอยู่หลังดอยปุยประมาณ 400-800 เมตร) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำหรับนักท่องเที่ยว ก็คือ “ซากุระเมืองไทย”
โครงการนี้ทำพันธุ์จนเป็นที่ยอมรับ ก็คือ “พันธุ์ทิปปิก้า” อีกแหล่งหนึ่งที่ได้ผล คือ “ขุนวาง” ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่วาง เชิงดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ พันธุ์ที่ได้รับการยอมรับ ก็คือ พันธุ์ “แคททูร่า” ที่นำเข้ามาจากประเทศบราซิล หลังจากนั้นก็นำสองสายพันธุ์ทั้งสองมาผสมสายพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ “คาร์ติมอร์” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมปลูกโดยทั่วไปในนามของกลุ่มพัฒนาเกษตรหลวงจนมาถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นสายพันธุ์ดังกล่าวเริ่มด้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากพันธุกรรมกาแฟไม่นิ่งพอนั่นเอง
“ร้านต้นกล้าการเกษตร” เป็นร้านที่จำหน่ายผลผลิตทางด้านการเกษตร จนกระทั่งคุณต้นเข้ามาบริหาร จึงได้พัฒนาและเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” ตั้งแต่วันนั้นจวบจนถึงปัจจุบันนับวันเวลาได้ 35 ปี
ปัจจุบันโรงงานตั้งอยู่ที่ 300/3-9 หมู่ 3 ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่คุณต้นถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 ที่หาสายพันธุ์ที่ดีมาปลูก พร้อมได้รับคำแนะนำจากลุงเขย “คุณลุงปั๋นอินทร์ พุทธโส” ให้ไปเอาสายพันธุ์กาแฟ อราบิก้าชื่อจันทบูรมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งลุงอินทร์เป็นชาว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้นำกาแฟสายพันธุ์พระราชทานในขณะนั้น มาทดลองปลูกในพื้นที่ต่างๆ และในบริเวณบ้าน วัด และโรงเรียน บ้านเจดีย์ดีแม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่
และได้ผลผลิต แต่ไม่ได้รับการนิยมปลูกมากนักในเวลานั้น เพราะเป็นเพียงการทดสอบบนพื้นที่ต่างๆ และท่านก็มีองค์ความรู้ในการปลูกและเพาะเลี้ยงมาอย่างมาก ในการปฏิบัติในสายตาของคุณต้น คือ ผู้ชายที่เก่งกาจทางด้านการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟอีกท่านหนึ่งของเมืองไทยเลยก็ว่าได้
ท่านได้บอกคุณต้นไว้ว่า “ กาแฟจันทบูร ” เป็นสายพันธุ์ที่ผสมกันระหว่างพันธุ์ “เบอร์บอน” กับสายพันธุ์ “แคทูร่า” เป็นสายพันธุ์ที่เริ่มต้นปลูกอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2500 เป็นต้นมา โครงการน้ำพระทัยจากในหลวงก็เคยนำสายพันธุ์มาพัฒนาและทดลองปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะของต้น กาแฟจันทบูร
ลักษณะประจำพันธุ์ของ กาแฟจันทบูร คือ ต้นเตี้ย ข้อถี่ การให้ผลผลิตต่อต้นประมาณ 6-7 กิโลกรัม เชอร์รี่การปลูกเจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้ดีในที่ต่ำ หรือความสูงไม่เกิน 800 เมตร
ถ้าเทียบผลผลิตถึงแม้จะได้ไม่มากเท่ากับกาแฟ “โรบัสต้า” ที่นิยมปลูกกันมากที่ ภาคใต้ แต่ กาแฟจันทบูร จะมีรสชาติที่กลมกล่อม นุ่มนวล และหอมละมุน อยู่ที่ระดับกลางๆ เม็ดเล็ก ปริมาณคาเฟอีนต่ำ ซึ่งต่างจากกาแฟโรบัสต้าที่มีคาเฟอีนค่อนข้างสูงมาก
ซึ่งภาพรวมทั้งหมดตรงกับความต้องการของคุณต้นเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่ากาแฟในช่วงนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรได้ เพราะให้ผลผลิตน้อย อีกทั้งราคากาแฟในขณะนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-9 บาท เท่านั้นเอง ซึ่งแตกต่างกับในปัจจุบันที่คุณต้นรับซื้อในราคาประกันถึง 16 บาท/กิโลกรัม ซึ่งให้ราคามากกว่าที่รัฐบาลประกาศให้เพียงแค่ 12 บาท/กิโลกรัม เท่านั้นเอง
ต่อมาคุณต้นจึงตัดสินใจเดินทางออกตามล่าหา กาแฟจันทบูร จนทั่วจังหวัดจันทบุรี แต่ก็ไม่มีวี่แววที่จะพบเจอ จนกระทั่งล่องลงใต้หาก็ไม่เห็นมี ท้ายที่สุดคุณต้นได้รู้จักกับ “คุณกมลรัตน์ สุวรรณ” นักวิชาการสำนักวิจัยพันธุ์พืช ซึ่งท่านก็ได้ให้ความช่วยเหลือในการหาสายพันธุ์ จึงได้มาซึ่งสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าว
“หลังจากนั้นผมก็นำไปให้ลุงปั๋นอินทร์ทำการเพาะ ได้ทั้งหมด 2 แสนกว่าต้น แต่คัดออกมาได้ต้นที่สมบูรณ์เพียง 1 แสนต้นเท่านั้น หลังจากนั้นเริ่มให้เกษตรกรอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ทดลองปลูก โดยเราจะจัดให้ฟรีหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นต้นพันธุ์ ปุ๋ย ยา หลังจากนั้นปรากฏว่าได้ผลออกมาตามลักษณะสายพันธุ์ “เบอร์บอง แคทูร่า” เช่นเดียวกับ กาแฟจันทบูร ในอดีตของจังหวัดจันทบุรี หลังจากเห็นผลผลิตเมื่อปลูกไป 3 ปี ซึ่งก็ยังไม่มาก เพราะต้นยังไม่เจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมทั้งรับซื้อคืนในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ในปีนั้น (พ.ศ.2545)”
เป็นคำกล่าวของคุณต้นกับการที่ได้กาแฟพันธุ์ดี ใช้เวลานานหลายปี เพื่อผลตอบรับที่ควรจะได้ ก็คือ กาแฟอราบิก้า ที่สามารถปลูกที่ราบต่ำได้ ทางด้านราคาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ของ อราบิก้าที่ไม่มีการปะปนของกาแฟชนิดเดียวกัน สายพันธุ์อื่น และความนิ่งของรสชาติที่ได้มาตรฐาน ในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบกาแฟคาแฟอีนต่ำๆ
ในปัจจุบันกาแฟของ “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” ได้รับการจองล่วงหน้ามา 3-4 ปี นั่นหมายความว่าบริษัทลูกค้าที่จองปีนี้ แต่ท่านจะได้รับกาแฟอีก 3-4 ปีข้างหน้า และนี่คือเสน่ห์ของการทำธุรกิจทางด้านกาแฟ ซึ่งมีเงินสดจากบริษัทคู่ค้านำมาดำเนินกิจการไปได้โดยที่ยังไม่ให้สินค้า เรียกว่าการซื้อขายล่วงหน้า
ดังนั้นการทำธุรกิจทางด้านนี้จะต้องมีความชัดเจนในพื้นที่ปลูกที่แน่นอน กับคำถามที่ว่าทำไมถึงต้องการสายพันธุ์ดังกล่าว ก็ได้รับคำตอบจากคุณต้นว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีรสชาติไม่เข้มมากเกินไป ซึ่งเหมาะต่อการนำมาผ่านขั้นตอนการผลิตและส่งออกให้ประเทศกลุ่มอาหรับ เช่น ประเทศมาเลเซีย, ประเทศแถบยูเรเชีย, ประเทศตุรกี และประเทศอิหร่าน ที่ชอบกาแฟรสชาติหอม อ่อนนุ่ม คาเฟอีนไม่มาก ในแต่ละวันเขาสามารถดื่มกาแฟได้หลายครั้งเพื่อแก้หิว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล “ถือศีลอด” ของทุกปี
การปลูกต้นพันธุ์กาแฟ
จากการนำต้นพันธุ์กาแฟมาทดลองปลูกที่จังหวัดจันทบุรีของ “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” โดยการนำเสนอและชักชวนของ “อาจารย์บุญย์ บางเขน” เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ครั้งแรกคุณต้นก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าไหร่นัก เพราะกลัวการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ของต้นพันธุ์กาแฟ
ภายหลังจากการเข้ามาสัมผัสชีวิตชาวสวนของเกษตรกรเมืองจันทบุรี ก็ทำให้เห็นถึงเป็นคนมีความตั้งใจจริง มีความรับผิดชอบภายในสวน ที่ไม่เว้นแม้กระทั่งช่วงมืดค่ำ เกษตรกรรายแรกที่คุณต้นนำต้นพันธุ์กาแฟมาให้ปลูก ก็คือ “ลุงบรรจบ กวางติ๊ด” (ติดตามเนื้อหารายละเอียดในช่วงท้าย) หลังจากทำการปลูกสามปีผ่านไป สิ่งที่เห็นจนเป็นที่น่าดีใจ คือ ผลผลิตที่ออกมามากกว่าแหล่งเพาะปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่
พร้อมกันนั้นได้นำเมล็ดกาแฟจากสวนของคุณลุงบรรจบไปโชว์ในงานกาแฟโลกที่ประเทศเกาหลีเป็นครั้งแรกด้วยความจำยอมและไม่คาดหวัง ท้ายที่สุดก็คว้ารางวัลมาครองได้อย่างเหนือความคาดหมาย หลังจากนั้นก็คว้าชัยมาครองเป็นปีที่ 2 ที่ประเทศมาเลเซีย จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกาแฟที่เป็นพันธุ์เดียวกันจากประเทศไหนโค่นกาแฟจากจันทบุรีประเทศไทยลงได้
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าปลาบปลื้มของคุณต้นผู้เป็นเจ้าของบริษัท และผู้ปลูก ซึ่งเป็นเจ้าของโดยลุงบรรจบ ได้ลงชื่อ “คุณป้าสำอางค์” ที่ใช้ชื่อเป็นเจ้าของลงเข้าแข่งขันในวันนั้น และก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีกับทุกๆ ฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง ก่อนจากกันในวันนั้นคุณต้นได้กล่าวฝากถึงเกษตรกรผู้ที่สนใจปลูกกาแฟเพื่อเป็นพืชเสริมว่า
ในบางปีราคาพืชหลักราคาไม่ดี กาแฟซึ่งเป็นพืชเสริมก็สามารถสร้างรายได้เพื่อประคองได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะปลูกไปแล้วจะไม่ได้กำไรที่มากมาย แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ว่างระหว่างพืชหลักให้ทั่วถึงทุกมุมก็สามารถสร้างรายได้ให้มากพอสมควร
นอกจากนี้เกษตรกรที่เข้าร่วม เมื่อท่านปลูก 1,000 ต้นๆ ละ 35 บาท ท่านจะได้ปุ๋ยบำรุงต้นน้ำหนัก 200 กิโลกรัม 4 ถุง พร้อมกันนั้นทางบริษัทก็จะทำประกันภัยให้ในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ปันผลให้ 25 % จากผลผลิตที่สูญเสีย
ยกตัวอย่างเช่น กาแฟ 1 ตัน ขายได้ 40,000 บาท หากเกษตรกรเจอภัยพิบัติก็จะได้เงินคุ้มครองตอบแทน 25 % ในวงเงิน 10,000 บาท ทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีไม่เอาเปรียบ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในกลุ่มสมาชิกที่ร่วมในโครงการปลูกกาแฟอีกด้วย
หลังจากที่ทุกท่านได้ติดตามบทบาทของ “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” ต้องขอยอมรับทางด้านมุมมองการยอมรับกาแฟที่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ให้กับวงการกาแฟได้ล่วงรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา รางวัลแชมป์ทุกสนามแข่งขัน คือ เครื่องการันตีให้ได้อย่างไม่อายของคอกาแฟทั่วโลก
บทส่งท้ายที่นิตยสาร “เมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ” ขอนำเสนอ ก็คือ เรื่องราวของ “ลุงบรรจบ กวางติ๊ด” คือ เกษตรกรชาวสวนใน จ.จันทบุรี ที่ทั้งชีวิตอุทิศให้กับการทำสวนผลไม้มาตั้งแต่จำความได้ เขาปลูกไม้ผลมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะทุเรียน และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ปลูกสลับแซมกันไปในพื้นที่ รวมไปถึงการปลูก กาแฟจันทบูร แซมสลับกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มการปลูก กาแฟจันทบูร ในยุคที่ 2 ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ย้อนกลับไปเมื่อประมาณราวกว่า 10 ปีที่แล้ว ท่ามกลางกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์และสายตาของพี่น้อง เพื่อนฝูง ชาวสวนด้วยกัน ในสมัยนั้นที่มองว่าลุงบรรจบเพี้ยนหรือเปล่าที่คิดจะปลูก กาแฟจันทบูร เพราะไม่มีทั้งองค์ความรู้ ไม่มีตลาดรองรับ ปลูกแล้วจะขายที่ไหน? หรือขายให้ใคร?
“ขณะนั้นผมยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดของลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี อยู่ด้วย มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนและช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในเรื่องความรู้การทำเกษตรระหว่างหน่วยงานในท้องถิ่นกับชาวบ้านในชุมชนเดียวกัน
ในสมัยนั้นราคาทุเรียนตกต่ำมาก ราคาซื้อขาย กก. ละ 4 บาท จึงเป็นที่มาของภาพเหตุการณ์ที่ชาวสวนนำรถบรรทุกขนผลไม้ออกมากอง และเททิ้งตามถนน เพื่อเรียกร้องภาครัฐให้แก้ไขราคาพืชผลที่ตกต่ำ ซึ่งเป็นภาพที่มีให้เห็นจนชินตา
ส่วนตัวผมจึงมองว่าชาวสวนจะมีชีวิตบนความเสี่ยงแบบนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากผมทำงานกับหน่วยงานราชการ ทำให้ได้รู้จักอาจารย์ นักวิชาการหลายๆ ท่าน ซึ่งต่อมาได้รู้จักกับอาจารย์บุญย์ บางเขน ท่านได้กรุณาให้คำแนะทำเกษตรอินทรีย์และอินทรีย์เคมีควบคู่กัน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่ายา และค่าปุ๋ย นับแต่นั้นผมจึงเข้าร่วมอบรมการทำเกษตรอินทรีย์กับ อ.บุญย์ บางเขน มาโดยตลอด และนำองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้นำมาถ่ายถอดสู่ชาวสวนในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง
ทว่าก็ไม่ได้รับยอมรับจากสมาชิกเท่าที่ควร ซึ่งเขามองว่าการทำเกษตรอินทรีย์ทำยาก และได้ผลผลิตช้า ไม่ทันขาย และไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ และทำให้ชีวิตที่ดีขึ้นแต่อย่างใด” ลุงบรรจบอธิบายอดีตให้ฟังทางด้านการยอมรับของเกษตรกรทั่วไปในสมัยนั้น
วิธีการปลูกและบำรุงดูแลรักษาต้นกาแฟจันทบูร
จนกระทั่งปี พ.ศ.2557 จุดเปลี่ยนของลุงบรรจบก็แสดงให้เห็น คือ การเข้าร่วมประชุมกับ ธ.ก.ส. และได้พบกับประธานสหกรณ์กลุ่มจังหวัดชุมพร โดยทางกลุ่มฯ ปลูกกาแฟสร้าง รายได้อย่างงดงาม เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟใน จ.ชุมพร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
ลุงบรรจบเห็นแนวคิดนั้นจึงเริ่มหันมาศึกษาการปลูกกาแฟ เพราะรู้ว่าตัวเองไม่มีองค์ความรู้ ที่สำคัญไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าปลูกแล้วจะนำไปขายให้ใคร ซึ่งความคิดนี้ฝังอยู่ในหัวสมองของ ลุงบรรจบมาโดยตลอด
กระทั่งวันหนึ่งได้รับการติดต่อจาก “อาจารย์บุญย์ บางเขน” ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นที่ปรึกษาให้ “บริษัท ต้นกล้าฯ” ที่ผลิตกาแฟและจำหน่ายเมล็ดกาแฟชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ ได้ชักชวนให้ไปดูกรรมวิธีการปลูกไร่กาแฟที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงแรกๆ
ลุงบรรจบก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย จึงไม่ได้ตบปากรับคำแต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นาน อ.บุญย์ บางเขน ได้เดินทางมาหา พร้อมมอบ “ต้นกล้ากาแฟ” จำนวนหนึ่งให้ทดลองปลูก ลุงบรรจบจึงรับไว้ และแจกจ่ายให้กับชาวสวนที่สนใจในพื้นที่รับไปทดลองปลูกด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนั้น อ.บุญย์ บางเขน ได้บอกว่า “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” เป็นผู้ผลิตกาแฟและจำหน่ายเมล็ดกาแฟชั้นนำบริษัทฯ หนึ่งของประเทศไทย หากชาวสวนจันทบุรีสามารถปลูกได้สำเร็จ บริษัทฯ พร้อมที่จะรับซื้อคืนอย่างแน่นอน
ช่วงระยะแรก ชาวสวนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อคำพูดสักเท่าไหร่ แต่ในส่วนตัวของลุงบรรจบไม่คิดอะไรมาก เขาได้ทดลองปลูกไปอย่างไม่คาดหวัง จนกระทั่งวันเวลาผ่านไปประมาณ 14 เดือน (ปลายปี 2558) กาแฟที่ปลูกแบบไม่รู้ทิศทาง ไม่มีความรู้ ดูแลตามมีตามเกิด แต่ผลปรากฏว่าต้นกาแฟเจริญเติบโตดี ออกดอก ออกผล ดกเต็มกิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจว่า จ.จันทบุรี สามารถปลูกกาแฟได้เช่นเดียวกับจังหวัดทางภาคเหนือได้เป็นอย่างดี
ต่อมาลุงบรรจบได้ริเริ่มศึกษาการปลูกกาแฟมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งได้ทราบข้อมูลว่าเดิมทีจังหวัดจันทบุรีในอดีตเมื่อ 100 ปี เคยมีการปลูกไร่กาแฟมาก่อนภาคเหนือเสียอีก โดยมีผู้นำเข้ามาปลูกรายแรกจากข้อมูลที่สืบทราบเป็นถึงระดับ “เจ้าขุนมูลนาย” เลยทีเดียว
อีกทั้งพื้นที่ใน จ.จันทบุรี ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพียบพร้อมทั้งสภาพดิน แหล่งน้ำ อากาศ และสภาพภูมิประเทศ จึงทำให้ต้นกาแฟออกผลดกไม่แพ้แหล่งเพาะปลูกในแถบภาคเหนือหลายเดือนผ่านไปหลังจากที่ลุงบรรจบลังเลและตัดสินใจอยู่นาน
ในที่สุดก็ยอมเดินทางพร้อมกับลูกสาวเพื่อไปดูการปลูกกาแฟที่ จ.เชียงใหม่ ตามคำชักชวนของ อ.บุญย์ บางเขน และเป็นครั้งแรกที่ได้พบกับ “คุณนพัทธ์ ฐิติโชติพงศ์” ผู้จัดการทั่วไป ของ “บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์เดียวกันกับ กาแฟจันทบูร
ทั้งหมดได้พูดคุยกัน จนทำให้ลุงทราบว่าบริษัทฯ กำลังขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ และต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวสวนจันทบุรีหันมาปลูกกาแฟควบคู่ไปกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เนื่องจากกาแฟเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถปลูกแซมผสมผสานไปกับพืชหรือไม้ผลได้ทุกประเภท
อีกทั้งยังทนแล้งได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย จากนั้นได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับ ลุงบรรจบว่าปลูกแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน สองพ่อลูกจึงเดินทางกลับบ้าน และเดินหน้าปลูกกาแฟอย่างจริงจัง โดยนำต้นกล้าพันธุ์ “เบอร์บอง” ลงปลูกสลับแซมมังคุดและทุเรียนเพิ่มอีก 3,000 ต้น
ในช่วงปี พ.ศ.2559 บริษัทฯ ได้นำทีมนักวิชาการมาสำรวจแปลงปลูกกาแฟของลุงบรรจบ และของชาวสวนคนอื่นๆ ที่หันกลับมาให้ความเชื่อมั่นการปลูกกาแฟมากยิ่งขึ้น พร้อมกับให้การสนับสนุน “เครื่องตีกาแฟ” เพื่อรองรับผลผลิตเมล็ดกาแฟสด ให้กับลุงบรรจบ และชาวสวนที่ปลูกในพื้นที่ จ.จันทบุรี ถือเป็นการสนับสนุนเกษตรกรทางด้านความลงตัวในวงจรการผลิตให้มากยิ่งขึ้น
จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งของลุงบรรจบ ก็คือ บริษัทฯ ได้นำเมล็ด กาแฟจันทบูร จากสวนของลุงส่งไปประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าร่วมทำการประกวดในเวทีระดับโลก ภายใต้ชื่อเจ้า คือ “ป้าสำอางค์” ซึ่งเป็นภรรยาของลุงบรรจบนั่นเอง
“ผมดีใจมากที่สุดที่กาแฟจันทบุรีก็ได้รับ “รางวัลชนะเลิศ” มาครองเกินความคาดหมาย พร้อมทั้งกวาดรางวัลสาขาต่างๆ มาครองอีกมากมาย นับแต่นั้นเป็นต้นมากาแฟที่ปลูกโดยชาวสวน จ.จันทบุรี จึงเริ่มมีชื่อเสียง และเป็นที่ฮือฮาให้กับวงการกาแฟทั่วโลก
ต่อมาภายหลังบริษัทฯ ได้สร้างแบรนและตีตราเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย สำหรับคอกาแฟไทย และคนต่างชาติ ในชื่อ “ กาแฟจันทบูร ” นั่นเอง” ลุงบรรจบกล่าวเสริมกับรางวัลที่ได้มาด้วยความตื่นเต้น
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกาแฟจันทบูร
ต่อข้อถามทางด้านการเปรียบเทียบรายได้ระหว่างไม้ผลเศรษฐกิจชนิดอื่นกับกาแฟ ลุงบรรจบกล่าวว่า หากเปรียบเทียบรายได้การปลูกกาแฟกับการทำสวนผลไม้คงเทียบกันไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรการทำสวนผลไม้ก็เป็นอาชีพหลักและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจันทบุรีอย่างมากมายอยู่แล้ว
ทว่ากาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ และสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ อีกทั้งยังมีตลาดรับซื้อที่แน่นอนและมั่นคง ยกตัวอย่างเช่น ราคาขายกาแฟชนิดแบบเปลือกปัจจุบันขายอยู่ที่ 40 บาท/กก.
แต่ถ้าเป็นตัว“กาแฟสาร” (นำเมล็ดเข้าเครื่องปอกเปลือก จากนั้นนำมาตากให้แห้ง ทำการแพ็คเกจจิ้งส่งขายให้บริษัทรับซื้อ) น้ำหนักที่ 4 กก. จำหน่ายอยู่ที่ราคา 160 บาท ราคาดังกล่าวอ้างอิงจากราคาตลาดตามมาตรฐานสากลในแต่ละปี หรือเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมนอกจากการทำสวนผลไม้อีกด้านหนึ่ง
ปัจจุบันสมาชิกที่ส่งเสริมให้ปลูกกาแฟใน จ.จันทบุรี มีอยู่เกือบ 500 ราย หากคิดเฉลี่ยผลผลิตกาแฟที่ได้ในแต่ละปีเฉลี่ยโดยประมาณ 15-20 ตัน/ปี ทั้งนี้ลุงบรรจบคาดการณ์ไว้ในปี พ.ศ.2562 นี้ น่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ตัน อย่างแน่นอน
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจปลูกกาแฟจันทบูร
ท้ายที่สุดลุงบรรจบกล่าวฝากถึงพี่น้องเกษตรกรชาวจันทบุรีเกี่ยวกับการปลูกกาแฟไว้อย่างน่าสนใจว่า “ขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรทุกๆ คนว่า พืชเกษตรทุกตัวไม่มีอะไรที่แน่นอน ทว่าถ้าเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยการมองหาพืชชนิดอื่นปลูกเสริม ควบคู่ไปกับสวน ผลไม้ซึ่งเป็นรายได้หลัก เพื่อที่ว่าในยามที่พืชหลักราคาตกต่ำก็ยังมีพืชเสริมช่วยพยุงและหล่อเลี้ยงรายได้ให้ชาวสวนอยู่ได้
ซึ่งก็เหมือนกับการปลูก กาแฟจันทบูร เสริมควบคู่ไปกับพืชหลัก เพื่อไม่ให้ชาวสวนลำบากในภายภาคหน้า สำหรับเกษตรกรชาวสวนอย่าอยู่บนความประมาท ให้ปลูกอะไรก็ได้ที่เป็นตัวทดแทนหรือตัวสำรองเอาไว้บ้าง เพราะตลาดไม่แน่นอน
แม้กระทั่งตลาดในจีนในปัจจุบันมีการประกาศว่า ถ้าชาวสวนไม่ปลูกพืช GAP จีนจะไม่รับซื้อ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเกษตรกรยุคใหม่ต้องมองหาภูมิคุ้มกันสำรองเอาไว้ มิเช่นนั้นชาวสวนจะลำบาก กาแฟถือเป็นพืชตัวหนึ่งที่มีความน่าสนใจ และผมการันตีได้ว่ากาแฟเป็นพืชที่ควรปลูกเอาไว้ป้องกันตัวในยามคับขัน ซึ่งชาวสวนจะได้ไม่ลำบากในอนาคต” ลุงบรรจบ กวางติ๊ด กล่าวแนะนำเกษตรกรชาวจังหวัดจันทบุรี เพื่อนำกาแฟมาปลูกเพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งก่อนจากกันในวันนั้น
สำหรับเกษตรกรที่สนใจ หรือต้องการทราบรายละเอียดสามารถสอบถามไปได้ที่ คุณนพัทธ์ ฐิติโชติพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ต้นกล้าคอร์เปอร์เรชั่นพลัส จำกัด เลขที่ 11 หมู่ 7 ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180 โทร.053-869-691, 086-816-1569
หรือเกษตรกรที่มีความประสงค์ไปชมสวน กาแฟจันทบูร ติดต่อไปได้ที่ “ลุงบรรจบ กวางติ๊ด” และ “คุณสำอางค์กวางติ๊ด” บ้านเลขที่ 19/1 ม.7 ต.วังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี 22170 โทร.081-983-2463
หรือเกษตรกรที่มีความสนใจทางด้านการปลูกและดูแลรักษากาแฟสามารถติดต่อไปได้ที่ อ.บุญย์ บางเขน เจ้าของร้าน “คลังเกษตรบางเขน” 159/1-9 ม.5 ต.วังโตนด อ.นายายอาม จ.จันทบุรี 22170 โทร.081-888-63303