การปลูกส้มโอ
ในทางภูมิศาสตร์โดยเฉพาะด้านทรัพยากรทางธรรมชาติที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ มีคุณค่าทางธาตุอาหารรวมกันอยู่อย่างมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำเกษตรของเกษตรกร ทั้งนี้พื้นที่ จ.ชัยนาท ก็เช่นกัน จึงได้นับว่าเป็นพื้นที่ที่ให้ความเหมาะสมอย่างที่กล่าวมาได้ว่ามีความเป็นเอกลักษณ์ สิ่งบ่งชี้บอกถึงลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างตามธรรมชาติ โดยยืนยันได้ว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ที่มีสิทธิได้ตามลิขสิทธิ์จากแผนการพัฒนาของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ให้เป็นสิทธิค้า GI (Geographical Indications) เนื่องจากมีความโดดเด่นทั้งผลและเนื้อในของกลีบกุ้ง ที่ให้ความนุ่ม นิ่ม มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เหมาะแก่การบริโภค และจัดได้ว่าเป็นผลไม้เกรดเอ มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของทางตลาด
สภาพพื้นที่ปลูกส้มโอ
คุณอำนวย คุ้มชนะ รองประธานชมรมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอสายพันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งเขามีพื้นที่ปลูกอยู่ 50 กว่าไร่ เล่าว่าปัจจุบัน จ.ชัยนาท รวมพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาทั้งหมดประมาณ 1,000 กว่าไร่ ยังนับว่าน้อยกว่าเมื่อ 5-6 ปี คืนหลัง เนื่องจากเมื่อปี 2545 ได้เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ จึงทำให้สวนส้มโอได้รับความเสียหายไปหลายพันไร่ ทั้งนี้จึงทำให้เกษตรกรผู้ที่เคยปลูกส้มโอหันไปประกอบอาชีพทำนาข้าว เพราะเป็นช่วงจังหวะประจวบเหมาะกับที่รัฐบาลให้การสนับสนุนนาข้าว และให้ราคาของข้าวในอัตราที่สูง ทั้งนี้การทำนาข้าวก็ให้ผลตอบแทนได้เร็ว เพียงแค่ 3-4 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้
อย่างไรก็ตามอำนวยยังเล่าอีกว่า พื้นที่ปลูกส้มโอขาวแตงกวาของเขาก่อนนั้นปลูกเพียงแค่ 20 กว่าไร่ พื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาข้าวมาก่อนที่จะมาลงทุนปลูกส้มโอ แต่พอมาเมื่อปี 2529 จึงได้มาเปลี่ยนลงทุนปลูกส้มโอ เนื่องจากช่วงนั้นราคาข้าวตกต่ำมาก ขายก็ไม่ได้ราคา ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นก็มีเพื่อนที่เขาปลูกส้มโออยู่ก่อนแล้วมาคอยแนะนำให้ปลูก และส้มโอก็มีผู้คนกำลังหันมานิยมรับประทานกันมากขึ้น ราคาของส้มโอตอนนั้นก็ถือว่าดีอยู่ที่ กก.ละ 20-25 บาท ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุคทองของส้มโอ และเป็นช่วงเกิดขึ้นตรงข้ามกับราคาข้าวกำลังตกต่ำอย่างที่กล่าวมา ก่อนปลูกในครั้งแรกของเขานั้นลงปลูกเพียง 5 ไร่ ขณะนั้นก็ได้นำกิ่งพันธุ์ซึ่งเป็นกิ่งตอนมาปลูกถึง 6 สายพันธุ์ อย่างเช่น สายพันธุ์ทองดี ขาวกว้าง ขาวแป้น ขาวทองดี ขาวหอม และขาวน้ำผึ้ง
สายพันธุ์ส้มโอ
อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเดียวกันนั้นส้มโอสายพันธุ์ขาวแตงกวาซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ อำเภอมโนรมย์ ขณะนั้นทางจังหวัดชัยนาทโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้จัดงานวันเกษตรของจังหวัดขึ้น โดยให้เกษตรกรนำสินค้าที่ผลิตได้จากการทำเกษตรของตนในแต่ละตำบล หรือแต่ละอำเภอ มาประกวด พร้อมกับนำมาจำหน่ายภายในงาน “ของดีประจำจังหวัดปี 2529” ทั้งนี้การประกวดในครั้งนั้นปรากฏว่าส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาของอำเภอมโนรมย์ ได้รับรางวัลให้เป็นผลไม้ประจำจังหวัด หรือของดีประจำจังหวัดชัยนาท
หลังจากนั้นเขาจึงได้นำเอาส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาซึ่งเป็นชนิดตอนมาปลูกผสมผสานรวมกันไปกับส้มโอทั้ง 6 สายพันธุ์ อย่างไรก็ตามส้มโอที่เขาได้ปลูกไปทั้งหมดอย่างที่กล่าวนั้น ขณะในเมื่ออายุต้นได้ 3 ปีขึ้นไป ก็เริ่มให้ผลผลิต แต่ทั้งนี้ช่วงระหว่างส้มโออายุต้น 3-5 ปี ก็ยังจะให้รสชาติไม่ได้เต็มที่ หรือรสชาติยังไม่เข้มข้น อย่างไรก็ตามจากที่เขาได้สังเกตและติดตามในเรื่องของรสชาติส้มโอที่เขาปลูกทุกสายพันธุ์ จะเห็นได้ว่าส้มโอจะให้ผลผลิตในเรื่องของรสชาติได้เต็มที่ เมื่ออายุของต้นได้ถึง 7 ปี ทั้งนี้ส้มโอทั้ง 7 สายพันธุ์ ที่เขาได้นำเอามาเปรียบเทียบเรื่องของรสชาติ มีส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาที่ให้รสชาติอร่อย ให้ความหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เหมาะกับการบริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาด
ขั้นตอนการปลูกส้มโอขาวแตงกวา
ทั้งนี้พอเขารู้ว่าส้มโอขาวแตงกวาให้รสชาติได้เป็นที่แน่ชัดแล้ว เขาจึงได้นำมาปลูกเพิ่มเต็มพื้นที่ 20 กว่าไร่ ดังที่กล่าว เมื่อปี 2540 และได้ซื้อที่ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาเพิ่มอีก 30 ไร่ ขณะนี้รวมทั้งหมดที่เขาปลูกส้มโอมีอยู่ 50 กว่าไร่
นอกจากที่กล่าวมาเขายังเล่าถึงการปลูกส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาของเขาว่า พื้นที่ปลูกนั้นก่อนเคยเป็นพื้นที่ทำนาข้าว หรือเป็นพื้นที่นาดอน “ที่ทำนาดอน” ส่วนการปลูกเริ่มแรกเขาจะไถปรับหน้าดินยกคันร่องสูงประมาณ 1 ฟุต หรือ 30 ซม. หน้ากว้าง 2.50 เมตร ระยะความห่างของต้น 3-4 เมตร สำหรับการขุดหลุมปลูกความกว้างของปากหลุม 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร วิธีขุดโดยเขาจะเอาดินส่วนที่เปิดหน้าดิน หรือที่เรียกว่า ดินส่วนบน มาเก็บไว้ข้างใดข้างหนึ่ง หลังจากนั้นให้ขุดลึกลงไป พร้อมกับเอาดินส่วนล่างหรือส่วนที่ขุดลงไปมาไว้อีกส่วนหนึ่ง ขณะขุดได้ความลึก 1 เมตร แล้วความกว้าง ความยาว ความลึก ลงตัว พร้อมที่จะนำกิ่งพันธุ์ที่เป็นกิ่งตอนลงปลูก เขาก็จะเอาดินส่วนออกเป็นหน้าดิน หรือส่วนบนของดิน ผสมกับปุ๋ยหมักให้เข้ากันลงรองก้นหลุมให้สูงขึ้นมาประมาณ 50 ซม. จากนั้นก็เอากิ่งพันธุ์ลงปลูก แล้วเอาดินส่วนล่างลงถมกลบช่วงตุ้มของกิ่งพันธุ์ให้สูงขึ้นมาอีก 30 ซม. และให้ช่วงโคนต้นเป็นลักษณะแอ่ง มีความลึกประมาณ 15-20 ซม. เป็นต้น
การบำรุงดูแลรักษาต้นส้มโอ
ในส่วนของการดูแลรักษา โดยเขาได้เล่าว่าพืชในตระกูลส้มจะดูแลรักษายาก ลักษณะอาการของโรคจะคล้ายกันหมด ส้มโอหากเอาใจใส่ดูแลเข้าใจกับพื้นที่ปลูก และต้นของมัน ก็จะทำให้ส้มโอต้านทาน หรือทนทาน กับโรคไวรัสได้นานกว่าส้มโอชนิดอื่นๆ ได้ เป็นต้นว่าการบำรุงให้ปุ๋ย ให้ยา ให้ฮอร์โมน อย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตามแมลงศัตรูส้มโอ คือ ปัญหาหลักๆ ที่นำพาหะนำเชื้อเข้ามาสู่ส้มโอ อย่างเช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่แจ้ โดยแมลงพวกนี้จะเข้ามาเกาะกินใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ทั้งนี้การป้องกันโดยเขาได้เล่าว่าขณะที่ส้มโอกำลังให้ผล ใบ ดอก อย่างที่กล่าวมา ซึ่งเป็นช่วงที่เป็นอาหาร “อันโอชะ” ของแมลง ทั้งนี้หากเขาเริ่มเห็นแมลงพวกที่ว่านี้เพียง 3-4 ตัว ภายในต้นส้มโอ เขาก็จะฉีดสารป้องกัน โดยจะใช้สารอาบาเม็กตินฉีดพ่นทั่วใบอ่อน ดอก และผล เพื่อขับไล่กำจัด หรือป้องกัน
อย่างไรก็ตามในขณะที่ส้มโอให้ผลผลิต หรือติดผลอ่อน และกำลังโต หรือพร้อมที่จะแก่ ผลของมันอาจจะร่วง ทั้งนี้เขาจึงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งได้เกษียณอายุราชการแล้ว เข้ามาบรรยายพิเศษพร้อมลงแปลงปลูกมาให้ความรู้ อย่างเช่น การใช้เข็มฉีดยาฉีดเข้าไปที่ลำต้นของส้มโอ โดยจะใช้ยาที่รักษาคนที่เป็นโรคแผลหนอง ส่วนวิธีการให้ยาที่ลำต้น โดยจะใช้เข็มยาที่ใช้กับคน เป็นต้นว่าเขาจะใช้สว่านเจาะเข้าไปที่ลำต้นความลึกประมาณ 2-3 ซม. สำหรับชนิดของยาควรเป็นชนิดแคปซูล 250 กรัม นำมาผสมกับน้ำ 20 cc. ถ้าหากชนิดของยา 500 กรัม ก็จะใช้น้ำ 40 cc. ส่วนการใช้เข็มฉีดยาของเขาจะใช้ขนาดใหญ่ที่เป็นแบบกระบอกสูบ เพื่อสูบเอายาดังกล่าวเข้าประมาณ 30-50 มิลลิลิตร จากนั้นฉีดเข้าไปตรงที่ลำต้นที่ใช้สว่านเจาะไว้ แล้วการฉีดก็ใช้เหมือนกับที่ฉีดยาเข้าเส้นเลือดคน
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นส้มโอ
คุณอำนวยยังเล่าอีกว่าการให้ปุ๋ยบำรุง หากแต่ส้มโอดูแล้วมีลักษณะเปลือกหนา ผลโต ไม่มีน้ำหนัก เนื้อข้างในอาจจะแห้ง ไม่สมบูรณ์ ขายไม่ได้ ทั้งนี้ลักษณะดังกล่าวที่ว่าเขาก็จะให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 บำรุง เพื่อให้ผลหยุดขยาย หรือไม่ให้เปลือกหนาขึ้นมามาก อย่างไรก็ตามการให้ปุ๋ยดังกล่าวยังช่วยบำรุงให้ผลส้มโอได้ขยายเนื้อใน เช่น กลีบกุ้งโตสมบูรณ์ และเปลือกบาง ทำให้มีน้ำหนัก ส่วนการให้ปุ๋ยเขาก็จะดูลักษณะต้นส้มโอก่อนว่าควรจะให้ช่วงไหน ระยะไหน อย่างเช่น ระยะแตกใบอ่อน แตกตาดอก ผลอ่อน และระยะฝนทิ้งช่วง เพราะระยะดังกล่าวเป็นช่วงกำลังให้ผลผลิต และกำลังเติบโต เขาก็จะให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 พร้อมกับให้ฮอร์โมนทางใบด้วยแคลเซียมโบรอน
ส่วนการให้น้ำจะได้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ทางกรมชลประทานได้ขุดคูคลองเพื่อกระจายน้ำจ่ายให้กับเกษตรกรทำการเกษตร ทั้งนี้การใช้น้ำเข้ามารดน้ำให้ต้นส้มโอภายในสวน โดยเขาจะใช้ระบบสปริงเกลอร์ให้น้ำ สำหรับการให้น้ำบำรุงต้นส้มโอ เขาจะให้ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หากวันไหนฝนตกก็จะต้องดูลักษณะของดินว่ามีความชุ่ม “เปียกแฉะ” หรือดินแห้งมากน้อยเพียงแค่ไหน ที่ว่าควรจะให้น้ำหรือไม่ควรให้น้ำ เป็นต้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา
ทั้งนี้ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาของเขาจะผลิดอก ติดผล ออกมาติดต่อกันถึง 4 เดือน หรือให้ผลผลิตได้ถึง 4 ชุด ในแต่ละชุด อย่างเช่น ชุดแรกจะออกภายในเดือนธันวาคม ชุดที่ 2 ออกเดือนมกราคม ชุดที่ 3 ออกเดือนกุมภาพันธ์ และชุดที่ 4 ออกเดือนมีนาคม เป็นต้น
ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาส่วนหนึ่งเขาจะขายส่งห้าง โดยพ่อค้าคนกลางจะเข้ามารับซื้อที่สวน อีกส่วนหนึ่งเขาก็จะแบ่งขายตามตลาดท้องถิ่น ขณะที่ราคาขายส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาของ จ.ชัยนาท ปัจจุบันจะขายราคา กก.ละ 50-55 บาท การเก็บส้มโอขายในแต่ละชุดเขาจะเก็บได้ถึงครั้งละ 50-60 ตัน
อย่างไรก็ตามคุณอำนวยยังได้เล่าถึงส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาของ จ.ชัยนาท จะให้ทั้งคุณภาพของผล และรสชาติ จนกระทั่งได้จดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าขึ้นกับ GI ให้เป็นผลไม้ประจำถิ่นหรือภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่บ่งบอกชี้ถึงด้านภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้จดลิขสิทธิ์เมื่อปี 2553 นอกจากนี้หากมามองถึงอนาคตของส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ยังจะเป็นผลไม้ที่มีผู้คนนิยมรับประทานกันมาก ผลไม้ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาก็จะเป็นสินค้ายอดนิยมสำหรับประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน
หากเกษตรหรือผู้อ่านท่านใดอยากทราบรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถาม คุณอำนวย คุ้มชนะ 303 หมู่ 1 ต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท 17000 โทร.08-1888-3489