การปลูกลำไย
หากแต่เมื่อมามองถึงพืชเศรษฐกิจทางภาคเหนือตอนบนของไทย อย่างเช่น จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ ก็จะเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม้ผลลำไยยังคงให้ความเป็นผู้นำในด้านการส่งออก เนื่องจากลำไยในพื้นที่ของ 2 จังหวัดนี้ จะให้รสชาติความ “อร่อย” กว่าทุกพื้นที่ หรือในทุกภาคของไทย ทั้งนี้การควบคุมการผลิตออกสู่ตลาดโลกจึงเกิดกลายเป็นความท้าทายกับผู้ผลิตให้เน้นถึงคุณภาพอย่างมืออาชีพเป็นต้นว่าการบริหารความเสี่ยงในการผลิตลำไยที่ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวทางการผลิตเพื่อให้ลำไยออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี
คุณจักรินทร์ จินาติ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยสายพันธุ์อีดอจำนวน 50 ไร่ เล่าว่า จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ พื้นที่จะเอื้ออำนวยต่อการปลูกลำไยมาก ทั้งให้ความอุดมสมบูรณ์ งดงาม ของต้น และรสชาติความอร่อย ก็จะอยู่ที่พื้นที่ของ 2 จังหวัดนี้ อย่างไรก็ดีลำไยก็ยังถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของทางภาคเหนือโดยเขาได้เล่าต่อว่า สมัยก่อนหรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าหากเกษตรกรเจ้าของสวนใดใครผลิตลำไยออกนอกฤดูได้ก็จะสามารถทำให้ตนเองร่ำรวยได้ง่าย เพราะราคาลำไยในช่วงนั้น อย่างเช่น เทศกาลตรุษจีน ราคาสูงถึง 70-100 บาท/กก. แต่การทำลำไยออกนอกฤดูก็ได้เริ่มเข้ามาให้เกษตรกรรู้จักเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะว่าด้วยความบังเอิญของผู้ผลิตดอกไม้ไฟได้นำดินประสิว หรือสารโพแทสเซียมไนเตรท ไปราดที่บริเวณโคนต้นลำไย ทำเพราะเพื่อเป็นการล้างดินให้กับต้นลำไยเท่านั้น แต่ก็เกิดทำให้ต้นลำไยดังกล่าวออกดอก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ฤดูกาลของมัน ทั้งนี้จากที่ราดต้นลำไยต้นที่ 1 แล้วก็นำไปทดลองต้นที่ 2-3 ปรากฏว่าต้นลำไยก็ยังออกดอก ติดผล อีก ขณะเดียวกันนั้นราคาลำไยตกอยู่กก.ละ 70 กว่าบาท ส่วนราคาของดินประสิว หรือโพแทสเซียมไนเตรท ก็ขยับราคาขึ้นถึงกก.ละ 1,000 บาท ใน 1 ถัง จะมีบรรจุไว้ได้อยู่ 50 กก. แต่จะหาซื้อได้เฉพาะหน่วยงานของค่ายทหารเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็มีเกษตรกรน้อยนักที่จะรู้จัก จะมีก็แค่เกษตรกรในบางกลุ่ม ขณะในช่วงนั้นเขายังได้ซื้อมาทดลองราดโคนต้นลำไยของเขา 2 กก. โดยราดได้เพียง 3 ต้น เนื่องจากเขายังเป็นเกษตรกรมือใหม่ จึงไม่กล้าที่จะเสี่ยง แต่พอต้นลำไยให้พร้อมกันทั้ง 3 ต้น ก็สามารถทำเงินให้ โดยขายได้ถึง 30,000 บาท
สภาพพื้นที่ปลูกลำไย
ทั้งนี้โดยภาพรวมแล้วปัจจุบันนี้ลำไยมีปลูกอยู่ทั่วประเทศ หรือทุกภาคของไทย ประมาณ 1,100,000 กว่าไร่ (1 ล้าน 1 แสนกว่าไร่) เฉพาะในภาคเหนือ ทั้งภาคเหนือตอนบน และตอนล่าง ประมาณ 9 แสนกว่าไร่ ที่สำคัญไทยยังเป็นประเทศที่โชคดีสามารถทำการเกษตรโดยปลูกลำไย มีพื้นที่ปลูกได้มากกว่าทุกประเทศได้ทั่วโลก และทำลำไยออกนอกฤดูได้ในจำนวนมาก ส่งออกได้ทั้งในและนอกได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดีการปลูกลำไยของเกษตรกรในปัจจุบันนี้เกษตรกรก็เข้าใจหรือมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เป็นต้นว่าการเข้าใจหรือรู้ถึงต้นลำไยเรื่องของการบำรุงดูแลรักษา และการทำกิ่งพันธุ์นำมาปลูก ซึ่งแต่ก่อนนั้นเกษตรกรจะพากันทำกิ่งพันธุ์ที่เป็นกิ่งตอนนำมาปลูก ขณะเดียวกันการปลูกด้วยกิ่งตอนก็จะทำให้อายุของต้นลำไยอยู่ได้ไม่นาน แต่มาในปัจจุบันนี้การปลูกลำไยของเกษตรกรจะนิยมใช้วิธีการทาบกิ่งพันธุ์ หรือการเสียบกิ่งนำมาปลูก ทำให้อายุของต้นลำไยอยู่ได้นานมากกว่า 100 ปี เท่ากับอายุต้นที่เพาะด้วยเมล็ดพันธุ์ปลูก เนื่องจากระบบของรากที่ได้จากการเพาะเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีรากแก้วเป็นรากหลัก และจากการที่ได้นำเอากิ่งพันธุ์มาเสียบหรือเอาไปทาบกับกิ่งพันธุ์ เป็นต้น ส่วนการตอนกิ่งหากแต่นำเอามาปลูกก็จะไม่มีระบบรากแก้วดังกล่าว
การบริหารจัดการต้นลำไย
คุณจักรินทร์ยังเล่าอีกว่าการนำกิ่งพันธุ์ตอน กิ่งพันธุ์ทาบ และกิ่งพันธุ์เสียบ มาปลูก อายุของต้นจะเริ่มให้ได้เมื่อถึง 2-3 ปี แต่ถ้านำเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูก อายุต้นจะเริ่มให้ผลผลิตได้เมื่อถึง 5-7 ปี รวมถึงการปลูก การบำรุงรักษา การลงทุน ทำให้ยุ่งยาก ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเงินและเสียเวลา ทั้งนี้การปลูกลำไยแต่ถ้าหากเข้าใจวิธีการบริหารจัดการก็จะไม่ทำให้ยาก โดยเฉพาะการผลิตลำไยนอกฤดู อย่างเช่น การบังคับให้ลำไยออกดอก ติดผล ต้องมีวิธีการจัดการเรื่องของการให้น้ำ บำรุงปุ๋ย ตัวหน้า ตัวกลาง ตัวหลัง ว่าต้นลำไยในระยะนี้ควรจะเน้นสูตรธาตุของปุ๋ยหนักไปช่วงระยะไหนที่ต้นลำไยมีความต้องการ หรือจะให้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก และเคมี การให้น้ำก็เช่นกันก็ต้องดูปริมาณของน้ำด้วย
“ลำไยที่สวนของผม ทุกอย่างผมจะทำเองหมด อย่างการทาบกิ่งพันธุ์มาปลูกเองโดยที่ผมไม่ต้องไปซื้อจากเจ้าอื่น หรือไปซื้อที่ตลาดการทำสวนลำไย ถ้าเราไม่เข้าใจมันก็จะทำให้เราหมดตัวได้ ในพื้นที่ 50 ไร่ ลำไยที่ผมปลูกผมต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เริ่มจากตั้งแต่ปลูก การเตรียมต้น การบำรุงการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ผมก็ต้องทำตารางบริหารจัดการเอง โดยเฉพาะพื้นที่ทาง จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ จะไม่เหมือนลำไยในพื้นที่ จ.จันทบุรี” คุณจักรินทร์เผย
การให้น้ำและปุ๋ยต้นลำไย
อย่างไรก็ตามการปลูกลำไยของเขานั้นจากที่ได้บริหารจัดการเองอย่างที่กล่าวมาทั้งนี้ โดยเฉพาะการทำสาวต้นลำไย เนื่องจากต้นลำไยให้ผลผลิตน้อย หรือต้นลำไยที่มีอายุมากแล้วอาจจะโทรม ส่วนการทำสาวต้นลำไยก็เพื่อให้ต้นของมันฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ กลายเป็นต้นที่เป็นสาวสวย ให้ผลดก เป็นต้นว่าถ้าหากต้นลำไยอายุต้นมากถึง 10-15 ปีขึ้นไป ต้นอาจจะให้ผลผลิตลดน้อยลง หรือทำให้ผลไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ก่อนเริ่มตัดก็ควรตัดก่อนในช่วงเข้าฤดูฝน หรือตัดช่วงเข้าสู่ฤดูฝน หลังตัดเสร็จแล้วต้นลำไยก็จะได้รับน้ำฝนพอดี สำหรับการตัดโดยเขาจะวัดจากโคนต้นของต้นลำไยขึ้นมาให้ได้สักประมาณ 1-1.50 เมตร หรือวัดระยะให้ได้ตามความเหมาะสม จากนั้นก็ตัดออก หลังจากตัดเสร็จแล้วพอได้ประมาณสัก 2-3 อาทิตย์ ต้นลำไยก็จะเริ่มแตกยอด แตกใบ ออก จากนั้นก็เริ่มให้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 บำรุง
อย่างไรก็ตามต้นลำไยหากแต่ได้แตกกิ่งใบแผ่กิ่งก้านออกมาแล้วอาจจะแตกออกมาได้จำนวนมาก เป็นต้นว่าในต้นหนึ่งบางต้นมันอาจจะแตกออกมามากถึง 10 กิ่ง แต่ก็ควรเลือกตัดออก โดยให้เหลือเอาไว้แต่กิ่งที่สมบูรณ์ประมาณสัก 5 กิ่ง ทั้งนี้กิ่งที่สมบูรณ์ดังกล่าวจะนำเอาทำกิ่งพันธุ์ไว้ขยายพันธุ์ปลูกต่อก็ได้ อย่างเช่น เอาทำเป็นกิ่งพันธุ์ทาบ หรือกิ่งเสียบยอด เป็นต้น อย่างไรก็ตามการทำสาวต้นลำไยแต่พอเมื่ออายุได้ 2 ปีขึ้นไป ก็จะเริ่มให้ผลผลิตติดผลกลับมาดกเหมือนเดิม ส่วนข้อดีของการทำสาวต้นลำไยนั้นจะอยู่ที่ลดการลงทุน ลดการลงแรง ไม่ยุ่งยาก และไม่สิ้นเปลือง ค่าใช้จ่าย ข้อเสียก็จะเป็นส่วนน้อย คือ ระยะเวลาถึง 2 ปี จึงจะได้ผลผลิต แต่ก็มีส่วนดีมากกว่าที่จะนำเอาต้นมาปลูกใหม่
การตัดแต่งกิ่งต้นลำไย
การเตรียมต้นลำไยให้สมบูรณ์เพื่อทำลำไยออกนอกฤดูเป็นต้นว่าการเตรียมความพร้อม ทั้งนี้การจัดการด้วยการตัดแต่งกิ่งเพื่อกระตุ้นให้ต้นลำไยได้เกิดแตกใบและกิ่งก้านออกมาใหม่ให้สมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอกมาได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสมบูรณ์ ด้วยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเป็นต้น อย่างไรก็ตามการตัดแต่งกิ่งควรตัดหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ส่วนการตัดซึ่งในขณะที่ต้นลำไยเป็นทรงพุ่มก็ให้ตัดที่เกิดกระโดงออกมาให้เหลือความสั้นประมาณ 3-5 นิ้ว ส่วนกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ก็ควรตัดให้หมด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต้นลำไยได้รับแสงแดด และยังสามารถช่วยลดความสูงของต้นได้ดีด้วย
ทั้งนี้หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นลำไยต้องการธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมคลอเรต ควรให้ปุ๋ยคอก ควบคู่ไปกับปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0, 15-15-15 โดยเขาจะให้ปุ๋ยเพียงครั้งเดียวหลังจากให้ปุ๋ย ดังกล่าวแล้วก็จะลดน้ำตาม เพื่อให้สารโพแทสเซียมคลอเรตละลาย หลังจากนั้นก็เริ่มให้น้ำตลอดทุก 3-5 วัน/ครั้ง เพื่อรักษาความชื้นเอาไว้ บวกกับให้รากดูดเอาสารโพแทสเซียมคลอเรตเข้าสู่ต้น อย่างไรก็ตามการทำลำไยนอกฤดูในพื้นที่ของเขา โดยเขาได้เล่าว่าช่วงทำนอกฤดูเขาจะเริ่มทำทุกปีของเดือนมิถุนายน และการทำลำไยออกนอกฤดูที่สำคัญต้นลำไยจะต้องมีน้ำคอยหล่อเลี้ยง ส่วนน้ำนั้นควรเป็นน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ หากเป็นน้ำบาดาลก็จะเป็นน้ำที่ไม่มีธาตุอาหารให้กับต้นไม้ ส่วนพื้นที่สวนลำไยของเขาจะได้น้ำจากแม่น้ำปิงที่ทางกรมชลประทานจะอำนวยความสะดวกบริการให้แก่เกษตรกรไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี
ด้านตลาดผลผลิตลำไย
คุณจักรินทร์ยังเล่าถึงเรื่องการทำตลาดลำไย โดยเฉพาะการทำตลาดลำไยนอกฤดู ทั้งนี้การมองตลาดเขาจะดูตลาดก่อนว่าลำไยน่าจะมีราคาในช่วงไหน หรือลำไยหากผลสดราคาขายอยู่ที่กก.ละ 50 บาท อบแห้งราคา 80 บาท เขาก็จะอบแห้งขาย ทั้งนี้จากที่เขาได้ผลิตลำไยออกนอกฤดูซึ่งได้เริ่มทำช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี อย่างที่กล่าวก็เพื่อต้องการขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ซึ่งไม่ใช่ฤดูกาลของลำไย และลำไยก็จะมีราคาในช่วงฤดูกาลนี้
อย่างไรก็ตามหากแต่มามองถึงการลงทุน และผลที่ได้จากการผลิตลำไยของเขาในแต่ละปี อย่างเช่น ใน 1 ไร่ ต้นลำไยจะมีอยู่ประมาณ 20 กว่าต้น เงินลงทุนจะหมดไปประมาณ 30,000 กว่าบาท ทั้งนี้จากผลผลิตที่ขายได้ต่อ 1 ไร่ รายได้หรือกำไรที่เขาได้รับตกประมาณ 100,000 กว่าบาท
ขอขอบคุณข้อมูล
คุณจักรินทร์จินาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.นพพล เล็กสวัสดิ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-6374-8967, 08-0032-6905