ในที่สุดโลกก็แบ่งการปลูกพืชเป็น 2 ระบบ ปลูกพืชในที่เปิด และ ปลูกพืชในโรงเรือน เหมือนการเลี้ยงสัตว์
ทั้ง 2 รูปแบบ มี “เป้าหมาย” เหมือนกัน แต่ “วิธีการ” ต่างกัน
ประเทศไทยก็เหมือนหลายๆ ประเทศ ที่ปลูกพืชทั้ง 2 ระบบ โดยเฉพาะปลูกในโรงเรือน เริ่มเป็นกระแสที่แรง เพราะ “กัญชง-กัญชา” ทำให้เกิดสีสัน ปลูกในโรงเรือนชัดเจน
การปลูกอ้อยคั้นน้ำ
นิตยสารพลังเกษตร ฉบับนี้ ได้เปิดตัว วิศวกรคนเก่ง ที่ทดลองปลูก “เมล่อน” ในโรงเรือนขนาดเล็กได้สำเร็จ ตอบโจทย์ทางธุรกิจชัดเจน
จากอาชีพวิศวกร ผันตัวเข้าสู่ภาคเกษตรได้ไม่นาน และประสบความสำเร็จ เพราะมีความคิดที่เป็นระบบ คุณอดิเรก และ คุณธนวรรณ วายุโชติ สองสามีภรรยา ที่ตั้งใจเข้าสู่วงการเกษตรอินทรีย์ปลูก อ้อยคั้นน้ำ และ เมล่อน ทำตลาดผ่านออนไลน์ ผลตอบรับดีเกินคาด สั่งจองล่วงหน้าคิวแน่นๆ
โดยคุณอดิเรก และ พี่ธนวรรณ หรือ พี่ดา ให้ข้อมูลว่า ริเริ่มจากการปลูกอ้อยคั้นน้ำด้วยการปลูกระบบอินทรีย์คั้นน้ำสดๆ และเมนูจากน้ำอ้อยอีกมากมาย และต่อยอดปลูกเมล่อนในโรงเรือนขนาดเล็ก เข้าสู่อ้อยคั้นน้ำ ซึ่งมองว่าการปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลขายได้ราคา 700 บาท/ตัน แต่อ้อยคั้นน้ำ 6 บาท/กก. หรือประมาณ 6,000 บาท/ตัน จึงได้ทดลองปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 จำนวน 4 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อนำมาแปรรูปเป็นอ้อยคั้นน้ำ เพราะมีตลาดค่อนข้างใหญ่
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายอ้อยคั้นน้ำ
ในภาพรวมเห็นได้จากการสำรวจตลาดก่อนปลูกอ้อย พบว่าในตลาดหรือแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ข้างทางสายหลักๆ มักมีร้านอ้อยคั้นน้ำ 1 เจ้า แต่ละเจ้ามียอดขายประมาณ 3,000-5,000 บาท/วัน มีบางคนทำเป็นแฟรนไชส์ มีธุรกิจตัดอ้อยและปอกอ้อยส่งขายทุกวันราคา 9 บาท/กก. ลงทุนซื้อเครื่องปอกอ้อยราคา 30,000 บาท/เครื่อง จากนั้นกระจายส่งอ้อยที่ปอกเปลือกแล้วส่งตามร้านแฟรนไชส์ ขั้นต่ำ 50-100 กก./วัน/สาขา
จึงมองเห็นโอกาสในธุรกิจอ้อยคั้นน้ำ และได้ลงมือปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอ้อย อ้อยคั้นน้ำสด ไซรัปอ้อยออแกนิก สามารถใช้ทดแทนน้ำตาลได้ ซึ่งทำการตลาดเองผ่านหลากหลายช่องทาง อาทิ ออกบูธตามงานต่างๆ มีหน้าร้านขายที่ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว ขายผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ฯลฯ กระทั่งจดเป็นวิสาหกิจชุมชน ตั้งใจธรรม เมื่อปี 2561
การปลูกเมล่อน
หลังจากธุรกิจอ้อยคั้นน้ำเริ่มขยายตลาดได้มากขึ้น และได้นำชานอ้อยมาหมักเพื่อเป็นดินปลูก จึงสนใจกับพืช อย่าง เมล่อน และศึกษาวิธีการปลูก และการตลาดจากทางออนไลน์ และได้ทดลองปลูกเมล่อนจำนวน 140 ต้น ในระบบโรงเรือนขนาดเล็ก ซึ่งเลือกปลูกเมล่อน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.เมล่อนพันธุ์ไข่ทองคำ มีความกรอบ หวาน 16 องศาบริกซ์ 2.เมล่อนพันธุ์แสนหวาน หอม หวาน 17 องศาบริกซ์ 3.เมล่อนพันธุ์หยกมงคล กรอบ หอม หวาน เพิ่งเก็บผลผลิตไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ขายผลผลิตหมดภายใน 5 วัน
“การปลูกเมล่อนจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ถ้าเข้าใจ” คุณอดิเรกกล่าวพร้อมกับให้ข้อมูลการปลูกเมล่อนอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่นำชานอ้อยคั้นน้ำผสมร่วมกับมูลวัวนม แล้วนำมาหมักในดินแบบกอง ระยะเวลาในการหมักประมาณ 4 เดือน จากนั้นตักดินที่ผ่านการหมักแล้วใส่ถุงปลูกนำเข้าไปวางในโรงเรือน
การเพาะต้นกล้าเมล่อน
การเพาะต้นกล้าเมล่อน จะเพาะเมล็ดเมล่อนในถาดหลุมเพาะต้นกล้า และเลี้ยงต้นกล้าประมาณ 8 วัน เพื่อให้ต้นกล้าเมล่อนมีความแข็งแรงก่อน แล้วจึงย้ายลงปลูกในถุงอีกครั้ง ซึ่งนำเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์สูง ที่มีอัตราการงอกสูง และปลอดจากเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด
จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์แช่ในน้ำอุ่น 40 องศา แช่ทิ้งไว้ประมาณ 4 ชม. แล้วนำเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาห่อผ้าเปียกหมาดๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน สังเกตว่าเมล็ดจะมีรากขาวเริ่มงอกออกมาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร แล้วค่อยนำไปเพาะต่อในถาดหลุมขนาด 120 เมล็ด/ถาด นำเมล็ดที่งอกแล้วค่อยๆ ปลูกลงถาดเพาะ 1 ต้น/หลุม โดยใช้วัสดุปลูกพีทมอส เพราะปลอดเชื้อโรคทางดิน แต่มีราคาค่อนข้างสูง ลักษณะเบา อุ้มน้ำ ได้ดี แต่มีช่องว่างให้มีอากาศที่จำเป็นสำหรับการงอกของเมล็ด
และการเจริญเติบโตของต้นกล้ายังมีธาตุอาหารในรูปของอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายตัวแล้วให้กับต้นกล้าได้ใช้ในการเจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก ให้ต้นกล้ามีความแข็งแรง จากนั้นรดน้ำต้นกล้าในถาดเพาะ 1-2 ครั้ง/วัน เมื่อต้นกล้าอายุได้ 8 วัน จึงย้ายลงปลูกในถุงในโรงเรือนที่เตรียมไว้ พร้อมวางระบบน้ำหยด และติดตั้งหัวน้ำหยดแต่ละถุงปลูก
การบำรุงดูแลเมล่อน
เมล่อนเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อน และเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิ 35-40 องศา ถ้าอากาศเย็นจะโตช้า และอากาศร้อนจะโตเร็ว เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการแสง จะโตให้เห็นวันต่อวัน เจริญเติบโตของยอดจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 เซนติเมตร ช่วงก่อนออกดอกจะโตเร็วมาก ถ้าวันไหนอากาศมืดครึ้มจะไม่ค่อยโต
หลังจากปลูกเมล่อนลงในถุงปลูกได้ 1 สัปดาห์ จะเริ่มให้ปุ๋ยเป็นน้ำหมักปลาทะเลหมักร่วมกับสับปะรด หมักทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน ใช้ฉีดพ่นทางใบ และใส่ทางดินร่วมกับปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำผ่านทางท่อน้ำหยด ซึ่งจะใช้ควบคู่กัน ให้ปุ๋ยเกร็ดและปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15
เนื่องจากต้นเมล่อนเป็นพืชที่มีใบใหญ่ คายน้ำมาก และต้องการน้ำมากในแต่ละวัน หลังจากย้ายปลูกในโรงเรือนแล้ว หลังจากศึกษาจากตำราว่าเมล่อนต้องการน้ำ/วันกี่ลิตร “เมล่อนโดยเฉลี่ยต้องการน้ำอยู่ที่ 1 ลิตร/ต้น จึงแบ่งช่วงให้น้ำเป็น 4 ครั้ง/วัน คือ รอบที่ 1 เวลา 7:00 น. รอบที่ 2 เวลา 10:00 น รอบที่ 3 เวลา 12.00 น และ รอบที่ 4 เวลา 15:00 น ก็จะครบ 1 ลิตร/วัน และคอยหมั่นสังเกตดูที่ถุงปลูกว่าถุงเปียกหรือแห้ง และจะเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น 2-3 ลิตร/ต้น/วัน ในช่วงที่เมล่อนกำลังออกดอก และ ติดผล ถ้าดูแลเรื่องการให้น้ำได้ก็ถือว่าผ่าน การปลูกเมล่อนก็ไม่ยาก” คุณอดิเรกอธิบายถึงการให้น้ำ
เมื่อปลูกเมล่อนลงในถุงปลูกแล้ว ประมาณ 14 วัน จะทำค้างให้กับเมล่อน เพื่อบังคับให้เถาเมล่อนเลื้อยขึ้นด้านบน จะใช้เชือกฝ้ายสีขาวเพื่อผูกทำค้างด้านบนให้ตึง แล้วห้อยลงบริเวณโคนต้นของเมล่อน และเวียนเชือกฝ้ายรอบโคนต้นเมล่อน เพื่อให้เชือกสัมผัสและรับน้ำหนักและพยุงเมล่อนไว้
การผสมเกสรเมล่อน
หลังจากปลูกเมล่อนได้ประมาณ 25 วัน จะเริ่มออกดอก และจะเริ่มผสมเกสรได้ประมาณวันที่ 25-28 มีเวลาประมาณ 3 วัน ในการผสมเกสร ซึ่งเมล่อนเป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่กันคนละดอกบนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะเกิดก่อน และมีลักษณะเป็นช่อที่มุมระหว่างก้านใบกับลำต้น หรือ กิ่งแขนง ส่วนเพศเมียจะออกดอกทีหลัง และมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยว ที่บริเวณข้อแรกหรือข้อที่สองของกิ่งแขนง การผสมเกสรไม่ยุ่งยาก ทำได้เมื่อดอกบานช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น.
วิธีผสมเกสร ให้เด็ดดอกตัวผู้ที่บานจากต้นไหนก็ได้ปลิดกลีบดอกออกให้หมด เหลือไว้แต่เกสร แล้วมาผสมหรือคว่ำใส่ดอกตัวเมียที่มีความสมบูรณ์ ดอกใหญ่ คัดเลือกเพื่อผสมประมาณ 3-5 ดอก/ต้น นำดอกตัวผู้ผสมซ้ำๆ กับดอกตัวเมียประมาณ 2-3 ครั้ง/ดอก เพื่อให้แน่ใจว่าผสมติดแล้ว พร้อมกับทำเครื่องหมายไว้ว่าดอกไหนผ่านการผสมเกสรแล้ว
เช้าวันรุ่งขึ้นเข้ามาตรวจดูดอกตัวเมียที่ผสมเกสรแล้ว สังเกตุได้จากถ้าดอกไหนไม่ติดจะเหี่ยวไป ถ้าดอกที่ผสมติด ดอกจะเริ่มโรย และเห็นผลเล็กๆ ประมาณนิ้วหัวแม่มือ และขยายผลใหญ่ขึ้น เมื่อเริ่มติดผลขนาดใหญ่เทียบเท่าไข่ไก่ จะคัดไว้แค่ 1 ผล/ต้น เลือกคัดเฉพาะผลที่มีความสมบูรณ์ ขั้วผลใหญ่ สวยสมบูรณ์ คัดเฉพาะผลที่มีลักษณะเป็นวงรี เพราะทำให้การเจริญเติบโตขยายออกข้างผลได้
แต่ถ้าเป็นลูกกลม จากการศึกษาโดยส่วนตัวพบว่าผลที่มีลักษณะกลม ผลจะไม่ค่อยโต หลังติดผลประมาณ 2 สัปดาห์ จะใช้เชือกฝ้ายสีขาวผูกที่ขั้วผลโยงไว้กับค้าง เพื่อช่วยพยุงและรับน้ำหนักผลที่เพิ่มขึ้น การปลูกเมล่อนในโรงเรือนไม่ต้องห่อผล เพราะไม่มีแมลงวันรบกวนหรือเข้าทำลายผล
ปัญหาและอุปสรรคการปลูกเมล่อน
จะเน้นให้ปุ๋ยสูตรตัวกลางและตัวท้ายสูง พร้อมกับฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ 2 วัน/ครั้ง สลับให้กับปุ๋ยทางสายน้ำหยด และมีฮอร์โมนไข่ฉีดพ่นทางใบ และฉีดพ่นไตรโคเดอร์ม่า ทั่วทั้งโรงเรือน 1 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อป้องกันเชื้อรา และศัตรูพืชที่เป็น ไวรัส แบคทีเรีย และ ราน้ำค้าง ส่วนปุ๋ยที่ใช้ก็จะเป็นปุ๋ยน้ำใส่ไปกับสายน้ำหยด 2 วัน/ครั้ง สลับกับพ่นทางใบ จะทำเป็นตารางการใส่ปุ๋ยไว้ข้างโรงเรือน เพื่อความสะดวกในการให้ปุ๋ยและน้ำ
คุณอดิเรกบอกว่าการปลูกเมล่อนในโรงเรือนเจอปัญหาเรื่องเพลี้ยน้อยกว่าปลูกระบบกลางแจ้ง พบแค่โรค 2 ชนิด คือ 1.โรคโคนเน่า และ 2.โรคราน้ำค้าง ช่วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา อากาศแปรปรวน ทำให้เจอปัญหาเรื่องของโรคราน้ำค้าง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิด Pseudoperonospora มักระบาดในสภาพอุณหภูมิต่ำ และมีความชื้นสูง
อาการของโรคเกิดขึ้นบนใบเป็นแผลสีน้ำตาลอ่อน ถ้าพบการเข้าทำลายจะเด็ดใบทิ้ง จากนั้นใช้ไตรโคเดอร์ม่าฉีดพ่นทั้งโรงเรือน ส่วนปัญหาโรคเน่าสังเกตได้จากโคนต้นจะเน่า ต้นจะเริ่มช้ำตรงโคนให้เห็นรอยช้ำน้ำ ถ้าแก้ปัญหาไม่ทันก็จะทำให้ต้นเมล่อนตาย ส่วนปัญหาผลแตกไม่เจอ ซึ่งปัญหาผลแตกเกิดจากการรดน้ำถูกผล เชื้อราเข้าเจาะผลด้านล่าง วิธีป้องกัน คือ การจัดการดอกออกจากผล ช่วงแขวนผลใส่ถุงมือลูบผล และเน้นตรงก้นผลที่มีดอกติดอยู่
การเก็บเกี่ยวผลผลิตเมล่อน
ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์ คุณอดิเรกบอกว่าจะค่อยๆ ลดปริมาณการให้น้ำแก่ต้นเมล่อนลงทีละน้อย เป็นระยะเวลา 5-7 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นวิธีช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำตาลในผลเมล่อน และลดปัญหาการแตกของผลเมล่อนก่อนการเก็บเกี่ยว ให้เมล่อนมีความหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีค่าความหวานอยู่ที่ประมาณ 16 องศาบริกซ์ หรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 14 องศาบริกซ์ โดยสามารถวัดได้โดยใช้เครื่องวัดความหวาน ยิ่งมีค่ามากยิ่งหวานมาก และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
ก่อนเก็บผลเมล่อน คุณอดิเรกจะใช้วิธีนับวันอย่างเดียว ศึกษาในคู่มือที่แนบมากับเมล็ดพันธุ์ จะเขียนบอกว่าหลังจากผสมเกสรไปแล้ว 52 วัน บางแสน 45 วัน บางแสน 48 วัน จะไม่เท่ากัน ก็มีบวกลบได้ 3-4 วัน ไม่เกินนี้ เก็บเร็วก็จะได้หวานและกรอบ อยู่ที่ลูกค้าว่าต้องการรสชาติ หวานกรอบ หรือ หวานฉ่ำ โดยเฉลี่ยทั้งสามสายพันธุ์จะมีอายุเก็บผลผลิตอยู่ที่ 48 วัน โดยช่องทางการจัดจำหน่ายผลเมล่อนส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าเดิมของอ้อยคั้นน้ำ ตลาดออนไลน์กลุ่มใหญ่ คือ หมู่บ้านเดอะลากูน โพสต์ผ่าน facebook ส่วนตัว บอกปากต่อปาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิสาหกิจชุมชนตั้งใจธรรม 223/1 หมู่ 3 ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 12160 โทร.081-648-6633 ID Line datanawan E-mail [email protected]