การปลูกกล้วยไข่
กล้วยไข่ เป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออก เพราะผลไม้ที่สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี และสามารถจำหน่ายในราคาที่น่าพอใจ อีกทั้งให้ผลผลิตเร็ว หลังจากปลูกแล้วใช้เวลาเพียง 6-8 เดือน หรืออย่างช้าไม่เกินหนึ่งปี ก็สามารถเก็บผลขายได้ เกษตรกรจึงหันมาปลูกกล้วยไข่กันมากขึ้น
โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีนั้นกล้วยไข่ได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ใช้ปลูกทดแทนไม้ผลชนิดอื่นๆ ที่ราคาไม่ดี เช่น เงาะ เป็นต้น ในขณะที่เกษตรกรอีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะปลูกแซมในสวนผลไม้ชนิดอื่นก็สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรหลายรายในจังหวัดจันทบุรียืนยันว่า กล้วยไข่ปลูกแล้วกำไรงาม ช่วยปลดหนี้ มีชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามในการผลิตไม้ผลแต่ละชนิดนั้นยังมีองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องอีก ซึ่งเกษตรกรที่ไม่มีประสบการณ์ต้องศึกษา เช่น การตลาด การจัดการ โรคและแมลง ปัจจัยเหล่านี้ต้องพร้อมก่อน ต้องมีความรู้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นแล้วเรื่องกล้วยๆ จะไม่ง่ายอย่างที่คิด
การรับซื้อกล้วยไข่
ทีมงานเมืองไม้ผลจึงได้นำมุมมองต่างๆ ในธุรกิจการปลูกกล้วยไข่ ทั้งชาวสวนที่ปลูกแซมมังคุด เกษตรกรที่ปลูกกล้วยไข่ล้วนๆ เกษตรกรที่ปลดหนี้ได้เพราะกล้วยไข่ และที่ขาดไม่ได้ คือ แหล่งรับซื้อ หรือล้ง กล้วยไข่ มาเผยแพร่ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ
ทีมงานออกจากอำเภอเมืองมุ่งหน้าสู่อำเภอเขาคิชฌกูฏ เป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร เข้าสู่ตำบลคลองพลู แหล่งปลูกกล้วยไข่สำคัญ เมื่อเริ่มเข้าสู่พื้นที่ตลอดสองข้างทางจะเห็นสวนกล้วยไข่หนาตากว่าสวนผลไม้ชนิดอื่น และที่ยืนยันถึงปริมาณพื้นที่ปลูกว่ามีมาก คือ จำนวนล้งตลอดทางนั้นมีมากเช่นกัน แต่ทีมงานได้เลือกล้งที่มีประสบการณ์มานาน และตระเวนรับซื้อกล้วยไข่มาแล้วทั่วประเทศ
คุณบุญรุ่ง ต่อยนึ่ง หรือคุณบอย กล่าวว่า รับซื้อกล้วยไข่มาทั่วประเทศ เพราะเป็นทีมงานที่แพ็คกล้วยใส่กล่องส่งให้กับผู้ส่งออก ซึ่งตลาดใหญ่ของกล้วยไข่ คือ ประเทศจีน ที่มีลักษณะการนำเข้าเป็นในนามของรัฐ แต่รัฐจะมีทีมงานคอยดูแลการนำเข้าและสั่งออเดอร์จากพ่อค้าชาวไทย
นอกจากนี้ราคารับซื้อแต่ละรัฐไม่เท่ากัน บางครั้งตลาดต้องการมากจะเกิดการแข่งขันด้านราคา โดยรัฐที่ให้ราคาดีที่สุด คือ เฉินตู ซึ่งคุณบอยแพ็คส่งไปยังรัฐนี้ และคนกำหนดราคาที่แท้จริง ก็คือ ทีมงานชาวจีนผู้นำเข้า หรือที่เรียกกันว่า คนท้ายตู้ การส่งออกจึงฝากไว้กับประเทศจีนและคนเหล่านี้
ส่วนกล้วยไข่ที่คุณภาพไม่ผ่านการส่งออกจะมีตลาดรองรับ คือ ตลาดในประเทศ และตลาดแปรรูป คุณบอยกล่าวต่อว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกได้ว่าเกษตรกรชาวจันทบุรีมีความโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ รสชาติกล้วยไข่ที่ปลูกนั้นแตกต่างจากที่อื่น
เพราะปกติกล้วยไข่จะมีรสเปรี้ยวนิดๆ แต่ที่จันทบุรีไม่มีรสเปรี้ยว ทำให้เป็นที่นิยมของตลาดส่งออก รวมถึงตลาดในประเทศด้วย
ด้านตลาดและการจำหน่ายผลผลิตกล้วยไข่
คุณภาพกล้วยไข่ที่สามารถส่งออกได้นั้น คุณบอยอธิบายว่าผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับผิวกล้วย ดังนั้นผิวต้องสวย สะอาด ไม่มีริ้วรอย ขนาดของกล้วยแต่ละหวีน้ำหนักประมาณ 800-1,000 กรัม หากน้ำหนักน้อยกว่านี้จะเป็นกล้วยตกเกรด ราคารับซื้อช่วงหน้าฝนราคาประมาณ 22 บาท
ส่วนราคาในช่วงฤดูร้อนซึ่งกล้วยจะมีคุณภาพดีราคาจะสูงขึ้น และราคาดีที่สุดช่วงเทศกาลต่างๆ ของจีนโดยราคาสูงสุดที่ผ่านมา คือ 97 บาท/กก. หลังจากรับซื้อจากเกษตรกรแล้วจะชุบน้ำยาที่ทำให้ผิวสวย รักษาผิวต่อด้วยสารป้องกันเชื้อราที่ไม่ตกค้าง แพ็คลงกล่องส่งต่อให้กับผู้ส่งออกต่อไป
การ ปลูกกล้วยไข่ แซมในสวนผลไม้
ในส่วนของเกษตรกรผู้ผลิตนั้น ในจังหวัดจันทบุรีมีการขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในฉบับนี้มีเกษตรกรสี่รายมาให้ข้อมูลเรื่องการผลิตกล้วยไข่ส่งออก รายแรก คือ
คุณจำเนียร พัฒเสมา กล่าวกับทีมงานเมืองไม้ผลว่า ทำสวนผลไม้มานาน เป็นสวนผสม ปลูกผลไม้สี่ชนิดรวมกัน คือ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง เนื่องจากที่ผ่านมาราคาผลไม้ไม่แน่นอน บางครั้งตกต่ำ รายได้ไม่ดี การปลูกแบบผสมจึงช่วยลดความเสี่ยงเรื่องราคา เพราะในหนึ่งรอบปีต้องมีผลไม้หนึ่งในสี่ชนิดดังกล่าวที่ราคาดี
แต่การดูแลรักษาค่อนข้างยาก ลงทุนสูง อีกทั้งมีโรคและแมลงรบกวนได้ตลอดเวลา ทำให้รายได้ต่อปีไม่มากนัก บางปีถึงกับเป็นหนี้ เพราะผลไม้เหล่านี้เก็บผลผลิตได้ปีละครั้ง จึงนำกล้วยไข่เข้ามาปลูกแซมในสวนทั้ง 10 ไร่ ที่มีอยู่
คุณจำเนียรให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่นำกล้วยไข่มาปลูกแซมในสวนผลไม้ เนื่องจากมองว่า กล้วยไข่ตั้งแต่มีการส่งออกมาราคาค่อนข้างดี คือ ไม่ต่ำกว่า 20 บาท/กก. และสูงสุดเกือบร้อยบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในการผลิตกล้วยไข่ส่งออกนั้นเกษตรกรจะเก็บไว้ประมาณ 5-6 หวี ต่อหนึ่งเครือ เพื่อให้กล้วยไข่แต่ละหวีมีขนาดใกล้เคียงกัน น้ำหนักพอกัน
ดังนั้นในหนึ่งเครือจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 5 กก. เมื่อคิดราคาขายเฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณ 45 บาท/กก. รายได้ต่อเครือจะอยู่ที่ประมาณ 225 บาท ข้อดีของกล้วยไข่อีกอย่าง คือ ระยะเวลาการให้ผลผลิตสั้น คือ จากเริ่มปลูกจนสามารถเก็บผลได้ใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน เท่านั้น
และเมื่อให้ผลแล้วสามารถเก็บผลได้ตลอดทั้งปี มีล้งรับซื้อแน่นอน แต่ต้องได้คุณภาพตามที่ล้งกำหนด นอกจากนี้ทั้งการจัดการที่ง่ายกว่าไม้ผลหลัก และการลงทุนที่น้อยกว่า ทำให้กล้วยไข่กลายเป็นพระเอกที่พร้อมจะขยายหากมีพื้นที่
คุณกฤษฎา เกิดลาภ บุตรชาย กล่าวเสริมว่าหากเปรียบเทียบรายได้ในหนึ่งปีระหว่างกล้วยไข่กับมังคุด ซึ่งตนเป็นคนดูแลมังคุดหลายสิบไร่ ทั้งของตน และของครอบครัวภรรยา จะเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน คือ ในพื้นที่ปลูก 10 ไร่ จะมีรายได้จากการปลูกมังคุดประมาณ 1-1.5 ล้านบาท/ปี หรือเต็มที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
ในขณะที่กล้วยไข่ 10 ไร่ ทำรายได้ประมาณ 2-4 ล้านบาท/ปี ลงทุนน้อยกว่า ดูแลง่ายกว่า เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ที่น่าสนใจ แม้มีพื้นที่ไม่มากก็สามารถสร้างรายได้ที่คุ้มค่า ทำแล้วปลดหนี้ให้เกษตรกรมาแล้วเป็นจำนวนมาก
สภาพพื้นที่ ปลูกกล้วยไข่
ด้านเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ ปลูกกล้วยไข่ เป็นอาชีพจนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี คือ คุณปรีชา แซ่ลิ้ม หรือลุงตี๋ แห่งบ้านทุ่งกบินทร์ ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี กล่าวกับทีมงานเมืองไม้ผลว่า เดิมทีทำงานบริษัทเอกชนอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ละเดือนเงินไม่พอใช้ จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาเป็นชาวสวน
แต่ตอนแรกยังไม่ทราบว่าจะปลูกไม้ผลชนิดใด เนื่องจากมีไม้ผลหลายชนิด จนกระทั่งเลือกที่จะปลูกกล้วยไข่ เนื่องจากในขณะนั้นกล้วยไข่ราคาดี และกล้วยไข่ก็เป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตเร็ว อีกอย่างมีที่ดินอยู่ไม่มาก กล้วยไข่จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น
ลุงตี๋จึงเริ่ม ปลูกกล้วยไข่ ในพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ การ ปลูกกล้วยไข่ นั้นไม่ยาก คือ ขุดหลุมกว้างประมาณ 50×50 ซม. ส่วนความลึกแล้วแต่ความต้องการ หากต้องการให้กล้วยออกผลนานก็ให้ขุดหลุมลึกประมาณ 50 ซม. กล้วยไข่จะให้ผลผลิตนานประมาณ 3 ปี หากขุดหลุมตื้นระยะเวลาการให้ผลผลิตก็จะสั้นตามไปด้วย ทั้งนี้เกษตรกรทราบกันดีว่าหากรากลอยเมื่อไหร่การให้ผลผลิตจะไม่มีคุณภาพ ต้นไม่สมบูรณ์ หวีเล็ก ไม่มีคุณภาพ
ก่อนปลูกอาจจะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยชีวภาพ หรือขี้ไก่แกลบ หรือบางพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องใช้ก็ได้ ส่วนหน่อที่ใช้ลุงตี๋ซื้อจากเกษตรกรที่ปลูกมาก่อน ราคาประมาณหน่อละ 3-5 บาท ระยะการปลูกประมาณ 2-4 เมตรหรือน้อยกว่า บางท่านปลูกห่างกันเพียงเมตรครึ่ง ประเด็นอยู่ที่หากปลูกชิดเกินไปลำต้นอาจไม่สมบูรณ์ และในหนึ่งกอจะเก็บหน่อไว้ได้ประมาณ 2-3 หน่อ
การบำรุงดูแลรักษากล้วยไข่
หลังจากปลูกแล้วการดูแลรักษาไม่ยาก เน้นการใส่ปุ๋ยชีวภาพบำรุงต้นให้สมบูรณ์ หรือใช้ปุ๋ยสูตรเสมอเดือนละครั้ง ทั้งนี้หากบำรุงต้นดีกล้วยไข่จะให้ผลผลิตเร็ว มีรายได้เร็ว เมื่อกล้วยไข่เริ่มแทงดอกเป็นช่วงที่ต้องดูแลรักษาอย่างดี
เนื่องจากมีศัตรูที่สำคัญ คือ ไรแดง ดังนั้นต้องฉีดยาป้องกันไรแดงอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสารช่วยยืดช่อดอกหรือเครือให้ยาวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กล้วยไข่มีก้านเครือยาว และหวีมีขนาดใหญ่ขึ้น จนกระทั่งกล้วยไข่ออกหวีมาประมาณ 5-7 หวี
โดยดูจากความสมบูรณ์ของต้น แต่จะไม่ให้เกินนี้เพราะจะควบคุมคุณภาพได้ยาก เมื่อตัดส่วนเกินทิ้ง ฉีดยากันแมลงและไรแดง และห่อด้วยถุงห่อเครือ ซึ่งหลังจากห่อแล้วจะไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ อีก จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเก็บกล้วยไข่
ซึ่งการเก็บกล้วยไข่นั้นลุงตี๋มีวิธีการ คือ ดูจากเหลี่ยมที่ผลกล้วย แรกๆ เหลี่ยมจะชัดเจน แล้วค่อยๆ หายไปเมื่อผลสุก ดังนั้นการเก็บจะเก็บเมื่อเหลี่ยมใกล้หมด ความสุกจะอยู่ที่ประมาณ 70% หากปล่อยไว้นานกว่านี้อาจจะทำให้ผลแตก หรือมีโรครบกวน ไม่สามารถส่งออกได้
ลุงตี๋กล่าวอีกว่าการปลูกกล้วยไข่ ส่งออกนั้นต้องดูแลต้นกล้วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะต้นกล้วยประกอบด้วยน้ำจำนวนมาก หากตัดต้นกล้วยจะเห็นน้ำไหลออกมา การปลูกกล้วยจึงต้องคำนึงแหล่งน้ำและระบบน้ำที่ดี อย่าให้ขาดน้ำเด็ดขาด
นอกจากนี้ต้องบำรุงต้นให้ดีตลอดเวลาโดยใส่ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกอย่างสม่ำเสมอ และตามด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ซึ่งการใส่ปุ๋ยดังกล่าวนี้ลุงตี๋ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาหลายครั้งกว่าจะได้ปุ๋ยเคมีที่ดี
ทั้งนี้เพราะชาวสวนด้วยกันมักจะปกปิดเรื่องกระบวนการผลิต รวมทั้งวิธีการของแต่ละคนก็แตกต่างกัน จึงต้องทดลองด้วยตนเอง กว่าจะประสบความสำเร็จต้องตัดกล้วยทิ้งไปไม่น้อย ต่างกับปัจจุบันที่ข้อมูลต่างๆ หาได้ไม่ยาก
จึงอยากฝากว่าแม้กล้วยไข่จะเป็นไม้ผลที่ทำรายได้ให้คุ้มค่า แต่หากคิดจะปลูกก็ต้องศึกษาให้ดีก่อน จะได้ไม่เสียเวลาในการลองผิดลองถูก และต้องดูพื้นที่ปลูกด้วย เพราะบางพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ไม่ได้ แม้จะดูแลอย่างดีก็ให้ผลไม่คุ้มค่า
รายได้จากผลผลิตกล้วยไข่
ด้านคุณธานิน วรรณภักดี ซึ่งเป็นเกษตรกรอีกรายที่ปลูกกล้วยไข่มานานตั้งแต่ยังไม่มีการส่งออก กล่าวกับทีมงานเมืองไม้ผลว่า กล้วยไข่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเป็นอย่างดีในพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ แม้จะเป็นการทำสวนผสม มีไม้ผลหลายชนิด แต่กล้วยไข่คือไม้ผลทำเงินที่ดีอย่างหนึ่ง
จากครอบครัวชาวนาที่สืบทอดกันมานับหลายชั่วอายุคน จนมาถึงรุ่นตัวเองได้สืบทอดและทำนามาหลายสิบปี แต่ด้วยรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัวจึงเปลี่ยนที่ดินหลายสิบไร่เป็น็ไร่มันตามความนิยมของเกษตรกรในพื้นที่ และนับสิบปีที่ยึดเป็นอาชีพยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้
จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่อีกครั้งเป็นสวนผลไม้ ปลูกไม้ผลหลายชนิดรวมกัน เพราะคิดว่าราคาไม้ผลไม่แน่นอน หากปลูกชนิดเดียวเสี่ยงต่อการขาดทุน การปลูกหลายชนิด ทั้งลองกอง เงาะ ทุเรียน มังคุด กล้วยไข่ ทำให้ในหนึ่งปีจะมีอย่างน้อยหนึ่งชนิดที่ราคาดี แต่ที่ราคาดีมาตลอด คือ กล้วยไข่
คุณธานินกล่าวว่า ปลูกกล้วยไข่ แซมในสวนผลไม้ หรืออาจจะเรียกว่าปลูกผสมผสานกับ ผลไม้อีกสี่ชนิด ปลูกมานานมากตั้งแต่ยังไม่มีการส่งออก ไม่มีล้งรับซื้อ นำไปขายตามตลาดทั่วไปในราคาสิบกว่าบาท แต่ได้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยใช้หน่อของต้นที่ปลูกไว้ และราคากล้วยไข่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาราคาขยับขึ้นอย่างรวดเร็วไปอยู่กว่ายี่สิบบาท บางปีขยับขึ้นไปถึง 60 บาท/กก. และเกิน 100 บาท ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดส่งออกต้องการจำนวนมาก ทำให้ตนมีรายได้หลายหมื่นบาทต่อสัปดาห์ กล้วยไข่จึงให้ผลตอบแทนมากกว่าผลไม้ชนิดอื่นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามการ ปลูกกล้วยไข่ แซมในสวนผลไม้นั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าผลไม้บางชนิดไม่เหมาะสมที่จะปลูกร่วมกัน เช่น ลองกอง เพราะจะทำให้ผลผลิตของทั้งสองชนิดไม่ดี ซึ่งคิดว่าเป็นเพราะความต้องการน้ำและปุ๋ยแตกต่างกัน ส่วนผลไม้ชนิดอื่น เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ต่างส่งผลดีเมื่อ ปลูกกล้วยไข่ ร่วมด้วย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตกล้วยไข่
นอกจากปลูกเองแล้วคุณธานินได้แนะนำน้องสาวซึ่งขณะนั้นมีที่ดินประมาณ 10 ไร่ ใช้ทำนา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีหนี้สิน รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว แรกๆ น้องสาวไม่กล้าเสี่ยง ปลูกกล้วยไข่ แต่เมื่อราคาดีขึ้น ประกอบกับหนี้สินที่มากขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจ ปลูกกล้วยไข่ เต็มทั้ง 10 ไร่
คุณอำนวย มาลัย น้องสาวคุณธานิน กล่าวว่า กล้วยไข่เป็นไม้ผลที่เรียกได้ว่าไม้ผลปลดหนี้อย่างแท้จริง เพราะก่อนหน้านี้มีหนี้สินจำนวนมาก หลังจาก ปลูกกล้วยไข่ เพียงปีเดียวสามารถปลดหนี้ได้ และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากกล้วยไข่ให้ผลผลิตเร็วมาก ปลูกแค่ประมาณ 8 เดือน ก็เก็บขายได้ อีกทั้งยังเก็บขายได้สองครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วงที่ราคาดีจึงเก็บขายได้หลายหมื่นบาท
สถานการณ์กล้วยไข่
นี่คือสถานการณ์กล้วยไข่ในขณะนี้ เรียกได้ว่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างงาม และมีข้อดีที่ให้ผลผลิตเร็ว อย่างไรก็ตามอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่าเกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ตลาดส่งออกผูกติดกับประเทศจีน หากภาครัฐไม่แนะนำหรือดูแลอาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต