สวนของ “พี่เทียม” หรือคุณเทียม สมัญญา ซึ่งสวนนี้เป็นสวนทุเรียนที่ค่อนข้างสวยงามทีเดียว เพราะเป็นสวนทุเรียนที่อยู่ในเขา สถานที่ตรงนี้อยู่ในเขตตำบลปัถวี อำเภอมะขาม ที่ดินตรงนี้เมื่อเราเข้ามาสองข้างทางมีแต่สวนแทบจะทั้งนั้น สภาพดินจึงเป็นดินภูเขาที่น่าจะมีแร่ธาตุและสารอาหารอยู่จำนวนมาก เหมาะสมกับการเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ปลูกทุเรียนให้โตเร็วบนเขา
สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียน และผลไม้ผสมผสาน
มาถึงสวนทุเรียนของพี่เทียมช่วงสายๆ หน่อยในวันที่อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนทีเดียว พื้นที่การเพาะปลูกตรงนี้นั้นพี่เทียมบอกว่าจะแบ่งเป็น 2 จุด จุดแรกประมาณ 40 ไร่ เป็นสวนทุเรียนกับมังคุด และอีก 25 ไร่ ก็จะเป็นป่ากล้วยไข่กับการปลูกทุเรียน
ในจุดแรก คือ พื้นที่ 40 ไร่ มีทุเรียนประมาณ 400 ต้น ที่ให้ผลผลิตได้ และมีที่ลงใหม่เข้าไปอีก 175 ต้น ส่วนพื้นที่ 25 ไร่ มีทุเรียนให้ผลผลิตได้กว่า 675 ต้น เมื่อรวมๆ กันทั้งหมดแล้วก็พูดได้ว่าทุเรียนของพี่เทียมมีกว่า 1,000 ต้น ในพื้นที่กว่า 75 ไร่ ทีเดียว ทุเรียนที่มีนี้เน้นไปทางหมอนทองเป็นหลัก จะมีชะนีกับพวงมณีอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย รวมกันแล้วไม่ถึง 100 ต้น
ปัญหาและอุปสรรค ปลูกทุเรียนให้โตเร็วบนเขา
พี่เทียมนั้นถือเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำสวนทุเรียนมานานพอตัว ก่อนจะมาทำสวนที่นี่ก็เคยหาประสบการณ์ในการทำสวนทุเรียนมาอย่างโชกโชน ซึ่งความรู้ที่ได้ก็เกิดจากการสะสม เพราะเจ้าของสวนบางครั้งอันไหนดีก็จะไม่ถ่ายทอดให้ชาวสวนด้วยกัน ทำให้ต้องมีการลองผิดลองถูกจนกว่าจะเกิดความเข้าใจกันไปเอง
พี่เทียมบอกว่า “ในปีแรกที่มาทำที่นี่ตรงพื้นที่ 40 ไร่ สภาพต้นเหมือนจะโทรม มีต้นที่ตายบ้างบางส่วน ก็ต้องมาฟื้นฟูใหม่ ผลผลิตในปีแรกได้แค่ 3-5 ตัน/ปี” ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ก่อนหน้านี้ก็หลากหลาย อันไหนที่ว่าดี อันไหนที่ใครว่าใช้ได้ พี่เทียมก็ลองใช้มาแทบจะครบทุกยี่ห้อ
การบำรุงดูแลต้นทุเรียน
คำว่าทุเรียนลัดใบอ่อน พี่เทียมอธิบายว่า “ความสำคัญของการทำสวนทุเรียนประการหนึ่ง คือ การป้องกันไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อนในระหว่างการพัฒนาผลอ่อน (อายุผลไม่เกิน 2 เดือน ถ้าอายุผลหลังดอกบานเกิน 2.5 เดือน จัดได้ว่าปลอดภัยแล้ว) เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากมีการแตกใบอ่อนในช่วงนี้ ผลอ่อนจะไม่สามารถแข่งขันเพื่อแย่งอาหารสะสมกับใบอ่อนได้ ผลอ่อนที่กำลังพัฒนาก็จะหยุดชะงัก เกิดผลกระทบในด้านคุณภาพของผลผลิตตามมา”
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ พี่เทียมมองว่าน่าจะมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีทั้งการให้น้ำเองและมีฝนตกลงมาซ้ำทำให้น้ำมากเกินไป และในชุดช้างไฮบริดจ์นี้ก็พูดถึงเรื่องการดึงดอกเอาไว้อย่างน่าสนใจ พี่เทียมเองก็ยอมรับว่า “ไปหาพี่โก๋ช้าไปหน่อย ไม่อย่างนั้นคงได้ช้างไฮบริดจ์มาก่อนหน้านี้ และอาจจะแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้”
ทีนี้พอลองเอามาใช้การหาข้อสรุปก็ยังไม่ชัดเจน แต่โดยภาพรวมปัญหาที่มีก็ถือว่าทุเลาเบาบางลง ซึ่งถ้าได้ผลิตภัณฑ์มาก่อนหน้านี้คงจะมีข้อสรุปที่แน่ชัดให้กับทีมงานได้มากขึ้นด้วย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน
ถึงอย่างไรก็ตามพี่เทียมยังบอกว่าแม้ในทุเรียนจะยังไม่ทันได้ใช้เต็มที่ แต่ในสวนมังคุดถือว่าได้ผลน่าพอใจมาก ปริมาณการติดลูก และคุณภาพของลูก ถือว่าดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ปริมาณมังคุดที่ได้ในปีนี้ค่อนข้างดี ราคาที่ได้ก็ค่อนข้างสูงทีเดียว
ส่วนของสวนทุเรียนนั้น จากปัญหาเรื่องลัดใบอ่อนที่กล่าวไปทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ในปีนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตทำได้ประมาณ 28 ตัน เมื่อหักลบต้นทุนออกแล้วถือว่ายังคุ้มค่า เพราะปัจจุบันต้นทุนเรื่องการใช้ปุ๋ย-ยาค่อนข้างสูง พี่เทียมขยายความว่า “ปุ๋ย-ยาเอามาแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ใช้ได้ประมาณ 14 วัน แต่ละเดือนก็ประมาณ 20,000 บาท”
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตทุเรียน
แต่ราคาทุเรียนในปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยราคารับซื้ออยู่ประมาณ 60 บาท/กก. นั่นคือการเหมาสวน แต่ถ้าเกษตรกรเอาออกมาขายเองแม้จะยุ่งยากในเรื่องการตัดและการขนส่งแต่ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยราคาในตลาดที่ผู้บริโภคซื้อรับประทานไม่ต่ำกว่า 80 บาทบางที่สูงกว่า 100 บาท เรียกว่าลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนก็ค่อนข้างมาก ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาสนใจในการปลูกทุเรียนกันมากขึ้นในปัจจุบัน
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : คุณเทียม สมัญญา 35/2 ม.5 ต.ปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี 22150 โทร.08-8484-9230
อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร คอลัมน์ เมืองไม้ผล ฉบับที่ 172