การ ปลูกเมล่อน
จังหวัดอ่างทองเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลาง เป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น การทำนา ทำสวนผัก และไม้ผลหลากหลายชนิด
ในปัจจุบันมีการส่งเสริมการปลูกพืชแบบระบบโรงเรือนปิด เพื่อให้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชแต่ละชนิด
การส่งเสริมการปลูกผักและไม้ผลบางชนิดในโรงเรือนสำหรับประเทศไทยมีมานานหลายปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การผลิตพืชผักปลอดสารพิษ ดังนั้นสำนักงานเกษตรและสหกรณ์อ่างทองจึงมีโครงการอาหารปลอดภัยขึ้นในปี พ.ศ.2555 ในรูปของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และอ่างทอง โดยเน้นให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดี และลดการใช้สารเคมีที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคและตัวของเกษตรกรเอง
การส่งเสริมเกษตรกรปลูกผัก และเมลอน ในโรงเรือนปิด
โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัย โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักและเมลอนในโรงเรือนปิด เป็นการวัดผลในระยะยาว ถึงแม้ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าการปลูกพืชนอกโรงเรือน
ซึ่งต้นทุนในปีแรกนั้น ทางราชการจะสนับสนุนในการสร้างโรงเรือนให้เกษตรกร 2 โรงเรือน พร้อมกับวัสดุปลูกฟรีทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท ต่อโรงเรือน (โรงเรือน 50,000 บาท ค่าวัสดุปลูก 10,000 บาท) แต่หลังจากรุ่น 2 ไปแล้ว เกษตรกรต้องลงทุนเอง ลงทุนต่อรุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แถมยังสามารถเหลือถึงรุ่นต่อไปอีกด้วย
คุณยิ่งยศ พันธุ์เอี่ยม หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรของสำนักเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง เผยว่า โครงการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2555 ก็คือ การปลูกผักกางมุ้ง อย่าง ผักสลัด รวมไปถึงการปลูกเมลอนในโรงเรือนควบคู่กันไปด้วย โครงการนี้มีกิจกรรม 5 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
- จัดอบรมเกษตรกร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชในระบบโรงเรือนปิดว่าทำอย่างไร เทคนิคการดูแลพืชที่ปลูกควรทำอย่างไร ตั้งแต่การเพาะกล้าไปจนถึงการเก็บเกี่ยว
- สนับสนุนเกษตรกร 1 ราย ต่อโรงเรือนปลูกพืช 2 โรงเรือน
- มีการจัดการเรื่องการบรรจุภัณฑ์ และโลโก้ ภายใต้ชื่อโครงการผลิตอาหารปลอดภัย
- มีการประชาสัมพันธ์ จัดทำซีดี เผยแพร่ทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์
- มีการบริหารและติดตามโครงการจากเจ้าหน้าที่ ทั้งยังคอยดูแลและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร
โรงเรือนปลูกผัก และ เมล่อน
ในปี พ.ศ.2555 ที่เริ่มโครงการ เฉพาะจังหวัดอ่างทองมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 25 ราย 50 โรงเรือนปลูกผัก และ เมล่อน ต่อมาปี พ.ศ.2556 มีการขยายผลโครงการอีกเท่าตัว มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 50 ราย 100 โรงเรือน รายละ 2 โรงเรือนปลูกผัก และ เมล่อน มีการปลูกเมลอนกับผักสลัดอย่างละโรงเรือน และในปี พ.ศ.2557 กำลังดำเนินงานเพิ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 158 ราย 316 โรงเรือน และจะกระจายโครงการให้ทั่ว 7 อำเภอ 513 หมู่บ้าน ทั้งจังหวัดอ่างทอง ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องมีพื้นที่ในการสร้าง โรงเรือนปลูกผัก และ เมล่อน 2 โรงเรือน ประมาณ 2 งาน โรงเรือนละ 50,000 บาท รวมวัสดุปลูกด้านในประมาณ 10,000 บาท เป็น 60,000 บาท ต่อโรงเรือน ในระยะเวลาพืชในโรงเรือน จะมีเจ้าหน้าที่คอยมาให้คำปรึกษา และแนะนำวิธีการปลูกอย่างละเอียดโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนเก็บผลผลิตจำหน่าย
การประกันราคาให้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
ต้นกล้าที่ปลูกทางสหกรณ์จะมีให้เกษตรกรโดยยังไม่ได้คิดเงิน จนกว่าจะเก็บผลผลิตมาขายให้ทางสหกรณ์ จะหักค่าต้นกล้าทีเดียว
ทางสหกรณ์จะมีการประกันราคาให้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ คือ
- เมลอนกิโลกรัมละ 50 บาท และ
- ผักสลัดกิโลกรัมละ 40 บาท
ตลาดที่ส่งจะเน้นตลาดบน คือ ห้างสรรพสินค้า
ทั้งนี้ทางสหกรณ์จะเป็นหน่วยงานที่ประสานงานกับตลาดเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ผลิต คือ ตัวของเกษตรกรอีกด้วย ตลาดที่ส่งจะเน้นตลาดบน คือ ห้างสรรพสินค้า อาทิเช่น พารากอน ท๊อป เดอะมอลล์ บิ๊กซี เป็นต้น ตรงนี้จะมีการเผยแพร่และรับประกันสินค้าภายใต้กระทรวงการเกษตรอีกด้วย
มาตรฐานตามระบบ GAP
ด้านมาตรฐานตามระบบ GAP (Good Agricultural Practice) ก็จะมีเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้าปลอดภัยตามมาตรฐานของระบบ GAP ตั้งแต่การเตรียมแปลง การดูแลผลผลิต ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว และตรวจสอบจนกระทั่งมีการออกใบรับรอง GAP ให้กับเกษตรกร การรับรองมาตรฐาน GAP จะขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของพืช
พืชแต่ละชนิดจะตรวจสอบไม่เหมือนกัน มาตรฐานในระบบ GAP ที่เราทำอยู่จะสามารถแข่งขันในเรื่องของสินค้าเกษตรปลอดภัยกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างแน่นอน ประเทศอื่นอาจจะราคาถูกกว่าประเทศไทย แต่คุณภาพและมาตรฐานของเราดีกว่า ก็สู้ประเทศอื่นได้
หลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการผลิตสินค้าปลอดภัย
ในปี พ.ศ.2556 มีเกษตรกรสนใจมาเข้าร่วมโครงการนี้กันมาก จนต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้หรือไม่ คุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการมีดังนี้
- เกษตรกรต้องประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก
- ต้องมีพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกอย่างน้อย 1 งาน ขึ้นไป
- เกษตรกรต้องมีการเซ็นยินยอมดูแลทรัพย์สินของราชการไม่ให้เกิดความเสียหาย เกษตรกรต้องสามารถซ่อมแซมให้อยู่ในรูปแบบใช้งานได้ดังเดิม
แต่ถึงเกษตรกรจะมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการก็จะนำมาคัดเลือกอีกทีว่ามีความเหมาะสมในการให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ แต่ถ้ามีรายชื่อผ่านเข้ามา เกษตรกรทุกคนจะสามารถปลูกและมีผลผลิตทุกคน เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ และเข้าไปดูแลพื้นที่อยู่ตลอดจนปฏิบัติเป็น
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของโครงการเป็นที่เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ในอำเภอเมืองอ่างทองเท่านั้น แต่จะยังเติบโตไปตามอำเภอต่างๆในจังหวัดอีกด้วย การขยายในส่วนต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งการตลาด การผลิต ความหลากหลายของพืชที่จะนำมาปลูก ซึ่งตรงนี้อาจต้องเป็นตัวที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเป็นหลัก ด้านหน่วยงานรับผิดชอบก็จะต้องเติบโตตามผู้ผลิตเช่นกัน
ปีนี้ทางสำนักงานยังได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการจาก ครม. เพื่อเตรียมสร้างโรงบรรจุภัณฑ์ และห้องเย็นเพิ่มขึ้นมา จากปกติที่เกษตรกรจะเก็บผลผลิตและจำหน่ายทันที เมื่อสินค้ามีมากขึ้น ตรงนี้ก็น่าจะรองรับผลผลิตได้ดีอีกหนทางหนึ่งได้เช่นกัน เป็นอีกก้าวที่สำนักงานเตรียมแผนการดำเนินการอยู่
ดังนั้นการตลาด กลุ่มเกษตรกร ก็จะเติบโตไปพร้อมๆ กัน เป็นตัวแปรสำคัญในโครงการ ที่ไม่เพียงแต่ให้คำแนะนำสำหรับเกษตรกร แต่วันนี้ที่นี่ได้ลงมือปฏิบัติให้เกิดผลจริง เป็นรายได้ที่น่าจะเรียกว่าเสริม หรือเป็นทางเลือก แต่สำหรับบางกลุ่มของที่นี่กลับยกให้เป็นตัวสร้างเงินรายได้หลักของเขาไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับว่าเป็นโครงการนำร่องตัวอย่างให้กับอีกหลายๆโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นอย่างดี
คุณเฉลิมพล เจริญการณ์ เกษตรกรผู้ ปลูกเมล่อน จ.อ่างทอง
คุณเฉลิมพล เจริญการณ์ เป็นเกษตรกรกลุ่มแรกที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการผลิตสินค้าปลอดภัย คุณเฉลิมพล สมัยก่อนปลูกดอกมะลิจำหน่าย แต่บริเวณนี้น้ำท่าจะสูงทุกปี ทำให้ต้นมะลิโดนน้ำมากเกินไป จึงทำการเพาะปลูกลำบาก พอมีโครงการผลิตสินค้าปลอดภัยจึงเข้าร่วมโครงการมาปลูกเมลอนแทน
“เมลอน” จัดเป็นพืชที่อยู่ในตระกูล Cucurbitaccae เป็นผลไม้รับประทานผลสุก กลิ่นหอม และรสชาติหวาน น่ารับประทาน เจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่แห้ง ร้อน แสงแดดจัด ในสภาพภูมิประเทศของประเทศไทย การผลิตเมลอนที่มีคุณภาพสูงจำเป็นต้องมีการเอาใจใส่ในการปลูกเป็นอย่างดี และเมลอนสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิดอีกด้วย
ขั้นตอนการ ปลูกเมล่อน
1.การเตรียมดิน ใช้ดินกับขุยมะพร้าวผสมกันในอัตราส่วน 1:1 นำผ้าใบมาปูรองในร่อง นำดินที่ผสมกับขุยมะพร้าวแล้วมาใส่ในร่องที่ขึ้นไว้ 1 โรงเรือน จะปลูกได้ประมาณ 6 แถว ในการ ปลูกเมล่อน ดินควรเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดีเพราะเมลอนเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง แต่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ สภาพอากาศที่เหมาะสม คือ อากาศที่อบอุ่น มีแสงแดดอย่างเพียงพอ และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ
2.การปลูก ควรเว้นระยะห่างประมาณ 40 เซนติเมตร 1 แถว จะปลูกได้ประมาณ 45-50 ต้น ต่อแถว 1 โรงเรือน จะปลูกได้ประมาณ 300 กว่าต้น โดยใช้วิธีการเพาะกล้า แล้วย้ายมาปลูก ต้นกล้าที่เพาะทางเกษตรกรและสหกรณ์จะมีคนเพาะมาให้เกษตรกรปลูกอีกที โดยหักเงินค่าต้นกล้า เวลาผลผลิตได้จำหน่ายแล้ว ต้นกล้าที่ได้มาจะมีอายุประมาณ 15 วัน คิดเป็นราคาต้นละ 5 บาท พันธุ์ที่ปลูกจะมี 2 พันธุ์ คือ เมลอน 73 เหลืองทอง และเมลอนเขียวตาข่าย เมื่อลงปลูกได้ประมาณ 10 วัน ก็เริ่มปักทำค้างทีละต้นเป็นแถวๆ
3.การให้น้ำ ทีนี้เน้นให้น้ำเมลอนโดยใช้สายยางรด เพราะเวลาเดินรดน้ำจะได้มีการเช็คดูต้นเมลอนทีละต้นว่ามีปัญหาอะไรบ้าง พอต้นเมลอนเริ่มโตขึ้นมาหน่อยก็รดน้ำเฉพาะโคนต้น เพื่อไม่ให้ยอดเมลอนกระทบกระเทือนมาก ในช่วงแรกควรรดตอนเช้า แต่ช่วงบ่ายควรสังเกตดูว่าต้นเมลอนมีอาการเหี่ยวหรือเปล่า ถ้ามีก็ควรเพิ่มอีก ดูแลตอนช่วงอนุบาลแค่นั้น พอต้นเมลอนเริ่มโตก็รดน้ำแค่วันละครั้งก็พอ
4.การใส่ปุ๋ย ช่วงแรกที่มีการเตรียมดินจะปลูกต้นเมลอนควรใส่ปุ๋ยขี้นกกระทาตอนทำแปลงก่อนปลูก หรือปุ๋ยคอกก็ได้ หลังจากนั้นเมื่อ ปลูกเมล่อน ไปแล้วซัก 1 อาทิตย์ ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 โรยรอบโคนต้น แล้วให้น้ำตามห่างกันประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
5.การผสมเกสรเมลอน เพราะเป็นโรงเรือนปลูกผัก และ เมล่อน แบบปิดจึงต้องทำการผสมเกสรให้ต้นเมลอน พออายุต้นได้ประมาณ 20 วัน ต้นเมลอนจะออกดอก จึงนำเกสรตัวผู้มาผสมกับเกสรตัวเมียในระยะนี้ได้เลย เพราะโรงเรือนปิด แมลงจะไม่สามารถเข้ามาผสมเกสรให้เราได้ ตรงนี้ต้องผสมเอง หลังจากนั้นต้องคอยสังเกตดูว่ามีลูกเมลอนติดผลหรือเปล่า
6.การผูกยอด และการเด็ดยอด เมื่อเมลอนทอดยอดควรใช้เชือกฟางผูกหลวมบริเวณใต้ข้อปล้องที่ 2-3 จากยอดยึดกับค้าง โดยผูกทุกๆ 3 ปล้อง ปกตินั้นค้างจะมีความสูงประมาณ 150-180 เซนติเมตร ควรเด็ดยอดทิ้ง เมื่อเมลอนมีความสูงประมาณ 140 เซนติเมตร
7.การตัดแขนง และการไว้ผล เมลอน 1 ต้น จะเว้นไว้ 4 ลูก เริ่มไว้ผลตั้งแต่ข้อที่ 9-12 โดยการเด็ดแขนงที่แตกจากข้อที่ 1-8 ออกให้หมด เมื่อผลเมลอนเริ่มโตก็เลือกผลที่ดีที่สุดไว้ 1 ผล ส่วนผลที่เหลือเด็ดทิ้งทั้งหมด หลังจากที่เลือกผลที่ดีที่สุดแล้วใช้เชือกฟางทำเป็นบ่วงคล้อง ระวังอย่าให้เชือกฟางรัดที่บริเวณขั้วผล เพราะจะทำให้ผลเมลอนเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อทำการคล้องผลเสร็จแล้วให้นำปลายเชือกอีกปลายหนึ่งไปผูกไว้กับค้าง
8.การเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับเมลอนจะมีอายุตั้งแต่เริ่มปลูกถึงช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 75-80 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และช่วงฤดูกาลในการปลูก สำหรับเมลอนที่ปลูกในช่วงฤดูร้อนผลจะสุกเร็วกว่าช่วงฤดูหนาว แต่ผลผลิตที่ได้น้ำหนักจะเท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน ปลูกเมล่อน 1 โรงเรือน จะได้ผลผลิตขั้นต่ำประมาณ 300 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 1 ปี สามารถ ปลูกเมล่อน ได้ถึง 3-4 รุ่น เลยทีเดียว
ปีแรกของโครงการ ผลผลิตใน โรงเรือนปลูกผัก และเมลอนที่ดำเนินการในศูนย์ฯ ต่างๆ จะเป็นการเผยแพร่และขยายผลให้หน่วยงานราชการ เอกชน ผู้สนใจ ได้ศึกษาหาความรู้และประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่ใกล้เคียงของศูนย์แต่ละแห่ง ส่วนที่จะทำแปลงใน โรงเรือนปลูกผัก ของเกษตรกร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์อ่างทองจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต โดยเชิญบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการการรับซื้อผลผลิตโดยมีการประกันราคาเพื่อความมั่นใจของเกษตรกรว่าผลิตแล้วมีตลาดรับซื้อในส่วนของผู้ปลูกเอง ราคาเมลอนกิโลกรัมละ 50 บาท หลังหักค่าต้นกล้าแล้ว
การป้องกันกำจัดโรคให้เมลอน
การเจอปัญหาของโรคระบาดใน โรงเรือนปลูกผัก และ เมล่อน พวกเชื้อไวรัสเข้าทำลายจนใบของต้นเมลอนเกิดอาการหงิกงอ การแก้ปัญหามีวิธีเดียว คือ การถอนต้นทิ้ง เพราะการ ปลูกเมล่อน หรือผักสลัด ที่นี่จะไม่ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด เพราะจะมีการตรวจสอบคุณภาพก่อนรับซื้อ ถ้าทางสหกรณ์ตรวจพบสารเคมีก็จะไม่รับซื้อทั้งแปลงปลูก ทำให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการไม่มีรายไหนใช้สารเคมีเลย
ขอขอบคุณข้อมูล
คุณยิ่งยศ พันธุ์เอี่ยม (เจ้าหน้าที่) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง ชั้น 3 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง 14000
คุณเฉลิมพล เจริญการณ์ (เกษตรกรผู้ ปลูกเมลอน ) 88 ถ.เทศบาล 1 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง 14000 โทร.08-1946-9633