การปลูกมังคุด
มังคุดเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์มากมาย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีแห่งไม้ผล มีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในเขตร้อนชื้น อย่างเช่น ประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของโลก เฉพาะมังคุดคุณภาพสามารถส่งออกได้ประมาณ 47,233 ตัน/ปี มูลค่ารวมประมาณ 75,565 ล้านบาท ประเทศที่มีการส่งออก คือ ฮ่องกง จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
จะเห็นได้ว่าการส่งออกยังจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ ดังนั้นโอกาสด้านการตลาดของไทยยังเปิดกว้างสามารถขยายตลาดส่งออกได้อีก การผลิตของไทยมีปริมาณเพียงพอที่จะป้อนตลาดได้อีกหลายประเทศ เพราะผลผลิตทั่วทั้งประเทศของไทยที่สำรวจโดยกระทรวงเกษตรฯ มีประมาณ 262,000 ตัน/ปี พื้นที่ปลูกประมาณ 400,000 ไร่
ด้วยผลผลิตที่มีมากเกือบสามแสนตันต่อปี และส่งออกได้น้อยมาก ทำให้ผลผลิตมังคุดมีปัญหาด้านราคาแทบทุกปี บางปีราคาตกต่ำมากแตะ 8 บาท/กก. ในขณะที่ราคาสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 210 บาท/กก. ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาเก็บผลผลิต
โดยเฉพาะการเก็บผลผลิต หากสามารถทำให้มังคุดเก็บได้ก่อนฤดูกาล หรือต้นฤดู จะขายได้ราคาดี ในขณะเดียวกันหากเก็บผลกลางฤดูกาลถึงปลายราคาจะตกต่ำ แต่การทำมังคุดให้ออกก่อนฤดูกาล และมีคุณภาพนั้น ยังมีเกษตรกรน้อยรายที่สามารถทำได้
สภาพพื้นที่ปลูกมังคุด
แต่ทีมงานเมืองไม้ผลได้นำข้อมูลจากเกษตรกรท่านหนึ่ง ที่สามารถเก็บผลผลิตได้ก่อนฤดูจนถึงต้นฤดูกาล และเป็นมังคุดที่มีคุณภาพ สามารถส่งออกได้ จึงขายได้ราคาดี มีผลกำไรทุกปี เกษตรกรคนดังกล่าว คือ คุณสุรเชษฐ ชวัติชัย และคุณรัตนา ชวัติชัย ภรรยา ที่อยู่ 1 หมู่ 13 ต.พลับพลา อ.เมือง จ.จันทบุรี โทรศัพท์ 089-0917939 ซึ่งตัวคุณสุรเชษฐนั้นนอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นสมาชิกเทศบาลพลับพลานารายณ์ และเป็นหัวหน้าจุด บ้านลาวอาสากู้ภัยสว่างกตัญญู จ.จันทบุรี อีกด้วย
คุณสุรเชษฐกล่าวว่า จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของไทย มีผลไม้หลากหลาย เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ กล้วย มะม่วง โดยเฉพาะมังคุดนั้นเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกมากถึงหนึ่งในสี่ของประเทศ คือ ประมาณ 136,417 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 121,370 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 94,790 ตัน/ปี โดยคิดจากอัตราเฉลี่ย 750 กก./ไร่
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก และตรงกับทางภาคใต้ ราคาจะตกต่ำ บางปีมีการนำมังคุดมาเทบนถนน ประท้วงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยแก้ไข ดังนั้นจึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเก็บผลได้ก่อนฤดู หรือก่อนราคาตกต่ำ จึงได้ลองผิดลองถูกจนสามารถทำให้มังคุดออกผลเร็วกว่าปกติได้
การบริหารจัดการสวนมังคุด
คุณรัตนากล่าวว่า ความจริงแล้วตนไม่ทราบว่าการที่มังคุดออกผลเร็วกว่าฤดูกาลนั้นเป็นเพราะอะไร เนื่องจากยังไม่สามารถทำได้ 100 % ทำได้เพียง 11 ไร่ จาก 40 ไร่ โดย 11 ไร่นั้น แบ่งเป็นสามสวน อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่มีทำเลที่คล้ายกัน คือ อยู่ติดแม่น้ำ ลำคลอง ใช้น้ำในคลองรดมังคุด ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 29 ไร่นั้น อยู่ห่างจากแหล่งน้ำ ใช้น้ำบ่อรด
ส่วนการจัดการสวนมังคุดนั้นเหมือนกัน คือ ในแต่ละรอบการผลิต เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้งก่อนจะออกดอก ช่วงนี้อาจจะใช้ปุ๋ยเร่งดอกร่วมด้วยก็ได้ รวมใส่ปุ๋ยเพียงสองครั้ง และก่อนออกดอกต้องฉีดยาฆ่าหนอน ฆ่าแมลง เชื้อรา ไม่ให้รบกวนต้นมังคุด
เมื่อมังคุดเริ่มออกดอกยังต้องฉีดยาป้องกันโรคและแมลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งการให้อาหารเสริมแก่พืช เช่น แคลเซียม โบรอน และอาหารช่วยในการสังเคราะห์แสง ทำให้ช่อดอกแข็งแรง ติดผลดก ดอกไม่ร่วงง่าย ปีกขั้วเป็นสีเขียว ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะหยุดใช้ก่อนเก็บผลผลิตประมาณหนึ่งเดือน เพื่อไม่ให้มีสารตกค้างถึงผู้บริโภค และไม่ให้มีผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งจะมีการตรวจสารตกค้างอย่างเข้มงวด
การบำรุงดูแลรักษาต้นมังคุด
นอกจากนี้คุณสุรเชษฐกล่าวเสริมว่าการดูแลผลมังคุดให้มีคุณภาพสามารถส่งออกได้นั้น ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากสารเคมีต่างๆ แล้วยังต้องผสมน้ำยาล้างจานฉีดพ่นด้วย ซึ่งมียี่ห้อเดียวเท่านั้นที่ทดลองใช้แล้วมังคุดผิวมันไม่ตกค้างถึงผู้บริโภค หากใครอยากทราบสามารถสอบถามได้
อย่างไรก็ตามแม้จะใช้วิธีการจัดการดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถทำให้มังคุดมีคุณภาพและผิวมันได้ทั้งหมด บางปีไม่สามารถทำได้ หากสภาพอากาศไม่เหมาะ เช่น สภาพอากาศที่ร้อนเกินไป การใช้สารเคมีต่างๆ ไม่ค่อยได้ผล หรือบางปีมีการระบาดของโรคและแมลงมากเกินไป การใช้สารเคมีก็ไม่ได้ผลเช่นกัน
อีกทั้งอากาศที่หนาวและยาวนานก็ส่งผลต่อการผลิตเช่นกัน เพราะจะทำให้มังคุดออกดอกช้า การเก็บเกี่ยวจะยืดเวลาออกไปจนถึงฤดูฝน ราคาจะตกต่ำ เพราะเมื่อได้รับฝนมากๆ จะเป็นมังคุดแก้ว ไม่มีราคา มังคุดส่งออก มังคุดส่งออก มังคุดส่งออก มังคุดส่งออก มังคุดส่งออก
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมังคุด
ปัจจัยอีกอย่าง คือ การเก็บเกี่ยวผลผลิต คนเก็บต้องรู้วิธีเก็บที่ถูกต้อง ไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของผลเสียหาย เนื่องจากจะมีผลต่อราคาทันที และต้องระมัดระวังไม่ให้ส่วนที่ติดอยู่กับต้นได้รับความเสียหายด้วย เพราะจะส่งผลต่อการให้ ผลผลิตในรอบต่อไป
ส่วนการเก็บนั้นมังคุดเกรดเอจะเก็บตอนที่ผลยังมีสีเขียวทั้งผลและขั้ว วิธีการสังเกต คือ ผิวมังคุดจะมีสีแดงเล็กๆ คล้ายเส้นเลือดฝอย (ชาวสวนเรียกว่าสายเลือด) โดยมีสายเลือดเพียงจุดเดียวก็สามารถเก็บได้แล้ว จะทำให้การเก็บรักษานานขึ้น
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตมังคุด
และกล่าวต่อว่าปีนี้มังคุดที่ตลาดรับซื้อแบ่งเป็นสองเกรด คือ ไซส์รวม และตกไซส์ โดยที่สวนนั้นเก็บผลผลิตขายได้ราคาสูงสุดในปีนี้ คือ 210 บาท/กก. และกลางเดือนมิถุนายนราคาอยู่ที่ 50 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่ยังสูง ชาวสวนยังมีกำไร
เมื่อถามถึงผลกระทบเมื่อราคามังคุดตกต่ำ คุณรัตนากล่าวว่าหลังจากทำสวนมังคุดอย่างจริงจังมาประมาณ 6 ปี ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แม้พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าที่ดิน แต่มีกำไรทุกปี บางปีเป็นเลขเจ็ดหลัก เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การทำให้มังคุดมีคุณภาพ และดก
ดังนั้นถึงราคาจะตก แต่ได้ปริมาณมาชดเชย จึงยังไม่เจอภาวะขาดทุน อีกอย่างมีมังคุดส่วนหนึ่งที่ออกก่อนฤดูขายได้ในราคาสูงเป็นตัวช่วย จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มังคุดส่งออก มังคุดส่งออก
แนวโน้มในอนาคตของ มังคุดส่งออก
ส่วนในอนาคตนั้นคุณสุรเชษฐกล่าวว่ามังคุดเป็นผลไม้ที่อนาคตสดใส โดยดูจากล้งหรือลานรับซื้อมังคุดที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างมีผู้รับซื้อจากต่างประเทศเข้ามารับซื้อมังคุดถึงสวน บางแห่งเป็นการรับซื้อแบบเหมาสวน
ประเทศที่เข้ามาตอนนี้ เช่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้สนใจผลไม้ไทย แม้ช่วงนี้จะมีการซื้อขายกันน้อย เพราะราคามังคุดยังสูงอยู่ แต่ในส่วนของเงาะนั้นมีชาวต่างชาติมาติดต่อแล้วให้เป็นผู้ซื้อ และแพ็คกิ้งให้วันละประมาณ 700 กก.
“ดังนั้นผมคิดว่าจะขยายพื้นที่ปลูกมังคุดให้มากขึ้น โดยหาสวนมังคุดที่ให้เช่า ส่วนจะขยายได้มากเพียงใดขึ้นอยู่กับกำลังแรง แต่คงขยายได้อีกมาก เนื่องจากลูกๆ ให้ความสนใจการทำสวนมังคุดอย่างจริงจัง เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะบริหารสวนมังคุดต่อไป” คุณสุรเชษฐ กล่าว