การปลูกมะม่วง
จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกที่มีการปลูกมะม่วงที่ขึ้นชื่อมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีพื้นที่การปลูกถึง 86,000 ไร่ ส่วนอำเภอที่มีการปลูกและผลิตมะม่วงมากที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นอำเภอบางคล้า และอำเภอแปลงยาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิต “มะม่วง” ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้มะม่วงยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เพราะเกษตรกรสามารถผลิตมะม่วงที่มีรสชาติดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ผลผลิตเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าจังหวัดฉะเชิงเทราได้ขยายพื้นที่ปลูกมะม่วงออกไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ.2556 เกิดน้ำท่วม และด้วยพื้นที่ทางบางคล้าซึ่งเป็นพื้นที่น้ำกร่อย จึงทำให้เกษตรกรหันไปเลี้ยงสัตว์น้ำกันเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เลี้ยงกุ้ง และปลา เป็นต้น จึงทำให้วันนี้มีพื้นที่การปลูกมะม่วงลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด
คุณธีระศักดิ์ วงศ์วณิชย์รัตน์ เกษตรกรชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา
อย่าง คุณธีระศักดิ์ วงศ์วณิชย์รัตน์ หรือรู้จักกันในนามว่า “เฮียกวง” เกษตรกรชาวสวนมะม่วงที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และผู้ประกอบการ “ร้านเคมีการเกษตร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ร้านฉั่วกุ้ยจั๊ว” ร้านเคมีเกษตรชื่อดังในอำเภอบางคล้า ที่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งด้านการทำสวนมะม่วง และเคมีเกษตร มานานถึง 30 กว่าปี โดยในยุคแรกๆ เฮียกวงเล่าว่า ตนเองมีพื้นที่ปลูกมะม่วงอยู่ประมาณ 500-600 ไร่ ต่อมาอำเภอบางคล้าได้เกิดภัยพิบัติ ทำให้น้ำท่วมอย่างหนักในช่วงปี 2556 ที่สร้างความเสียหายอย่างถ้วนหน้า ทำให้ชาวบ้าน และผู้ประกอบการ เดือดร้อนไปตามๆ กัน โดยเฉพาะ “ชาวสวนมะม่วง” ในพื้นที่อำเภอบางคล้า และอำเภออื่นๆ หลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้ทำให้มีพื้นที่การทำสวนมะม่วงลดลงเป็นจำนวนมาก เพราะเกษตรกรได้รับความเสียหายและสูญเสีย จนกระทั่งขาดรายได้ที่จะนำมาปรับปรุง หรือสร้างสวนใหม่ขึ้นมาได้
สภาพพื้นที่การปลูกมะม่วง
ปัจจุบันเฮียกวงจึงมีพื้นที่ในการปลูกมะม่วงอยู่เพียง 100 กว่าไร่ โดยเฮียกวงมีนโยบายหลักในการผลิตมะม่วงก็คือ ต้องทำให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดี ทั้งรสชาติ และความสวยงาม เพื่อตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน ทั้งการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก
ขั้นตอนการดูแลสวนมะม่วงจะเริ่มจากการวัดค่า pH ของดินเป็นอย่างแรก “เพราะดินเป็นปัจจัยหลักของการปลูกพืชของเกษตรกร” อีกทั้งพื้นที่ในแถบนี้ก็จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 4-5 ซึ่งยังเป็นกรดนิดๆ ซึ่งทางสวนจะต้องปรับปรุงให้ดีเสียก่อน ด้วยการใช้สารปรับสภาพดินเพื่อปรับสภาพให้ดินดี มีค่าความเป็นกรด เป็นด่าง อยู่ที่ปานกลาง
การตัดแต่งกิ่งมะม่วง
ส่วนการดูแล หรือการบริหาร จัดการสวนมะม่วงให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วจะต้องให้ปุ๋ยก่อนตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 (สูตรเสมอ) ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ก่อนจะใส่ปุ๋ยคอกลงไป ในอัตรา 6-7 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง จากนั้นค่อยเริ่มต้นตัดแต่งกิ่งที่เป็นกิ่งกระโดง และกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออก เพื่อให้แสงสว่างส่องเข้าได้อย่างทั่วถึง แล้วค่อยหันมาดูแลรักษาใบมะม่วงให้สมบูรณ์ หากต้นมะม่วงออกใบไม่ดี ทางสวนจะฉีดพ่นสารเร่งใบช่วยต้นมะม่วง อาทิเช่น ไทโอยูเรีย หรือสาหร่าย หรือจะใช้ทั้ง 2 ตัวนี้ผสมกันก็ได้ หรือสามารถฉีดพ่นเร่งใบได้เหมือนกัน พอเร่งการแตกใบให้สมบูรณ์แล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือประมาณ 7-10 วัน มะม่วงจะเริ่มผลิใบ และแตกใบอ่อน ออกมาให้เห็น ซึ่งช่วงแตกใบอ่อนทางสวนจะต้องดูแลในเรื่องของแมลงอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง จำพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง และเพลี้ยจักจั่น เพื่อป้องกันไม่ให้ใบอ่อนเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง
การป้องกันและกำจัดแมลง
ทางสวนจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงจำพวกอะบาเม็กติน หลังฉีดพ่นได้ประมาณ 7-10 วัน จะเห็นว่าใบมะม่วงเริ่มใหญ่ขึ้น และจะคลี่ใบออกมา ใบมะม่วงก็จะเริ่มมีสีแดง ซึ่งในช่วงนี้ก็จะต้องมีการฉีดยาเพื่อป้องกันไม่ให้มีแมลงมารบกวน หรือกัดใบมะม่วงขาด ทางสวนก็จะใช้สารเคมีฉีดพ่นทันที เป็นสารเคมีจำพวกคาร์บาริลที่ผสมอาหารเสริมทางใบเข้าไปด้วย เพื่อให้ใบมะม่วงสมบูรณ์ ก่อนจะเข้าสู่การเป็นใบเพสลาด ซึ่งใบก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ทางสวนก็จะเริ่มฉีดพ่นแคลเซียม โบรอน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ พีแคนสเปรย์ ของ บริษัท พี.วาย.เอ็ม โปรดักส์ จำกัด เพื่อสะสมอาหาร ที่จะเห็นได้ชัดว่าใบมะม่วงมีลักษณะเป็นสีเขียวเข้ม หลังจากนั้นจะต้องราดแพคโคบิวทราซอล หลังจากราดสารแล้วก็จะมีการสะสมอาหารอีกครั้ง และต้องใช้ แคลเซียม โบรอน ของพีแคน เป็นหลัก เพื่อผสมกับปุ๋ยสูตร 0-42-56 ฉีดพ่นประมาณ 3 รอบ ใช้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 10 วัน แล้วจะต้องราดสารแพคโคบิวทราซอลอีกครั้ง เพื่อที่จะฉีดพ่นเพื่อการสะสมอาหาร เพื่อให้มะม่วงให้ผลผลิตที่ดี
การใส่ปุ๋ยและน้ำต้นมะม่วง
ต่อมาทางสวนจะเริ่มใส่ปุ๋ยที่โคนต้นด้วยปุ๋ยหรืจะใช้ทั้ง 2 ตัวนี้็จะดูที่ใบของมะม่วงว่าออกใบดีหรือไม่ดี ถ้าออกใบไม่ดีทางสวนก็จะฉีดสารเร่งใสูตร 8-24-24 หรือสูตร 16-16-16 ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น อีกทั้งระยะเวลาตั้งแต่ราดสารที่โคนต้นไปจนถึงวันเร่ง มะม่วงแต่ละสายพันธุ์จะใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนกระทั่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป อย่าง “มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้” ก็จะใช้เวลาเจริญเติบโตจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 เดือน หรือ 60 วันขึ้นไป ส่วนมะม่วงพันธุ์หนักจะใช้เวลานานกว่า หรืออยู่ที่ประมาณ 3 เดือน หรือ 90 วันขึ้นไป อาทิเช่น มะม่วงเขียวเสวย, มะม่วงแรด เป็นต้น
การบำรุงดูแลต้นมะม่วง
เมื่อมะม่วงได้รับธาตุอาหารที่สมบูรณ์ และสะสมอาหาร จนครบ 3 ครั้งแล้ว ทางสวนก็จะบำรุงต้นมะม่วงต่อด้วยการฉีดพ่นสารทั้งหมด 3 ตัว ทั้งในส่วนของสาหร่าย ไทโอยูเรีย และโปแตสเซียม โดยใช้ผสมกันได้ทั้งหมดก่อนฉีดพ่น เพื่อเร่งให้มะม่วงออกดอก หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าวัน มะม่วงจะเริ่มออกดอก ที่จำเป็นต้องฉีดพ่นธาตุอาหารเสริม ยาป้องกันและกำจัดเชื้อรา เชื้อโรค และแมลงศัตรู มะม่วง ประมาณ 2-3 ครั้ง เมื่อช่อดอกมะม่วงเริ่มยาวขึ้น หรือยืดช่อดอกแล้ว จะเริ่มเห็นเป็นเหมือนก้างปลาออกมา ซึ่งช่วงนี้จะเริ่มต้นฉีดพ่น “อาร์จินิค” และ “พีแคล” เพื่อป้องกันแดด เพราะคุณสมบัติของสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะช่วยให้ช่อดอกอวบอิ่ม สมบูรณ์ ดอกไม่แห้ง เหมือนมีน้ำเคลือบอยู่ตลอดเวลา ทำให้ช่อดอกไม่แห้ง เพราะการที่มะม่วงช่อดอกแห้งนั่นหมายถึงดอกมะม่วงจะร่วงทันที ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง-ศัตรูพืช และยาเชื้อราจะต้องฉีดพ่นจนถึงช่วงที่ดอกมะม่วงใกล้จะบานเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อดอกมะม่วงเริ่มบานเต็มที่ก็จะฉีดพ่นยาเพื่อให้เกิดการผสมเกสรที่ดีขึ้น “ถ้าสังเกตในช่วงที่ดอกบานเต็มที่ก็จะมีเกล็ดเล็กๆ ออกมาจากช่อดอก ก็จะต้องฉีดยาเพลี้ยไฟ ยาเชื้อรา ฮอร์โมน และอาหารเสริม ซึ่งจะฉีดจนถึงลูกโต” เฮียกวงแนะนำ
เมื่อเห็นว่าผลมะม่วงใกล้จะห่ามหรือสุกแล้วจะมีการฉีดพ่น “ไมโอนิน” เพื่อทำให้ผิวของมะม่วงมีสีสวย หลังจากฉีดพ่นไมโอนินไปประมาณ 1 เดือน มะม่วงจะเริ่มแก่ ที่จะต้องมีการฉีดพ่น “อาร์จินิค” อีกครั้ง เพราะ “อาร์จินิค” สามารถฉีดพ่นได้ตลอด ฉีดพ่นได้ทุกช่วงของมะม่วง เพื่อช่วยให้ต้นมะม่วงสดชื่น เพราะคุณสมบัติช่วยในการป้องกันแสงแดดได้ดี
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วง
ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นมะม่วงนอกฤดูนั้น เฮียกวงจะเน้นให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้เรื่อยๆ ซึ่งผลผลิตที่ได้เฉลี่ยต่อต้นจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 กิโลกรัม/ต้น โดยการให้ผลผลิตแต่ละต้นจะขึ้นอยู่กับขนาด และความสมบูรณ์ ของต้นมะม่วง ซึ่งผลผลิตในปีที่ผ่านมานั้นแปลงเล็กจะได้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 700-800 ตัน ขณะที่แปลงใหญ่จะให้ผลผลิตประมาณ 4,000-5,000 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่มุ่งเน้นส่งออกเป็นหลัก โดยมีราคาส่งนอกอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-100 บาท ส่วนตลาดภายในประเทศหากผลผลิตสีสวย มีคุณภาพ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 40-50 บาท/กก. สำหรับผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้นั้น เฮียกวงย้ำว่า “ถ้าเกิดเราทำผลผลิตให้ได้ต้นละ 1,000 บาท ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว”
ฝากถึง…เกษตรกรชาวสวน
เฮียกวงได้อธิบายเพิ่มเติมในฐานะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี และในฐานะร้านเคมีเกษตรว่า อยากให้เกษตรกรชาวสวนไทยทุกท่านพยายามศึกษาหาความรู้อย่างรอบด้าน เพราะทั้งร้านค้าเคมีเกษตรฯ และ ผู้ประกอบการ ก็เป็นห่วงเกษตรกร อยากให้เกษตรกรตั้งใจทำสวนมะม่วงให้ดี ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ภายใต้พื้นฐานการดูแลรักษาสวนมะม่วงตั้งแต่พื้นฐาน ทั้งการตรวจสอบดิน การปรับปรุงดิน การให้ปุ๋ยทางดิน การให้ปุ๋ยทางใบ การใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ถูกวิธี เพื่อให้ได้ดี ทั้งปริมาณและคุณภาพ สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรไทยตลอดไป !!!
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณธีระศักดิ์ วงศ์วณิชย์รัตน์ หรือ เฮียกวง “ร้านฉั่วกุ้ยจั๊ว” อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โทร.038-541-474