ถ้าพูดถึงผลไม้ซึ่งเป็นราชาไม้ผลในประเทศไทย ทุกท่านต้องนึกถึง “ทุเรียน” ที่ติดลมบนเป็นไม้ผลเพื่อการส่งออกอย่างเต็มตัว ด้วยทุเรียนนั้นมีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งกลิ่น สี และรสชาติ ดังคติที่ว่า “กลิ่นราวนรก แต่รสชาติเหมือนสวรรค์”
เนื่องจากทุเรียนนั้นมีกลิ่นที่รุนแรงที่เกิดจากสารหอมระเหยอย่าง “เอสเทอร์คิโทน” และสารประกอบซัลเฟอร์หลายชนิด ซึ่งเป็นกลิ่นที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชื่นชอบและจะบอกว่าหอมทุเรียน แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบ เพียงแค่ได้กลิ่นก็แทบทนไม่ได้ แต่เมื่อพูดถึงรสชาติของทุเรียนนั้นทำให้ผู้บริโภคบางคนมองข้ามกลิ่นที่รุนแรงนั้นไปได้ จึงมีผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ทุเรียนวันนี้เป็นหนึ่งในผลไม้ในอันดับต้นๆ ที่มีผู้บริโภคชื่นชอบเป็นอย่างมาก
เมื่อย้อนกลับมามองที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยนั้นจะเห็นว่าการทำสวนทุเรียนนั้นเป็นงานหินพอสมควร ที่สำคัญต้องมีใจรักการทำสวนทุเรียนก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาต้นทุเรียนให้สมบูรณ์ และนำมาซึ่งผลผลิตที่ดีออกสู่ตลาดและผู้บริโภค ประกอบกับราคาผลผลิตที่เป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพนี้ เพราะไม่เพียงแต่จะได้ผลผลิตเป็นอาหารป้อนให้คนทั่วโลกแล้ว การทำสวนทุเรียนยังสร้างรายได้อย่างงาม และเป็นนายตนเอง มีอิสระในอาชีพ
เช่นเดียวกับ คุณณัฐพร อยู่ยั่งยืน หรือรู้จักกันดีในนาม “คุณเอ็ม” หนึ่งในสมาชิก Young Smart Farmer Rayong ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่น่าภูมิใจด้วยวัยเพียง 26 ปี เท่านั้น ที่เขายอมหันหลังให้กับเมืองหลวงเพื่อยึดอาชีพการทำสวนไม้ผลแบบผสมผสาน ตามรอยเท้าของครอบครัวที่สามารถพิสูจน์ถึงความมั่นคงในอาชีพได้ในเชิงประจักษ์แล้ววันนี้ โดยมีสวนทุเรียนแซม มะปรางหวาน พื้นที่ 7 ไร่ มังคุดแซม มะปรางหวาน และลองกอง บนเนื้อที่ 6 ไร่ และสวนยางพาราอีก 5 ไร่ รวมมีพื้นที่การเกษตรร่วม 18 ไร่
คุณเอ็มยอมรับว่าการได้เห็นและได้สัมผัสกับสิ่งที่ครอบครัวทำมาตลอดชีวิต นั่นก็คือ การทำเกษตร การเป็นชาวสวนและเติบโตมากับสวนทุเรียนและไม้ผลตลอดมา จึงมีความรู้ในการทำสวนมากพอสมควร จนกระทั่งสามารถทิ้งชีวิตเมืองหลวงมุ่งหน้าหวนกลับสู่บ้านเกิด
หลังจากที่มีโอกาสได้รับรู้ถึงความสุขและความสำเร็จของครอบครัว และหันมายึดอาชีพทำสวนทุเรียนอย่างเต็มตัว พร้อมกับการนำความรู้จากสิ่งที่เรียนรู้และประสบการณ์ตลอดเวลาที่ผ่านมามาประยุกต์ใช้กับการทำสวนทุเรียนได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาการทำสวนได้เป็นอย่างดี เพราะการผลิตผลไม้ชนิดนี้ให้ได้ผลผลิตที่ดี ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ และองค์ความรู้หลายอย่าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ ต้องมีใจรัก ต้องเอาใจใส่ และต้องบริโภคความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค
สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียนแชม มะปรางหวาน
คุณเอ็มยอมรับว่าหลังจากที่กลับมาทำสวนทุเรียนแล้ว ทำให้รู้ว่าการทำสวนไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะเป็นการทำทุเรียนในฤดูก็ตาม ก็จะต้องอาศัยองค์ความรู้หลายอย่างมาประกอบกัน แต่ด้วยที่ตนเองยังพอมีพื้นฐานพอสมควร จึงสามารถเรียนรู้การทำสวนทุเรียนจากครอบครัว และจากประสบการณ์ที่เคยได้ทำมาจึงสามารถพัฒนาสวนทุเรียนได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญได้มีโอกาสเข้าร่วมกลุ่ม Young Smart Farmer Rayong (เกษตรกรรุ่นใหม่ระยอง) ที่ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขปัญหาสวนทุเรียนได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญที่สุดคือ “การกลับมาทำสวนทุเรียนที่บ้านนั้น มีความสุขกว่าอยู่ในเมืองหลวง เพราะว่าไม่ต้องแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเวลา แข่งกับคน มีอิสระ อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมก็ดี ที่สำคัญเลยก็คือ มีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น”
อีกทั้งการทำสวนทุเรียนแห่งนี้เป็นสวนแบบผสมผสานที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ บนพื้นที่ 21 ไร่ เริ่มต้นจากการปลูกทุเรียนแซมด้วยการปลูกมะม่วง สะเดา ซึ่งเป็นหลักๆ 3 ชนิด ของทางสวนในยุคนั้น ต่อมาดินเริ่มเสื่อมลง จึงต้องตัดมะม่วงทิ้งแล้วหันมาปลูกมังคุด ปลูก มะปรางหวาน แซมแทนมะม่วง และพัฒนาสวนไม้ผลเรื่อยมา
จนถึงปัจจุบันนี้ทำให้สวนไม้ผลแห่งนี้มีทุเรียนเป็นพืชหลัก แซมด้วย มะปรางหวาน มังคุด ยางพารา และลองกอง ซึ่งการจัดการสวนไม้ผลที่นี่เน้นใช้แรงงานภายในครอบครัว โดยไม่จ้างแรงงาน และในระหว่างที่ดูแลรักษาทุเรียนที่ยังไม่ออกผลผลิต
ทางสวนก็จะมีรายได้ ทั้งจากสะเดา ขายในราคา 100 บาท/กก. ยางพาราหรือขี้ยางกิโลกรัมละ 20 บาท ที่เป็นรายได้รายสัปดาห์ โดยจะมีพ่อค้ามารับถึงในสวน ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนในระหว่างรอผลผลิตของพืชหลักอย่างทุเรียนได้เป็นอย่างดี
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นทุเรียน
ขณะที่การดูแลทุเรียนภายในสวนก็จะเริ่มต้นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต จะต้องบำรุงหน้าดินก่อนเป็นสิ่งแรก ด้วยสารเพิ่มประสิทธิภาพดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารที่จะเน้นใช้ฮิวมัสผสมกับเชื้อไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นก่อน จะฉีดให้หมดก่อนตัดทุเรียนช่วงสุดท้ายเพื่อบำรุงต้น แล้วค่อยตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้โปร่ง แสงแดดส่องได้อย่างทั่วถึง และต้นทุเรียนไม่สูงจนเกินไป
หลังจากนี้ก็จะใช้ยาเมทาแลกซิลเป็นยาเชื้อรา ก็จะฉีดตามทีหลัง เพราะว่าไตรโคเดอร์มาจะฉีดร่วมกับยาเชื้อราไม่ได้ จึงต้องฉีดทิ้งไว้ก่อนประมาณ 1-2 เดือน ส่วนการบำรุงต้นให้สมบูรณ์จะฉีดพ่นเพื่อดึงใบอ่อนด้วยปุ๋ยสูตร 30-10-10, 30-20-10 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของใบอ่อน ก่อนจะฉีดผสมแคลเซียมโบรอน ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่ชื่อ 18-18-18 ใส่ปุ๋ยทางดินสูตร 19-19-19 และบำรุงต่อด้วยการให้น้ำเพื่อกระตุ้นให้แตกใบอ่อนให้เร็วที่สุด และพยายามให้เป็นใบเพสลาดอย่างรวดเร็วที่สุด
การป้องกันกำจัดโรค แมลง และศัตรูพืช
ในช่วงแรกหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วจะต้องฉีดฮอร์โมนทางใบเพื่อเร่งให้แตกใบอ่อน เมื่อทุเรียนแตกใบอ่อนแล้วจะสุ่มเสี่ยงที่โรคและแมลงจะเข้าทำลาย ทั้งเพลี้ยไฟ ไรแดง จึงจำเป็นต้องเน้นการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันเพลี้ยไฟ ไรแดง ทั้ง 2 ชนิด หลักๆ ก็คือ อิมิดา และทิพานี่ แต่จะใช้สลับกันแบบเดือนเว้นเดือน
ซึ่งจะไม่สลับกันทุกครั้งไป เพราะจะทำให้แมลงดื้อยา โดยมีสัดส่วนการใช้อิมิดาฯ เพียง 3 กรัม/น้ำ 20 ลิตร แต่ทิพานี่เป็นสูตรน้ำ จะใช้ประมาณ 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ที่จำเป็นต้องฉีดพ่นให้ทั่วใบอ่อน
การบำรุงดูแลรักษาต้นทุเรียน
ต้องดูแลเป็นอย่างดีในช่วงที่ทุเรียนใบแก่เต็มที่ ซึ่งจะเริ่มฉีดพ่นสารจำพวก “กรดอะซิติก” หรือ “สาหร่ายเขียว” ที่สกัดให้อยู่ในรูปของฮอร์โมน เพื่อเร่งให้ทุเรียนเปิดตาดอก ส่วนการตัดแต่งช่อดอกนั้น คุณณัฐย้ำว่าต้องฉีดพ่นฮอร์โมนให้แตกตาดอก และบำรุงดอกเช่นเดียวกัน
แต่อาจจะมีการฉีดบำรุงดอกทุเรียนควบคู่กับการใส่ปุ๋ยบำรุงดอกบ้าง โดยจะสังเกตที่พวงดอกที่ใหญ่ๆ ส่วนพวงดอกที่เล็กก็จะปลิดทิ้งไปบ้าง “ทุเรียนจะชอบติดลูกช่วงปลายๆ จึงจะต้องเก็บดอกที่ออกช่วงปลายกิ่งเก็บไว้ด้วย เพราะดอกตรงโคนทุเรียนจะชอบร่วง ต้นทุเรียนจะแสดงอาการแบบนี้เป็นจำนวนมาก”
ช่วงดอกบานทางสวนทุเรียนแห่งนี้จะงดการใส่ปุ๋ย แต่จะฉีดฮอร์โมนเพื่อบำรุงดอกแทน ซึ่งจะฉีดพ่นไปที่ใบและไม่ให้โดนดอก พร้อมทั้งงดการใช้ยาฆ่าแมลงในช่วงที่ดอกบาน เพราะต้องอาศัยแมลงบางตัวช่วยผสมเกสรทุเรียน ให้สมบูรณ์ อีกทั้งทุเรียนมีลำต้นที่สูงมาก จึงยากแก่การช่วยผสมเกสร จึงต้องอาศัยแมลงเป็นตัวช่วย
ช่วงการบำรุงดูแลรักษาผลทุเรียนนั้นสำคัญมาก ต้องฉีดพ่นแมกนีเซียม อาหารเสริม และบางช่วงต้องเน้นสารเคมี หรือยาป้องกันหนอนเจาะทำลายด้วยสารเคมีจำพวกไซเพอร์เมททลิน เมโทมิล และคลอไพรีฟอส+ไซเพอร์เมททริน ในช่วงที่ทุเรียนกำลังจะโตเริ่มมีเพลี้ยแป้งเกาะลูกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุเรียน ทำให้ลูกที่ออกมาไม่สวย
แต่ในช่วงที่เป็นหางแย้จะแนะนำให้ใช้ยาป้องกันเพลี้ยไฟฉีดพ่นจะช่วยเรื่องปลายดอกได้ ทำให้ผลทุเรียนที่ได้ออกมาเป็นหัวจีบ โดยจะสังเกตทรงทุเรียนได้ง่ายๆ เลยก็คือ หนามทุเรียนจะมีทรงที่ไม่สวย และเป็นหัวจีบ เพราะถูกเพลี้ยไฟ ไรแดง เข้าทำลาย ดูดน้ำเลี้ยง จึงทำให้ผลผลิตออกมาไม่สวย ทำให้ผลผลิตตกเกรด ราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก
ขณะที่ผลผลิตทุเรียนต่อต้นนั้น หากทุเรียนต้นใหญ่และสมบูรณ์ก็จะสามารถเก็บลูกไว้ได้ประมาณ 80-90 ลูก/ต้น ส่วนต้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นักก็จะเก็บไว้ประมาณ 50 ลูก/ต้น ขณะที่ต้นทุเรียนเล็กก็จะเหลือไว้ประมาณ 20 ลูก/ต้นเท่านั้น เน้นคัดลูกที่สวย ซึ่งอาจจะต้องรอให้ผลทุเรียนโตได้ขนาดเท่ากำปั้นก่อนจึงจะสังเกตเห็น และสามารถคัดเลือกผลทุเรียนที่จะเก็บเอาไว้ได้ ที่สำคัญ “ถ้าทุเรียนแตกใบอ่อนในขณะที่มีลูกอ่อนๆ ทุเรียนจะเลี้ยงใบและทิ้งลูกทันที เพราะทุเรียนจะมีลักษณะรักใบมากกว่าลูก”
การโยงกิ่ง
การโยงกิ่ง ส่วนใหญ่จะโยงกิ่งก็ต่อเมื่อลูกทุเรียนมีขนาดเท่ากับกำปั้น หรือใหญ่กว่ากำปั้นขึ้นไป ก็จะสามารถโยงได้เพราะลูกจะเริ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งแต่ละสวนก็จะมีวิธีการโยงที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุเรียนทุกสายพันธุ์ก็จะโยงในระยะเดียวกันหมด คือ การโยงที่ให้ลูกอยู่ติดกับต้น ไม่ใช่โยงให้กิ่งหัก โดยจะใช้เชือกฟางโยงลูกทุเรียน เพื่อเป็นการป้องกันลมกรรโชกในฤดูฝน
ซึ่งในช่วงที่ผลผลิตเริ่มเจริญเติบโต และมีน้ำหนักมากขึ้น ก็จะช่วยในเรื่องกิ่งหัก หรือต้นโค่น ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทุเรียนจะต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนถึงการเก็บเกี่ยว จึงต้องทำการโยงกิ่งในรูปแบบนี้เกิดขึ้น และเป็นผลดีต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งทุเรียนพันธุ์หมอนทองนั้นผลผลิตที่เหมาะกับการเก็บเกี่ยวได้ก็จะต้องเป็นผลแก่ กำลังดี ประมาณ 70-80 ลูก/ต้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และสุกแบบพอดี
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน
สวนทุเรียนแห่งนี้จะเน้นการผลิตทุเรียนในฤดูกาล ที่ดอกทุเรียนจะเริ่มบานในช่วงเดือนมกราคมที่จะสามารถตัดเก็บผลผลิตได้ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน หรือประมาณ 120 วัน แต่ถ้าเป็นพันธุ์ชะนีจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าหมอนทอง หรือประมาณ 100-110 วัน เท่านั้น จะให้ผลผลิตที่กำลังพอดี เพราะพันธุ์ชะนีนั้นถ้าสุกเกินไปก็จะเนื้อเละ แต่ถ้าเก็บผลผลิตเร็วเกินไปเนื้อก็จะแข็ง
แต่สวนนี้จะเน้นปลูกทุเรียนหมอนทองมากกว่า เพราะหมอนทองราคาดีกว่า ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ซึ่งผลผลิตที่ได้ในปีที่แล้วนั้น ทุเรียนมีน้ำหนักต่อลูกประมาณ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ผลผลิตเฉลี่ยทุกไซซ์รวมกันอยู่ที่ประมาณ 12 ตัน/ปี บนพื้นที่ 6 ไร่ ราคาผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท มีรายได้เข้าสู่ครอบครัวร่วม 800,000 บาท/ปี
โดยที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย และค่าปุ๋ย ค่ายา ออกไปที่ 40,000 บาท รวมทั้งค่าบริหารจัดการสวนอย่างอื่นที่ต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง เริ่มต้นบำรุงรักษาไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ประกอบกับสภาพดินที่นี่จะมีการตรวจสอบและวิเคราะห์ดินเพื่อหาค่าของดินทุกปี ทำให้การบำรุงรักษาตรงกับความต้องการของพืช
ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาสามารถวัดค่าพีเอชดินได้ประมาณ 5.6-5.7 แต่บางจุดก็มีค่า pH ที่ 6 ซึ่งเป็นแค่กรดอ่อนๆ ไม่รุนแรง ส่วนแหล่งน้ำจะมีอยู่แล้วภายในสวนแห่งนี้ เป็นบ่อผิวดิน หรือสระน้ำ ที่มีการต่อท่อและวางระบบการให้น้ำแบบระบบ 3 หัว โดยจะติดมินิสปริงเกลอร์แบบ 3 ทิศทาง เพื่อให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำอย่างทั่วถึงทุกต้น
ด้านตลาดผลผลิตทุเรียน
คุณเอ็มเผยถึงมุมมองด้าน “การตลาด” ว่า ตลาดในประเทศส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนเป็นจำนวนมากต่อปี ซึ่งในอนาคตที่ทุเรียนมีราคาถูก ทุเรียนอาจจะกลับมาอยู่ในตลาดภายในประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนไทยมีกำลังซื้อมากขึ้น ขายในประเทศดีกว่าส่งนอก เพราะราคาอยู่ที่คนกลางเป็นคนกำหนด หรือ “ล้ง”
ซึ่งอนาคตทางสวนจะมีการปรับปรุงสวนใหม่ อาจจะเปิด facebook ภายใต้ชื่อสวน เพื่อประชาสัมพันธ์ทางสวนให้เป็นที่รู้จัก ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเลือกซื้อผลผลิตได้ถึงหน้าสวนเลย เพื่อรับประกันคุณภาพผลผลิตของทางสวนที่อาจจะมีราคาสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย
เพื่อไม่ให้เป็นการขายตัดหน้าพ่อค้าคนกลาง แต่ให้เป็นการเอื้อกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะลูกค้าบางคนก็ชอบซื้อทุเรียนที่ตลาดไปทาน แต่ก็ยังมีบางคนหรือบางกลุ่มที่ต้องการบริโภคผลผลิตจากสวนทุเรียนโดยตรง ซึ่งตรงนี้จะเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้นเท่านั้นเอง โดยทางสวนก็ยังคงส่งผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางควบคู่กันไปด้วย
ฝากถึงชาวสวนทุเรียน
สุดท้ายฝากถึงชาวสวนทุเรียนหรือเกษตรกรที่คิดจะเริ่มต้นสร้างสวนใหม่ถึง “การรวมกลุ่ม” ถ้าหากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้ จะเป็นผลดีต่อการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก อย่างการเป็นหนึ่งในสมาชิก Young Smart Farmer Rayong (เกษตรกรรุ่นใหม่ระยอง) ที่ทำให้ได้รับองค์ความรู้หลายๆ อย่าง และทางสวนเกิดปัญหาก็สามารถขอคำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับตนเอง และคนอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญการรวมกลุ่มก็จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการพัฒนาความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเกษตรกรอย่าปิดกั้นโอกาสตัวเอง แสวงหาสิ่งใหม่เพื่อนำมาปรับปรุง และปรับใช้กับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ มะปรางหวาน มะปรางหวาน มะปรางหวาน มะปรางหวาน มะปรางหวาน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวนทุเรียนคุณเอ็ม (ณัฐพร อยู่ยั่งยืน) 21/9 หมู่ 1 ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง 21160 โทร.093-130-9010 อีเมล์ : [email protected],[email protected]