มะระขี้นกเป็นพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านทั่วๆ ไป ขึ้นชื่อว่ามะระก็ต้องนึกถึงรสชาติขมๆ ที่ไม่ต้องลิ้มลองก็รู้สึกขมได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามะระขี้นกผลเล็กๆ นี้เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว มะระขี้นกสรรพคุณ ก็มีเพียบพร้อมไปตั้งแต่รากจนถึงเมล็ด แม้ทุกคนจะไม่นิยมทานเพราะรสชาติมันขม และเห็นแล้วถึงกับส่ายหน้าหนี
สภาพพื้นที่ปลูกมะระขี้นก
แต่วันนี้จะพาไปดูสรรพคุณของมะระขี้นกว่ามีประโยชน์มากมายที่ทุกคนต้องคิดไม่ถึง ภายใต้รสชาติอันขมๆ ของมัน ถ้าได้ทราบแล้วบอกได้เลยว่าจะต้องรีบไปหามาปลูกไว้รับประทานกันแบบไม่ลังเลกันเลยทีเดียว เพราะมันสามารถปลูกได้ง่ายภายในริมรั้วบ้านของคุณนั่นเอง
ลักษณะทั่วไปของมะระขี้นก
เรามาทำความรู้จักกับมะระขี้นกกันเลยว่าภายใต้รสชาติที่ขมๆ มันมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง มะระขี้นก หนึ่งในของตระกูลมะระ โดยพืชชนิดนี้เป็นตระกูลพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นไม้เถา เช่นเดียวกับบวบ แตงกวา ส่วนใหญ่แล้วคนนิยมนำผลมะระขี้นกมารับประทานสดกับน้ำพริก หรือไม่ก็ลวกก่อนจะนำมารับประทาน หรือถ้าทนกับกลิ่นเหม็นเขียว และรสชาติขมๆ ได้
ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่เห็นคุณค่าของมะระขี้นก เพราะจริงๆ แล้วสมุนไพรชนิดนี้ถูกใช้ในการรักษาโรคมานานนับพันปี ไม่ว่าจะในทวีปเอเชีย แอฟริกา หรือแถบละตินอเมริกา ก็ล้วนแต่ใช้เจ้ามะระขี้นกนี้ในการบรรเทาและรักษาอาการของโรคต่างๆ อีกด้วย
มะระขี้นกสรรพคุณ ต่างๆ
เรามาดูสรรพคุณของมะระขี้นกในปริมาณแค่ 100 กรัม ว่าให้คุณค่าทางหารได้อย่างไรบ้าง มีพลังงาน 17 กิโลแคลอรี ไขมัน 1 กรัมไฟเบอร์ 12 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.8 กรัม แคลเซียม 3 มิลลิกรัม โปรตีน 2.9 กรัม ฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 9.4 มิลลิกรัม วิตามินเอ 2,924 ยูนิต วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม วิตามินซี 0.4 มิลลิกรัม ไทอามีน 0.07 มิลลิกรัม ไนอะซิน 190 มิลลิกรัม
มะระขี้นกขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพรอยู่แล้วในการรักษาโรคต่างๆ เรามาดูกันว่าในแต่ละส่วนของมะระขี้นกก็สามารถรักษาอาการป่วยและโรคอะไรได้บ้าง
-รากและเถา ใช้แก้ร้อน แก้พิษ ถ่ายบิดเป็นเลือด หรือแม้แต่รักษาฝีบวมอักเสบ และปวดฟัน
-ใบ ใช้รักษาโรคกระเพาะ บิด บรรเทาแผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ
-ดอก มีรสขมและเย็นจัด สามารถช่วยรักษาโรคบิดได้
-เมล็ด ใช้เป็นยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ บำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง
-ผลสด ใช้แก้พิษร้อน และอาการร้อนใน รักษาโรคบิด ตาบวมแดง บรรเทาแผลบวมเป็นหนอง และฝีอักเสบ
-ผลแห้ง ช่วยรักษาอาการของโรคหิด
ไม่เพียงสรรพคุณทางยาเท่านั้น สาร Momodicine ในมะระขี้นก ก็ยังมีสรรพคุณในการช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากอาหาร และกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ และนอกจากสารเคมีชนิดนี้แล้ว ทางอายุรเวทยังได้มีการนำมะระขี้นกมาใช้ในการรักษาโรคตับ บรรเทาอาการของโรคเกาต์ และข้ออักเสบได้
ประโยชน์ของมะระขี้นก
เรามาพูดถึงโรคเบาหวานกันค่ะ เพราะคนไทยในทุกวันนี้เป็นโรคเบาหวานกันเยอะมากพอสมควร โรคเบาหวานเป็นโรคที่ใครๆ ก็รู้จัก และสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีรสหวาน หรือรสจัดมากเกินไป รวมไปถึงแป้งต่างๆ เป็นโรคที่ทุกคนมองข้าม แต่ที่จริงก็อันตรายไม่แพ้ไปกว่าโรคอื่นๆ เลย
มะระขี้นกเป็นสมุนไพรที่โดนเด่นในเรื่องของการลดน้ำตาลได้ดีเลยทีเดียว ในการศึกษาผลของมะระขี้นกในปี 1962 ได้พบว่าสารซาแรนติน (Charatin) ในผลมะระขี้นก ที่สามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือด ต้านอาการของโรคเบาหวานในหลายๆ กลไก ได้แก่ ช่วยเพิ่มการหลั่งของอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ กระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาล และเพิ่มความทนทานจากกลูโคส และยับยั้งการหลั่งของกลูโคสในลำไส้เล็ก รวมทั้งยับยั้งเอนไซม์กลูโคไซเดส อันเป็นสาเหตุของอาการเบาหวาน
ที่น่ามหัศจรรย์ไปยิ่งกว่านั้น คือ มะระสามารถชะลอความผิดปกติของไต และความเสื่อมของเส้นประสาทภายในร่างกายที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงสะสมเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการเกิดโรคต้อกระจกในผู้ป่วยเบาหวานได้อีกด้วย ซึ่งถ้าหากรับประทานเป็นประจำก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้อีกด้วย
อาจจะเคยได้ยินตำรายาโบราณกันมามากว่า ถ้าเป็นงูสวัดแล้วให้นำใบแก่ของมะระขี้นกมาตำพอแหลกแล้วพอกลงบนงูสวัด แต่ขอบอกเลยว่ายังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใดๆ ยืนยันว่าใบมะระขี้นกสามารถรักษางูสวัดได้ แต่ที่มีความเชื่อกันแบบนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าตัวใบของมะระขี้นกเองก็มีฤทธิ์เย็น สามารถช่วยบรรเทาอาการบวมอักเสบของงูสวัดได้ แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อของงูสวัดได้ค่ะ
บางคนไม่สามารถทนอาหารที่มีรสขมได้ แต่อยากทานมะระเพื่อรักษาโรคต่างๆ และนั่นไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แค่เพียงใช้เกลือแกง โดยหากจะนำมะระไปต้มสุกก็ควรจะเติมเกลือแกงลงไปในน้ำที่ใช้ต้มมะระด้วย ก็จะทำให้ความขมลดลง แต่ถ้าอยากรับประทานสดๆ แต่ไม่อยากลิ้มรสชาติขมๆ ก็เพียงนำมะระมาทำความสะอาด ผ่าครึ่งและควักเมล็ดออก จากนั้นนำมาคลุกกับเกลือแกงทิ้งไว้สักครู่ แล้วนำไปล้างน้ำออก เกลือก็จะช่วยให้ดูดความขมออกไปได้ค่ะ
ข้อควรระวังการบริโภคมะระขี้นก
ถึงจะมีสรรพคุณมากมาย แต่การรับประทานมะระขี้นกก็ยังมีข้อจำกัดในคนบางกลุ่ม เนื่องจากมะระขี้นกมีฤทธิ์เย็น การรับประทานมากไปอาจส่งผลเสียได้ เช่น สตรีมีครรภ์ เด็ก หรือผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะระขี้นกโดยเด็ดขาด
เนื่องจากมะระขี้นกมีสารที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หากรับประทานเข้าไปอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้ โดยเฉพาะคนท้องที่อาจจะเป็นอันตราย ทั้งต่อตัวคุณแม่เอง และเด็กในครรภ์
นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานมะระติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายเกิดการเสียสมดุล ควรเว้นระยะในการรับประทาน อีกทั้งผลสุกของมะระขี้นกก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะผลสุกของมะระขี้นกมีสารไซยาไนต์ และสารซาโปนิน ที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท รับประทานเข้าไปแล้วอาจจะทำให้เกิดอาการระบบประสาทผิดปกติ ทำให้เกิดการอาเจียน ท้องร่วง หรือช็อกหมดสติได้
อย่างไรก็ดีมะระขี้นกเป็นพืชผักสมุนไพรที่มีประโยชน์กับผู้ที่รับประทานในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคบิด และบรรเทาอาการต่างๆ อีกทั้งช่วยบำรุงร่างกายได้อีกด้วย ถ้าใครกินมะระขี้นกแบบเป็นผลสดๆ ไม่ได้เพราะทำใจไม่ไหว ลองเริ่มด้วยการรับประทานมะระขี้นกแบบแคปซูลดูก่อนก็ได้
ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีแบบแคปซูลวางขายตามท้องตลาดอยู่เพียบ ลองเลือกดูสักทางจะได้เห็นว่าสมุนไพรชนิดนี้มีสิ่งดีๆ ที่คุณไม่ควรมองข้าม แต่ในสตรีตั้งครรภ์ เด็ก หรือผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่ควรทานมะระขี้นก และในมะระขี้นกที่มีผลสุกก็ไม่ต้องรับประทานกันด้วยค่ะ ที่สำคัญไม่ควรทานเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานๆ ควรเว้นระยะด้วย
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง https://health.kapook.com/