ผลไม้ที่ได้ถูกขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งผลไม้ไทย” นั่นก็คือ “มังคุด” ที่มีตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับนั้น ย่อมนำมาซึ่งความยั่งยืนในอาชีพ และรายได้ ที่มั่นคงสำหรับชาวสวนมังคุดไทย เพราะเกษตรกรไทยนั้นเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่มุ่งมั่นผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ได้ทั้งปริมาณและผลผลิต มังคุดตรอกนอง
จุดเด่นของมังคุด
ด้วย “จุดเด่น” ของมังคุดที่มีลักษณะภายนอกที่โดดเด่น สีสวย ผลมีกลีบเลี้ยงที่ขั้วคล้ายมงกุฎของพระราชินี และยังมีเนื้อสีขาวนวลรสชาติหวานอมเปรี้ยว ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมทานผลสดกันมากกว่า แต่ทว่ามังคุดนอกจากจะทานผลสดแล้ว ยังมีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรในหลายพื้นที่หันมาแปรรูปมังคุดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมังคุด มังคุดกวน แยมมังคุด รวมไปถึงการนำมังคุดมาประกอบอาหารได้ ทั้งคาว และหวาน ด้วย
เมื่อมังคุดเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งภายในประเทศ และส่งออก ที่มีมูลค่ามากถึง 1,500 ล้านบาท เพราะเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เมื่อทานคู่กับทุเรียนจะช่วยดับร้อนได้ดี ส่งผลชาวสวนมังคุดในวันนี้มุ่งเน้นการผลิตมังคุดผิวมันให้มีคุณภาพเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยมีกลุ่มเกษตรกรในหลายพื้นที่ที่สามารถผลิตมังคุดได้ตามมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้
ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ผลิตมังคุดในรูปแบบการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิต เพื่อการส่งออกกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ ของไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งการผลิตที่สำคัญ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น
การปลูก มังคุดตรอกนอง
นางบุญเรือน แข็งขัน ประธานกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนตรอกนอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่มีการรวมชาวสวนมังคุดเพื่อผลิตมังคุดคุณภาพส่งออกไปยังต่างประเทศมานานหลายปี ภายใต้ “กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนตรอกนอง” ที่มีชื่อเดิมของกลุ่มว่า “กลุ่มปรับปรุงคุณภาพ มังคุดตรอกนอง ” ที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2533 ซึ่งในช่วงแรกนั้นได้มีการรวมกลุ่มกันเพียง 6 คน เท่านั้น ที่สามารถผลิตมังคุดคุณภาพได้มากกว่า 100 ตัน/ปี เมื่อมีการผลิตมังคุดเพื่อการส่งออก ส่งผลให้ราคาผลผลิตได้ขยับตัวสูงขึ้นมาก จากเดิมที่มังคุดมีราคาเพียง 12 บาท/กิโลกรัม
แต่เมื่อมีการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 15-20 บาท/กิโลกรัม ต่อมาในปีพุทธศักราช 2550 ได้มีหน่วยงานทางราชการเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตมังคุดให้มีคุณภาพ รวมไปถึงการสอนวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต จากเดิมที่ต้องใช้วิธีการเขย่าต้นมังคุดให้ผลผลิตตกลงพื้นที่ผลจะค่อนข้างบอบช้ำ และเก็บรักษาได้ไม่นาน ก็ได้เปลี่ยนวิธีการเก็บเกี่ยวมาเป็นการใช้ “ตะกร้อ” ในการเก็บผลผลิต เพื่อรักษาคุณภาพให้คงอยู่ เพื่อการส่งออกผลผลิตไปยังประเทศซึ่งเป็นตลาดปลายทาง
สภาพพื้นที่ปลูกมังคุด
ปัจจุบันทางกลุ่มจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนตรอกนอง” ที่มีสมาชิกมากกว่า 30 คนมุ่งเน้นการผลิตมังคุดส่งออกที่มีคุณภาพ ไปยังประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นหลัก ซึ่ง “สวนบุญเรือน” เป็นสวนมังคุดอีกแห่งหนึ่งที่มี “ป้าบุญเรือน” เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ มีการปลูกมังคุดไว้มากกว่า 1,000 ต้น มีอายุตั้งแต่ 25-100 ปี ภายใต้มีการดูแลรักษาต้นมังคุดเป็นอย่างดี ทำให้ต้นมังคุดมีความแข็งแรง สมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ มาอย่างต่อเนื่อง
ป้าบุญเรือนเล่าว่าเดิมพื้นที่แห่งนี้มีการปลูกทุเรียนมาก่อน เนื่องจากต้นทุเรียนอายุมาก จึงได้ตัดต้นทุเรียนและหันมาปลูกมังคุดทดแทน ซึ่งเคล็ดลับของป้าบุญเรือนอยู่ที่การทำต้นมังคุดให้แข็งแรง ให้ได้ผลผลิตที่ดี ด้วยการใช้อินทรีย์คุณภาพสูงเป็นหลัก และใช้เคมีร่วมด้วยแบบผสมผสาน เพราะการจัดการมังคุดเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก
แต่มังคุดเป็นผลไม้เจ้าสำอาง เวลาออกผลผลิตมาแล้ว หากผลผลิตโดนแดดเยอะมากเกินไปจะไม่ส่งผลดีต่อมังคุด เพราะจะทำให้ผิวมังคุดไหม้ ป้าบุญเรือนจึงต้องเน้นตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่ม เพื่อให้มังคุดออกลูกได้ดี ออกลูกใต้ใบที่พรางแสงแดดได้ดี หรือให้ผลผลิตส่วนใหญ่ออกบริเวณข้างในต้นมากกว่าด้านนอก
การป้องกันกำจัดโรคและแมลงต้นมังคุด
ด้วยสภาพดินที่สวนมังคุดป้าบุญเรือนซึ่งเป็นดินร่วน และมีไส้เดือนค่อนข้างมาก ในขณะที่ปัญหาส่วนใหญ่ในการผลิตมังคุดจะมาจากโรคและแมลงต่างๆ จำพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง เป็นหลัก ดังนั้นป้าบุญเรือนจึงเน้นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นใช้เองภายในกลุ่มโดยจะมีการทำปุ๋ยครั้งละ 100 กว่าตัน เมื่อทำปุ๋ยอินทรีย์เสร็จแล้วทางกลุ่มจะบรรจุใส่กระสอบแบบ 25 กิโลกรัม เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม ในราคาถูกเพียงกิโลกรัมละ 1.70 บาท
ทำให้เกษตรกรภายในกลุ่มได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ดี มีคุณภาพ และราคาถูกด้วย หลังจากนั้นป้าบุญเรือนจะนำปุ๋ยอินทรีย์มาผสมกับสารสกัดสะเดา ทุกครั้งที่มีการให้ปุ๋ย เพราะ “สารสกัดสะเดา” คือ สารที่ช่วยป้องกันแมลงได้เป็นอย่างดี และทำให้แมลงไม่ลอกคราบ เมื่อแมลงไม่ลอกคราบก็จะไม่มีแมลงมารบกวนมังคุด
นอกจากจะผสมสารสกัดสะเดาไปในปุ๋ยอินทรีย์ทุกครั้งแล้ว ป้าบุญเรือนยังใช้สารสกัดสะเดาฉีดพ่นทางใบเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลายดอก และผลอ่อน มังคุด แล้วยังช่วยบำรุงรักษาต้นมังคุดอีกด้วย ซึ่งการฉีดพ่นสารสกัดสะเดาจะใช้เครื่องพ่นที่ต้องใช้แรงงานในการฉีดพ่นทุกๆ 20 วัน แต่ถ้ามังคุดเริ่มออกดอกจะฉีดพ่นทุก 10 วัน เพื่อป้องกันแมลงมารบกวน และให้มังคุดติดลูกเล็กๆได้ดี ก่อนจะฉีดพ่นทุก 15 วัน หลังจากนั้น แต่ถ้าหากมีแมลงมารบกวนก็จะเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่นขึ้นมาตามสถานการณ์เป็นหลัก
ป้าบุญเรือนยอมรับว่าเริ่มใช้สะเดาจากบริษัท สะเดาไทย จำกัด เมื่อปีพุทธศักราช 2545 และใช้มาตลอด โดยในปีแรกจะทดลองใช้กับทุเรียนก่อน จนกระทั่งเห็นว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงได้นำมาใช้กับมังคุดบ้าง ซึ่งปีแรกที่ใช้กับมังคุดจะใช้ร่วมกับเคมีก่อน ผลผลิตที่ได้ออกมาจะเห็นว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น ลดต้นทุน ต่อมาในปีที่ 2-3 ก็หันมาใช้สารสกัดสะเดาแบบ 100% และใช้สะเดาอย่างเดียว โดยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้ผลิตเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากในปีพุทธศักราช 2550 ที่ป้าบุญเรือนสามารถขายมังคุดได้เป็นเงินถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว เป็นครั้งแรกตั้งแต่ทำสวนมังคุดมาเลยก็ว่าได้ ในขณะที่ป้าบุญเรือนมีต้นทุนในการผลิต ทั้งปุ๋ย และยา เพียงหลักหมื่นเท่านั้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมังคุด
ป้าบุญเรือนจะใส่ใจการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้มังคุดคุณภาพทุกลูก จึงยอมที่จะจ้างแรงงานเก็บมังคุดด้วยค่าแรงในราคากิโลกรัมละ 5 บาท แต่ถ้าหากมังคุดดกมาก ในบางปีราคาก็จะลดลงมาที่กิโลกรัมละ 3-4 บาท เนื่องจากการเก็บผลผลิตจะต้องใช้ตะกร้อในการเก็บเกี่ยว จะต้องใช้ความพิถีพิถันในการเก็บอย่างมาก เพราะในกระบวนการเก็บเกี่ยวจะต้องไม่ให้หูของมังคุดหัก และผลห้ามตกลงพื้น ถ้าผลตกลงพื้นก็ต้องห้ามเก็บขึ้นมาใส่ตะกร้าเด็ดขาด
โดยป้าบุญเรือนได้ย้ำเสียงแข็งว่าหากใครเก็บมาแล้วป้าบุญเรือนคัดเจอ ผลผลิตที่มีปัญหานี้จะปรับทันทีกิโลกรัมละ 10 บาท ในฐานะที่ไม่รักษาคุณภาพ ส่วนผลผลิตที่หล่นลงพื้นต้องแยกไว้อีกต่างหาก ขายเป็นผลสดไม่ได้ ต้องนำมาปอกเปลือกแล้วนำไปแปรรูปเป็นมังคุดกวนได้ ส่วนเปลือกมังคุดจะนำมาหมักให้เป็น “ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ” เพื่อผสมน้ำฉีดพ่นในสวนมังคุด เพื่อป้องกันโรคและเชื้อราได้
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตมังคุด
หลังจากคัดผลผลิตจากแต่ละสวนแล้ว ทางกลุ่มก็จะทำการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกเข้ามาที่กลุ่ม เพื่อคัดเลือกและส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน ภายใต้มาตรฐานและราคาที่ได้กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน โดยการส่งออกมังคุดไป “ประเทศญี่ปุ่น” นั้น ผลผลิตจะต้องมีหูครบ 3-4 กลีบ มีขั้นตอนตั้งแต่ต้องนำผลผลิตที่คัดได้แล้วไปลอยน้ำ แล้วเลือกเอาเฉพาะผลที่ลอยน้ำ เพราะจะได้ราคาที่ดีกว่า ส่วนผลที่จมราคาก็จะลดลงอีก
หลังจากนั้นจะนำผลผลิตไปอบไอน้ำ เมื่ออบไอน้ำแล้วมังคุดจะต้องแกะเปลือกได้ ขนาดของผลผลิตมังคุดจะต้องเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 กรัม/ผล ในขณะที่การส่งออกไป “ประเทศไต้หวัน” จะไม่ค่อยมีมาตรฐานมากเท่ากับประเทศญี่ปุ่น หรือขนาดของผลผลิตจะเฉลี่ยอยู่ที่ 150- 200กรัม/ผล อีกทั้งประเทศไต้หวันยังมีกำลังการซื้อที่มากกว่าประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป
“ การผลิตมังคุดส่งออก สมาชิกในกลุ่มจะนำผลผลิตมังคุดมาทำการคัด และตรวจสอบคุณภาพก่อน ต้องไม่นำผลมังคุดที่ตกดินแล้วมาปะปน เราเน้นมังคุดคุณภาพ เราต้องใช้ตะกร้อในการเก็บผลเท่านั้น ถ้าลูกหล่นลงพื้นห้ามเก็บมาเด็ดขาด เพราะส่งออกไม่ได้ หรือถ้าส่งไปแล้วมังคุดจะแข็ง เมื่อเอาไปอบไอน้ำผลมังคุดจะแกะไม่ออก ถ้าหากตรวจสอบพบว่ามีการนำมังคุดที่หล่นพื้น จะไม่คัดตะกร้านั้นเลย ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้สมาชิกไม่นำลูกที่หล่นพื้นมาปะปนกัน ทำให้ มังคุดตรอกนอง เป็นที่ยอมรับของญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้” ประธานกลุ่มยืนยัน
นอกจากการผลิตมังคุดที่ได้มาตรฐานการเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพแล้ว ป้าบุญเรือนยังได้แนะนำสมาชิกในกลุ่มด้านการดูแลรักษาสวนมังคุดให้ดี ตั้งแต่การแต่งกิ่งต้นมังคุดให้เหมาะสม การใส่ปุ๋ย การจัดการเรื่องการให้น้ำ การให้ธาตุหารเสริมทางใบ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ไปจนถึงการคัดผลผลิตให้มีคุณภาพไปพร้อมๆ กับการแนะนำให้สมาชิกหันมาทำสวนมังคุดแบบอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด แล้วยังได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย
การปลูกลำไยแซมในสวนมังคุด
นอกจากป้าบุญเรือนจะปลูก มังคุดตรอกนอง แล้ว ยังได้ปลูกไม้ผลแซมในสวนมังคุดด้วย ทั้งทุเรียน เงาะ ลองกอง และกล้วย รวมไปถึงการปลูกทุเรียนเชิงเดี่ยว และปลูกลำไยเชิงเดี่ยว รวมทั้งหมดมีพื้นที่ปลูกไม้ผลมากกว่า 100 ไร่ ที่สร้างรายได้ให้กับป้าบุญเรือนได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี เนื่องจากไม้ผลแต่ละชนิดจะให้ผลผลิตในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป เรียกได้ว่ามีผลไม้ทั้งปีเลยก็ว่าได้
โดยแยกเป็นการทำ “สวนลำไยนอกฤดู” ที่จะเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนมีนาคม มีพื้นที่ทั้งหมด 20 กว่าไร่ มีสวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 10 กว่าไร่ มีสวนเงาะในพื้นที่ทั้งหมด 28 ไร่ มีสวนกล้วยบนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ที่สามารถเก็บได้ทุกอาทิตย์ มีสวนสละที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง และยังมีสวนผลไม้ให้เช่าอีกจำนวนหนึ่ง เพราะทำไม่ไหวนั่นเอง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการปลูกไม้ผลหลายอย่างเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรในอนาคต
ฝากถึง…เกษตรกรชาวสวน
สุดท้ายป้าบุญเรือนได้ให้มุมมองกับชาวสวนไว้ว่า “ชาวสวนต้องกลัวเรื่องของสารเคมีบ้าง อย่างการใช้สารฆ่าแมลง แมลงมันตาย ไม่นานมันก็มีแมลงมาอีก ส่วนเราถ้าตายแล้วก็ตายเลย ตายได้แค่ครั้งเดียว จึงอยากให้ชาวสวนเปิดใจรับรู้สิ่งใหม่ๆ และแสวงหาองค์ความรู้เพิ่มเติม หันมาใช้สารอินทรีย์คุณภาพที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเอง และสิ่งแวดล้อม และยังได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัย ไว้ทานเอง และจำหน่ายได้ราคาดีด้วย”
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นางบุญเรือน แข็งขัน “ป้าบุญเรือน”
อ้างอิง : นิตยสารเมืองไม้ผล ฉบับที่ 191