สภาพพื้นที่ปลูกลำไย
พลเรือโทประสงค์ สงเคราะห์ ผู้มารับหน้าที่ดูแลสวนลำไย เท้าความเดิมว่า สมัยคุณสงวน (พ่อ) มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาแล้ว ได้นำต้นลำไยมาจาก จ.เชียงใหม่ และนำไปปลูกที่ อ.เขาสอยดาว จ.จันทบุรี เป็นลำไยสายพันธุ์อีดอกับสีชมพู ตั้งแต่ที่นำมาปลูกจนอายุได้ 8 ปีแรก ปรากฏว่าต้นลำไยยังไม่ให้ผลผลิต ลำไยนอกฤดู
จึงได้ทำการตัดต้นลำไยทิ้งประมาณ 150 ต้น เป็นลำไยต้นเล็กๆ และส่วนหนึ่งเป็นลำไยต้นใหญ่ เมื่อจะตัดต้นลำไยทิ้งอีกก็มีชาวสวนที่อยู่ใกล้กันบอกว่าลำไยใกล้จะแตกตาดอกอยู่แล้วไม่ควรจะตัด จึงปล่อยทิ้งไว้ ลำไยจึงออกดอกทั่วทุกต้น
พลเรือโทประสงค์บอกว่าพื้นที่ปลูกลำไยมีทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ มีทั้งต้นปลูกใหม่และต้นดังเดิม เฉลี่ยต้นลำไยอายุประมาณ 20 ปี และอีกส่วนหนึ่งก็จะขุดสระน้ำขนาดใหญ่สามารถจุน้ำได้ประมาณ 100,000 คิว เพื่อรองรับน้ำที่จะใช้ในฤดูแล้งให้มีอย่างเพียงพอ เนื่องจากว่าช่วงฤดูแล้งสวนไม้ผลส่วนใหญ่ในแถบจันทบุรีมักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำโดยส่วนมาก
การทำ ลำไยนอกฤดู
ฉะนั้นการทำสวนลำไยก็เช่นเดียวกัน น้ำคือปัจจัยหลัก หากทำลำไยนอกฤดู และขาดน้ำในฤดูแล้ง ที่กำลังติดดอก ออกผล หากขาดน้ำช่วงนี้ต้นลำไยจะสลัดดอกหรือผลทิ้ง เพื่อป้องกันการอยู่รอดของต้น หากมีน้ำเพียงพอ การทำ ลำไยนอกฤดู ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร ก็ต้องมาดูถึงการดูแลรักษา รวมไปถึงการใช้ปุ๋ยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ออกมาตามความต้องการของตลาดในปัจจุบันนี้
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นลำไย
การใส่ปุ๋ยบริเวณโคนต้นลำไยมีหลายวิธี เช่น ทางดิน ทางใบ โดยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของต้น จะสังเกตสีของใบ หากใบลำไยมีสีเขียวเข้มแสดงว่าต้นลำไยมีความอุดมสมบูรณ์มาก พร้อมที่จะแตกตาดอก และหากใบมีสีเขียวปนเหลือง หรือมีอาการปลายใบแห้งจนไปถึงโคนใบ ลักษณะใบที่พบก็อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ขาดธาตุโปแตสเซียม หรือเป็นโรค ซึ่งต้องอาศัยจากการสังเกตและประสบการณ์ของเกษตรกรเอง
สำหรับสวนของพลเรือโทประสงค์จะใช้สารนูตราฟอส ซุปเปอร์-เค ในอัตรา 30-40 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 10-14 วัน หลังจากนั้นก็ใส่ปุ๋ยสูตร 0-52-54 ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน ก็ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ลงไป 2 กิโลกรัม จนกระทั่งต้นพร้อมที่จะแตกตาดอกก็ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 รอบทรงพุ่มอีกครั้ง จำนวน 2 กิโลกรัม ทิ้งไว้ 10 วัน ก็นำทรายผสมกับสารโซเดียมคลอเรต 200 กรัม หว่านลงไปรอบทรงพุ่มต่อต้น พร้อมกับรดน้ำตามทันที
นอกจากนี้ในกรณีฝนตก การฉีดสารโซเดียมคลอเรตลงบนผิวใบลำไยมักจะไม่ประสบผลสำเร็จในการทำ ลำไยนอกฤดู เท่าที่ควร จึงได้ทดลองนำสารโซเดียมคลอเรตในปริมาณ 200 กรัม มาผสมกับทรายแล้วหว่านบริเวณรอบทรงพุ่มก่อนฝนตก ปรากฏว่าการแตกตาดอกของต้นลำไยแตกมาก และเปอร์เซ็นต์การติดลูกสูง เมื่อมาเทียบระยะเวลาในการปฏิบัติต้นลำไยจำนวน 100 ต้น
หากมีการใช้สารโซเดียมคลอเรตฉีดพ่นจะใช้ระยะเวลา 2 วัน แต่หากนำสารโซเดียมคลอเรตผสมกับทรายแล้วนำไปหว่านรอบทรงพุ่มก็ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่เมื่อมามองถึงเปอร์เซ็นต์การแตกตาดอก ผล ปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างกัน เมื่อเทียบระยะเวลาก็ต้องยกให้การผสมทรายกับโซเดียมคลอเรตแล้วหว่านรอบทรงพุ่มจะช่วยประหยัดเวลามากว่าในการใช้สารโซเดียมคลอเรตผสมกับน้ำฉีดพ่น
ฉะนั้นการนำสารโซเดียมคลอเรตปริมาณ 200 กรัม มาผสมกับทรายนั้นควรหว่านในช่วงที่ดินมีความชุ่มชื้น จะทำให้รากของลำไยดูดซึมซับเข้าไปในลำต้นได้เร็วยิ่งขึ้น หลังจากหว่านสารเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปอีก 15-20 วัน ตามช่อดอกแต่ละช่อจะมีการเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ ขึ้นมา และหากฝนตกในช่วงแตกดอกจะทำให้ช่อดอกของลำไยจะยาวขึ้น แต่ถ้าอากาศร้อนช่อดอกก็จะสั้น แก้โดยใช้เกอมาร์ บีเอ็ม 86 หรือชาวสวนรู้จักกันในนาม “สาหร่ายมรกต”
เมื่อได้ช่อดอกยาวตามต้องการแล้ว ตาดอกก็กลายเป็นผลเล็กๆ ในช่วงผลเล็กควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอลงไปเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผล เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 พร้อมกับรดน้ำตาม หากผลลำไยขาดน้ำในช่วงผลเล็กๆ จะทำให้ผลแคระแกร็น และต้นลำไยก็จะสลัดลูกทิ้งไปในบางส่วน เพื่อความอยู่รอดของต้น
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตลำไย
ตลาดที่สามารถรองรับผลผลิตลำไยในฤดูส่วนใหญ่จะส่งไปหลายประเทศ เช่น จีน, ฮ่องกง และไต้หวัน นอกจากนี้ผลผลิตลำไยบางส่วนก็จะสู่ทางแถบยุโรป แต่ในแถบเอเชียประเทศจีนจะรับผลผลิตลำไยจากประเทศไทยมากที่สุดในเวลานี้
สำหรับ ลำไยนอกฤดู นั้น พลเรือโทประสงค์กล่าวว่าในช่วงปีใหม่ ตรุษจีน และรวมไปถึงเทศกาลกินเจ สามารถขายผลผลิตได้กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป ทำให้เวลานี้ชาวสวนจันทบุรีส่วนใหญ่หันมาปลูกลำไยมากขึ้น เพราะว่าลำไยสามารถปลูกได้ทุกภาค ทุกแห่ง ของประเทศไทย และสามารถทำให้ออกดอกช่วงเวลาไหนก็ได้ ขอให้มีน้ำอย่างเพียงพอ
ขอขอบคุณ พลเรือโทประสงค์ สงเคราะห์
เครดิต นิตยสาร พลังเกษตร และ นิตยสารเมืองไม้ผล