“ลำไย” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในแถบภาคเหนือตอนบน และเป็นที่นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกลำไยกันมากขึ้น จนลำไยสดออกสู่ตลาดมากเกินที่ผู้บริโภคจะรับไหว ทำให้ราคาลำไยสดถูกลง การแปรรูปเริ่มมีบทบาทเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับลำไย
ในอดีตมีการผลิตลำไยแห้งปริมาณไม่มากนัก และเป็นการผลิตในครัวเรือน โดยการนำลำไยร่วงที่ราคาต่ำมาตากแดดให้แห้งเพื่อเก็บถนอมไว้บริโภคในครัวเรือนช่วงฤดูกาลอื่น แต่ในปัจจุบันเกษตรกรมีการปลูกลำไยเพิ่มมากขึ้น จึงมีการขยายตลาดลำไยอบแห้งมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ใช่แค่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น ยังนำร่องไปสู่การส่งออกไปต่างประเทศด้วย เป็นการรักษาเสถียรภาพราคาลำไยสดเป็นอย่างมาก
จุดเริ่มต้นการทำลำไยอบแห้ง
ลำไยอบแห้งถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถสร้างมูลค่าให้ผลผลิตลำไย และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ อย่าง หจก.ทองพูนฟูดส์ ที่จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม บริหารโดยทายาทรุ่นที่สาม คุณกรรณิการ์ ด่านไพบูลย์
คุณกรรณิการ์เล่าให้ทีมงานเมืองไม้ผลฟังว่า ต้องขอบคุณ คุณย่าทองพูน ด่านไพบูลย์ ที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจของลำไยอบแห้ง เดิมคุณย่าทองพูนท่านประกอบธุรกิจส่วนตัว ทำร้านวัสดุก่อสร้าง จนกระทั่งทางลูกๆ บอกให้เกษียณ ท่านก็ไม่ได้ทำอะไร จนคุณย่าทองพูนเกิดล้มป่วย หาวิธีรักษายังไงก็ไม่หาย สุดท้ายลูกสาวคนที่ 4 ของท่าน คือ คุณกัลยาณี ก็เลยชวนมาทำธุรกิจเกี่ยวกับลำไย หลังจากทำลำไยแล้วอาการป่วยก็หาย นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจในเรื่องของลำไย
แต่ก่อนจะมาทำเป็นลำไยอบแห้งสีทอง คุณย่าทองพูนทำในเรื่องของลำไยสดมาก่อน คือ พอถึงหน้าฤดูของลำไยออกผลผลิตก็ไปเหมาสวนลำไย ทำแบบซื้อมาขายไป ต่อมาหลังจากนั้นถึงมีการผลิตในเรื่องของลำไยอบแห้งสีทองขึ้นมา และได้รับการขยายตลาดมากขึ้น
ตอนแรกก็ทำตลาดแค่ในตัวจังหวัดลำพูนก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปตามต่างจังหวัด และได้มีโอกาสในการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศด้วย จึงทำให้ธุรกิจลำไยอบแห้งสีทองของคุณย่าทองพูนเติบโตขึ้นมาจนถึงรุ่นของคุณกรรณิการ์ (รุ่นที่ 3) ในปัจจุบัน
ขั้นตอนการแปรรูปลำไย
เป็นการแปรรูปจากลำไยสดผ่านกระบวนการอบโดยใช้ความร้อน จะเปลี่ยนจากเนื้อสีขาวเป็นสีทองขึ้นมา ก็เลยเรียกว่า “ลำไยอบแห้งสีทอง” สำหรับลำไยสดที่นำมาแปรรูป คุณกรรณิการ์บอกว่าจะใช้พันธุ์ไหนก็ได้ที่จะใช้มาทำลำไยอบแห้งสีทอง
แต่เดี๋ยวนี้ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้มีพันธุ์ลำไยที่ดีขึ้น และเหมาะสมกับการนำมาแปรรูปก็คือ พันธุ์อีดอ พันธุ์ที่ได้รับการยอมรับสามารถนำมาผลิตแล้วทำให้รูปร่างดี เนื้อดี น้ำหนักดี และสีสวย แต่ถ้าเป็นลำไยพันธุ์อื่นก็สามารถทำได้ แต่สีอาจไม่สวย เนื้อเละ หรือรูปร่างไม่ได้ขนาดตามความต้องการก็เป็นไปได้
ผลิตภัณฑ์แปรรูปตัวลำไยมี 2 ประเภท ได้แก่
1.ลำไยอบแห้งสีทอง วิธีการผลิต คือ จะแกะเปลือกและเมล็ดออกก่อนแล้วจึงนำไปอบ
2.ลำไยแห้งสีดำ วิธีการผลิต คือ จะอบทั้งเปลือกเลย พอลำไยอบได้ที่ก็จะรอให้แห้ง ถึงแกะเปลือกและเมล็ดออกแล้วนำมาขึ้นรูปลักษณะเป็นก้อนอีกครั้ง
ส่วนเกรดของลำไยก็จะมีการแบ่งตั้งแต่เป็นเกรดไซด์เล็ก เกรดไซด์กลาง เกรดไซด์ใหญ่ และ เกรดไซด์พิเศษ หรือแม้กระทั่งผลของลำไยที่ไม่ได้เป็นรูปร่างแบบนี้ก็จะมีการเรียกชื่อเกรดตามรูปร่างลักษณะของผล อย่างเช่นว่า ไม่เป็นรูปร่าง มีลักษณะฉีกขาด ก็จะเรียกว่า เกรด B หรือถ้าเป็นรูปขึ้นมาหน่อย ไซด์เล็กหน่อย จะเรียกว่า เกรด A ถ้าไซด์กลางก็จะเรียก 2A หรือ 3A ถ้าเป็นคัดพิเศษหรือจัมโบ้ก็จะเรียกว่า 4A เป็นต้น
การเรียกเกรดแบบนี้เป็นการเรียกในเชิงค้าขายด้วยเหมือนกัน ราคาก็จะต่างกันไป แล้วแต่ขนาดของเกรดลำไยเอง ผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบทางภาคเหนือตอนบน และจะมีทางจังหวัดจันทบุรี เป็นลำไยนอกฤดูเหมือนกัน
เป็นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งถือว่าได้มีการลองมาหลายรูปแบบแล้ว มันเป็นงานหัตถกรรมอย่างหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้เรื่องของความเอาใจใส่และความละเอียดในการผลิตพอสมควรเลย ทำให้วันนี้ราคาลำไยอบแห้งสีทองค่อนข้างแพง กว่าจะใช้ฝีมือแรงงานคว้านลำไยแต่ละเมล็ด
หลังจากนั้นต้องนำลำไยที่คว้านเมล็ดเสร็จมาเรียงในภาชนะอบ และต้องดูแลความร้อนให้ทั่วถึงว่าจะสุกตามระยะเวลาที่กำหนดหรือเปล่า เสร็จแล้วต้องมีการคัดเกรดอีก ดังนั้นงานก็จะออกมาค่อนข้างละเอียด จริงๆ แล้วถ้าสะท้อนราคาตามเกรดแล้วก็จะไม่ใช่ราคาที่บริษัทกำหนด แต่เนื่องจากว่าสามารถผลิตในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมได้ เรื่องของราคาการแข่งขันก็ยังสามารถเป็นที่บริโภคได้ และยังส่งออกได้
ปัญหาและอุปสรรคการเก็บรักษา ลำไยอบแห้ง
เนื่องจากทางบริษัทต้องดูความต้องการของตลาดเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่ในการผลิตของทางโรงงานจะเป็นการผลิตตามความต้องการของลูกค้า ในส่วนของการเก็บรักษา ลำไยอบแห้ง หลังจากที่เก็บไว้ในระยะเวลาหนึ่งสีของเนื้อ ลำไยอบแห้ง จะเปลี่ยนสี มันเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นแนะนำให้เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำ จะสามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี แม้ว่าจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกแล้วก็ตาม ถ้าไม่ถูกแสงและมีอากาศเข้าก็สามารถอยู่ได้นาน แต่ต้องระวังโดยเฉพาะเชื้อรา คุณกรรณิการ์บอกว่าเคยเจอเหมือนกัน ในบางกรณีที่สินค้าไม่ตรงตามสเปค บางทีอบออกมาไม่แห้งก็จะมีปัญหาเรื่องเชื้อราได้ แต่ทางบริษัทจะค่อนข้างดูแลเรื่องของความชื้นให้อยู่ในมาตรฐานอยู่ตลอด
ด้านตลาดลำไยอบแห้งสีทอง
เริ่มต้นคุณย่าทองพูนท่านเป็นผู้บุกเบิกในการหาตลาดทั้งหมด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนที่คุณกรรณิการ์เข้ามารับช่วงก็จะมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว และก็มาทำการตลาดเพิ่มเติมในช่วงที่รับต่อมาด้วย
ส่วนตลาดของลำไยมี 2 ส่วน คือ
1.จำหน่ายในประเทศ
2.จำหน่ายไปยังต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ปริมาณของการรับซื้อสินค้าก็เพิ่มขึ้นทุกปี สัดส่วนในประเทศจะอยู่ที่ 30% ส่วนต่างประเทศ 70%
ส่วนราคารับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรจะซื้อขายกันตามราคาตลาดมากกว่า เพราะว่าถ้าเป็นการประกันราคามันจะไม่เหมือนข้าว หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นลักษณะพืชเศรษฐกิจขนาดนั้น และก็สามารถควบคุมปริมาณได้ แต่สำหรับในส่วนของลำไย ในการประกันราคาความต้องการหลักมันอยู่ในต่างประเทศ แล้วเราก็ไม่สามารถควบคุมความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ ฉะนั้นราคาค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศมากกว่า
แต่ถ้ามีการประกันราคาขึ้นมาจริงๆ ก็จะไม่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกลไกทางการตลาดจะดีกว่า และก็ยังจะดีกับเกษตรกรด้วยเหมือนกัน คือ ซัพพลาย (ผลผลิตที่เราได้ผลิต) ของการผลิตยังน้อย แต่ดีมานด์ (ความต้องการซื้อ) ความต้องการของผู้บริโภคยังมีอยู่มาก ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมาควบคุมหรือมีเรื่องของการประกันราคา เพราะค่อนข้างจะได้ราคาดีมากๆ อยู่แล้วในแต่ละปีที่ผ่านมา
ตอนนี้ตลาดในประเทศจริงๆ แล้วเป็นตลาดนักท่องเที่ยวซะมากกว่า จะอยู่ในรูปของซื้อของฝากจริงๆ ถ้าถามว่าคนไทยมีบริโภค ลำไยอบแห้ง บ้างไหม ก็มีแต่ไม่เยอะเท่าที่ควร ถ้าเปรียบเทียบกับตลาดนักท่องเที่ยว
การขยายตลาด คุณกรรณิการ์จะเข้าไปในส่วนของ ลำไยอบแห้ง ที่เป็น “สแน็ค” ตอนนี้โดยภาพรวมแล้วตลาดจะค่อนข้างอิ่มตัว แล้วจะขยายในเรื่องของตลาดที่ยังเข้าไปเจาะไม่ได้ อย่างเช่น ประเทศ พม่า ลาว แต่ก็มีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอยู่เหมือนกัน คุณกรรณิการ์กำลังศึกษาในเรื่องนี้อยู่ และถ้ามีใครสนใจก็ยินดีในการขยายตลาดร่วมด้วยเช่นกัน
เดิมอัตราผลิตลำไยมีอัตราที่คงที่ หลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมเรื่องของผลผลิตอื่นๆ ตัวลำไยอบแห้งก็มีอัตราลดลง แล้วก็รวมไปถึงเรื่องของสภาพอากาศด้วย แต่ตอนนี้กระแสราคาของลำไยดีขึ้น คนก็เริ่มที่จะกลับมาปลูกลำไยเพิ่มขึ้นอีก มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ หรือการดูแลการผลิตที่ดีกว่าเดิม จึงทำให้มีผู้ผลิตลำไยอบแห้งเพิ่มมากขึ้น
แต่ทางทองพูนฟูดส์ก็ยังสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น เพราะผู้บริโภคหลักจะไม่ได้อยู่ในประเทศ กำลังซื้อของผู้บริโภคจะอยู่ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นผลิตขึ้นมาเท่าไหร่ก็ไม่พอต่อความต้องการของตลาด ขณะที่การทำลำไยในฤดูในช่วง 2 เดือน ก็ยังไม่สามารถตอบรับความต้องการของตลาดภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ได้
แต่ตอนนี้จะมีในส่วนของลำไยนอกฤดู สังเกตเห็นว่าราคาจะดีกว่าลำไยในฤดู แสดงว่าปริมาณความต้องการในการบริโภคยังมีสูงอยู่ แค่ลำไยสดส่งไปประเทศจีนอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอแล้ว
การขายสินค้าต้องมีการปรับตัวในเรื่องของราคา ดังนั้นส่วนใหญ่ราคาก็จะเป็นราคาตามตลาด การเสนอราคาให้กับลูกค้าแต่ละครั้งราคาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ดังนั้นจึงไม่ได้ขายราคาตายตัว แต่ก็จะมีเรื่องของการขึ้น-ลงของสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ต้องแจ้งให้กับทางลูกค้าทราบก่อนในเรื่องของการปรับราคาล่วงหน้า
การจำหน่ายลำไยอบแห้งสีทอง
ลูกค้าทั่วๆ ไปส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศจีน เวลารับประทานก็จะรับประทานกันทั้งบ้าน เพราะจะต้มเป็นน้ำแกง อีกส่วนก็คือ เป็นลักษณะเป็นกลุ่มซื้อ เป็นของฝากให้กับผู้ใหญ่ทั่วๆ ไป คุณกรรณิการ์บอกว่าลูกค้าค่อนข้างหลากหลาย แต่ถ้าเป็นวัยเด็กมากๆ จะไม่ค่อยมี จะมีตั้งแต่อายุประมาณ 10-20 ปีขึ้นไป จนถึงคนสูงอายุ ตลาดค่อนข้างกว้าง
สรรพคุณของลำไย
เนื่องจากบางคนกินเป็นสแน็คก็มี กินเพื่อบำรุงสุขภาพก็มี หรือจะเป็นกลุ่มที่เป็นคุณแม่หลังคลอด ตัวนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยยังไม่ทราบ มีลูกค้าคุณกรรณิการ์ที่ฮ่องกงเล่าให้ฟังว่าพอคลอดลูกแล้วจะไม่กินน้ำอย่างอื่นเลย รวมทั้งตัวของเด็กที่คลอดออกมาด้วย จะทานแต่น้ำลำไยเพียงอย่างเดียว เพราะในตัวลำไยจะมีสารช่วยบำรุงเลือด รวมทั้งช่วยบำรุงเด็ก และช่วยในเรื่องของพัฒนาการทางสมองแก่เด็กที่เพิ่งคลอดออกมาด้วยเหมือนกัน
การรับประทานลำไยมากๆ แล้วจะเป็นร้อนใน คุณกรรณิการ์บอกว่าถ้ากินแบบเป็น ลำไยอบแห้ง จะไม่เป็น อันนี้กินเป็นยา และแก้กระหาย อาจจะใส่น้ำตาลเป็นตัวปรุงรสให้รสชาติดีขึ้นก็ได้ ส่วนที่เป็นร้อนใน คือ ตัวของผลลำไยสด
แนวโน้มในอนาคต
ตอนนี้ทางคุณกรรณิการ์ได้ให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำเรื่องวิจัยเกี่ยวกับลำไยเพื่อไปเพิ่มมูลค่า ตรงนี้ ก็น่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบไหน คุณกรรณิการ์จะเน้นในเรื่องของการแปรรูปเพื่อที่จะนำมาบริโภค เน้นการเพิ่มมูลค่า เพราะเนื่องจากว่าจริงๆ แล้วตัวของลำไยเองอาจจะยังไม่เห็นสีสันกันมากนักในตลาด ยังไม่เห็นว่าจะทำอะไรได้บ้าง
แต่ล่าสุดสามารถนำมาทำน้ำพริกลำไยได้แล้ว ตลาดของคนในปัจจุบันไม่ค่อยบริโภคเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นน้ำพริกทั่วๆ ไป บางครั้งจะมีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์อยู่ด้วย แต่อันนี้ใช้ตัวเนื้อลำไยเข้ามาแทน ตอนนี้อยู่ในช่วงการปรับปรุงและกำลังดูในเรื่องของการทำตลาดอยู่เหมือนกัน
แนวคิดจะพัฒนาธุรกิจไปข้างหน้า จะต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม แนวโน้มในการบริโภค ก็คือ การขยายตลาดให้ทั่วประเทศ และในส่วนของผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากวันนี้ลำไยยังไม่มีแบรนด์ ดังนั้นก็ต้องพยายามที่จะสร้างแบรนด์ของลำไยให้ออกมาเป็นที่จดจำและคุ้นเคยแก่ผู้บริโภค อย่างเช่น นึกถึง ลำไยอบแห้ง สีทองก็นึกถึงตราทองพูนฟูดส์ เป็นต้น
คุณกรรณิการ์บอกว่าจะใช้กำลังของตัวเราเองทั้งหมดไม่ได้ เพราะเพิ่งจะเข้ามาปรับโครงสร้างทั้งหมด จึงต้องปรับตัวพอสมควร แต่ตอนนี้ยึดฐานในการส่งออกเป็นอันดับ 1 หรือไม่ให้เกินอันดับ 5 ของประเทศไทย คุณกรรณิการ์บอกว่าภูมิใจมากในการเป็นส่วนหนึ่งที่นำผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยส่งออกในทั่วโลก แต่ก็ต้องรู้ว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน
อนาคตอาจจะเป็นเรื่องของสารในลำไยที่สามารถช่วยรักษาโรคอะไรได้สักโรค เราก็ยังไม่รู้อนาคต อย่างที่ได้ยินก็จะมีในเรื่องของการต้านมะเร็ง คือ มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่วันนี้เราเล็งเห็นในการที่เราจะทำยังไงที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าในตัวของลำไยให้มากขึ้น ถ้าวันหนึ่งสามารถผลิตในลักษณะเป็นเรื่องของยาได้ และทางบริษัทมุ่งเน้นให้เกษตรกรไม่ใช้สารเคมีในการผลิต ต้องเป็นอินทรีย์ หรือว่าปลอดสารพิษ คือ ทางบริษัทได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนลดพวกสารเคมีในลำไย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุณกรรณิการ์ ด่านไพบูลย์ 122/5 หมู่ 6 ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน 51150