เรื่องของเกษตรกรรมไม่ว่าคุณจะปลูกอะไรก็ตามพืชไร่ พืชสวน ไม้ยืนต้น หรือไม้ดอกไม้ประดับ สิ่งสำคัญก็คือ “การให้น้ำ” ถ้าทำเล่นๆไม่จริงจังปลูกไม่กี่ต้นการรดน้ำเองคงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ถ้าคุณปลูกมากขึ้นมีต้นไม้เยอะขึ้นพื้นที่ไม่ใช่แค่ 1 งาน 2 งานแต่มีกว่า 10 ไร่ 20 ไร่ การให้น้ำแก่ต้นไม้ที่ปลูกก็ต้องแตกต่างออกไป เรื่องของ “ระบบน้ำ” ก็จะเริ่มเข้ามาในตอนนี้
แน่นอนคุณอาจจะมองว่าระบบน้ำไม่ใช่หัวใจสำคัญของการปลูกต้นไม้ เทคนิคในการทำต่างหากที่กำหนดได้ว่าผลผลิตจะมากหรือน้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็พูดได้เต็มปากเต็มคำเช่นกันว่า “การวางระบบน้ำ”อาจไม่สำคัญในเรื่องการเพิ่มผลผลิตแต่สำคัญในเรื่องการบริหารจัดการยิ่งมีการปลูกมากก็ยิ่งสำคัญมาก การปลูกเองเดินรดน้ำเองอาจจะดูแลต้นไม้ที่ท่านรักได้ทั่วถึงมากกว่าแต่ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ที่พัฒนาจากเกษตรกรรมไปสู่คำว่า “ธุรกิจ” เรื่องระบบน้ำมีความสำคัญที่จะทำให้ประหยัดแรงงานและมีเวลาเหลือเพื่อไปบริหารจัดการด้านอื่นๆได้เยอะขึ้นครับ
คำว่า “ระบบน้ำ” หลายคนก็อาจจะเข้าใจว่าคือการวางท่อน้ำ ติดสปริงเกอร์ ต่อปั๊ม นึกจะรดเมื่อไหร่ก็เปิดปั๊มเมื่อนั้น ที่ว่ามาก็ไม่ได้ผิดแต่เราเอาความเป็นจริงเข้าว่าด้วยหลักของเหตุและผลว่าแท้จริง “ระบบน้ำ” คือการให้น้ำอย่างเป็นระบบ คำว่า “ระบบ” ในที่นี้กว่าจะเป็น “ระบบน้ำ” ได้มีเรื่องของการคำนวณเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องคือปริมาณน้ำที่ต้นไม้เอาไปใช้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดรวมถึงมีการสิ้นเปลืองที่น้อยกว่า
ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจด้านนี้โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมประสมประสานกับความรู้ด้านเกษตรกรรมถือเป็นการประยุกต์วงการเกษตรให้พัฒนาได้อีกระดับหนึ่งและสิ่งที่เราจะนำเสนอสู่สายตาทุกท่านในวันนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นด้านวิศวกรรมที่เราพยายามอธิบายให้เห็นภาพว่าการวางระบบน้ำที่แท้จริงมีแนวทางในการคิดอย่างไรโดยได้ความรู้จาก
คุณธีระพงษ์ วงศ์รัตนานนท์ และ คุณ ภคกรณ์ รุจาธนนันท์ ผู้ปลูกมะนาวจาก “สวนน้ำทรัพย์” ที่แก่งกระจาน เพชรบุรี
ทั้งสองท่านนี้จบสายวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วมกันเปิดบริษัทชงโค วิศวกรรม จำกัดในปี 2539 รับงานระบบประกอบอาคารจำพวก ไฟฟ้า น้ำประปา แอร์ ฯลฯ และด้วยความที่รักในธรรมชาติชอบความสงบเป็นส่วนตัวจึงเริ่มหันมาทางด้านเกษตรกรรมและได้เข้ารับการอบรมความรู้ทางด้านเกษตรมาพอสมควรจากนั้นในปี 2555 จึงหาซื้อที่ดินในอำเภอแก่งกระจานทั้งหมด 3 แปลงทำการปลูกมะกรูด มะละกอ และ มะนาว (แป้นรำไพ) โดยเฉพาะส่วนของมะนาวมีพื้นที่ปลูกกว่า 18 ไร่ จำนวนมะนาว 1,230 ต้น โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งในสวนทำเป็นโรงปุ๋ย โรงเพาะชำ มีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างชัดเจนรวมถึงมีการ “วางระบบน้ำ” ภายในสวนมะนาวของตัวเองอีกด้วย
ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบ “ระบบน้ำ”
Step1
หาปริมาณความต้องการน้ำสูงสุดของพืช (ETc)เป็นอย่างแรก ซึ่งก็ต้องดูว่าพื้นที่นั้นอยู่ที่ไหนซึ่งพื้นที่แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอัตราการระเหยเป็นหลักเพราะถ้าน้ำระเหยมากการซึมลงสู่ดินก็จะน้อยพืชก็เอาไปใช้ได้น้อยปริมาณการให้น้ำก็ต้องมากแต่ถ้าการระเหยน้อยซึมลงดินได้มากการให้น้ำก็น้อยตามไป ข้อมูลที่ว่านี้มีสถิติที่คำนวณมาเป็นที่เรียบร้อยเป็นค่าทางอุทกศาสตร์ที่จัดทำโดยกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถเอามาใช้เป็นค่าเฉลี่ยในการอ้างอิงได้
เช่นที่บ้านสวนน้ำทรัพย์อยู่ใน จังหวัดเพชรบุรี อัตราการระเหยน้ำสูงสุด (Epan)เทียบจากตารางดังกล่าวสูงสุดในเดือนมีนาคมมีค่าเท่ากับ 5.8 มม./วันเมื่อนำมาคำนวณตามสูตร ETc = Kp x Epan x Kc = 4.93 มม./วัน แสดงว่าความต้องการน้ำสูงสุดของพืชในเขตจังหวัดเพชรบุรีอยู่ที่ 4.93 มม./วัน
Step2
คำนวณขีดความสามารถในการอุ้มน้ำของดินชั้นเขตรากและปริมาณน้ำที่ยอมให้มะนาวใช้ได้เรียกว่าเป็นการรู้คุณลักษณะของดิน เพราะอัตราการซึมน้ำของดินแต่ละชนิดไม่เท่ากันเพื่อเอามาเป็นข้อมูลในการให้น้ำ เช่นดินทรายน้ำจะซึมลงลึก แต่ดินร่วนดินเหนียวจะมีอัตราการซึมที่ตื้นและกระจายไปรอบบริเวณมากกว่า วงเปียกจึงต่างกันปริมาณการให้น้ำก็ต่างกันตามแต่ชนิดของดิน จึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องรู้ขีดความสามารถในการอุ้มน้ำของดินในพื้นที่นั้นๆของชั้นรากพืชซึ่งปกติจะอยู่ประมาณ 30 เซนติเมตร
อย่างบ้านสวนน้ำทรัพย์ปลูกมะมาวในเพชรบุรี ชุดดินของเพชรบุรีส่วนมากคือ ดินร่วนปนทราย เทียบความสามารถในการอุ้มน้ำของดินตามตารางวิเคราะห์ประมาณ 1.0 มม./ซม.ดิน มีความลึกของเขตรากโดยประมาณ 1.2 ม. มีความลึกของบริเวณที่รากหนาแน่นอยู่ประมาณ 0.30 ม.(เป็นค่าที่เกิดจากการคำนวณตามตารางการวิเคราะห์ของกรมอุตุนิยมวิทยา)เมื่อผ่านการคำนวณด้วยสถิติและตัวเลขตามหลักการวิศวกรรมแล้วค่าความชื้นในดินส่วนที่เป็นเขตรากหนาแน่นซึ่งมะนาวนำไปใช้ได้มีค่าประมาณ 12 มม.
Step3
คำนวณการหารอบเวรการให้น้ำคำว่า“รอบเวรในการให้น้ำ” หมายถึงการให้น้ำ/รอบมีปริมาณมากน้อยแค่ไหนถึงจะสามารถทำให้ต้นมะนาวสามารถได้รับความชื้นตามที่ต้องการ การคำนวณใช้เกณฑ์จากต้นมะนาวที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ระยะห่าง 3×5 ซึ่งต้องคำนวณว่าระยะห่าง 3 เมตรนี้อัตราการซึมน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร ต้องใช้ปริมาณน้ำ/รอบจำนวนเท่าไหร่เพื่อให้ได้เกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้มะนาวสามารถเอาน้ำไปใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดสูตรการคำนวณคือ รอบเวรการให้น้ำ = ปริมาณความชื้นที่มะนาวนำไปใช้ได้ (จาก Step2) หารด้วย ความต้องการใช้น้ำสูงสุดของพืช (จาก Step1) จะ= 12 ส่วน 4.93 = 2.4 (ปัดเป็นตัวเลขจำนวนเต็ม) = 2
หมายความว่าการให้น้ำถ้ามี 2 โซนการปลูกก็ควรให้น้ำ 2 วันครั้งสลับกันให้เท่ากับเป็นวันเว้นวัน ซึ่งปริมาณน้ำที่มะนาวจะใช้จากผิวดินไปในระหว่างนี้มีค่าตามสูตรนี้ ความต้องการใช้น้ำสูงสุดของพืช x รอบเวรในการให้น้ำ = 4.93 x 2 = 9.86 มม.
โปรดอ่านต่อตอนที่ 2
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]